ระบบต่อมไร้ท่อ (Endocrine System)

ระบบต่อมไร้ท่อ (Endocrine System)

ระบบต่อมไร้ท่อ (Endocrine System) ถือเป็นอีกหนึ่งระบบที่มีความสำคัญต่อร่างกาย โดยเป็นระบบที่จะส่งสารเคมี สร้างและหลั่งฮอร์โมน จากนั้นส่งออกนอกเซลล์โดยผ่านระบบไหลเวียน ทั้งทางกระแสเลือดและน้ำเหลือง เพื่อควบคุมอวัยวะเป้าหมายในร่างกาย

ระบบต่อมไร้ท่อ (Endocrine System) คือ ระบบภายในที่มีหน้าที่ควบคุมการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและควบคุมกระบวนการต่าง ๆ ที่สำคัญภายในเซลล์ของสิ่งมีชีวิต ซึ่งเป็นระบบที่ทำงานสอดประสานร่วมกับระบบประสาท (Nervous System) ในด้านต่าง ๆ เช่น การควบคุมปฏิกิริยาเคมี หรือการขนส่งสารเข้า – ออกภายในเซลล์ ซึ่งส่งผลต่อการสร้างและการใช้พลังงานของร่างกายที่นำไปสู่การเจริญเติบโตในด้านต่าง ๆ ทั้งการพัฒนาของโครงสร้างอวัยวะ และระบบภายในอื่น ๆ รวมไปถึงการรักษาสมดุล และการตอบสนองทางด้านอารมณ์ของสิ่งมีชีวิต

ต่อมไร้ท่อ (Endocrine Gland) คือ กลุ่มเซลล์หรือกลุ่มเนื้อเยื่อที่ทำหน้าที่สร้าง และผลิตสารเคมีพิเศษที่เรียกว่า “ฮอร์โมน” (Hormone) ให้กับร่างกาย ซึ่งสารดังกล่าวไม่สามารถผลิตได้จากต่อมอื่น ๆ โดยสารเคมีหรือฮอร์โมนเหล่านี้จะถูกส่งเข้าสู่กระแสเลือดโดยตรง โดยไม่ผ่านท่อลำเลียงภายนอก ดังนั้น ต่อมไร้ท่อจึงเป็นอวัยวะที่ประกอบด้วยเส้นเลือดจำนวนมาก เพื่อทำหน้าที่ลำเลียงสารที่ต่อมผลิตได้ไปยังอวัยวะต่าง ๆ ผ่านการไหลเวียนของน้ำเลือดหรือน้ำเหลืองทั่วร่างกาย ซึ่งฮอร์โมนแต่ละชนิดมีหน้าที่เฉพาะเจาะจงต่ออวัยวะเป้าหมาย (Target Organ) ที่แตกต่างกันออกไป

 

การเคลื่อนที่ของฮอร์โมน

ต่อมไร้ท่อสามารถจำแนกออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

ต่อมไร้ท่อที่จำเป็นต่อร่างกาย (Essential Endocrine Gland) คือ ต่อมไร้ท่อที่ร่างกายไม่สามารถขาดได้ และหากร่างกายขาดต่อมเหล่านี้ไป สามารถทำให้เกิดการเสียชีวิตในทันที เช่น

  • ต่อมพาราไทรอยด์ (Parathyroid) คือ ต่อมไร้ท่อขนาดเล็กฝังอยู่ด้านหลังเนื้อเยื่อไทรอยด์ ทำหน้าที่ผลิต “พาราทอร์โมน” (Parathormone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนสำคัญที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมกระบวนการเมตาบอลิซึมของแคลเซียมและฟอสฟอรัสในร่างกาย ซึ่งส่งผลต่อการสร้างกระดูกและควบคุมสมดุลหรือการสลายแคลเซียมในอวัยวะต่าง ๆ โดยเฉพาะในกระดูกและฟัน
  • ต่อมหมวกไต (Adrenal Gland) คือ ก้อนเนื้อเยื่อรูปสามเหลี่ยมบริเวณด้านบนของไตทั้ง 2 ข้าง ประกอบด้วยเนื้อเยื่อ 2 ชั้น ได้แก่
    • เนื้อเยื่อชั้นนอก (Adrenal Cortex) เจริญมาจากเซลล์มีเซนไคมาส (Mesenchymas) ในชั้นมีโซเดิร์ม (Mesoderm) ของตัวอ่อน ผลิตฮอร์โมนที่สำคัญ 3 ชนิด คือ
      • กลูโคคอร์ติคอยด์ (Glucocorticoid Hormone) ทำหน้าที่ควบคุมกระบวนการเมตาบอลิซึมของคาร์โบไฮเดรต
      • มินเนอราโลคอร์ติคอยด์ (Mineralocorticoid Hormone) ทำหน้าที่ควบคุมสมดุลของน้ำและเกลือแร่
      • ฮอร์โมนเพศ (Sex hormone) ทำหน้าที่ช่วยควบคุมลักษณะทางเพศที่สมบูรณ์ในร่างกายทั้งเพศชายและหญิง
    • เนื้อเยื่อชั้นใน (Adrenal Medulla) อยู่ภายใต้การควบคุมของระบบประสาทซิมพาเทติก (Sympathetic Nervous System) ที่ควบคุมปฏิกิริยาตอบสนองจากสิ่งเร้าภายนอก โดยทำหน้าที่สร้างฮอร์โมน 2 ชนิด คือ อะดรีนาลีน (Adrenalin/Epinephrine Hormone) และนอร์อะดรีนาลีน (Noradrenlin/Norepinephrine Hormone) ซึ่งกระตุ้นการทำงานของหัวใจและหลอดเลือด
  • ต่อมไอส์เลตส์ของตับอ่อน (Islets of Langerhans) คือ กลุ่มเซลล์ขนาดเล็ก (ราวร้อยละ 3) ในตับอ่อน (Pancreas) ที่ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนที่สำคัญ 2 ชนิด คือ อินซูลิน (Insulin) และกลูคากอน (Glucagon) ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

ระบบต่อมไร้ท่อ, ฮอร์โมนเพศชาย, ฮอร์โมนเพศหญิง, ฮอร์โมนเพศ, อวัยวะเพศ, ผู้ชาย, ผู้หญิง

 

ต่อมไร้ท่อที่จำเป็นน้อยต่อร่างกาย (Non – Essential Endocrine Gland) คือ ต่อมไร้ท่อที่ถ้าหากขาดไป อาจไม่ส่งผลให้เสียชีวิตในทันที เช่น

  • ต่อมใต้สมอง (Pituitary) คือ ต่อมขนาดเล็กใต้สมอง ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนที่สำคัญ ได้แก่
    • โกรท ฮอร์โมน (Growth Hormone) ทำหน้าที่ควบคุมการเจริญเติบโตของร่างกาย โดยเฉพาะกระดูกและกล้ามเนื้อ
    • โกนาโดโทรฟิก ฮอร์โมน (Gonadotrophic Hormone) ทำหน้าที่กระตุ้นการสร้างเซลล์สืบพันธุ์
    • แอนติไดยูเรติก ฮอร์โมน (Antidiuretic Hormone) ทำหน้าที่ควบคุมสมดุลน้ำในร่างกาย
  • ต่อมไทรอยด์ (Thyroid) คือ ต่อมไร้ท่อขนาดใหญ่บริเวณด้านหน้าของลำคอใกล้กับหลอดลม ทำหน้าที่สร้าง “ไทร็อกซิน” (Thyroxin) ฮอร์โมนที่ทำหน้าที่ส่งเสริมการเจริญเติบโตของกระดูก สมอง และระบบประสาท ควบคุมอัตราเมตาบอลิซึมในร่างกาย รวมถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและรูปร่าง เมื่อถึงวัยผู้ใหญ่
  • ต่อมไพเนียล (Pineal Grand) คือ ต่อมไร้ท่อขนาดเล็กที่ผลิตสารเมลาโทนิน (Melatonin) ทำหน้าที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของต่อมเพศก่อนวัยหนุ่มสาว ควบคุมการนอนหลับ และกระตุ้นการปรับเปลี่ยนระบบนาฬิกาชีวิตของร่างกาย
  • ต่อมไทมัส (Thymus Grand) คือ ต่อมไร้ท่อด้านหน้าทรวงอกที่ผลิตสารไทโมซิน (Thymosin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่สร้างเสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย โดยเป็นต่อมที่เจริญเต็มที่ตั้งแต่อยู่ในวัยทารกจนถึงอายุราว 6 ปี ก่อนจะเสื่อมสภาพ และฝ่อไปในท้ายที่สุด
  • ต่อมเพศ (Gonads) คือ อัณฑะในเพศชาย และรังไข่ในเพศหญิง มีหน้าที่สำคัญ 2 ประการ คือ สร้างเซลล์สืบพันธ์ุ และสร้างฮอร์โมนที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของอวัยวะสืบพันธ์ุ และควบคุมลักษณะเด่นของเพศ ฮอร์โมนที่สำคัญ ได้แก่ เทสทอสเตอโรน (Testosterone) ในเพศชาย เอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ในเพศหญิง


ระบบต่อมไร้ท่อ, ฮอร์โมนเพศชาย, ฮอร์โมนเพศหญิง, ฮอร์โมนเพศ, อวัยวะเพศ, ผู้ชาย, ผู้หญิง
สืบค้นและเรียบเรียง
คัดคณัฐ ชื่นวงศ์อรุณ


ข้อมูลอ้างอิง

คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี – http://nurse.pbru.ac.th/th/wp-content/uploads/2020/05/ระบบต่อมไร้ท่อ-ปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่.pdf

โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว – http://saranukromthai.or.th/sub/book/book.php?book=8&chap=2&page=t8-2-infodetail13.html

Healthdirect Australia – https://www.healthdirect.gov.au/endocrine-glands-and-their-hormones


เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ: ระบบประสาทส่วนปลาย (Peripheral Nervous System)ระบบประสาทส่วนปลาย

 

Recommend