ไข่มุก และ ไข่มุกเมโล อัญมณีล้ำค่าจากท้องทะเล

ไข่มุก และ ไข่มุกเมโล อัญมณีล้ำค่าจากท้องทะเล

ทำความรู้จัก “ไข่มุก” และ “ไข่มุกเมโล” หนึ่งในไข่มุกธรรมชาติที่หายากที่สุด และแพงที่สุดของโลก

ไข่มุก หรือมุก เป็นอัญมณีที่เกิดจากสารอินทรีย์หรือสิ่งมีชีวิต หรือที่เรียกว่า อัญมณีอินทรีย์ (organic gems) ชนิดหนึ่ง ที่มีราคาสูงที่สุด เป็นที่นิยม และเป็นอัญมณีที่มีความสวยงามในตัวเอง มีความวาวแบบมุก (pearly) และการเกิดสีเหลือบ (iridescence) โดยไม่ต้องตกแต่งเจียระไน ตามความเชื่อตั้งแต่ยุคประวัติศาสตร์ ไข่มุกเป็นสัญญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ สมัยโบราณเชื่อกันว่าไข่มุกเป็นของที่มีค่าสูงส่งเหมาะสำหรับชนชั้นสูงเท่านั้น ตามนิยายปรัมปราหรือตำนานที่เล่าสืบต่อกันมาเชื่อว่า ไข่มุกเป็นหยดน้ำตาแห่งความสุขของเทพธิดาที่หลั่งออกมาให้กับชะตาชีวิตของมนุษย์

ไข่มุก, อัญมนณี, ไข่มุกธรรมชาติ, ไข่มุกเลี้ยง, การเกิดไข่มุก, ไข่มุกเมโลไข่มุกเมโล

การจำแนกประเภทและการเกิดไข่มุก

ปัจจุบัน ในตลาดการค้าอัญมนี ไข่มุกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ ไข่มุกธรรมชาติ (natural pearls) และไข่มุกเลี้ยง (cultured pearls)

1. ไข่มุกธรรมชาติ (natural pearl) คือไข่มุกเกิดขึ้นเองในหอยมุกซึ่งเป็นหอยสองฝามีทั้งชนิดน้ำจืดและน้ำเค็ม อาจเกิดเนื่องมาจากเซลล์เนื้อเยื่อเจริญปลายยอดชั้นนอก (mantle) บางส่วนหลุดเข้าไปในตัวของหอยมุกโดยบังเอิญหรืออาจเป็นสิ่งแปลกปลอม เช่น เม็ดทรายขนาดเล็ก กรวด หนอนทะเล หรือตัวเบียน (parasite) ถูกพัดพาเข้าไปภายในตัวหอยมุก แล้วทำให้ตัวหอยมุกเกิดความระคายเคืองจนหลั่งสารที่เป็นชั้นมุกที่เรียกว่า เนเคอร์ (nacre) ออกมาเคลือบสิ่งแปลกปลอมเหล่านั้นจนเป็นไข่มุก

จากโครงสร้างที่เป็นชั้น ๆ ของชั้นไข่มุกนี้เองที่ทำให้เกิดการหักเหและการสะท้อนกลับ เกิดการแทรกสอดของแสง (interference of light) ภายในชั้นต่าง ๆ จึงทำให้มองเห็นเป็นเหลือบมุก (orient) บนผิวมุก ดังนั้นโครงสร้างของชั้นมุกจึงมีความสำคัญมากต่อคุณภาพของไข่มุก ถ้าแผ่นแคลเซียมคาร์บอเนตชนิดอะราโกไนต์ (aragonite) ยิ่งบาง และเรียงตัวกันอย่างเป็นระเบียบ จะทำให้สมบัติการเหลือบมุกและความวาวสูง แต่ถ้าแผ่นอะราโกไนต์หนาเกินไปและเรียงตัวกันอย่างไม่เป็นระเบียบ จะทำให้ไข่มุกมีคุณภาพเหลือบมุก และความวาวต่ำเนื่องจากเกิดการแทรกสอดแบบหักล้างกันในคลื่นแสง ดังนั้นความสวยงามของผิวมุกอยู่ที่ความละเอียด และความหนาชั้น nacre ของไข่มุก ยิ่งชั้นมุกมีความหนามากไข่มุกก็จะมีความวาวมาก

2. ไข่มุกเลี้ยง (cultured pearl) มุกแบบไม่มีนิวเคลียส นิยมผลิตมุกน้ำจืด มีวิธีการผลิตมุกโดยการผ่าเอาเนื้อเยื่อ mantle ชิ้นเล็ก ๆ จากหอยตัวหนึ่งมาฝังลงใน mantle ของหอยอีกตัวหนึ่ง ชิ้นเนื้อเยื่อจะแบ่งเซลล์ขยายตัวกลายเป็นถุงมุก (pearl sac) จะขับสารประกอบที่เป็นชั้นของเปลือกหอย โดยมีชั้น nacre อยู่นอกสุดเกิดเป็นมุกขึ้นภายในถุงมุก มุกที่ได้อาจมีรูปร่างได้หลายแบบ เนื่องจากไม่มีแกนกลางบังคับรูปร่างของมุกนั่นเอง

โดยปกติมุกจะมีสีขาวเหลือบสีรุ้งเล็กน้อยจนถึงขาวนวล แต่ก็มีสีอื่น ๆ อีกเช่น ชมพู เงิน ครีม ทอง เหลือง เทา และดำ เป็นต้น โดยจะขึ้นอยู่กับชนิดของหอยมุก น้ำ และสภาวะแวดล้อมในบริเวณที่หอยมุกอยู่อาศัย

สมบัติของไข่มุกทางอัญมณี ไข่มุกมีความแข็งประมาณ 2.5 – 3.5 เนื้ออ่อนกว่าแก้วแต่บดให้แตกเป็นผงค่อนข้างยากเนื่องจากมุกมีการจับตัวที่แน่นมาก องค์ประกองทางเคมีส่วนใหญ่เป็น Calcium Cabonate (CaCO3) 80 % ซึ่งปกติจะเป็นแร่ Aragonite, Conchiolin 10 – 14 % และน้ำ 2 – 4 % ไข่มุกมีค่าดัชนีหักเหประมาณ 1.53 – 1.69 ความวาวเป็นความวาวในตัวเองเรียกว่า วาวแบบมุก (Pearly luster) หรือ Orient ไข่มุกเป็นอัญมณีอินทรีย์ การดูแลรักษาจึงควรพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้โดนกรด น้ำหอม สบู่ ครีมทาผิว หรือสเปรย์ใส่ผม เพราะอาจทำให้สีของมุกเปลี่ยนไป

แหล่งมุกที่สำคัญได้แก่ อิหร่าน อเมริกากลาง และทางตอนบนของออสเตรเลีย ส่วนไข่มุกเลี้ยงนั้นมีมากแถบญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เกาะตาฮิติ และเกาะหมู่เกาะอื่น ๆ ในแถบทะเลใต้ โดยปกติไข่มุกเลี้ยงจะมีขนาดโตได้ประมาณ 9 – 15 มิลลิเมตรมีหลายสี เช่น สีเหลือง ทอง ขาว เงิน และดำ เป็นต้น ในประเทศไทยมีฟาร์มเลี้ยงมุกในจังหวัดภูเก็ต พังงา ระนอง สุราษฎร์ธานี และกาญจนบุรี

ไข่มุกเมโล หนึ่งในไข่มุกที่หายากและราคาสูง

จากกระแสข่าวเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา มีรายงานว่า ชายชาวบ้านในตำบลเกาะเพชร อำเภแหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช พบ “ไข่มุกเมโล” ซึ่งเป็นชื่อทางการค้าของไข่มุกประเภทหนึ่งในตลาดอัญมณี และมีราคาสูงถึง 10 ล้านบาท สร้างความสนใจให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นอย่างมาก และทุกคนต่างหาคำตอบว่า มุกเมโลคืออะไร

ไข่มุกเมโล เป็นมุกประเภทหนึ่งที่หายาก และเป็นมุกที่ไม่ได้เกิดจากชั้น nacre โดยเกิดขึ้นในหอยสังข์ และหอยโข่งทะเล ซึ่งพบการกระจายพันธุ์ในแถบทะเลน้ำตื้นประเทศเมียนมา มาเลเซีย เวียดนาม กัมพูชา และไทย

ไข่มุกเมโลเกิดขึ้นในลักษณะเดียวกับไข่มุกอื่น ๆ ในรูปหอย คือเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมหลุดเข้าไปในตัวหอยพร้อมอาหาร หอยจะพยายามหลั่งสารในร่างกายมาปกคลุมสิ่งแปลกปลอมไว้ เพื่อลดความระคายเคือง โดยใช้เวลาหลายปีเพื่อก่อตัวเป็นรูปร่างไข่มุก

ไข่มุก, อัญมนณี, ไข่มุกธรรมชาติ, ไข่มุกเลี้ยง, การเกิดไข่มุก, ไข่มุกเมโล

เนื่องจากมุกเมโลไม่ได้จากชั้น nacre จึงไม่มีความแวววาวสีรุ้งเหมือนไข่มุกประเภทอื่นๆ แต่กลับมีสีส้มเปลวเพลิงไปจนถึงสีน้ำตาลส้ม แม้ว่าจะมีสารประกอบอะราโกไนต์ซึ่งพบได้ในไข่มุกน้ำจืด แต่ในไข่มุกเมโลมีการจัดเรียงแร่นี้ในลักษณะโครงสร้างที่แตกต่างออกไป โดยโครงสร้างของแร่อะราโกไนต์ในมุกเมโลมีลักษณะพันกันเป็นกลุ่มก้อน แทนที่จะเรียงตัวเป็นชั้นๆ

ในขณะที่หอยนางรมและหอยแมลงภู่สามารถเพาะเลี้ยงและบังคับให้สร้างไข่มุกได้ แต่มุกเมโลยังไม่ประสบความสำเร็จในการเพาะเลี้ยง แม้จะพยายามทดลองกันหลายครั้ง ขณะเดียวกัน ก็พบว่ามีไข่มุกเมโลปลอม โดยทำขึ้นจากตัวเปลือกของหอยเอง โดยการนำมาตัด กลึง และย้อมสี จนมีลักษณะเหมือนไข่มุกเมโล

ทำไมไข่มุกเมโลจึงราคาแพง

เนื่องจากความหายาก จึงไม่มีวิธีมาตรฐานในการกำหนดราคาไข่มุกเมโล โดยราคาจะขึ้นอยู่กับรายบุคคล คุณภาพ ลักษณะ และน้ำหนักกะรัต ไข่มุกเมบางชิ้นมีมูลค่าสูงถึงหลายพันดอลลาร์สหรัฐ เมื่อนำไปประกอบในเครื่องประดับที่สวยงาม ยิ่งเพิ่มมูลค่าให้กับไข่มุกเมโล และเครื่องประดับชิ้นนั้น

ในอดีต การประมูลไข่มุกเมโลในแหล่งประมูลชื่อดังอย่าง Christies เคยทำราคาได้สูงสุด 75,000 – 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 225,000 – 7,500,000 บาท

โดยทั่วไปแล้วไข่มุกเมโลมักถูกขายให้กับนักสะสม เนื่องจากช่วยสร้างความโดดเด่นและมูลค่าให้กับคอลเล็กชันอัญมณี ด้วยความต้องการสูงและหายากมาก ดังนั้น ที่ผ่านมาจึงมีเพียงผู้ที่คร่ำหวอดในวงการอัญมณีเท่านั้น ที่สามารถรับซื้อไปได้ทันเวลา


ข้อมูลอ้างอิง

ไขข้อข้องใจ “มุกเมโล” ของแท้หายาก – https://news.thaipbs.or.th/content/301243
บทความเรื่องไข่มุก (Pearl) โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
รู้จริงเรื่องมุก – https://www.pembagems.com
WHAT’S A MELO MELO PEARL AND WHY IS IT SO VALUABLE? – https://pearlwise.pro/whats-a-melo-melo-pearl
Fact sheet of Melo Melo – http://www.wildsingapore.com/wildfacts/mollusca/gastropoda/volutidae/melo.htm


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : การตกผลึก (Crystallization)

การตกผลึก

 

Recommend