การระบาดใหญ่เปลี่ยนมนุษย์เราอย่างไร

การระบาดใหญ่เปลี่ยนมนุษย์เราอย่างไร

โลงบรรจุศพชาวต่างชาติคนหนึ่งที่เสียชีวิตช่วงโควิด-19 มี การระบาดใหญ่ ไปทั่วโลก เก็บไว้ในสถานที่เก็บศพแห่งหนึ่งที่เมืองมิลานเพื่อรอส่งกลับประเทศ สถานที่เก็บศพในแคว้นลอมบาร์ดีของอิตาลีมีศพแน่น จนต้องส่งไปเผาในภูมิภาคอื่น (ภาพถ่าย: กาบรีแอล กาลิมเบอร์ตี)


เราจะจดจำบทเรียนต่างๆ ที่ได้ หลังหายนะครั้งนี้ผ่านพ้นไปหรือไม่

เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ขณะที่ การระบาดใหญ่ ของโควิด-19 ลุกลามอย่างรวดเร็วไปทั่วโลก เรือตรวจการณ์ ไพก์ ของหน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ แล่นโต้คลื่นไปยังเรือสำราญ แกรนด์พรินเซส ที่จอดทอดสมออยู่ห่างจากชายฝั่งแคลิฟอร์เนีย 23 กิโลเมตร เพื่อส่งทีมแพทย์กู้ภัยพิบัติไปคัดแยกผู้ป่วย ออกจากผู้โดยสารที่ดูปกติอื่นๆ ราว 3,500 คนบนเรือและเตรียมส่งผู้ป่วยขึ้นฝั่ง บนเรือ ไพก์ ไมเคิล คัลลาแฮน ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อผู้มีประสบการณ์หลายสิบปีใน “พื้นที่ระบาด” ทั่วโลก พร้อมทีมงานรออยู่

ไข้ทรพิษ
ภาพประกอบในต้นฉบับภาษาญี่ปุ่นเรื่อง หลักสำคัญของไข้ทรพิษ ตีพิมพ์ราวปี 1720 แสดงภาพชัดเจนของผื่นที่เกิดจากโรค ไม่มีใครรู้ต้นตอของไวรัสที่ก่อโรคไข้ทรพิษ แต่เชื่อกันว่าโรคนี้เล่นงาน ชาวอียิปต์เมื่อกว่า 3,000 ปีก่อน หลังการรณรงค์ฉีดวัคซีนทั่วโลก ในที่สุดองค์การอนามัยโลกก็ประกาศว่า โรคนี้ได้ถูกขจัดหมดสิ้นแล้วเมื่อปี 1980 (ที่มา: WELLCOME COLLECTION, ATTRIBUTION 4.0 INTERNATIONAL)

ในตอนนั้น ทั้งโลกกำลังกระโจนเข้าสู่สภาวะที่ไม่มีใครรู้จักมาก่อน หรือควรจะเรียกว่าสภาวะที่ถูกลืมไปแล้วมากกว่า โรคระบาด (epidemic) สร้างความเจ็บปวดให้มนุษย์เสมอ และ การระบาดใหญ่ ทั่วโลก (pandemic) ก็เกิดตั้งแต่มนุษย์อพยพไปทั่วโลกแล้ว โรคเหล่านั้นสอนบทเรียนสำคัญๆ ให้เรา ถ้าเพียงแต่เราจะรู้จักจดจำไว้บ้าง ทั้งในยามเหนื่อยล้าและโล่งใจหลังอันตรายผ่านพ้นไปแล้ว การระบาดทั่วโลกชนิดใหม่ๆ เช่น โควิด-19 เตือนเราว่า เราแพร่เชื้อให้กันได้ง่ายเพียงใด โดยเฉพาะ สู่คนที่เรารัก ความกลัวว่าจะแพร่เชื้อทำให้เราต้องแยกจากกันอย่างไร การอยู่อย่างโดดเดี่ยวเลวร้ายขนาดไหน และผู้ป่วยมักต้องเสียชีวิตอย่างน่ารันทดตามลำพังเช่นไรด้วย เหนือสิ่งอื่นใด โรคระบาดใหญ่ทั่วโลกชนิดใหม่นี้เตือนเราว่า เราต้องพึ่งพาผู้กล้ากลุ่มเล็กๆ อย่างคัลลาแฮน ที่ต้องเสี่ยงชีวิตเพื่อต่อกรกับโรคต่างๆ มากเพียงใด

กระทั่งในตอนนั้น คัลลาแฮนก็จัดว่าเป็นผู้คร่ำหวอดเรื่องโควิด-19 ที่ระบาดทั่วโลกแล้ว เขาเริ่มแลกเปลี่ยนข้อมูลกับเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญกลุ่มเล็กๆ ที่คุ้นเคยกันถึงโรคที่อุบัติขึ้นในเมืองอู่ฮั่นของจีนมาตั้งแต่เดือนมกราคม เขาเห็นผู้ป่วยในสิงคโปร์ตอนโรคเริ่มแพร่ไปถึงที่นั่น และเป็นผู้บรรยายสรุปแก่เจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เขาช่วยอพยพคนในเรือสำราญที่โยโกฮามะ ประเทศญี่ปุ่น และรักษาผู้ป่วยคนแรกๆ ในสหรัฐฯ

โรคระบาด, กาฬโรค
กระดูกและกะโหลกบางส่วนของผู้เสียชีวิตจากกาฬโรคจำนวน 30,000 คนในศตวรรษที่สิบสี่ ประดับอยู่ภายในโบสถ์เซดเลคออสซัวรีในสาธารณรัฐเช็ก (ภาพถ่าย: ชาร์ลี แฮมิลตัน เจมส์)

ตอนที่โรคแพร่ไปถึงบอสตัน ซึ่งเขาทำงานเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลแมสซาชูเซตส์ ขณะที่เฝ้าสังเกต ทำงาน และระดมสมองเรื่องปัญหาการขาดเครื่องช่วยหายใจ เขาก็ตระหนักว่าโรคนี้มี “ความสามารถแพร่เชื้อเป็นเลิศ”

ตลอดหลายสิบปีที่คัลลาแฮนเป็นผู้เชี่ยวชาญในแนวหน้าของโรคระบาดทุกหนแห่ง เขาทำงานเพื่อหยุดยั้งการระบาดของเชื้ออีโบลา, ซาร์ส, ไข้หวัดนกหรือ H5N1, และเชื้ออื่นๆ อีกสารพัด โดยเป็นที่ปรึกษาให้องค์กรต่างๆ มากมาย ตั้งแต่โรงพยาบาลและองค์กรสาธารณสุขไม่แสวงกำไรระดับโลก ไปถึงรัฐบาลสหรัฐฯ นานๆครั้งเขาจะกลับไปหาครอบครัวที่โคโลราโด นั่งทำงานผ่านโทรศัพท์และแล็บท็อป

คัลลาแฮนเลือกเส้นทางอาชีพนี้เพราะเคยสัมผัสความโหดร้ายทารุณระหว่างทำงานที่ค่ายผู้อพยพหลายแห่งในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกในช่วงปลายทศวรรษ 1990 ประสบการณ์นั้นสอนเขาว่าโรคติดต่อในประเทศกำลังพัฒนาคือ “หายนะที่กลิ้งไปช้าๆ และเคลื่อนไปไม่รู้หยุด ความอยุติธรรมของเรื่องทั้งหมดนี้เป็นพลังขับเคลื่อนผมอย่างมาก”

หน้ากากอนามัย, โรคระบาด
หน้ากากเอ็น 95 ได้รับการฆ่าเชื้อเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างปลอดภัย ระบบที่พัฒนาโดยองค์กรไม่แสวงกำไรแบตเทลล์ในเมืองโคลัมบัส รัฐโอไฮโอ นำไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ในรูปของ ไอระเหยมาใช้ในกระบวนการที่อาจทำซ้ำได้ถึง 20 ครั้งกับหน้ากากเอ็น 95 (ภาพถ่าย: ไบรอัน ไคเซอร์, NEW YORK TIME/REDUX)

ประสบการณ์ต่อมากับอีโบลาและโรคระบาดอื่นๆ ในแอฟริกาตะวันตกสอนเขาด้วยว่า การรักษาผู้ป่วยทีละคนนั้นไม่พอ แต่การฝึกอบรมหรือมอบอุปกรณ์ให้เจ้าหน้าที่แพทย์ท้องถิ่น “จะสร้างการเปลี่ยนแปลงใหญ่หลวงในหมู่บ้าน ชุมชน หรือโรงพยาบาล และความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นจะยังคงอยู่เมื่อเรากลับไปแล้ว”

นั่นกลายเป็นปรัชญานำชีวิตของเขา ตอนทำงานให้โครงการหนึ่งของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ คัลลาแฮนช่วยให้แพทย์และนักวิทยาศาสตร์ที่ถูกปลดจากโครงการวิจัยอาวุธเคมีและชีวภาพในรัสเซียยุคหลังโซเวียตได้รับการฝึกฝนเพื่อเป็นนักวิจัยโรคติดต่อในยามสงบ นั่นนำไปสู่การทำงานเกือบสิบปีในหน่วยงานวิจัยดาร์พาของเพนตากอน (Defense Advanced Research Projects Agency: DARPA) ซึ่งเขาได้พัฒนาโครงการพยากรณ์ (Prophecy) เพื่อคาดการณ์และป้องกันโรคอุบัติใหม่ต่างๆ

ภูมิหลังเช่นนี้ทำให้คัลลาแฮนมีความเข้าใจเชิงลึกที่ไม่เหมือนใครถึงวิธีที่เราอาจปรับตัวให้อยู่กับโควิด-19 และโรคอุบัติใหม่อื่นๆที่จะเกิดขึ้นต่อไป เขาเสนอว่าการรักษาสุขภาพของเราอาจขึ้นอยู่กับการหาวิธีช่วยประเทศอื่นๆ ให้ตอบสนองความจำเป็นต่างๆ ได้ ถึงแม้รัฐบาลชาตินั้นๆ จะแสดงออกว่าเป็นปฏิปักษ์อย่างชัดเจน และความต้องการเหล่านั้นอาจดูเหมือนไม่สนองผลประโยชน์ของชาติใน ระยะสั้นของเราเสมอไป ทว่าเรื่องนี้เป็นการมองการณ์ไกลในระยะยาวมากกว่า

โรคระบาด, เชื้อโรค
ในช่วงปลายศตวรรษที่สิบเก้า ช่างภาพ แอนดรูว์ พริงเกิล ใช้กล้องจุลทรรศน์จับภาพ เชื้อวัณโรค เชื้อแอนแทรกซ์ และแบคทีเรียชนิดอื่นๆ (ที่มา: WELLCOME COLLECTION, ATTRIBUTION 4.0 INTERNATIONAL)

โรคระบาดทั่วโลกในปัจจุบันอย่างโควิด-19 จะเร่งความพยายามในการพยากรณ์และการควบคุมโรคระบาดทั่วโลกในอนาคตอย่างเกือบจะแน่นอน อย่างน้อยก็ชั่วระยะเวลาหนึ่ง แต่ไม่มีใครรู้ว่า การป้องกันควรทำอย่างไร ต้องใช้เงินเท่าไร หรือเศรษฐกิจจะพังแค่ไหนเพื่อแลกมา

ประเทศต่างๆจะยอมเล่นเกมยาวด้วยการร่วมมือในระดับนานาชาติหรือไม่ หรือแนวโน้มของผลประโยชน์ระดับชาติในระยะสั้นจะเห็นได้ชัดกว่า สังคมจะยอมรับการทุ่มงบประมาณมหาศาล เพื่อป้องกันโรคระบาดต่างๆ หรือไม่

เรากำลังก้าวเข้าสู่โลกใหม่ที่น่าตระหนก หรือบางทีเราอาจกลับไปสู่โลกเก่าของบรรพบุรุษที่รุมเร้าไปด้วยโรคระบาด บทเรียนสำคัญบทหนึ่งที่เราควรได้จากประวัติศาสตร์ก็คือ เมื่อการระบาดทั่วโลก ที่เกิดขึ้นในตอนนี้สงบลงในที่สุด เราไม่อาจลืมได้ว่าเรื่องนี้เคยเกิดขึ้น เราไม่อาจแค่ก้าวต่อไปเฉยๆ เพราะที่ไหนสักแห่งบนโลก การระบาดทั่วโลกรุนแรงครั้งต่อไป หรือเทวทูตผู้ทำลายล้างองค์ถัดไป กำลังขยับปีกบินอีกแล้ว

เรื่อง ริชาร์ด คอนนิฟฟ์

ติดตามอ่านเรื่องราวฉบับสมบูรณ์ได้ในนิตยสารเนชั่นแนล จีดโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนสิงหาคม 2563

สามารถสั่งซื้อได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/508393


อ่านเพิ่มเติม วิเคราะห์เจาะลึก โควิด-19 กับนักไวรัสวิทยาชาวไทย

Recommend