กินดึก กินก่อนนอนทำให้อ้วนจริงรึเปล่า? งานวิจัยใหม่พบว่าร่างกายตอบสนองต่อแคลอรี่ตอนเช้าและเย็นต่างกัน

กินดึก กินก่อนนอนทำให้อ้วนจริงรึเปล่า? งานวิจัยใหม่พบว่าร่างกายตอบสนองต่อแคลอรี่ตอนเช้าและเย็นต่างกัน

ที่ผ่านมา มีความคิดว่าการ กินดึก การรับประทานอาหารตอนกลางคืน หรือไม่กี่ชั่วโมงก่อนเข้านอนทำให้ระบบเผาผลาญเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ซึ่งอาจเพิ่มความหิวและอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการมีน้ำหนักมากขึ้นในระยะยาว โดยงานวิจัยที่ผ่านมาก็พบว่าการกินมื้อดึกเชื่อมโยงกับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นหรือโรคอ้วน

แต่ประเด็นสำคัญคือ การศึกษาส่วนใหญ่เป็นเพียงการสังเกต และน้อยคนที่จะอธิบายว่าเหตุใดการรับประทานอาหารตอนดึกอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้น้ำหนักขึ้น ดังนั้น การศึกษาล่าสุดที่ตีพิมพ์ใน Cell Metabolism พยายามที่จะตอบคำถามนี้โดยการควบคุมแคลอรี่ที่ผู้เข้าร่วม และตรวจสอบว่าพวกเขากินเท่าไหร่ นอนเท่าไหร่ และออกกำลังกายมากน้อยเพียงใด เพื่อให้นักวิจัยได้เรียนรู้ว่าการรับประทานอาหารในตอนดึกส่งผลต่อน้ำหนักได้อย่างไร

การค้นพบที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งจากรายงานนี้คือ “แคลอรี่ก็คือแคลอรี่ (กินเท่าไหร่ก็มีอยู่เท่านั้น) แต่การตอบสนองของร่างกายคุณต่อแคลอรี่นั้นจะแตกต่างกันในตอนเช้ากับตอนเย็น” แฟรงค์ เอ.เจ.แอล. ซเชียร์ (Frank A.J.L. Scheer) นักวิจัยอาวุโสและนักประสาทวิทยาจากโรงเรียนแพทย์ฮาวาร์ด กล่าว

ในการศึกษา ทีมวิจัยพบว่าการรับประทานอาหารภายใน 4 ชั่วโมงก่อนเข้านอนส่งผลต่อฮอร์โมน 2 ชนิดที่เกี่ยวข้องกับความหิว ซึ่งก็คือ เลปติน (Leptin) และ เกรลิน (Ghrelin) ที่เกี่ยวกับการจัดเก็บไขมันและกระตุ้นความหิว ในกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 16 คนที่อยู่ในการทดลองที่แตกต่างกัน 2 แบบ “กินเช้า” และ “กินดึก”

แบบแรก “กินเช้า” พวกเขาจะกินอาหารเช้าเวลา 9.00 น. และอาหารเย็นเวลา 17.30 น. แบบที่สอง “กินดึก” อาหารมื้อแรกเป็นเวลาอาหารกลางวัน มื้อต่อมาเป็น 17.30 น. และอาหารค่ำที่ 21.30 น. นักวิจัยประเมินค่าความหิวและการใช้พลังงานของผู้เข้าร่วม ตลอดจนระดับฮอร์โมนในการตรวจเลือด

พวกเขาพบว่าช่วง “กินดึก” มีแนวโน้มที่คนจะรู้สึกหิวตอนตื่นประมาณร้อยละ 10 ถึง 20 โดยเฉพาะในตอนเช้า อีกทั้งยังเผาผลาญแคลอรีโดยเฉลี่ยน้อยกว่าคนที่ “กินเช้า” ถึง 59 แคลอรีในระหว่างวัน แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงระดับโมเลกุลในเนื้อเยื่อไขมัน บ่งชี้ว่าร่างกายของพวกเขาเปลี่ยนแคลอรีเป็นที่เก็บไขมันได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ การตรวจสอบชิ้นเนื้อไขมันจากใต้ผิวหนังของผู้เข้าร่วม 7 คนที่ยินยอม และวิเคราะห์กิจกรรมของยีนในตัวอย่างพบว่า การกินดึกไปปิดสวิตช์ในยีนหลายตัวที่ทำหน้าที่สลายไขมัน และไปเปิดสวิตช์ในยีนอื่นหลายตัวเพื่อกักเก็บไขมันด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้ทำในกลุ่มตัวอย่างเพียงไม่กี่คน ทีมวิจัยจึงยังไม่สามารถบอกได้อย่างแน่ชัดว่าการกินดึกจะเพิ่มการสะสมไขมันหรือไม่ นอกจากนี้ วิถีชีวิตของคนยุคปัจจุบันทำงานในเวลาที่แตกต่างกันออกไป บางคนทำงานเช้า บางคนทำงานดึก พวกเขาจึงกินเวลาแตกต่างกัน

และผู้ทำวิจัยเน้นย้ำว่างานศึกษานี้ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อระบุว่าการรับประทานอาหารเย็นใกล้กับเวลานอนในระยะยาวจะทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปหรือไม่ หรือว่าร่างกายอาจปรับตัวเข้ากับตารางเวลาดังกล่าวแทน

“ดังนั้น ฉันคิดว่าคำแนะนำที่ดีที่สุดที่เราสามารถให้ได้ โดยพิจารณาจากหลักฐานที่เรามีจนถึงตอนนี้คือ: ทานอาหารเย็นของคุณให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วพยายามปิดครัวของคุณ” แคลลี่ ซี. อัลลิสัน (Kelly C. Allison) ผู้อำนวยการศูนย์น้ำหนักและความผิดปกติของการรับประทานอาหารที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียกล่าว

Photo by Markus Winkler on Unsplash

ที่มา

https://www.nationalgeographic.com/premium/article/diet-bedtime-late-night-eating-weight-gain

อ่านเพิ่มเติม ตลาดอาหาร ชั้นยอด 10 แห่งทั่วโลก

Recommend