แลโลกจากห้วงอวกาศ ด้วยเทคโนโลยีดาวเทียมสำรวจ

แลโลกจากห้วงอวกาศ ด้วยเทคโนโลยีดาวเทียมสำรวจ

เทคโนโลยีดาวเทียมได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตยุคดิจิทัลเป็นอย่างมาก หลายภาคส่วนได้ประยุกต์ใช้ข้อมูลจากดาวเทียมเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ หรือประกอบการตัดสินใจที่แม่นยำมากขึ้น โดยข้อมูลส่วนใหญ่ที่นำไปใช้งานมักแสดงผลในรูปแบบ “ภาพถ่ายจากดาวเทียม”

ภาพถ่ายจากดาวเทียมเกิดจากการบันทึกภาพของดาวเทียมที่กำลังโคจรอยู่รอบโลก โดยมีศูนย์สั่งการอยู่ที่ภาคพื้นดินคอยควบคุมและกำหนดให้ดาวเทียมบันทึกภาพในพิกัดที่ต้องการ จากนั้นดาวเทียมจะส่งข้อมูลที่บันทึกได้กลับมายังพื้นโลกและดำเนินการผลิตข้อมูล เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ นำข้อมูลไปใช้ กระบวนการหนึ่งที่มีความสำคัญคือ การปรับข้อมูลให้มีความถูกต้องเชิงตำแหน่งก่อนนำไปเผยแพร่

ในประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียมและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า (GISTDA) เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการให้บริการข้อมูล และให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศทั้งในประเทศและระดับสากล รวมไปถึงสนับสนุนข้อมูลด้านภูมิสารสนเทศแก่หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐเอกชนและสถาบันการศึกษา ตลอดจนประชาชน ในการแปลตีความต้องอาศัยความรู้จากหลายสาขามาประกอบกันเพื่อวินิจฉัย พิจารณารวมถึง ขนาด รูปร่าง รูปแบบ เงา ความเข้มของสี และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น การเป็นนักแปลตีความที่ดีจำเป็นต้องศึกษา ฝึกฝน และที่สำคัญคือประสบการณ์

“ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการประยุกต์ใช้ภาพถ่ายจากดาวเทียมในหลายด้าน ทั้งเรื่องการสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ ภัยพิบัติ การเกษตร การใช้ที่ดิน ธรณีวิทยา การจัดการทรัพยากรน้ำ สมุทรศาสตร์และทรัพยากรชายฝั่งผังเมือง และด้านความมั่งคง เป็นต้น” วีระวิทธ์ คำนวน หัวหน้าฝ่ายผลิตภัณฑ์ดาวเทียมเพิ่มค่า กล่าวและเสริมว่า “ภาพถ่ายดาวเทียมถือเป็นหนึ่งในข้อมูลที่มีมูลค่า สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในด้านต่างๆ ได้มากมาย โดยเฉพาะเรื่องที่คนส่วนใหญ่คิดว่าไม่เกี่ยวข้อง อย่างเรื่องของเศรษฐกิจ”วีระวิทธ์ยกตัวอย่างว่า ภาพถ่ายจากดาวเทียมสามารถคาดการผลผลิตทางการเกษตรได้ เช่น ผลผลิตจากการปลูกข้าว ภาพถ่ายจากดาวเทียมเมื่อนำมาแปลตีความ สามารถคำนวณได้ว่าข้าวอยู่ในช่วงไหน กำลังเริ่มปลูก กำลังเจริญเติมโต หรือพร้อมที่จะเก็บเกี่ยว โดยพิจารณาจากหลักการแปลตีความที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ผลของการวิเคราะห์จะทราบถึงผลผลิตที่กำลังจะออกสู่ตลาดมีปริมาณมากน้อยอย่างไร มีผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ

“นอกจากนี้ เรายังสนับสนุนหน่วยงานอื่นๆ ที่ต้องการภาพถ่ายดาวเทียมไปใช้ในการปฏิบัติงานในองค์กรด้วย GISTDA มีการให้บริการข้อมูลดาวเทียมที่หลากหลายมากกว่า 25 ดวงที่โคจรอยู่รอบโลกและที่จัดเก็บอยู่ในคลังข้อมูล เนื่องจากแต่ละหน่วยงานมีความต้องการข้อมูลที่แตกต่างกัน” ราเชนทร์ สุขวงษ์ นักภูมิสารสนเทศ และผู้ที่รับผิดชอบในการปรับแก้ความคลาดเคลื่อนของภาพถ่ายดาวเทียมให้มีความถูกต้องเชิงตำแหน่งตรงกับพิกัดบนภูมิประเทศจริง อธิบายเพิ่มเติม

ก่อนที่จะนำข้อมูลภาพจากดาวเทียมต่างๆ ไปใช้งานจำเป็นต้องผ่านกระบวนการปรับแก้เชิงตำแหน่งให้มีความถูกต้อง แม่นยำ และให้ได้มาตรฐานตลอดจนความเชื่อมั่นของการให้บริการ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

ภาพถ่ายดาวเทียมจากสถานที่ต่างๆ

ที่ผ่านมา ภาพถ่ายจากดาวเทียมได้ถูกนำไปใช้ในการปฏิบัติงานต่างๆ มากมาย เช่น การสำรวจจุดความร้อนในสถานการณ์ไฟป่าภาคเหนือ การประเมินสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝน และการสำรวจพื้นที่ป่าชายเลนตามแนวชายฝั่ง เป็นต้น จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมในยุคปัจจุบันมีการใช้งานที่แพร่หลายมากขึ้น รวมถึงมีบทบาทต่อชีวิตประจำวันของเรา จิสด้าจึงมีโครงการพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียมและภูมิสารสนเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการนำข้อมูลที่ได้มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศและประชาชนชาวไทย

ขอบคุณข้อมูลจาก วีระวิทธ์ คำนวน หัวหน้าฝ่ายผลิตภัณฑ์ดาวเทียมเพิ่มค่า และราเชนทร์ สุขวงษ์ นักภูมิสารสนเทศ จากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)

ขอบคุณข้อมูลภาพดาวเทียมจาก : DigitalGlobe และจิสด้า

Recommend