ภาพวาดทางพฤกษศาสตร์ (วิทยา) ศาสตร์ในศิลปะ

ภาพวาดทางพฤกษศาสตร์ (วิทยา) ศาสตร์ในศิลปะ

อ่านหลากศาสตร์ใน ภาพวาดทางพฤกษศาสตร์

เพราะพฤกษศิลป์เป็นมากกว่าความสวยงาม

หลายท่านอาจเคยเห็นภาพวาดพืชหรืองานศิลปะที่มีแรงบันดาลใจจากพืช บทความนี้ชวนท่านผู้อ่านมาดื่มด่ำไปกับความงามและความน่าสนใจของภาพวาดทางพฤกษศาสตร์ และชวนมาทำความเข้าใจว่า “ภาพวาดทางพฤกษศาสตร์”  คืออะไร? และแตกต่างกับภาพวาดต้นไม้ ดอกไม้ และพืชทั่วไปอย่างไร?

ภาพวาดทางพฤกษศาสตร์คืออะไร?

เราน่าจะคุ้นชินกับภาพวาดดอกไม้หรือพืชที่สวยงาม ซึ่งภาพวาดที่เราเคยเห็น อาจไม่ได้แสดงลักษณะของพืชที่ละเอียดสมจริงทุกอย่าง แต่ตั้งใจสื่อความสวยงามและองค์ประกอบทางศิลปะเพื่อสร้างความรื่นรมย์ต่อผู้ชมและผู้สร้างสรรค์เอง

ภาพวาดลักษณะนี้จัดเป็น “flower painting” แต่เมื่อใดที่ภาพวาดเหล่านี้มีพืชเป็นองค์ประกอบหลักและแสดงลักษณะของพืชอย่างถูกต้องตามหลักทางพฤกษศาสตร์ มีรายละเอียดที่ช่วยให้ผู้ชมสามารถระบุหรือแยกแยะพืชนั้น ๆ ได้ แต่ภาพอาจจะไม่แสดงทุกส่วนของพืช ภาพวาดประเภทนี้จัดเป็น “botanical art” ซึ่งในภาษาไทยยังไม่มีการบัญญัติศัพท์ไว้อย่างชัดเจน จึงขอเรียกว่า “พฤกษศิลป์”

พฤกษศิลป์ เป็นคำที่มีความหมายกว้าง ๆ อาจอยู่ในรูปแบบภาพวาดหรืองานศิลปะในรูปแบบใด ๆ ที่แสดงถึงพืช (รวมถึงสาหร่าย เห็ดรา และไลเคน) ก็ได้ ภาพวาดพืชในลักษณะของพฤกษศิลป์บางครั้งอาจเรียกในภาษาอังกฤษได้หลากหลาย เช่น botanical painting, botanical drawing, botanical sketch

sunflower vincent van gogh ดอกทานตะวัน วินเซนต์ แวนโกะห์
ภาพวาดทานตะวันของศิลปินชื่อดัง แวนโก๊ะ เป็นภาพวาดแบบ flower painting ที่หลายคนคุ้นตา ที่เน้นอารมณ์ความงามของดอกทานตะวันในแต่ละระยะของการเจริญมากกว่าเน้นรายละเอียดที่สมจริง
ที่มา: wikimedia

เมื่อพฤกษศิลป์ถูกนำมาประกอบเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์ ที่มีความลุ่มลึกทางวิชาการ และต้องการสื่อสารข้อความทางพฤกษศาสตร์ ภาพวาดพืชที่ดูธรรมดาจะกลายเป็น ภาพวาดทางพฤกษศาสตร์ หรือ ภาพประกอบทางพฤกษศาสตร์ (botanical illustration) ที่เน้นสื่อความหมายทางวิทยาศาสตร์ แสดงลักษณะของพืชอย่างถูกต้องสมจริงอย่างละเอียดตามหลักพฤกษศาสตร์และให้ข้อมูลของพืชครบถ้วน ซึ่งภาพวาดทางพฤกษศาสตร์นี้สามารถนำเสนอได้หลายรูปแบบ 

ภาพวาดทางพฤกษศาสตร์ที่เราคุ้นเคย คือ ภาพที่แสดงส่วนต่าง ๆ ของพืช ได้แก่ ดอก ผล ลำต้น ใบ ที่เป็นลักษณะภายนอกที่มองเห็น เรียกว่า ลักษณะทางสัณฐานวิทยา (morphological characters) อาจเน้นไปที่ส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือครบถ้วนสมบูรณ์ทุกส่วน ขึ้นกับเป้าหมายในการวาดและข้อมูลทางพฤกษศาสตร์ที่ผู้วาดทราบหรือค้นคว้ามา บางครั้งอาจแสดงลักษณะโครงสร้างภายในของเนื้อเยื่อหรือลักษณะทางกายวิภาคศาสตร์ (anatomical characters) ที่ศึกษาภายใต้กล้องจุลทรรศน์แบบใช้แสง หรือภาพนั้นอาจแสดงลักษณะวิสัยของพืช (habit) ไม่ว่าเป็นไม้ต้น ไม้ล้มลุก ไม้เลื้อย รวมถึงอาจแสดงถิ่นที่อยู่ของพืชและสิ่งแวดล้อมโดยรอบ (habitat and surroundings) ที่สมจริง ดังนั้นภาพวาดทางพฤกษศาสตร์จึงต่างกับ flower painting อย่างมากในแง่ของข้อความที่ต้องการสื่อสารกับผู้ชม

 

sunflower botanical art Helianthus annuus L.
ภาพวาดทางพฤกษศาสตร์แสดงลักษณะส่วนต่าง ๆ อย่างละเอียดของดอกทานตะวัน  Helianthus annuus L. ที่มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาเหนือ
ที่มา: V&A
botanical art sunflower H. argophyllus Torr. & A.Gray
ภาพวาดทางพฤกษศาสตร์แสดงลักษณะส่วนต่าง ๆ อย่างละเอียดของดอกทานตะวัน H. argophyllus Torr. & A.Gray ที่มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาเหนือ ที่มา: wikimedia

ศิลปะเพื่อสร้างความประทับใจและให้ความสำคัญกับพืช

ภาพวาดทางพฤกษศาสตร์ไม่ได้ใช้เพื่อประกอบงานด้านวิชาการเพียงอย่างเดียว แต่เป็นความหมายที่นักพฤกษศาสตร์พยายามจะสื่อสารกับสังคม ภาพวาดหนึ่งภาพแทนคำบรรยายได้มากมาย ความสวยงามของพืชที่ถูกถ่ายทอดผ่านเทคนิคทางศิลปะอย่างแยบคาย ทำให้ผู้ชมเกิดความประทับใจและตระหนักถึงความสำคัญของพืช จึงเกิดการวาดภาพทางพฤกษศาสตร์ร่วมสมัย (contemporary botanical illustration) ที่สื่อสารลักษณะของพืชอย่างเป็นศิลปะ เน้นความสวยงามของพืชและมีรายละเอียดที่สมจริงผ่านการจัดองค์ประกอบศิลป์ อาจแสดงลักษณะของพืชทั้งต้นหรือส่วนใดส่วนหนึ่ง 

ในปัจจุบัน มีภาพวาดที่แสดงรายละเอียดของพืชอย่างสมจริงยิ่งยวดในรูปแบบ hyper realistic ที่ดึงความน่าสนใจของพืชผ่านรายละเอียดและความสวยงามของภาพที่มีอารมณ์ความรู้สึก นอกจากนี้การวาดภาพทางพฤกษศาสตร์ยังรวมถึงการบันทึกภาพพืชที่พบเห็นในสภาพแวดล้อมจริง (field sketch) เป็นการวาดภาพแบบคร่าว ๆ ที่ทำให้เข้าใจลักษณะของพืชมากขึ้น และสามารถนำข้อมูลไปพัฒนาเป็นภาพวาดทางพฤกษศาสตร์ได้ ซึ่งจะทำให้เราเข้าใกล้ธรรมชาติมากขึ้น

Poppy Pierre-Joseph Redouté (1759–1840)
ภาพวาดดอก Poppy โดย Pierre-Joseph Redouté (ค.ศ. 1759–1840) เน้นความงามของสีสันและความโค้งรูปทรงของดอก เป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจให้กับผู้วาดภาพทางพฤกษศาสตร์ร่วมสมัยในเวลาต่อมา ที่มา: rawpixel
Strelitzia nicolai botanical Beverly Allenart
หนังสือรวบรวมภาพวาดทางพฤกษศาสตร์ร่วมสมัย รวบรวมภาพวาดร่วมสมัยที่สะสมโดย Dr. Shirley Sherwood ซึ่งมีการจัดแสดงนิทรรศการอยู่เรื่อย ๆ ณ สวนพฤกษศาสตร์คีว สหราชอาณาจักร ภาพหน้าปกช่อดอกของ Strelitzia nicolai วาดโดย Beverly Allen ที่มีความสวยงามมีรายละเอียดดึงดูดสายตาผู้ชม
ที่มา: kew

พฤกษศิลป์ และ ภาพวาดทางพฤกษศาสตร์ จึงเป็นศาสตร์ที่ถ่ายทอดวิทยาศาสตร์อย่างเป็นศิลปะ หรือในมุมกลับกันอาจมองว่าเป็นศิลปะที่สื่อสารข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ก็ได้ ซึ่งผู้สร้างสรรค์อาจเป็นศิลปิน นักพฤกษศาสตร์ หรือผู้ที่สนใจเกี่ยวกับพืช แต่ทั้งนี้ผู้สร้างสรรค์ควรเข้าใจลักษณะของพืชและถ่ายทอดอย่างถูกต้องตามหลักทางพฤกษศาสตร์ ที่สำคัญคือการศึกษาจากต้นพืชจริงและรู้คุณค่าของพืชนั้น ดังนั้นไม่ว่าใครที่มีความพยายาม ค้นคว้า และทำความเข้าใจลักษณะของพืชก็ย่อมจะสร้างสรรค์พฤกษศิลป์ที่ดีได้

เราเริ่มวาดภาพพืชตั้งแต่เมื่อไหร่?

การวาดภาพของมนุษย์นั้นมีหลักฐานปรากฏตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ คือ ภาพเขียนผนังถ้ำ (cave painting) แต่ภาพส่วนใหญ่นั้นมีองค์ประกอบหลักคือสัตว์และคนมากกว่าพืช[1] ชี้ให้เห็นถึงภาวะตาบอดพืช (plant blindness) ที่อาจเกิดขึ้นและฝังรากลึกมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์[2] แล้วการวาดภาพพืชนั่นเริ่มขึ้นอย่างไร ? 

หากมีสัตว์ มีมนุษย์ ก็ย่อมมีพืช เพราะพืชเป็นแหล่งอาหาร อีกทั้งในถิ่นที่อยู่อาศัยของเราก็แวดล้อมไปด้วยพืช ดังนั้นทุกท่านคงจะพอเดาได้ว่าภาพวาดพืชก็มีจุดเริ่มต้นมาจากภาพวาดตามผนังถ้ำเช่นกัน[3] แต่การวาดภาพในช่วงก่อนประวัติศาสตร์นั้นมีจุดมุ่งหมายเพื่อความงาม (aesthetic) ความเป็นศิลปะ แต่อย่างไรก็ตามการวาดภาพในยุคก่อนประวัติศาสตร์นั้นอาจเป็นการสื่อความหมายแทนคำในภาษาที่มีความซับซ้อนก็เป็นได้

ภาพเขียนสีบนผนังถ้ำ
ภาพวาดบนผนังถ้ำที่ประกอบด้วย คน สัตว์ และสิ่งที่มีลักษณะคล้ายต้นไม้
ที่มา: Photo by Augusto Pessoa / Wikimedia Commons

เมื่อมนุษย์เริ่มมีสังคมและมีการสื่อสารด้วยภาษาที่มีอักษร จึงเกิดการบันทึกในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงมีวัฒนธรรมที่ส่งต่อและเรียนรู้จากรุ่นสู่รุ่น การวาดภาพพืชก็มีการสืบต่อเช่นกัน การวาดภาพพืชอย่างมีวัตถุประสงค์จึงเริ่มขึ้นในยุคประวัติศาสตร์ ที่บันทึกภาพพืชอย่างจริงจัง ตัวอย่างเช่นในอารยธรรมอียิปต์มีการบันทึกภาพของพืชที่นำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน ทั้ง พืชอาหาร พืชสมุนไพร หรือพืชที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรม 

Papyrus Marsh by Hugh R. Hopgood (1914–1916)
ภาพวาดกกปาปิรุสในพื้นที่ชุ่มน้ำ (Papyrus Marsh) โดย Hugh R. Hopgood (ค.ศ. 1914–1916) ต้นแบบดั้งเดิมวาดใน ค.ศ. 1427–1400 ปีก่อนคริสตกาล แสดงลักษณะถิ่นอาศัยและลักษณะช่อดอกในแต่ละระยะ ตั้งแต่อายุน้อยไปจนเจริญเต็มที่ เป็นช่อดอกแบบก้านซี่ร่ม (umbel) พร้อมทั้งแสดงสัตว์ที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น เช่น นกชนิดต่าง ๆ
ที่มา: metmuseum

ในอารยธรรมกรีกเริ่มมีการศึกษาและบันทึกข้อมูลของพืชอย่างเป็นระบบ มีรากฐานจากการศึกษาพืชของ ธีโอฟราสตัส (Theophrastus) ที่บันทึกลักษณะของพืชมากมายในตำรา กล่าวได้ว่าภาพวาดทางพฤกษศาสตร์ถือกำเนิดขึ้นในยุคนี้นั่นเอง อย่างไรก็ตามในช่วงนั้นยังมีเทคนิคทางศิลปะจำกัดและมีองค์ความรู้ด้านพฤกษศาสตร์ไม่มาก ทำให้ภาพวาดพืชยังมีรายละเอียดไม่มากพอที่จะทำให้ผู้ชมแยกแยะพืชที่มีลักษณะใกล้เคียงกันมากได้

ต่อมาในยุคกลาง (Middle Ages) เป็นช่วงที่ศาสนามีอิทธิพลสำคัญในโลกตะวันตก ภาพวาดของพืชมักปรากฏในผลงานศิลปะต่าง ๆ เช่น ตำรา หนังสือสวดมนตร์ ภาพเขียน พรม/สิ่งทอ แม้กระทั่งสิ่งประดับตามอาคารสถาปัตยกรรม แต่การถ่ายทอดลักษณะของพืชในยุคนี้ไม่เน้นความสมจริงเท่าไรนัก ส่วนใหญ่มีการผสมมุมมองของศิลปินเข้าไปด้วย และไม่ได้มีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อเผยแพร่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ 

Theophrastus
ตัวอย่างภาพวาดในตำราของธีโอฟราสตัส ที่แสดงลัษณะทางสัณฐานวิทยาของพืช แต่จะเห็นว่าภาพวาดพืชสองชนิดนี้มีลักษณะใกล้เคียงกันมาก
ที่มา: Biodiversity Heritage Library on Flickr.com

 

 

Book of Hours
ภาพวาดประกอบหนังสือ Book of Hours เป็นหนังสือสวดมนตร์ในคริสต์ศาสนาที่มีการใช้อย่างแพร่หลายในยุคกลาง ใช้พืชเป็นองค์ประกอบให้หนังสือมีความสวยงาม แต่ไม่เน้นความสมจริงและรายละเอียดของพืช (ซ้าย ที่มา: wikimedia) และ หนังสือสวดมนตร์ที่เชื่อว่าเขียนในอิตาลี (ขวา ที่มา: schoenberginstitute) ใช้ดอกไม้เป็นสัญลักษณ์ทางคริสต์ศาสนา เช่น ดอกลิลลี่สีขาวที่อัครเทวดากาเบรียลถืออยู่เป็นสัญลักษณ์ความบริสุทธิ์ของพระแม่มารี และ ดอกไวโอเล็ตสีม่วง (ด้านขวาล่างของหน้า) สื่อถึงความอ่อนน้อมถ่อมตนของพระแม่มารี [4,5]
หลังจากสิ้นสุดยุคกลาง มนุษย์ได้เข้าสู่ยุคใหม่ (Modern era) ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา ในยุคนี้วิทยาศาสตร์เริ่มมีบทบาทต่อการขับเคลื่อนสังคมมากขึ้น เริ่มมีนักวิชาการและมีการเดินทางสำรวจในพื้นที่ใหม่ ๆ เกิดองค์ความรู้ใหม่ทางพฤกษศาสตร์และมีการค้นพบพืชชนิดใหม่มากมาย ซึ่งต้องมีการบันทึกข้อมูลลักษณะของพืช ในขณะที่เทคโนโลยีการถ่ายภาพยังสะดวกอย่างในปัจจุบัน 
การวาดภาพจึงมีบทบาทมากในการบันทึกข้อมูลในการค้นพบสิ่งมีชีวิตใหม่ ๆ โดยเฉพาะช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17–18 ที่เรียกได้ว่าเป็น ยุคทองของพฤกษศิลป์[6] นอกจากนี้ยังมีศิลปินที่มีความสามารถมากมาย และที่สำคัญคือมีผู้อุปถัมภ์ที่ส่งเสริมศาสตร์นี้ ที่อาจเริ่มจากความชื่นชอบส่วนบุคคลไปจนถึงการจ้างงานประจำ ทำให้นักวาดภาพทางพฤกษศาสตร์ที่เชี่ยวชาญมีโอกาสสร้างสรรค์ผลงานที่ทรงคุณค่าให้เราได้ชมกันในปัจจุบัน ซึ่งบางคนอาจเป็นศิลปินอาชีพ บางคนอาจเริ่มต้นจากการเรียนเกี่ยวกับพืช ในช่วงแรกอาจวาดเพื่อการบันทึกแทนภาพถ่าย และเพื่อการเผยแพร่ในรูปแบบสิ่งพิมพ์เชิงวิชาการ หนังสือ ตำรา 

การวาดภาพทางพฤกษศาสตร์ที่รุ่งเรืองในยุคแห่งการสำรวจ เพราะมีองค์ประกอบเหล่านี้ครบ ทั้งมีองค์ความรู้ใหม่ทางด้านพฤกษศาสตร์ มีการค้นพบพืชชนิดใหม่มากมายจากการเดินทางสำรวจพื้นที่ใหม่ ๆ ประกอบกับมีศิลปินที่มีความสามารถและให้ความสนใจในการวาดภาพที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ธรรมชาติ (natural history) และที่สำคัญคือ มีผู้อุปถัมภ์ (patron) ที่สนับสนุนศิลปินและสะสมผลงานที่อาจตกทอดมาถึงคนรุ่นหลัง

แม้ว่าในปัจจุบันจะมีเทคโนโลยีการถ่ายภาพที่ทันสมัย แต่เรายังคงพบเห็น ภาพวาดทางพฤกษศาสตร์ และ พฤกษศิลป์ ที่ปรากฏอยู่ในสื่อต่าง ๆ อย่างแนบเนียน ไม่ว่าจะเป็นภาพประกอบหนังสือหรือบทความ ภาพหน้าปกหนังสือ ภาพประกอบโฆษณา หรือแม้กระทั่งเป็นชิ้นงานศิลปะที่อาจประดับอยู่ที่ใดสักแห่ง

Marianne North Papaya Botanical art
Marianne North ศิลปินที่สร้างสรรค์ผลงานภาพวาดทางพฤกษศาสตร์จากการเดินทางไปยังดินแดนใหม่ ๆ ภาพผลไม้เขตร้อนที่เราคุ้นตาอย่างมะขามและมะละกอ อาจเป็นสิ่งแปลกใหม่สำหรับนักเดินทางต่างถิ่นอย่างเธอ
สามารถชมผลงานอื่นของ Marianne North ได้ที่ wikiart หรือเดินทางไปชมภาพจริงได้ที่ Marianne North Gallery สวนพฤกษศาสตร์คีว สหราชอาณาจักร

นักพฤกษศาสตร์กับศิลปินพฤกษศิลป์

ภาพวาดทางพฤกษศาสตร์ใช้ประกอบในหนังสือหรือบทความวิชาการ ช่วยให้เข้าใจลักษณะของพืชได้ดีขึ้นมากกว่าการอ่านคำบรรยายเพียงอย่างเดียว ตัวอย่างเช่น ในประเทศไทยมีการสำรวจ บันทึกและรวบรวมข้อมูลพันธุ์ไม้ที่พบในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 และตีพิมพ์เผยแพร่ในชื่อของ พรรณพฤกษชาติของประเทศไทย (Flora of Thailand) [7] ภายใต้ความร่วมมือของนักพฤกษศาสตร์ สวนพฤกษศาสตร์ รวมถึงศิลปินที่ร่วมบันทึกภาพของพืชด้วย 

สวนพฤกษศาสตร์จึงเกี่ยวข้องกับภาพวาดทางพฤกษศาสตร์ ในฐานะเป็นแหล่งสำคัญในการรวบรวมพืช และเป็นแหล่งค้นคว้าวิจัยพืชกลุ่มต่าง ๆ สะสมองค์ความรู้จากตัวอย่างพรรณไม้จากทุกมุมโลก เมื่อนักพฤกษศาสตร์ค้นพบพืชชนิดใหม่ หรือ ศึกษาทบทวนลักษณะของพืชเพื่อระบุชนิดหรือจัดจำแนก ต้องมีการบรรยายลักษณะอย่างละเอียด ซึ่งภาพวาดทางพฤกษศาสตร์มีบทบาทในการขยายความหรือทำให้คำบรรยายนั้นเข้าใจง่ายมากขึ้นสำหรับผู้มาอ่านในภายหลัง 

นักพฤกษศาสตร์จึงทำงานร่วมกับศิลปินผู้เชี่ยวชาญเพื่อถ่ายทอดลักษณะของพืชผ่านภาพวาดทางพฤกษศาสตร์ แต่บางครั้งนักพฤกษศาสตร์ก็ทั้งศึกษาและวาดภาพพืชด้วยตนเอง อย่างนักพฤกษศาสตร์ชาวญี่ปุ่น ดร.โทมิทาโร มากิโนะ (Dr. Tomitoro Makino) ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งพฤกษศาสตร์สมัยใหม่ของญี่ปุ่น เขาศึกษาและสร้างสรรค์ภาพวาดทางพฤกษศาสตร์กว่าพันภาพของพืชที่เขาพบในประเทศญี่ปุ่น ถือเป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้คนจำนวนมากหันมาสนใจพืชรอบตัว มีการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวกับพฤกษศาสตร์เพื่อระลึกถึง ดร. มากิโนะ ในวันเกิดของเขาทุกปี ปีที่ผ่านมาเป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 160 ปี นอกจากนี้ยังมีการก่อตั้งสวนพฤกษศาสตร์ Makino Botanical Garden ที่รวบรวมพันธุ์ไม้กว่า 3000 ชนิด ที่จังหวัดโคจิ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อเป็นเกียรติแก่ ดร.มากิโนะ ที่เป็นคนท้องถิ่นของจังหวัดนี้อีกด้วย [8]

ดร.โทมิทาโร มากิโนะ (Dr. Tomitoro Makino) botanical art
ภาพวาดผลงานของ ดร.โทมิทาโร มากิโนะ ที่แสดงลักษณะของพืชผ่านเทคนิคการวาดภาพแบบญี่ปุ่น จากการศึกษาและบันทึกจากตัวอย่างพืชจริง ผลงานของเขามีความละเอียดและถ่ายทอดลักษณะของพืชได้อย่างครบถ้วน
ที่มา: denverbotanicgardens

ปัจจุบันการวาดภาพทางพฤกษศาสตร์เป็นได้ทั้งอาชีพและงานอดิเรก มีกลุ่มคนให้ความสนใจและร่วมกันทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องในลักษณะของ สมาคม ชมรม กลุ่มศิลปิน ทั้งระดับชาติและนานาชาติ เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมอง จัดแสดงผลงานภาพวาดทางพฤกษศาสตร์ร่วมกัน และสนับสนุนคนรุ่นใหม่ให้ก้าวเข้าสู่ศาสตร์นี้ได้อย่างมีมาตรฐาน 

ภาพวาดทางพฤกษศาสตร์ยังเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้และทำความเข้าใจธรรมชาติ จากประสบการณ์ของผู้เขียนในบทบาทผู้สอนการวาดภาพทางวิทยาศาสตร์ (รวมถึงการวาดภาพสัตว์และวัตถุทางธรรมชาติ) การฝึกสังเกตและบันทึกภาพธรรมชาติช่วยให้ผู้เรียนสนใจธรรมชาติรอบตัวมากขึ้น ภาพวาดทางพฤกษศาสตร์จึงช่วยลดช่องว่างระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ สร้างความผูกพัน โดยอาจเริ่มต้นในลักษณะของการวาดภาพอย่างง่ายในภาคสนาม (field sketch) เพื่อบันทึกสิ่งที่เราพบเห็นในธรรมชาติก็ได้ นับได้ว่าการวาดภาพทางพฤกษศาสตร์เป็นอีกศาสตร์เฉพาะ ที่ต้องอาศัยความรู้ทางพฤกษศาสตร์และเทคนิคทางศิลปะ หากเราฝึกฝน ทำความเข้าใจ ไม่ว่าใครก็สามารถสร้างสรรค์ผลงานภาพวาดทางพฤกษศาสตร์ได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และสวยงาม 

บทความโดย ดร.ฉัตรทิพย์ รอดทัศนา

ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เอกสารอ้างอิง

[1] https://www.nationalgeographic.com/science/article/vanished-the-surprising-things-missing-from-ancient-art

[2] https://nph.onlinelibrary.wiley.com/doi/full/10.1002/ppp3.10373

[3] https://www.talesbytrees.com/oldest-picture-of-a-tree/

[4] https://udayton.edu/blogs/marianlibrary/2019-03-22-annunciation-art.php

[5] https://mylifeinblossom.com/the-meaning-and-symbolism-of-flowers/violet-meaning-and-symnolism/

[6] Rix, M. 2018. The Golden Age of Botanical Art. Carlton Books: London.

[7] https://botany.dnp.go.th/detail.html?menu=flora

[8] https://www.makino.or.jp/multilingual/?lang=en


อ่านเพิ่มเติม ประวัติศาสตร์โดยสังเขปของพฤกษศาสตร​์ A Brief History of Botany

พฤกศาสตร์

Recommend