ฝีดาษลิง เกิดจากอะไร ป้องกันได้อย่างไร ? ในยุคที่ยังไม่มีวัคซีน

ฝีดาษลิง เกิดจากอะไร ป้องกันได้อย่างไร ? ในยุคที่ยังไม่มีวัคซีน

ฝีดาษลิง ป้องกันได้อย่างไร ? ร่วมเรียนรู้วิธีดูแลตัวเองในยุคที่ยังไม่มีวัคซีน หลังไทยพบผู้ติดเชื้อรายที่ 2 

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดเผยว่าไทยพบผู้ติดเชื้อ ฝีดาษลิง รายที่ 2 อย่างเป็นทางการแล้ว โดยได้รับการยืนยันจากอธิบดีกรมควบคุมโรคและกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ทำการตรวจยืนยันด้วยผลตรวจจากห้องปฏิบัติการ ซึ่งเป็นชายไทยอายุ 47 ปีในกรุงเทพฯ 

รายงานระบุว่า ผู้ป่วยมีประวัติมีเพศสัมพันธ์กับชายชาวต่างชาติที่สงสัยว่ามีอาการป่วย หลังจากนั้น 2 วัน ผู้ป่วยเริ่มมีไข้ ปวดตามตัว ต่อมน้ำเหลืองโต และหนึ่งสัปดาห์ต่อมามีผื่นที่อวัยวะเพศ ลำตัว หน้า แขนและขา แม้จะพยายามหาซื้อยามาทาเพื่อให้ตุ่มหนองแห้ง แต่ตุ่มก็ยังกลับขึ้นมาใหม่ตามเดิม จึงไปตรวจที่โรงพยาบาลเพื่อทำการยืนยันต่อไป 

โดยทางโรงพยาบาลได้เก็บตัวอย่างส่งตรวจหาเชื้อก่อโรคที่ห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และห้องปฏิบัติการ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยผลตรวจทั้งสองให้ผลตรงกันว่าพบเชื้อไวรัสโรคฝีดาษลิง

ฝีดาษลิง, ไวรัส
ภาพอนุภาคของไวรัสฝีดาษลิงจากกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนที่เก็บตัวอย่างจากผิวหนังมนุษย์ในการระบาดเมื่อปี 2003 ภาพถ่ายโดย CDC/CYNTHIA S. GOLDSMITH/SCIENCE SOURCE

รู้จักโรคฝีดาษลิงและวิธีป้องกัน

เว็บไซต์ของโรงพยาบาลกรุงเทพให้คำแนะนำว่า ฝีดาษลิง คือโรคติดเชื้อที่อาการไม่รุนแรง ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มเดียวกับโรคฝีดาษ(ไข้ทรพิษ) สามารถติดต่อได้จากการถูกสัตว์ (หรือมนุษย์) ที่มีเชื้อไวรัสตัวนี้อยู่กัดและการสัมผัสของเหลวของผู้ที่มีเชื้อโดยตรง ทำให้เกิดการติดเชื้อต่อไปได้ 

โดยส่วนใหญ่แล้วการติดเชื้อจากมนุษย์สู่มนุษย์นั้นมักเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ อาการของโรคที่สังเกตได้ชัดเจนคือ มีไข้ หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามตัว ปวดหลัง ปวดกระบอกตา ปวดกล้ามเนื้อ เจ็บคอ อ่อนเพลีย หลังจากนั้นประมาณ 4 – 5 วันจะมีผื่นจำนวนมากขึ้นบริเวณแขน ขา ลำตัว ใบหน้า

โดยลักษณะผื่นช่วงแรกจะเป็นผื่นแดงหรือปื้นนูนแดง จากนั้นจะเป็นตุ่มน้ำใสขนาดใหญ่ ตุ่มหนองที่มีสะเก็ดคลุมแล้วแตกได้ ซึ่งความรุนแรงของผู้ป่วยแต่ละคนจะขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อที่ได้รับ อย่างไรก็ตามโรคฝีดาษลิงสามารถหายได้เอง แต่ยังคงมีอันตรายสำหรับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ดังนั้นหากมีการสงสัยของโรคให้ทำการแยกกักตัวออกมาทันที

ฝีดาษลิง, ไวรัส
ภาพจากกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบสแกนนิงที่ย้อมสีแสดงให้เห็นถึงไวรัสฝีดาษลิง (สีส้ม) บนผิวของเซลล์ที่ติดเชื้อ (สีเขียว) ภาพถ่ายโดย NIAID

ในการป้องกันโรค ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายยังยืนยันว่า มาตรการป้องกันในตอนนี้ที่ทำกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คือการเว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก ล้างมือ หลีกเลี่ยงการสัมผัส และไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกันนั้นยังคงเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดที่ดี ซึ่งไวรัสฝีดาษลิงนั้นแพร่กระจายได้น้อยกว่าไวรัสโควิด-19 ค่อนข้างมาก ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนฝีดาษลิง แต่การฉีดวัคซีนโรคฝีดาษสามารถช่วยได้

ขณะที่สถานการณ์ทั่วโลกนั้นมีผู้ป่วยยืนยันแล้ว 20,849 รายในจำนวน 74 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่พบการแพร่ระบาดในทวีปยุโรป โดยประเทศที่มีผู้ป่วยสูง 5 อันดับแรกคือ สหรัฐอเมริกา 4,639 ราย สเปน 4,001 ราย เยอรมนี 2,459 ราย สหราชอาณาจักร 2,367 ราย และฝรั่งเศส 978 ราย ส่วนใหญ่เป็นเพศชายทั้งหมด โดยองค์การอนามัยได้ประกาศเตือนภัยระดับสูงสุดสำหรับโรคฝีดาษลิงนี้แล้ว

ที่มา

https://www.prachachat.net/marketing/news-993202 

https://www.bangkokhospital.com/content/questions-about-monkeypox


อ่านเพิ่มเติม ความลี้ลับของไวรัส

ไวรัส

Recommend