นับถอยหลัง เหยียบดวงจันทร์ในรอบ 50 ปี ‘อาร์เทมิส 2’ ความความสำเร็จครั้งใหม่ หลัง ‘อะพอลโล 11’

นับถอยหลัง เหยียบดวงจันทร์ในรอบ 50 ปี ‘อาร์เทมิส 2’ ความความสำเร็จครั้งใหม่ หลัง ‘อะพอลโล 11’

กว่า 50 ปี หลังมนุษย์เหยียบดวงจันทร์ครั้งแรก โปรเจค อาร์เทมิส2 (Artemis2) ของนาซ่าเตรียมส่งมนุษย์กลับขึ้นไปอีกครั้ง โดยที่เมื่อไม่นานมานี้ได้ประกาศชื่อนักบินอวกาศ 4 คน ที่จะขึ้นยานอวกาศไปโคจรรอบดวงจันทร์ในภารกิจ โดยมีนักบินอวกาศหญิงคนแรกและนักบินอวกาศผิวสีคนแรกในประวัติศาสตร์

หลายเดือนที่ผ่านมา ภารกิจใหญ่ที่คนทั่วโลกต่างจับตา คือโปรเจค “อาร์เทมิส2 (Artemis2)” ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (National Aeronautics and Space Administration : NASA) หรือนาซ่า ที่ต้องการส่งมนุษย์กลับไปเหยียบบนดวงจันทร์อีกครั้งในรอบกว่า 50 ปี หลังความสำเร็จครั้งแรกของ อะพอลโล 11 (Apollo 11) เมื่อปี  1969

ภาพของ นีล อาร์มสตรอง (Neil Armstrong)  ในฐานะมนุษย์โลกที่เหยียบดวงจันทร์เป็นคนแรกเป็นภาพที่หลายคนคุ้นตา และแม้เวลาจะผ่านไปนานกว่าครึ่งศตวรรษ แต่สิ่งเหล่านี้ก็กลายเป็นความภาคภูมิใจของมนุษยชาติ และเป็นที่มาของการมีอิทธิพลในสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยี การสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กและเยาวชน ของสะสม ไปจนถึงแฟชั่น

ทำไมการเดินทางของมนุษย์ไปดวงจันทร์จึงนับเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่? หลายแหล่งข้อมูลวิเคราะห์ว่า เมื่อประธานาธิบดี จอห์น เอฟ เคนเนดีประกาศในปี 1962 ว่า อเมริกาจะส่งคนไปยังดวงจันทร์ นั่นเท่ากับเป็นการประกาศให้คนทั้งโลกรู้ว่า อเมริกาจะทำในสิ่งที่ไม่มีประเทศไหนในโลกทำมาก่อน และในขณะนั้นเองอเมริกา ยังไม่มีทั้งจรวด ฐานส่งจรวด เสื้ออวกาศ คอมพิวเตอร์ หรืออาหารในภาวะไร้น้ำหนัก ดังนั้น ในช่วงเวลาก่อนถึงปฏิบัติการ บรรดานักวิทยาศาสตร์ วิศวกร นักบริหาร ผู้ควบคุมการบิน นักออกแบบจรวด นักเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และคนงานโรงงานสร้างยานอวกาศ รวมกันเรียกว่า ทีมดวงจันทร์กว่า 4 แสนคน ได้แก้ปัญหาที่เป็นการท้าทายมากกว่า 10,000 ปัญหา เพื่อส่งนักบินอวกาศไปยังดวงจันทร์ และนำพวกเขากลับมายังโลกอย่างปลอดภัย

นาซ่าได้คัดเลือกนักบินอวกาศสำหรับภารกิจอะพอลโล 11 ซึ่งจะส่งมนุษย์ไปลงดวงจันทร์ไว้ 3 คน ได้แก่นีล อาร์มสตรอง บัซซ์ อัลดริน และไมเคิล คอลลินส์ และเมื่อทำได้สำเร็จ การค้นพบที่สำคัญของโลกในเวลาต่อมา ล้วนมีที่มาจากภารกิจเหยียบดวงจันทร์ ไม่ว่าจะเป็น คอมพิวเตอร์ ยารักษาโรค และตัวชิป ฯลฯ  ซึ่งทั้งหมดทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางอารยะธรรม

“50 ปีที่แล้ว การเหยียบบนดวงจันทร์ ได้สร้างความฝันให้กับคนในเจเนอเรชั่นหนึ่ง จากเด็กในวันนั้นกลายเป็นผู้ใหญ่ และอิทธิพลได้ส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น มาวันนี้จากเรื่องเล่า จากการเห็นภาพที่บันทึกในหนังสือ ในโทรทัศน์ วันนี้พวกเราจะมีโอกาสรับชมสดๆด้วยตาของตัวเอง” กรทอง วิริยะเศวตกุล แฟนพันธุ์แท้ระบบสุริยะ ในฐานะผู้ติดตามความเคลื่อนไหวของโลกอวกาศ กล่าวกับ National Geographic Thailand ถึงความน่าสนใจในภารกิจส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์

เมื่อวันที่  3 เมษายน 2566 โปรเจคอาร์เทมิส2 ก็คืบหน้าอีกครั้ง เมื่อนาซ่า ได้ประกาศชื่อนักบินอวกาศ 4 คน ที่จะขึ้นยานอวกาศไปโคจรรอบดวงจันทร์ในภารกิจ โดยมีนักบินอวกาศหญิงคนแรกและนักบินอวกาศผิวสีคนแรกที่ได้ปฏิบัติภารกิจสำรวจดวงจันทร์

Artemis Crew

นักบินอวกาศ 4 คนที่ได้รับเลือกให้ไปโคจรรอบดวงจันทร์ในภารกิจอาร์เทมิส2 เป็นนักบินอวกาศชาวอเมริกัน 3 คน และชาวแคนาดา 1 คน ได้แก่ รีด ไวซ์แมน (Reid Wiseman) วิกเตอร์ โกลฟเวอร์ (Victor Glover) คริสตินา คอช (Christina Koch) จากนาซ่า และเจเรมี ฮานเซน (Jeremy Hansen) จากองค์การอวกาศแคนาดา (Canadian Space Agency : CSA)  โดยภารกิจนี้ รีด ไวซ์แมน จะรับหน้าที่เป็นผู้บัญชาการภารกิจ ส่วนวิกเตอร์ โกลฟเวอร์ เป็นนักบินประจำภารกิจ คริสตินา คอช เป็นผู้เชี่ยวชาญประจำภารกิจลำดับที่ 1 และเจเรมี ฮานเซน เป็นผู้เชี่ยวชาญประจำภารกิจลำดับที่ 2

มีการตั้งข้อสังเกตว่า ภารกิจครั้งนี้ เหมือนว่านาซ่าจะนำเสนอภาพการสนับสนุนความหลากหลายผ่านการเลือกนักบินอวกาศ โดยเฉพาะวิกเตอร์ โกลฟเวอร์ เป็นนักบินอวกาศผิวสีคนแรกในภารกิจสำรวจดวงจันทร์ ส่วนคริสตินา คอช ก็ถือเป็นนักบินอวกาศหญิงคนแรกในภารกิจสำรวจดวงจันทร์ ขณะที่ เจเรมี ฮานเซน เป็นนักบินอวกาศชาวแคนาดาคนแรกในภารกิจสำรวจดวงจันทร์

การก้าวขึ้นสู่ดวงจันทร์ในครั้งนี้จึงถือเป็นก้าวแรกของความสำเร็จอีกครั้ง ทั้งในคุณค่าแบบทางตรงและทางอ้อม

รายงานข่าวระบุว่า ภารกิจอาร์เทมิส2 จะทดสอบการบินประมาณ 10 วัน โดยจะเริ่มจากการปล่อยจรวด Space Launch System พร้อมยานอวกาศ Orion ซึ่งการบินในภารกิจนี้จะพิสูจน์ความสามารถของระบบช่วยชีวิตของยานอวกาศ Orion และตรวจสอบความสามารถและเทคนิคที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตและทำงานของมนุษย์ในห้วงอวกาศ

นาซ่าบอกเป้าหมายของโครงการ Artemis ว่า นาซ่าจะใช้เทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ ในการสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์ให้มากขึ้นกว่าที่เคยทำมา โดยจะร่วมมือกับพันธมิตรระดับนานาชาติ แล้วจะตั้งฐานสำรวจระยะยาวบนดวงจันทร์เป็นครั้งแรก จากนั้นจะใช้สิ่งที่ได้เรียนรู้บนดวงจันทร์และรอบ ๆ ดวงจันทร์เพื่อก้าวกระโดดขั้นต่อไป นั่นคือการส่งนักบินอวกาศชุดแรกไปยังดาวอังคาร

สำหรับภารกิจของ Artemis ถูกแบ่งออกเป็น 3 ภารกิจ ได้แก่

  1. ภารกิจArtemis I เป็นการส่งยาน Orion MPCV ด้วยจรวด SLS โดยไม่มีมนุษย์ควบคุมไปสู่วงโคจรของดาวจันทร์แล้วปล่อยดาวเทียม CubeSats จำนวน 13 ดวง ไว้บริเวณวงโคจร Selenocentric ของดวงจันทร์
  2. ภารกิจArtemis II เป็นการพามนุษย์เดินทางไปโคจรรอบดวงจันทร์จากนั้นบินกลับมายังโลกและโคจรรอบโลกโดยใช้วงโคจร Low Earth Orbit ซึ่งเป็นวงโคจรที่มนุษย์ไม่เคยเดินทางไปมาก่อน
  3. ภารกิจArtemis III จะพาลูกเรือ 4 คนไปวงโคจรดวงจันทร์โดย 2 คน จะอยู่บนสถานีอวกาศ Gateway และอีก 2 คน ลงไปเหยียบบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์เป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์ ภายในปี ค.ศ. 2024 ซึ่ง 1 ใน 2 คน จะเป็นนักบินอวกาศหญิงคนแรกของโลกที่ทำการเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์

ภาพจาก NASA

ข้อมูลประกอบ : One Giant Leap, วิกิพีเดีย, องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม

อ่านเพิ่มเติม นาซาเผย มนุษย์จะอาศัยอยู่บนดวงจันทร์ได้ภายในทศวรรษนี้

moon

 

Recommend