มลพิษทางอากาศภายในอาคาร ภัยสุขภาพที่มองไม่เห็น

มลพิษทางอากาศภายในอาคาร ภัยสุขภาพที่มองไม่เห็น

มลพิษทางอากาศภายในอาคาร เป็นมลพิษที่สามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพเช่นเดียวกับอากาศภายนอก ดังนั้น ผู้อาศัยควรคำนึงและตระหนักถึงเรื่องนี้

มลพิษทางอากาศภายในอาคาร (Indoor Air Pollution) คือ ภาวะของการมีสารพิษหรือสิ่งเจือปนอยู่ในอากาศ ไม่ว่าจะเป็นอากาศภายในบ้านเรือนหรือโดยรอบอาคารที่สามารถส่งผลเสียต่อทั้งสุขภาพ อนามัย และสภาวะจิตใจของผู้อยู่อาศัย

มลพิษทางอากาศภายในอาคารเป็นหนึ่งในปัญหาสิ่งแวดล้อมที่อันตรายที่สุดในโลก โดยเฉพาะในประเทศด้อยพัฒนาที่ยังขาดแคลนทรัพยากรและระบบสาธารณูปโภคที่เหมาะสม

มลพิษในอาคาร, มลพิษทางอากาศในอาคาร, มลพิษ, สารพิษในอาคาร,
ภาพถ่าย : Arko Batta

ทุก ๆ ปี ประชากรกว่า 4.3 ล้านคนทั่วโลกเสียชีวิตจากการสูดดมควัน เขม่า และสารเคมีจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเศษไม้ เศษวัชพืช และมูลสัตว์ที่ผู้คนนิยมนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการประกอบอาหารและสร้างความอบอุ่นในครัวเรือน

แม้ปัจจุบัน การเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศภายในอาคารมีอัตราลดลงเกือบทุกประเทศทั่วโลก เนื่องจากการเข้าถึงทรัพยากรและระบบสาธารณูปโภคที่เหมาะสมยิ่งขึ้น แต่ในหลายประเทศ โดยเฉพาะเขตเมือง มลพิษทางอากาศภายในอาคารมีแหล่งที่มาหลากหลาย เช่น

สถานที่ตั้งอาคาร : บ้านเรือนหรืออาคารที่ตั้งอยู่ใกล้กับถนนที่มีการจราจรคับคั่ง แหล่งอุตสาหกรรม หรือ เขตพื้นที่ทางการเกษตรที่มีการเผาไหม้เป็นประจำ ต่างเป็นแหล่งของฝุ่นละอองและอนุภาคแขวนลอยในอากาศ รวมถึงสารเคมีอื่น ๆ

รูปแบบและโครงสร้างของอาคาร : จากการออกแบบและก่อสร้างที่ผิดพลาดสามารถเป็นสาเหตุของการรับสารมลพิษและความชื้นเข้าสู่อาคาร และการขาดระบบการไหลเวียนที่ช่วยถ่ายเทอากาศที่ดี

วัสดุก่อสร้าง วัสดุที่ใช้ในการตกแต่งภายใน ข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ : เช่น ฉนวนกันความร้อน ผนัง เพดาน เฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ รวมไปถึงน้ำยาทำความสะอาดที่อาจมีส่วนผสมของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เช่น สารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs)

ผู้ใช้อาคาร : สารเคมีอาจมาจากตัวผู้ใช้และกิจกรรมของผู้ใช้อาคาร อาทิ น้ำหอม บุหรี่ เป็นต้น

มลพิษทางอากาศภายในอาคาร
แหล่งที่มาของมลพิษทางอากาศภายในอาคาร
ภาพประกอบ : Yellowblue Eco Tech.

สารพิษในอาคารแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

สิ่งมีชีวิตและจุลินทรีย์ (Microorganisms) : แบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา ไรฝุ่น หรือละอองเกสร เป็นต้น ซึ่งอาจมาจากการดูแลความสะอาดและการบำรุงรักษาที่ไม่ดีพอ เช่น การมีน้ำรั่วซึมผ่านรอยรั่วตามผนังอาคารหรือการขาดการดูแลและรักษาความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ

สารเคมี (Chemicals) :  สารเคมีในสถานะก๊าซและไอระเหย เช่น คาร์บอนมอนอกไซด์ ฟอร์มาลดีไฮด์ และไนโตรเจนไดออกไซด์ เป็นต้น เป็นสารเคมีจากผลิตภัณฑ์ที่ใช้ภายในอาคาร เฟอร์นิเจอร์ วัสดุก่อสร้างที่ใช้ปูพื้นและผนัง ยาฆ่าแมลงและสารทำความสะอาด เครื่องอุปโภคบริโภคต่าง ๆ

อนุภาคของแข็ง (Airborne Particles) : อนุภาคของแข็งหรือของเหลวที่ไม่มีชีวิต สารแขวนลอยในอากาศ เช่น ฝุ่น เขม่าควัน หรือสารเคมีอื่น ๆ ที่อาจถูกดึงเข้าสู่อาคารจากภายนอก หรืออาจเกิดจากกิจกรรมที่เกิดขึ้นภายในอาคาร เช่น การก่อสร้าง การพิมพ์งาน การถ่ายเอกสาร การใช้งานเครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นต้น

มลพิษทางอากาศภายในอาคาร
ภาพปรกอบ : Vivien Mah

ผลกระทบจากมลพิษทางอากาศภายในอาคาร

มลพิษทางอากาศภายในอาคารเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจและโรคมะเร็ง รวมไปถึงการเจ็บป่วยตามร่างกายต่าง ๆ เช่น การปวดศีรษะ วิงเวียน ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนล้า หายใจติดขัด คัดจมูก การระคายเคืองตามผิวหนังต่าง ๆ

ผลกระทบต่อสุขภาพเหล่านี้ าจเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันจากการสัมผัสกับสารมลพิษในอากาศทันที หรืออาจส่งผลในระยะยาวหลังจากการสะสมภายในร่างกายเป็นเวลานาน ดังนั้น ผลกระทบทางสุขภาพจึงขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งชนิดของสารพิษที่ได้รับ ความเข้มข้นของสาร ความถี่และช่วงเวลาของการสัมผัส รวมไปถึงสภาวะแวดล้อมต่าง ๆ โดยเฉพาะความชื้นที่สามารถส่งเสริมให้เชื้อราและแบคทีเรียในอาคารเจริญได้ดี

สืบค้นและเรียบเรียง

คัดคณัฐ ชื่นวงศ์อรุณ และณภัทรดนัย

ข้อมูลอ้างอิง

https://www.nationalgeographic.com/science/article/140325-world-health-organization-indoor-fuel-pollution-death

http://lib3.dss.go.th/fulltext/dss_knowledge/phy_5_2559_indoor_air_quality.pdf

http://www.ej.eric.chula.ac.th/content/6133/266

https://ourworldindata.org/indoor-air-pollution


อ่านเพิ่มเติม การลดมลพิษ อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นเหตุ

Recommend