NIA สนับสนุนอัตลักษณ์ของนวัตกรรมไทย

NIA สนับสนุนอัตลักษณ์ของนวัตกรรมไทย

NIA สร้างภาพลักษณ์ประเทศไทยโฉมใหม่ สู่ประเทศ ฐานนวัตกรรม ด้วยโครงการ “Innovation Thailand”

โครงการ Innovation Thailand โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เป็นโครงการที่ดำเนินมา 4 ปีแล้ว มีรูปแบบการทำงานบูรณาการกับทุกภาคส่วนเพื่อผลักดันให้การสื่อสารภาพลักษณ์ใหม่ของประเทศ ทั้งการสร้างการรับรู้และภาพลักษณ์ของประเทศให้เป็นประเทศ นวัตกรรม การสร้างการยอมรับและความมั่นใจว่าประเทศไทยคือประเทศนวัตกรรม และการทำให้ชื่อเสียงของประเทศไทยด้านนวัตกรรมได้รับการยอมรับในระดับโลก

โครงการ Innovation Thailand จัดทำขึ้นเพื่อสื่อสารภาพลักษณ์ใหม่ของประเทศให้คนไทยรู้สึกภาคภูมิใจกับนวัตกรรมของไทย และเป็นอีกแรงเสริมที่จะช่วยจุดประกายให้คนไทยสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้เศรษฐกิจมากขึ้น อีกกลุ่มเป้าหมายที่สําคัญคือชาวต่างชาติที่ต้องการลงทุนหรือมองหานวัตกรรมจากประเทศไทย โดยเลือกช่องทางสื่อสารทั้งออฟไลน์และออนไลน์ อาทิ เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก วิดีโอ การออกบูธในงานต่างๆ เป็นต้น แหล่งข้อมูลที่สื่อสารออกไปจะกลายเป็น Innovation Database และเป็น Hub of Innovation ให้กลุ่มเป้าหมายเข้าถึงข้อมูลนวัตกรรมของประเทศไทยที่เป็นปัจจุบัน

นวัตกรรม
ภาพประกอบ Pete Linforth / Pixabay

คนไทยส่วนใหญ่ให้ความหมายของนวัตกรรมที่กว้างมาก NIA จึงพยายามสร้างอัตลักษณ์ของนวัตกรรมว่า “การใช้ชีวิตอย่างดงามประณีต” หรือ Innovation for Crafted Living ที่คนไทยได้คิดค้นต่อยอดจากความรู้ที่สั่งสม ผสานการมองโลกในแง่ดี และใส่ใจในรายละเอียด ได้หล่อหลอมเป็นนวัตกรรม ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทำให้การใช้ชีวิตคนไทยและคนทั้งโลกดีขึ้น ประกอบไปด้วย 7 Living ดังนี้

1. Innovation for Healthy Living : นวัตกรรมเพื่อชีวิตที่มีสุขภาพดี ด้วยนวัตกรรมเพื่อสุขภาพที่ครอบคลุมทั้งการดูแลสุขภาพ และการรักษาทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมอาหารเพื่อสุขภาพ นวัตกรรมทางการแพทย์ ที่เราสร้างสรรค์เพื่อให้ทุกคนมีสุขภาพที่ดีขึ้น

2. Innovation for Safe Living : นวัตกรรมเพื่อชีวิตที่มีความปลอดภัย ในปัจจุบันนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมีครอบคลุมมากขึ้น ทั้งการคมนาคม การให้บริการสาธารณะ และความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน การมีนวัตกรรมช่วยติดตามสอดส่อง แจ้งเตือนภัยที่อาจเกิดขึ้น ทำให้ทุกชีวิตมีความปลอดภัยมากขึ้นและมีเมืองที่น่าอยู่

นวัตกรรม
ภาพถ่าย Vinicius “amnx” Amano

3. Innovation for Easy Living : นวัตกรรมเพื่อชีวิตที่สะดวกสบาย สังคมไทยเป็นสังคมที่มีน้ำใจช่วยเหลือกัน โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้เปราะบาง เราจึงมีนวัตกรรมที่ช่วยให้การใช้ชีวิตที่ง่ายและสะดวกสบายขึ้นสำหรับคนทุกกลุ่มในสังคม โดยเฉพาะผู้สูงวัย ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส เพื่อให้ทุกคนมีชีวิตที่สะดวกสบายได้อย่างเท่าเทียมกัน

4. Innovation for Smart Living : นวัตกรรมเพื่อชีวิตที่เป็นมิตรกับโลก คนไทยร่วมกันสร้างโลกใหม่ด้วยนวัตกรรมที่ใส่ใจและคำนึงถึงการอนุรักษ์โลกและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน ทั้งเศรษฐกิจหมุนเวียน พลังงานสะอาด พลังงานทดแทน เพื่อให้การใช้ชีวิตของทุกคนเป็นมิตรกับโลกและสิ่งแวดล้อม และอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน

นวัตกรรม
หลอดดูดที่ย่อยสลายได้อย่างสมบูรณ์ ผลิตจากของเหลือทิ้งในภาคการเกษตร เป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่ออกแบบมาอย่างใส่ใจสิ่งแวดล้อม / ภาพถ่าย Thoa Ngo

5. Innovation for Connected Living : นวัตกรรมเพื่อชีวิตที่เชื่อมต่อถึงกันได้ สังคมไทยมีความหลากหลายของอายุ และช่องว่างระหว่างวัยที่มากขึ้น เราจึงมีนวัตกรรมที่เชื่อมต่อ สื่อสารถึงกันได้ทุกที่ ทุกเวลา ทุกไลฟ์สไตล์ เกิดเป็นแพลตฟอร์ม สร้างเป็นเครือข่าย เชื่อมทุกวันให้เข้าถึงกัน เพื่อให้ทุกคนสร้างความสัมพันธ์กันได้ตลอดเวลา

6. Innovation for Wealthy Living : นวัตกรรมเพื่อชีวิตที่มีอาชีพและรายได้ เทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ทำให้เกิดโอกาสในการสร้างอาชีพและรายได้ ผ่านรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ทั้งนวัตกรรมที่เป็นสินค้าและบริการที่สามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น รวมถึงการพัฒนาทักษะและศักยภาพตนเอง เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อการประกอบอาชีพ พัฒนาอาชีพของตนเอง

นวัตกรรม
ภาพถ่าย Marvin Meyer

7. Innovation for Happy Living นวัตกรรมเพื่อชีวิตที่มีความสุข ประเทศไทยมีชื่อเสียงในการเป็นจุดหมายสำคัญในการท่องเที่ยวของคนทั่วโลก และคนไทยยังมีความคิดสร้างสรรค์ ในการผสมผสานเทคโนโลยีกับการท่องเที่ยว ดนตรี และนันทนาการได้อย่างน่าสนใจ จนกลายเป็นนวัตกรรมเพื่อความสุข ที่ทำให้คนทั่วโลกต่างให้ความสนใจอย่างมากในขณะนี้

นวัตกรรมเป็นเรื่องใกล้ตัวแต่คนไทยส่วนใหญ่คิดว่าเป็นคำที่แสดงถึงเทคโนโลยีขั้นสูง ในความเป็นจริงแล้วนวัตกรรมไม่จำเป็นต้องเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงเสมอไป แต่นวัตกรรมคือสิ่งที่คิดค้นขึ้นมาเพื่อสนับสนุนคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ตัวอย่างเช่น นวัตกรรมเพื่อการมีสุขภาพดี หรือ Healthy Living เป็นนวัตกรรมด้านสุขภาพและการแพทย์ที่จะช่วยในเรื่องของสุขภาพหรือโภชนาการ เช่น ผลิตภัณฑ์โปรตีนบริสุทธิ์จากไข่ขาวพร้อมรับประทานที่ช่วยเสริมโปรตีนและอัลบูมิน และผลิตภัณฑ์ครีมปรุงอาหารและวิปปิ้งครีมไขมันต่ำเพื่อสุขภาพที่ผลิตจากพืชธรรมชาติ ทำให้ไขมันลดลงครึ่งหนึ่งจากวิปครีมที่ผลิตจากนมวัว

นวัตกรรม
ภาพถ่าย Devin Rajaram

หรือในอีกหนึ่งตัวอย่าง เช่น นวัตกรรมเพื่อทำให้ชีวิตง่ายขึ้น หรือ Easy Living อย่างผลิตภัณฑ์อาหารปรุงสำเร็จแช่แข็ง ที่เพียงนำมาอุ่นในไมโครเวฟก็สามารถรับประทานได้ ทำให้ประหยัดเวลาในการเตรียมอาหาร เหมาะกับวิถีชีวิตคนเมืองที่จะมีเวลาน้อย เหล่านี้คือตัวอย่างบางส่วนที่เป็นนวัตกรรมที่พัฒนามาอย่างยาวนานและเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำของหลายคน

การสร้างความเข้าใจกับประชาชน

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เคยกล่าวกับเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย ในบทสัมภาษณ์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2020 ว่า “หลายคนบอกว่ากำลังทำวิจัยแล้วก็เข้าใจไปว่ากำลังสร้างนวัตกรรม ซึ่งจริงๆ มันแค่จุดเริ่มต้น การทำวิจัยไม่ใช่การสร้างนวัตกรรม คนที่จะบอกว่ามันเป็นนวัตกรรมคือคนที่ซื้อสินค้าของคุณ… คนใช้แล้วชีวิตดีขึ้น สะดวกสบายขึ้น แต่ไม่ใช่ผลงานวิจัย เพียงแต่เป็นโอกาสไปสู่การเป็นนวัตกรรม ดังนั้น ถ้าเราทุ่มไปที่งานวิจัยอย่างเดียว แต่ไม่ให้ความสำคัญกับคนที่จะทำให้เกิดนวัตกรรมก็ไม่ได้…

นวัตกรรม
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์

ดังนั้น อุปสรรคสำคัญของการพัฒนานวัตกรรมในประเทศไทย คือความเข้าใจและมุมมองที่มีต่อนวัตกรรม และอีกหนึ่งปัจจัยคือ ในประเทศไทยมีบริษัทด้านนวัตกรรมอยู่น้อย ทำให้ขีดความสามารถการแข่งขันยังไม่เติบโต และแข่งขันกับต่างประเทศได้ยาก NIA จึงมองว่า เราควรเริ่มต้นส่งเสริมนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของผู้คนก่อน และในอนาคตจึงขยายขีดความสามารถไปสู่อุตสาหกรรที่อื่นๆ ต่อไป เช่น อุตสาหกรรมอวกาศและการบิน

ระบบนิเวศนวัตกรรม

ในมุมมองของ NIA ระบบนิเวศนวัตกรรมประกอบด้วย 4 ส่วน คือ สถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัย บริษัทเอกชน หน่วยงานราชการ และภาคประชาสังคม ในช่วงที่ผ่านมา “เมืองไทยมีผู้เล่นใหม่ที่เข้ามามีบทบาทในเรื่องนวัตกรรม คือธุรกิจเพื่อสังคม” ดร.พันธุ์อาจ กล่าวและเสริมว่า “บริษัทเหล่านี้ต้องการสร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนาสังคมโดยไม่เน้นรายได้ หรือคาดหวังผลกกำไรอย่างสูงสุด

ดังนั้น บทบาทของผู้ที่อยู่ในระบบนิเวศนวัตกรรมจึงมีผู้คิดค้นนวัตกรรม แล้วส่งต่อองค์ความรู้ให้กับบริษัทเอกชนพัฒนาเป็นสินค้า หรือให้กับหน่วยงานบริการภาครัฐ เพื่อนำไปพัฒนาการบริการประชาชนต่อไป เช่น หน่วยงานมหาวิทยาลัยวิจัยต้นแบบนวัตกรรมหนึ่งอย่าง แล้วส่งต่อต้นแบบเพื่อให้บริษัทเอกชนผลิตในระดับอุตสาหกรรม จากนั้นหน่วยงานภาครัฐบาลก็นำนวัตกรรมนี้ไปถ่ายทอดสู่ประชาชนที่ต้องการใช้นวัตกรรม เป็นต้น

ภาพประกอบ Gerd Altmann / Pixabay

หลังจากผลกระทบของการระบาดใหญ่ นวัตกรรม จะเข้ามามีบทบาทอย่างไร

ในช่วงที่ผ่านมา หลายคนคิดว่าการเปลี่ยนผ่านไปสู่การตลาดยุคดิจทัลคือการแก้ปัญหาและทางออก แต่ไม่ใช้ทุกธรกิจในประเทศจะเหมาะสมกับรูปแบบธุรกิจออนไลน์ อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องยอมรับว่า บางธุรกิจอาจต้องปรับรูปแบบอย่างจริงจัง ยกตัวอย่างกรณีธุรกิจท่องเที่ยว ที่ไม่สามารถดำเนินรูปแบบการท่องเที่ยวในเชิงกายภาพได้ เนื่องจากมาตรการเว้นระยะห่างทางสัมคม ดังนั้น ปัจจัยข้อนี้จึงบีบให้ธุรกิจทัวร์หรือนำเที่ยวต้องปรับตัวเองให้เป็นการนำเสนอการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ อย่างการท่องเที่ยวเหมือนจริงผ่านระบบ Virtual Reality เป็นต้น

โจทย์สำคัญสำหรับการปรับตัวไม่ใช่แค่การเปลี่ยนรูปแบบการขายสินค้าและบริการเท่านั้น แต่เป็นการสร้างรายได้จากสินค้าและบริการที่เปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายจากภาครัฐที่อาจเกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันที เช่น มาตรการปิดเมือง หรือล็อกดาวน์ สิ่งเหล่านี้ยิ่งทำให้การสร้างแผนธุรกิจทางนวัตกรรมเกิดขึ้นได้ยากมากในยุคปัจจุบัน

ประเทศไทยกับการนำนวัตกรรมมาพัฒนาประเทศ

ในปี 2020 ประเทศไทยมีอันดับการลงทุนของบริษัทเอกชนในเรื่องนวัตกรรมสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งของโลก หมายความว่า เอกชนรายใหญ่ของไทยมีศักยภาพในเรื่องการพัฒนานวัตกรรมได้ดี โดยไม่ต้องรอการสนับสนุนจากภาครัฐ ดังนั้น สำหรับประเทศไทย NIA จึงมองว่า เราจะมุ่งพัฒนา SME หรือสตาร์ตอัปได้อย่างไร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้มากขึ้น

ภาพประกอบ Mohamed Hassan / Pixabay

โดยภาคเอกชนของไทยมีบทบาทอย่างมากในเรื่องการแข่งขันทางนวัตกรรมของสินค้าและบริการ ซึ่งถือเป็นจุดแข็งทางธุรกิจของประเทศไทย แต่ในทางกลับกัน ประเทศไทยกลับสื่อสารเรื่องนี้กับทั้งในและต่างประเทศได้ไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องจากเราใช้รูปแบบการสื่อสารในแบบเดิม เช่น เรื่องการท่องเที่ยวและอาหาร ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจเดิมที่ชาวต่างชาติและคนไทยคุ้นชินกันอยู่แล้ว แต่ในหลายธุรกิจที่กำลังใชันวัตกรรมใหม่กลับไม่ถูกกล่าวถึงในวงกว้าง NIA จึงลงไปทำงานสนับสนุนบริษัทเล็กๆ เหล่านี้ และทำให้เกิดแบรนด์ขึ้นมามากขึ้น

NIA พยายามสร้างเครือข่ายของผู้ใช้นวัตกรรมเพื่อให้เกิดภาพของผู้ใช้จริง และสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความรู้ไปยังผู้ประกอบการรายเล็กได้มากขึ้น เช่น การท่องเที่ยวในย่านเมืองเก่าของกรุงเทพฯ อย่างย่านกุฎีจีน ก็เป็นต้นแบบให้หลายๆ จังหวัดพัฒนาย่านเมืองเก่าขึ้นมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยว เป็นต้น

คนไทยเราสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อความประณีตในการใช้ชีวิตในมุมต่างๆ มาเป็นเวลานานแล้ว การประยุกต์ใช้และพัฒนาต่อยอดให้กลายมาเป็นสินค้าและบริการคงไม่ใช่เรื่องยาก โดยเฉพาะ วิกฤติจากการระบาดใหญ่รอบนี้ได้ส่งผลให้อัตราเร่งการปรับตัวของผู้ประกอบการเพิ่มมากขึ้น การพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในยุคหลังจากนี้ อาจเป็นหนทางหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจฐานรากขับเคลื่อนต่อไปได้

สัมภาษณ์และเรียบเรียง ณภัทรดนัย ตามการให้ข้อมูลของ ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : นวัตกรรมไทยเป็นอย่างไร – ไปถึงไหน ในมุมมอง ผอ. สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ

Recommend