ฝนดาวตกโอไรโอนิดส์ เศษซากของ ดาวหางฮัลเลย์ ดาวหางที่โคจรมาให้ชมทุก 76 ปี

ฝนดาวตกโอไรโอนิดส์ เศษซากของ ดาวหางฮัลเลย์ ดาวหางที่โคจรมาให้ชมทุก 76 ปี

หลายคนอาจไม่ทราบว่า ฝนดาวตกโอไรโอนิดส์ เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ยึดโยงกับ ดาวหางฮัลเลย์ โดยสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าบนท้องฟ้าบริเวณที่มีความมืด ซึ่งถือว่ารับชมง่ายกว่า ดาวหางฮัลเลย์ ที่โคจรกลับมาเฉียดดวงอาทิตย์ทุกๆ 76 ปี หรือประมาณชั่ว 1 อายุขัยของมนุษย์เลยทีเดียว

เศษซากของดาวหางฮัลเลย์

ฝนดาวตกโอไรออนิดส์ หรือ ฝนดาวตกกลุ่มดาวนายพราน เป็นร่องรอยจากเศษฝุ่น เศษหินและและเศษซากของดาวหางฮัลเลย์ ที่ปล่อยทิ้งไว้ในระหว่างการโคจรเข้ามาในระบบสุริยะเมื่อปี 1986 โดยเกิดจากการที่ระหว่าง ดาวหางฮัลเลย์ โคจรตัดผ่านกับเส้นทางที่โลกเคลื่อนที่ แรงโน้มถ่วงของโลกจะดึงเอาเศษหินและฝุ่นเหล่านี้เข้าสู่ชั้นบรรยากาศ เกิดการเผาไหม้เป็นดาวตก ซึ่งนี่เองเป็นต้นกำเนิดของฝนดาวตกโอไรออนิดส์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำในเดือนตุลาคม เนื่องจากเป็นการทิ้งร่องรอยและวัตถุต่างๆ ขนาดเล็กบนวงโคจรของ ดาวหางฮัลเลย์

ทั้งนี้ ทุกครั้งที่ดาวหางฮัลเลย์เคลื่อนที่เข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์ รังสีจากดวงอาทิตย์จะทำให้ดาวหางสูญเสียมวลของตัวเองไปจนมีขนาดเล็กลง 1-3 เมตร ในแต่ละรอบที่เข้าใกล้โลก จนสุดท้ายเมื่อมวลสารส่วนที่เป็นน้ำแข็งสลายตัวจนหมดไป ดาวหางฮัลเลย์ก็จะไม่ได้มีหางที่สวยงามเหมือนที่เคยเห็นในอดีต และจะกลายเป็นเพียงก้อนหินมืดดำในอวกาศ หรืออาจแตกสลายกลายเป็นเศษฝุ่นที่ยังคงโคจรอยู่รอบๆ ดวงอาทิตย์

ในส่วนของปี 2023 หรือ พ.ศ. 2566 นี้ ฝนดาวตกโอไรออนิดส์ ที่มีลักษณะเป็นแสงวาบคล้ายลูกไฟพุ่งกระจายตัวออกมาบริเวณกลุ่มดาวนายพราน มีสีเหลืองและเขียว สวยงามพาดผ่านท้องฟ้าจะมีอัตราการตกสูงสุดตรงกับคืนวันที่ 21 ตุลาคม จนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 22 ตุลาคม ศูนย์กลางการกระจายตัวอยู่ที่กลุ่มดาวนายพราน (Orion)

ดาวหางฮัลเลย์ ดาวหางที่สวยงามที่สุดดวงหนึ่งในอวกาศ

ดาวหางฮัลเลย์ (Halley’s Comet) มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า 1P/Halley เป็นดาวหางที่มีชื่อเสียงที่สุด และได้รับการยกย่องว่าสวยงามที่สุดดวงหนึ่ง โดยมีหลักฐานบันทึกการพบเห็นมานานแล้วกว่า 2,000 ปี ตั้งชื่อตาม เอ็ดมันด์ ฮัลเลย์ (Edmond Halley) นักฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษ ที่เป็นคนแรกซึ่งสามารถคำนวณคาบของดาวหางฮัลเลย์ได้ในปี ค.ศ. 1705

ฮัลเลย์ สนใจเรื่องแรงโน้มถ่วงของดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ว่าแรงโน้มถ่วงของดาวเคราะห์แก๊สยักษ์ทั้ง 2 ดวงนี้ จะส่งผลต่อวงโคจรของดาวหางอย่างไรบ้าง โดยได้แรงบันดาลใจจากศึกษาผลงานที่มีชื่อว่า Philosophiæ Naturalis Principia Mathematica หรือที่เรารู้กันในชื่อ กฎแรงโน้มถ่วงของนิวตัน อันโด่งดังของ ไอแซค นิวตัน (Isaac Newton) ที่เผยแพร่เมื่อปี 1687

สำหรับดาวหางฮัลเลย์มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 11 กิโลเมตร มีคาบการโคจรเฉลี่ย 76 ปี มีวงโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรี แต่ละรอบจะมีคาบการโคจรไม่เท่ากัน เนื่องจากวงโคจรถูกรบกวนโดยแรงโน้มถ่วงจากดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ โดยธรรมชาติของดาวหางนั้น มีลักษณะเป็นก้อนน้ำแข็งสกปรก ในอวกาศ มีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นโมเลกุลที่ระเหิดได้ง่าย เช่น น้ำ มีเทน แอมโมเนีย และคาร์บอนไดออกไซด์ ปะปนอยู่กับเศษหินและฝุ่น ทุกๆ ครั้งที่ดาวหางโคจรเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์ ดาวหางจะได้ปริมาณรังสีที่เพิ่มสูงขึ้นมาก โมเลกุลของสสารเหล่านี้จะระเหิดเป็นแก๊สที่ฟุ้งกระจายไปในอวกาศ มีทิศทางตรงกันข้ามกับดวงอาทิตย์ เกิดเป็นหางของดาวหางที่สวยงามขึ้นมา

การกลับมาของ ดาวหางฮัลเลย์ ในอีก 38 ปีข้างหน้า

ดาวหางฮัลเลย์ โคจรเข้ามาเฉียดดวงอาทิตย์ในระบบสุริยะจักรวาลของเราที่มี ดาวเคราะห์ 8 ดวง ครั้งล่าสุดเมื่อปีเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1986 และจากการคำนวณคาดว่า ครั้งถัดไปดาวหางจะเฉียดดวงอาทิตย์ในช่วงกลางปี ค.ศ. 2061

ดังนั้น ในอีก 38 ปีข้างหน้า มนุษย์น่าจะได้เห็นหนึ่งในดาวหางที่สวยงามและสว่างที่สุด กลับมาปรากฏบนท้องฟ้าให้พวกเราได้ชื่นชมกันอีกครั้ง แต่หากใครรอไม่ไหว การชมฝนดาวตกโอไรออนิดส์ที่จะเกิดขึ้นประจำในช่วงเดือนตุลาคมของทุกๆ ปี ก็เป็นทางเลือกที่สะดวกและน่าสนใจ

วิธีการการรับชมฝนดาวตกโอไรออนิดส์

ฝนดาวตกโอไรออนิดส์ (Orionids) ปีนี้จะสามารถรับชมในช่วงรอยต่อของคืนวันเสาร์ที่ 21 ตุลาคม ถึง เช้ามืดวันอาทิตย์ที่ 22 ตุลาคม อัตราการตกสูงสุดเฉลี่ยประมาณ 20 ดวงต่อชั่วโมง สังเกตได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 23.00 น. เป็นต้นไปจนถึงเวลา 01.00 น. มีศูนย์กลางการกระจายอยู่บริเวณแขนของกลุ่มดาวนายพรานทางทิศตะวันออก ซึ่งคืนดังกล่าวช่วงหลังตี 1 ไปแล้วจะมีแสงดวงจันทร์รบกวน โดยช่วงเวลา 2 ชั่วโมงดังกล่าว ก็อาจพอลุ้นได้ดาวตกกันได้

อนึ่ง ถ้าใครโชคดีเราอาจได้ภาพไฟล์บอลลูกใหญ่ๆ เขียวๆ ติดมาในภาพได้ โดยนอกจากโอกาสที่อาจได้เห็นฝนดาวตกลูกใหญ่ๆแล้ว บริเวณกลุ่มดาวนายพรานยังมีดาวฤกษ์ที่สว่างเด่นอีกหลายดวงเช่น ดาวบีเทลจุส (ที่มีสีส้มเหลือง) และดาวไรเจล (สีฟ้าขาว) ที่โดดเด่นอีกด้วย รวมถึงกลุ่มดาวหมาใหญ่ที่มีดาวฤกษ์สว่างที่สุดบนท้องฟ้า ซีรีอุส ในตำแหน่งใกล้กันอีกด้วย ทำให้คุณอาจได้ภาพดาวตกที่เคียงคู่กลุ่มดาวที่สวยงามอันดับต้นๆ ของท้องฟ้าเลยทีเดียว

ช่วงเวลาที่ดีที่สุดของการสังเกตฝนดาวตก คือหลังเที่ยงคืน ในจุดที่ท้องฟ้ามืดสนิท ไม่มีแสงรบกวน เพราะเป็นเวลาที่ชีกโลกที่เราอยู่จะรับดาวตกที่พุ่งเข้ามาแบบตรงๆ ซึ่งช่วงเวลาที่ดาวตกเกิดก่อนเที่ยงคืนหรือช่วงหัวค่ำนั้นจะเป็นช่วงที่ดาวตกวิ่งสวนทางการหมุนรอบตัวเองของโลก จะเห็นดาวตกมีความเร็วสูง แต่ถ้าฝนดาวตกที่เกิดหลังเที่ยงคืนไปแล้วหรือในเวลาใกล้รุ่ง จะเป็นช่วงที่ดาวตกวิ่งตามทิศทางการหมุนของโลก จึงเห็นดาวตกที่อยู่ในช่วงเวลาใกล้รุ่งนั้นวิ่งช้า

สืบค้นและเรียบเรียง สิทธิโชติ สุภาวรรณ์

ภาพจาก https://www.nationalgeographic.com/science/article/orionids-halleys-comet-meteor-shower-stargazing-science-spd

อ้างอิงข้อมูล

https://th.wikipedia.org/wiki/ดาวหางแฮลลีย์

เพจ Facebook NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และ https://narit.or.th

อ่านเพิ่มเติม รวม 10 ปรากฏการณ์ ดาราศาสตร์ สำคัญในปี 2566

Recommend