กรณี ตัวอ่อนมนุษย์สังเคราะห์ ในการประชุมประจำปี 2023 ของสมาคมสเต็มเซลล์เพื่อการวิจัยนานาชาติ (International Society for Stem Cell Research) ศาสตราจารย์ เมกเดลีนา เออร์นิกกา-เกิทซ์ (Magdalena Żernicka-Goetz) นักชีววิทยาพัฒนาการแห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์และคาลเทค ได้ประกาศว่าเขาและพัฒนาสเต็มเซลล์ที่กลายเป็นตัวอ่อนมนุษย์อายุไม่เกิน 14 วันได้สำเร็จ
“เราสามารถสร้างแบบจำลองคล้ายเอ็มบริโอของมนุษย์ได้โดยการตั้งโปรแกรมใหม่ของเซลล์” เธอกล่าวกับที่ประชุม โครงสร้างนี้ไม่มีหัวใจเต้น หรือส่วนเริ่มต้นที่จะกลายเป็นสมอง แต่มีเซลล์ที่ปกติแล้วจะพัฒนาไปเป็นรก ถุงไข่แดง และเอ็มบริโอเอง
พร้อมเน้นย้ำว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะใช้ตัวอ่อนสังเคราะห์นี้ในทางคลินิก การนำไปฝังในครรภ์ของผู้ป่วยก็ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย และยังไม่ชัดเจนว่าโครงสร้างเหล่านี้มีศักยภาพที่จะเจริญต่อไปได้นอกเหนือจากระยะแรกของการพัฒนาหรือไม่ อย่างไรก็ตาม เหตุผลที่พวกเขาสร้างขึ้นคือเพื่อศึกษาสิ่งที่ยังไม่เคยรู้ในวิทยาศาสตร์
เนื่องจากกฎหมายระบุไว้ว่า อนุญาตให้นักวิจัยเพาะตัวอ่อนในห้องทดลองได้ให้มีอายุไม่เกิน 14 วันเท่านั้น และช่วงเวลานี้ถือเป็น ‘กล่องดำ’ ในการพัฒนาตัวอ่อนที่ยังไม่มีใครเข้าใจมาก่อน หลังจาก 14 วัน ทางทีมวิจัยจะเลือกแนวทางอื่นเพื่อศึกษาต่อไป เช่นจากการสแกนการตั้งครรภ์ หรือตัวอ่อนที่บริจาคมา
“แนวคิดคือถ้าคุณจำลองการพัฒนาตัวอ่อนของมนุษย์ตามปกติโดยใช้สเต็มเซลล์จริง ๆ คุณจะได้รับข้อมูลมากมายเกี่ยวกับมันว่าเริ่มต้นอย่างไร มีอะไรผิดพลาดได้บ้างโดยไม่ต้องใช้ตัวอ่อนระยะแรกจริง ๆ เพื่อการวิจัย” ศาสตราจารย์ โรบิน โลเวล-เบดจ์ (Robin Lovell-Badge) หัวหน้าฝ่ายชีววิทยาสเต็มเซลล์และพันธุศาสตร์พัฒนาการของสถาบันฟรานซิสคริกในลอนดอนกล่าว
แน่นอนว่ามันสร้างการถกเถียงขึ้นมาทันที การพัฒนาดังกล่าวเน้นย้ำว่าในตอนนี้ วิทยาศาสตร์กำลังก้าวไปไกลกว่ากฎหมายอย่างรวดเร็ว และนักวิทยาศาสตร์ทั้งในสหราชอาณาจักรรวมถึงที่อื่น ๆ ก็กำลังเคลื่อนไหวเพื่อร่างระเบียบเกี่ยวกับการบริจาคและควบคุมงานสังเคราะห์ตัวอ่อนขึ้นมา
คำถามสำคัญก็คือ ตัวอ่อนเหล่านี้มีความคล้ายคลึงกับตัวอ่อนตามธรรมชาติ (หรือของจริง) มากน้อยเพียงใด?
“หากความตั้งใจทั้งหมดคือ ให้หุ่นจำลองเหล่านี้เหมือนกับตัวอ่อนปกติมาก ก็เป็นไปได้ที่จะปฏิบัติต่อพวกเขาในลักษณะที่ไม่ได้อยู่ในกฎหมาย ซึ่งผู้คนกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้” ศาสตราจารย์ โรบิน โลเวล-เบดจ์ กล่าว
ขณะที่ทาง ศาสตราจารย์ เมกเดลีนา เออร์นิกกา-เกิทซ์ แย้งว่าจุดมุ่งหมายของทีมไม่ใช่เพื่อการสร้างชีวิต แต่เพื่อป้องกันการสูญเสีย และทำความเข้าใจว่าเหตุใดบางครั้งตัวอ่อนจึงไม่สามารถพัฒนาได้หลังจากการปฏิสนธิและการฝังตัว
“เรารู้น้อยมากเกี่ยวกับการพัฒนามนุษย์ในขั้นตอนนี้ และเป็นช่วงเวลาของการสูญเสียการตั้งครรภ์จำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการทำเด็กหลอดแก้ว” โรเจอร์ สตอร์มีย์ (Roger Sturmey) นักวิจัยอาวุโสด้านสุขภาพมารดาและทารกในครรภ์ที่มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ในสหราชอาณาจักร กล่าวในแถลงการณ์
นี่เป็นเพียงตัวอย่างเดียว แต่ก็ทำให้เห็นถึงความซับซ้อนของปัญหาเหล่านี้ สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เห็นพ้องเหมือนกันคือ ต้องมีความจำเป็นเร่งด่วนที่หน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลกจะต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับงานวิจัยใหม่เช่นนี้ เพื่อระบุได้อย่างชัดเจนว่าตัวอ่อนสังเคราะห์เหล่านี้คืออะไร
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา
https://www.iflscience.com/synthetic-human-embryos-have-been-made-in-a-lab-for-first-time-scientists-say-69398
https://www.newscientist.com/article/2378553-what-are-synthetic-embryos-and-why-are-scientists-making-them/#:~:text=A%20team%20at%20the%20University,natural%20embryos%20in%20the%20UK.
https://www.theguardian.com/science/2023/jun/14/synthetic-human-embryos-created-in-groundbreaking-advance
https://edition.cnn.com/2023/06/14/health/human-model-embryo/index.html