ทำไมเราไม่เคยเจอไฟบน ดาวเคราะห์ ดวงอื่นๆ ? เพราะโลกคือ “สถานที่แห่งเดียว” ที่ทำให้ไฟเกิดขึ้นได้

ทำไมเราไม่เคยเจอไฟบน ดาวเคราะห์ ดวงอื่นๆ ? เพราะโลกคือ “สถานที่แห่งเดียว” ที่ทำให้ไฟเกิดขึ้นได้

ทำไมไม่เจอไฟบน ดาวเคราะห์ ดวงอื่น ตามตำนานของเทพเจ้ากรีก โพรมีธีอุส ได้ขโมยไฟจาก เฮสเทีย เทพีแห่งเตาไฟ ลงไปให้มนุษย์ เราจึงมีไฟใช้ในทุกวันนี้ เช่นเดียวกันกับทางวิทยาศาสตร์ ไฟ ทำให้มนุษย์โบราณมีวิวัฒนาการขึ้นอย่างรวดเร็ว เชื่อกันว่าการควบคุมไฟได้ ทำให้เราเป็นสิ่งมีชีวิตที่ประสบความสำเร็จอย่างมากของโลกใบนี้

แต่ไฟนั้นเกิดขึ้นบนโลกอื่น ๆ (ดาวเคราะห์ดวงอื่น) ได้หรือไม่? นักวิทยาศาสตร์คิดว่าไม่มีที่อื่นใดนอกจากโลกใบนี้ที่มีไฟ และสามารถทำให้มันเผาไหม้ได้อย่างเสถียร นี่คือเหตุผลที่เราไม่เจอไฟที่ไหนอีกแล้วในจักรวาล

โดยปกติ ไฟ ต้องการ 3 สิ่งในการเผาไหม้ นั่นคือ เชื้อเพลิง ความร้อน และออกซิเจน โลกของเรามีทุกอย่างพร้อม ใบไม้แห้งหรือกิ่งไม้ที่ร่วงหล่น พวกมันเป็น ‘เชื้อเพลิง’ ชั้นดีในสมัยที่ยังไม่มีน้ำมัน จากนั้นสายฟ้าหรืออิเล็กตรอนที่เคลื่อนที่จากอากาศสู่พื้นดินอย่างรวดเร็วก็ผ่าลงมา

มันสร้าง ‘ความร้อน’ ให้กับอากาศรอบ ๆ พุ่งถึงขีดสุด แล้วไฟก็ปะทุขึ้น แต่สิ่งที่ทำให้มันยังคงไหม้อยู่ได้คือ ‘ออกซิเจน’ ก๊าซที่ช่วยให้ไฟติด และบนโลกของเราก็มีเหลือเฟือ ตามสัดส่วนแล้วโลกมีออกซิเจนอยู่ร้อยละ 21 ขณะที่ดาวอังคารมีเพียงร้อยละ 0.14 เท่านั้น

แม้นักบินอวกาศจะขึ้นไปจุดไม้ขีดไฟที่ดาวอังคารได้ แต่มันจะหายไปอย่างรวดเร็วจนไม่สามารถเอาไปใช้งานอะไรได้ต่อ เช่นเดียวกัน ดาวพฤหัสบดี มีฟ้าผ่ามากมายกว่าโลกหลายร้อยเท่าในทุกวินาที แต่ก็ไม่มีไฟ เนื่องจากมันไม่มีเชื้อเพลิงให้ไฟปะทุขึ้น แม้จะมีก๊าซอย่างไฮโดรเจนหรือฮีเลียมที่ติดไฟได้เหมือนกันก็ตาม

ออกซิเจนเป็นธาตุที่พบมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ในจักรวาล พวกมันมีอยู่อย่างมากมายในอวกาศ แต่ก็สร้างพันธะประกอบเข้ากับอะตอมธาตุอื่น ๆ ได้ง่ายจนนักวิทยาศาสตร์แทบไม่พบในรูปแบบโมเลกุลออกซิเจนเดี่ยว ๆ ที่ทำให้เกิดไฟได้ สิ่งเหล่านี้ทำให้ไฟเกิดตามธรรมชาติได้ยาก ยกเว้นมีคนตั้งใจทำให้มันเกิดในห้องปฏิบัติการเคมี

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีสิ่งที่น่าประหลาดใจบนโลกคือไม่มีหลักฐานการเกิดไฟในฟอสซิลช่วงก่อนยุคออร์โดวิเชียนตอนกลางเลย เนื่องจากออกซิเจนในชั้นบรรยากาศเมื่อเกือบ 2 พันล้านปีก่อนเข้มข้นน้อยเกินไปที่จะทำให้ไฟเผาไหม้ (คล้ายกับดาวอังคาร)

อาจไม่ต้องย้อนกลับไปในอดีตเพราะบนภูเขาสูงปัจจุบันที่มีออกซิเจนเบาบางก็ทำให้เกิดไฟได้ยากกว่าที่ระดับน้ำทะเล และก็เป็นอีกเช่นเดียวกัน หากสิ่งมีชีวิตบนโลกทุกวันนี้หายไปในทันที ออกซิเจนจะค่อย ๆ ทำปฏิกิริยากับหินจนหมดและโลกก็กลายเป็นดาวเคราะห์ที่ติดไฟยาก แม้จะมีทั้งความร้อนและเชื้อเพลิงก็ตาม

หากในอนาคต เราพบไฟถูกจุดติดขึ้นและอย่างเสถียรสักแห่งหนึ่งในจักรวาล นั่นอาจเป็นหลักฐานชั้นยอดของสิ่งมีชีวิตต่างดาวที่มีสติปัญญาก็เป็นไปได้ แต่ในตอนนี้เท่าที่เรารู้ ด้วยส่วนผสมที่ไม่เหมือนใครของออกซิเจน เชื้อเพลิง และความร้อนบนโลกคือสิ่งที่ทำให้ไฟลุกไหม้ได้ในเอกภพอันกว้างใหญ่

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://www.iflscience.com/we-ve-never-found-fire-beyond-the-earth-and-there-s-a-reason-for-that-66892

https://www.space.com/13766-international-space-station-flex-fire-research.html

https://www.nationalgeographic.com/science/article/earth

https://www.economy.pk/earth-the-only-planet-with-enough-oxygen-to-sustain-fire

https://e360.yale.edu/features/our-burning-planet-why-we-must-learn-to-live-with-fire

อ่านเพิ่มเติม หลุมดำยักษ์ หรือ หลุมดำมวลยิ่งยวด กับการค้นพบที่สร้างความตื่นเต้นอย่างสุดขีด

Recommend