ทำไมการพบเจอปลาออร์ฟิช ( Oarfish ) ในไทยถึงเป็นความตื่นเต้นและกังวลไปพร้อมๆกัน?

ทำไมการพบเจอปลาออร์ฟิช ( Oarfish ) ในไทยถึงเป็นความตื่นเต้นและกังวลไปพร้อมๆกัน?

ภาพปลาออร์ฟิช (Oarfish) ที่พบในทะเล จังหวัดสตูล ถูกแชร์กันในโซเชียลมีเดียตั้งแต่วานนี้ และท่ามกลางความตื่นเต้นของการค้นพบปลาหน้าตาที่ไม่ค่อยคุ้นเคยในไทย ในจำนวนนี้ยังมีความกังวลว่า การปรากฏตัวของปลาชนิดนี้จะส่งผลใดๆกับทะเลไทย กระทั่งเชื่อมโยงกับสัญญาณเตือนถึงการเกิดแผ่นดินไหวหรือภัยพิบัติทางทะเลใดๆหรือไม่

ปลาออร์ฟิช (Oarfish) ถูกเรียกอีกชื่อคือ “ปลาพญานาค” และเมื่อเอ่ยถึงชื่อนี้ มันก็ทำให้สังคมไทยตื่นเต้นได้ไม่ยาก นั่นเพราะพญานาค เชื่อมโยงไปถึงความศักดิ์สิทธิ์ สะท้อนถึงตำนานและความเชื่อมาแต่อดีต โดยที่ปลาพญานาค ที่ทำให้เราคุ้นเคย หนีไม่พ้นภาพถ่าย ทหารอเมริกันยืนเรียงหน้ากระดานอุ้มปลาชนิดนี้ และภาพที่ว่าก็มักจะปรากฏตัวอยู่บนผนังบ้านหรือร้านอาหารในแถบภาคอีสาน

นับเฉพาะ ปลาพญานาค ในความทรงจำของเรานั้น จนถึงวันนี้ มีหลักฐานยืนยันว่า ปลาดังกล่าวไม่ได้ถูกพบในประเทศริมฝั่งแม่น้ำโขงแต่อย่างใด แต่ถูกพบที่ชายหาดของหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ ของสหรัฐอเมริกา ใกล้กับชายหาดโคโลนาโด รัฐแคลิฟอร์เนีย ในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2539 (ค.ศ. 1996) มีการบันทึกว่ามีความยาวประมาณ 7.3 เมตร

ดร.วัชรพงษ์ หงส์จำรัสศิลป์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเคยศึกษา ระดับปริญญาโท สาขาชีววิทยาทางทะเล ที่สถาบันสมุทรศาสตร์ทางทะเลสคริปป์ (Scripps Institution of Oceanography) สหรัฐอเมริกา บอกกับ National Geographic ภาษาไทยว่า ในห้องเก็บตัวอย่างสัตว์น้ำที่สถาบัน ได้มีหลักฐานการค้นพบปลาดังกล่าวนี้ โดยกลุ่มทหารสหรัฐ Navy SEALs ซึ่งภายหลังภาพนี้ได้ถูกขายให้กับหลายสำนักพิมพ์ในยุคนั้น ก่อนที่ถูกเผยแผ่ไปทั่วโลก

ปลาออร์ฟิช (Oarfish)
ปลาออร์ฟิช (Oarfish) ที่พบใน จ.สตูล ที่มาภาพ: อภิรดี ณ ไพรี

ข้างต้นคือความตื่นเต้นของการพบปลาออร์ฟิช แต่ที่เป็น ความกังวลหนีไม่พ้นข้อสังเกตที่ว่า การค้นพบปลาชนิดนี้มักใกล้เคียงกับสถานที่เกิดแผ่นดินไหว เพราะประเทศญี่ปุ่นเพิ่งเกิดเหตุแผ่นดินไหวจนทำให้มีสึนามิ สร้างความเสียหายอย่างหนักเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามประเด็นนี้ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด นั่นเพราะปฏิกิริยาของปลากับการเตือนเรื่องแผ่นดินไหวยังไม่มีหลักฐานใดที่เชื่อมโยงถึงกัน และจนถึงขณะนี้ก็มีนักวิชาการออกมายืนยันว่าไม่จำเป็นต้องหวาดวิตกแต่อย่างใด

ที่น่าจะอธิบายได้ว่า ทำไมถึงพบเจ้าปลา Oarfish ที่ทะเลในจ.สตูล น่าจะมาจากปรากฎการณ์ IOD หรือ Indian Ocean Dipole ซึ่งเป็นการสลับขั้วของน้ำอุ่นและน้ำเย็นในมหาสมุทรอินเดีย

ถ้าแปลกันทีละตัว คำว่า dipole แปลว่า “ขั้วคู่” มาจาก di คือ สอง และ pole คือ ขั้ว อันสะท้อนว่าจะเกิดปรากฏการณ์ตรงกันข้ามของแต่ละขั้ว IOD จึงคือปรากฏการณ์อุณหภูมิที่ผิวน้ำในมหาสมุทรอินเดียสองฝั่งขยับตัวต่างจากค่าเฉลี่ยของพื้นที่ สำหรับฝั่งทะเลอันดามัน จนเกิดการไหลของน้ำที่ไม่ปกติ และขุดเอาน้ำเย็นจากห้วงมหาสมุทรลึกขึ้นมาแทนที่ชั้นบนของแสงสว่าง  ซึ่งเมื่อเกิดปรากฏการณ์นี้แล้ว ทำให้สัตว์น้ำที่เราไม่ค่อยพบกัน เข้ามาตามมวลน้ำเย็น และโอกาสนี้เองจึงเป็นไปได้ว่าปลาออร์ฟิชตัวนี้จะเข้ามาตามน้ำ

ที่มาภาพ : ชยจิต ดีกระจ่าง

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊คถึงสถานการณ์นี้ว่า เมื่อพิจารณาจากจุดจับได้ เป็นเขตน้ำไม่ลึกมาก ปลาตัวนี้จึงน่าจะเป็นปลาวัยรุ่นที่อาจเข้ามาตามมวลน้ำเย็น

“จากข้อมูลต่างๆ พอสรุปได้ว่า ปลาวัยรุ่นตัวนี้คงมากับน้ำเย็น เหมือนกับโมล่าที่ปรกติก็ไม่ค่อยพบในไทย มหาสมุทรมีปรากฏการณ์แปลกๆ เป็นระยะ แต่ถ้าเรามีข้อมูลเพียงพอ เราอธิบายได้ ไม่สร้างความตระหนกตกใจ” ผศ.ดร.ธรณ์ ระบุ

ศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ให้ความเห็นผ่านเพจ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ตอนหนึ่งว่า “เน้นอีกครั้งว่า ปลาตัวนี้ติดอวนล้อมปลากลางน้ำทะเลในฝั่งทะเลอันดามันครับ ไม่เกี่ยวอะไรกับแผ่นดินไหว สึนามิที่ญี่ปุ่น และที่บอกว่าการเจอปลาออร์ฟิชแปลว่าจะเกิดแผ่นดินไหวนั้น ก็เป็นแค่ความเชื่อตามๆ กันมา จริงๆ ส่วนใหญ่ที่เจอมันขึ้นมาผิวน้ำก็เพราะมันป่วยหรือใกล้ตาย คาดว่าครั้งนี้ที่มันมาใกล้ทางฝั่งไทย เพราะน้ำทะเลมหาสมุทรอินเดียมีการเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำเกิดขึ้นครับ เรียกว่า ปรากฏการณ์ Indian Ocean Dipole (IOD) ทำให้มหาสมุทรอินเดียบริเวณเขตศูนย์สูตรมีอุณหภูมิผิวน้ำทะเลเย็นผิดปกติ”

ทั้งนี้ มีรายงานว่า จากการสอบถามชาวบ้านในพื้นที่ อ้างว่าเคยเจอปลาลักษณะคล้ายปลาออร์ฟิชมาบ้าง แต่ไม่มั่นใจว่าเป็นชนิดเดียวกันหรือไม่

สำหรับปลาออร์ฟิช หรือปลาพญานาค เป็นปลาที่ถูกพบเห็นได้ยากมาก เนื่องจากมักอาศัยอยู่ใต้ทะเลในระดับลึกกว่า 50-250 เมตรลงไป และอาจพบได้ที่ความลึกถึง 1,000 เมตร ส่วนหัวใหญ่ ลำตัวแบนสีเงิน มีจุดสีฟ้าและดำประปราย มีครีบหลังสีชมพูแดง บนหัวมีอวัยวะลักษณะคล้ายหงอนเป็นจุดเด่น และเป็นปลาที่มีกระดูกสันหลังยาวที่สุดในโลก ความยาวประมาณ 11 เมตร และส่วนใหญ่จะพบเป็นซากศพหรือมีสภาพใกล้ตายที่ลอยมาเกยตื้นตามชายฝั่งมากกว่าที่จะพบเห็นแบบมีชีวิตอยู่

แม้จะพบได้ยาก แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ และนั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมการค้นพบในครั้งนี้ จึงเป็นทั้งความตื่นเต้นและความกังวลไปพร้อมๆกัน

อ้างอิง :  Facebook: ดร.ชวลิต วิทยานนท์, เพจ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ , Facebook: ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์, ศูนย์ประสานงานและพัฒนางานวิจัยด้านโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (THAI-GLOB)


อ่านเพิ่มเติม : ตำนาน “ทหารหยุดรบ” เตะบอลกับศัตรู “วันคริสต์มาส” ในสงครามโลกครั้งที่ 1

Recommend