ทฤษฎีของแมคเคลแลนด์ หรือ McClelland Theory of Motivation เป็นหนึ่งในทฤษฎีทางจิตวิทยาที่มีได้นำมาประยุกต์ใช้กับการบริหารทรัพยากรบุคคลหลายระดับ ตั้งแต่นักเรียนในภาคการศึกษา ไปจนถึงการพัฒนาพนักงานขององค์กรต่างๆ ทั่วโลก
เดวิด แมคเคลแลนด์ นักจิตวิทยา นักวิชาการ และนักวิทยาศาสตร์ มีชีวิตอยู่ในช่วงปี 1917 – 1998 เขากลายมาเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงจาก ทฤษฎีของแมคเคลแลนด์ ซึ่งมีชื่อเรียกทฤษฎีนี้อีกหลายชื่อ เช่น ทฤษฎีความต้องการของแมคเคลแลนด์ (McClelland’s Theory of Needs) ทฤษฎีความต้องการสามข้อ (Three Needs Theory) และทฤษฎีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ (Achievement Theory of Motivation)
ทฤษฎีเกี่ยวกับแรงจูงใจของแมคเคลแลนด์ เป็นการอธิบายว่า พฤติกรรมของมนุษย์มักจะมีแรงขับเคลื่อนภายในให้ดำเนินกิจกรรมไปจนประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้ ซึ่งแมคเคลแลนด์เคยกล่าวไว้ว่า ในระดับประเทศ หากประชากรของประเทศนั้นมีแรงจูงใจสูงที่จะทำให้กิจกรรมใดๆ สำเร็จลุล่วงไปได้ ก็ย่อมส่งผลให้สังคมและประเทศนั้นๆ มีโอกาสประสบความสำเร็จสูงตามไปด้วย
แรงจูงใจที่มุ่งใฝ่หาความสำเร็จ
ทฤษฎีของแมคเคลแลนด์ได้นำประยุกต์ในการศึกษาเรื่องแรงจูงใจอย่างแพร่หลาย ด้วยจุดประสงค์ที่หลากหลาย เช่น เพื่อฝึกบุคคลให้รู้จักคิดและแสดงออก เพื่อให้เกิดแรงจูงใจที่มุ่งไปสู่ความสำเร็จได้ และสามารถนำไปใช้ได้กับการเพิ่มผลสัมฤทธิ์ในการทำงานของบุคคลได้อีกด้วย เป็นต้น
ความหมายของแรงจูงใจ (motivation) หมายถึง ภาวะภายในตัวบุคคลที่ผลักดันให้บุคคลมีพฤติกรรมอย่างมีจุดมุ่งหมาย
ส่วนในภาษาอังกฤษ คำว่า Motivation มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินคำว่า “Motus” หรือ “Movere” แปลว่า การเคลื่อนที่
ดังนั้น คำว่าแรงจูงใจในเชิงพฤติกรรมจึงหมายความได้ว่า สิ่งที่อยู่ภายในตัวบุคคลที่เป็นแรงขับเคลื่อนให้มนุษย์ทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งไปสู่ความสำเร็จที่ต้องการ
ในเอกสารหลายฉบับของนักวิชาการชาวไทยได้บัญญัติคำเรียกพฤติกรรมแรงจูงใจที่มุ่งใฝ่หาความสำเร็จ ว่า “แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์” ซึ่งมักจะนำไปใช้คู่กับ “วิธีการจูงใจ” เพื่อนำไปเป็นหลักปฏิบัติสำหรับการบริหารบุคคล หรือการบริหารงานโดยทั่วไป และเพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพของการทำงานให้ได้ผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม คำว่า “การจูงใจ” ยังสามารถนำไปใช้กับเรื่องอื่นๆ ที่นอกเหนือจากเรื่องการทำงานได้อีกด้วย
แมคเคลแลนด์ได้อธิบายลักษณะของบุคคลที่มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์สูง ไว้ในหนังสือของเขาว่า จะเป็นคนที่มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะรับภาระหรือความรับผิดชอบในการปฏิบัติงาน ไม่ชอบเกี่ยงงาน จะค้นหาว่าปัญหาจะถูกแก้ได้โดยวิธีใดวิธีหนึ่ง ตั้งเป้าหมายไว้สูงกว่าปกติ และชอบเสี่ยงกับเป้าหมายในระดับที่เป็นไปได้ หรือสถานการณ์ที่ท้าทาย ตลอดจนต้องการข้อมูลย้อนกลับ (Feedback) เกี่ยวกับผลการปฏิบัติงานของตน
แรงจูงใจในทฤษฎีของแมคเคลแลนด์ ประกอบด้วยอะไรบ้าง
1. แรงจูงใจในการประสบความสำเร็จ (Achievement Motive) คือความปรารถนาที่จะกระทำกิจกรรมบางอย่างให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี โดยพยายามกำหนดมาตรฐานของการกระทำนั้นไว้อย่างดี และจะเกิดความสบายใจเมื่อสามารถทำตามมาตรฐานได้สำเร็จ หรือได้ผลลัพธ์ที่สูงกว่ามาตรฐาน ในทางกลับกันจะรู้สึกวิตกกังวลเมื่อพบกับความล้มเหลว
2. แรงจูงใจในความสัมพันธ์ (Affiliation Motive) คือความปรารถนาให้ตัวเองเป็นที่ยอมรับจากบุคคลอื่นๆ ต้องการเป็นที่นิยมชมชอบ หรือต้องการให้ผู้อื่นรักใคร่ หรือชอบตัวเอง โดยแรงจูงใจลักษณะนี้จะผลักให้บุคคลแสดงพฤติกรรมต่างๆ เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากบุคคลอื่น
3. แรงจูงใจในเรื่องอำนาจ (Power Motive) คือความปรารถนาของบุคคลที่จะมีอิทธิพลเหนือผู้อื่นในสังคม ส่งผลให้บุคคลแสวงหาอำนาจ เพื่อตอบสนองความภาคภูมิใจที่ทำอะไรได้เหนือคนอื่น
จากทั้งหมด 3 ข้อ แมคเคลแลนด์ให้ความสำคัญกับเรื่องแรงจูงใจในการประสบความสำเร็จมากกว่าด้านอื่นๆ เพราะเขาเชื่อว่า เป็นแรงจูงใจเชิงบวกที่ทำให้ประเทศชาติพัฒนาไปสู่ความเจริญก้าวหน้าได้ เนื่องจากเขากล่าว่า ประชากรที่มีความต้องการสัมฤทธิ์ผลสูงย่อมผลักดันให้ประชากรเหล่านั้นมีความเพียรพยายาม มีความอดทนเพื่อเอาชนะอุปสรรค และเพื่อให้บรรลุถึงความสำเร็จตามที่เป้าหมายที่ตนเองตั้งไว้ และพยายามทำสิ่งต่างๆ ด้วยมาตรฐานดีเยี่ยม เมื่อประชากรส่วนใหญ่มีแรงจูงใจลักษณะนี้จะทำให้ประเทศประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว
นอกเหนือจากเรื่องการประสบความสำเร็จในการทำงาน แรงจูงใจยังผลักดันให้เราแสดงออกในเรื่องอื่นๆ ในชีวิตแระจำวันด้วย เช่น เมื่อเรามีความต้องการสิ่งของบ้างอย่าง ความต้องการนี้จะผลักให้เราเกิดแรงจูงใจที่จะแสดงออก เพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการมาครอบครอง และเมื่อได้สิ่งของนั้นตามาที่ตั้่งใจแล้ว ก็จะเกิดความพึงพอใจ และมีแนวโน้มที่จะเกิดความต้องการใหม่ๆ ขึ้นอีกครั้ง
แรงจูงใจในการความสำเร็จเกิดขึ้นจากสถาบันครอบครัว
แมคเคลแลนด์อธิบายว่า ปัจจัยส่งเสริมให้บุคคลหนึ่งมีแรงจูงใจใฝ่หาความสำเร็จเริ่มต้นจากครอบครัว คุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ปกครอง ที่้ตั้งมาตรฐานการทำงานของตัวเองไว้สูง มีแนวโน้มที่จะสนใจความสำเร็จของลูก พร้อมกับอบรมสั่งสอนลูกให้เป็นบุคคลที่ช่วยเหลือตัวเองได้ ส่งเสริมให้ลูกเป็นอิสระ และให้รางวัลเมื่อลูกทำได้อย่างประสบความสำเร็จ ในขณะเดียวกันก็พร้อมมอบความรัก และความอบอุ่น และแสดงให้ลูกเห็นว่า ที่พ่อแม่เข้มงวดเพราะอยากให้ลูกประสบความสำเร็จ
จากสถาบันครอบครัว แมคเคลแลนด์ยังกล่าวว่า ปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อการเกิดแรงจูงใจใฝ่หาความสำเร็จยังเกี่ยวข้องกับการ เกิดได้รับประสบการณ์ต่างๆ ในระหว่างกระบวนการเจริญเติบโต เช่น ประสบการณ์การเรียนรู้ในโรงเรียน การได้รับทัศนคติบางอย่างจากสังคมรอบข้าง และการปลูกฝั่งค่านิยม และทัศนคติบางอย่าง เป็นต้น
กล่าวโดยสรุปคือ แรงจูงใจใฝ่หาความสำเร็จเป็นที่สามารถสร้างขึ้นได้โดยอาศัยหลายปัจจัย ที่มีความเข้มข้นแตกต่างกันออกไป ทั้งปัจจัยภายในตัวบุคคล ปัจจัยจากครอบครัว สังคม โรงเรียน และวัฒนธรรมโดยรอบ
สืบค้นและเรียบเรียง ณภัทรดนัย
ภาพถ่าย Razvan Chisu
ข้อมูลอ้างอิง
https://link.springer.com/chapter/10.1007/978-3-642-70967-8_2
https://www.researchgate.net/profile/William-Sparks-7/publication/312169107/links/5f918373a6fdccfd7b74c84d/Human-Motivation-and-Leadership-Assessing-the-Reliability-and-Validity-of-the-Actualized-Leader-Profile.pdf
https://www.toolshero.com/toolsheroes/david-mcclelland
https://so03.tci-thaijo.org/index.php/jbp/article/download/246154/167745/951195