อาจมีชีวิตบน ดาวอังคาร ? นักวิทยาศาสตร์พบอุกกาบาตจากดาวอังคารที่ตกบนโลก 11 ปีก่อน มีโมเลกุลอินทรีย์หลายชนิด

อาจมีชีวิตบน ดาวอังคาร ? นักวิทยาศาสตร์พบอุกกาบาตจากดาวอังคารที่ตกบนโลก 11 ปีก่อน มีโมเลกุลอินทรีย์หลายชนิด

กรณีสิ่งมีชีวิตบน ดาวอังคาร เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2011 อุกกาบาตหนึ่งก้อนได้แตกตัวบนท้องฟ้าของเมือง ‘Tissint’ ในโมร็อกโก และกระจายเศษชิ้นส่วนไปทั่วทะเลทรายโดยรอบ 11 ปีต่อมา นักวิทยาศาสตร์พบว่ามันเป็นเบาะแสสำคัญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ทางธรณีวิทยาของดาวอังคาร ซึ่งอาจเคยเป็นที่อยู่อาศัยให้กับสิ่งมีชีวิต’ การวิเคราะห์นี้ได้รับการรายงานในวารสาร Science Advances

“ดาวอังคารและโลกมีวิวัฒนาการร่วมกันในหลาย ๆ ด้าน” ฟิลลิปเป ชมิทท์-คอบลิน (Phillippe Schmitt-Koplin) จากมหาวิทยาลัยเทคนิคคอลมิวนิค (Technical University of Munich) ประเทศเยอรมนี กล่าว “และในขณะที่สิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นพร้อมกับเติบโตที่ดาวบ้านเกิดของเรา (โลก) คำถามที่ว่าเคยมีชีวิตอยู่บนดาวอังคารหรือไม่นั้น ยังคงเป็นหัวข้อวิจัยที่ถกเถียงกันร้อนแรง”

ทีมวิจัยของเขาพบสารประกอบอินทรีย์เป็นโมเลกุลหลากหลายขนาดใหญ่ที่ประกอบไปด้วยคาร์บอน ไฮโดรเจน ออกซิเจน ไนโตรเจน และกำมะถันเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม รายงานระบุไว้ว่าแม้มันจะเกี่ยวข้องกับ ‘ชีวิต’ และกระบวนการทางชีวภาพ แต่สารประกอบอินทรีย์เหล่านี้ก็สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยกระบวนการที่ไม่เกี่ยวกับทางชีวภาพเช่นกัน

ดังนั้น สิ่งนี้จึงไม่ได้บ่งชี้ว่ามีสิ่งมีชีวิตอยู่บนดาวอังคารในทันที นักวิทยาศาสตร์เรียกสิ่งนี้ว่า ‘เคมีอินทรีย์ชีวภาพ’ กระนั้น มันถือว่าเป็น “บันทึกที่ครอบคลุมมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา ซึ่งมีความหลากหลายของสารประกอบอินทรีย์ที่พบทั้งจากอุกกาบาตดาวอังคารและตัวอย่างที่รวบรวมซึ่งถูกวิเคราะห์โดยยานโรเวอร์” รายงานระบุ

พวกเขาเชื่อว่า หินก้อนนี้ก่อตัวบนดาวอังคารเมื่อหลายร้อยล้านปีก่อน การศึกษาบ่งชี้ว่ามันอาจมาจากกระบวนการใต้โลกหรือเปลือกโลกของดาวอังคาร ซึ่งก่อเกิดสารประกอบอินทรีย์ที่มาจากปฎิกิริยาระหว่างหินและน้ำ นอกจากนี้ยังพบสารประกอบอินทรีย์แมกนีเซียมจำนวนมาก ซึ่งไม่เคยเจอมาก่อนในตัวอย่างที่มาจากดาวอังคาร

มันบ่งบอกว่ากระบวนการธรณีเคมีนี้ถูกสร้างขึ้นในที่ที่มีความดันและอุณหภูมิสูง โดยเป็นส่วนลึกลงไปภายในดวงดาว พร้อมกันนี้ ความอุดมสมบูรณ์ของโมเลกุลเหล่านี้ยังชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างวัฏจักรคาร์บอนบนดาวอังคารและวิวัฒนาการของแร่ธาตุต่าง ๆ แม้มันจะไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้อย่างชัดเจนถึงการมีชีวิต แต่มันก็ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์รับรู้แง่มุมใหม่ ๆ ของดาวเคราะห์แดงดวงนี้

“การทำความเข้าใจกระบวนการและลำดับของเหตุการณ์ที่หล่อหลอมโมเลกุลอินทรีย์อันอุดมสมบูรณ์นี้จะเปิดเผยรายละเอียดใหม่เกี่ยวกับความสามารถในการอยู่อาศัยของดาวอังคาร รวมถึงปฏิกิริยาที่อาจนำไปสู่การก่อตัวของชีวิต” แอนดรูว สตีล (Andrew Steele) นักดาราศาสตร์แห่งสถาบันคาร์เนกีเพื่อวิทยาศาสตร์ในวอชิงตัน ดี.ซี. และนักวิทยาศาสตร์ภารกิจยานสำรวจเพอร์เซเวียแรนซ์ (Perseverance) และคิวริออซิตี้ (Curiosity) ของ NASA กล่าว

ตอนนี้ นักวิจัยกำลังมองหาตัวอย่างจากยานอวกาศและหุ่นยนต์ที่เดินทางไปยังดาวอังคารเพิ่มเติมเพื่อสร้างข้อมูลทางธรณีวิทยาเกี่ยวกับดวงดาวให้มากขึ้น ก่อนที่พวกเขาจะพูดได้อย่างมั่นใจว่าครั้งหนึ่งเคยมียุครุ่งเรืองของชีวิตเกิดขึ้นหรือไม่บนดาวเคราะห์แดงดวงนั้น

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

Photograph by Ludovic Ferriere / Museum of Natural History Vienna

ที่มา

https://www.science.org/doi/10.1126/sciadv.add6439

https://www.space.com/mars-meteorite-organic-molecules-ancient-life

https://www.livescience.com/tissint-meteorite-organic-compounds

https://www.sciencedaily.com/releases/2023/01/230112113146.htm

อ่านเพิ่มเติม โลก ไม่อาจอยู่ได้ตลอดกาล ต้องพบจุดจบในอนาคต! ด้วยสาเหตุดังต่อไปนี้จากนักวิทยาศาสตร์

Recommend