ความรักใต้ทะเลลึก การหาคู่ของสัตว์น้ำ 3 ชนิด พวกมันหากันจนเจอได้อย่างไรในท้องทะเลอันมืดมิด

ความรักใต้ทะเลลึก การหาคู่ของสัตว์น้ำ 3 ชนิด พวกมันหากันจนเจอได้อย่างไรในท้องทะเลอันมืดมิด

ต้อนรับวันวาเลนไทน์ วันแห่งความรักด้วยชีววิทยาเกี่ยวกับการหาคู่ของสัตว์น้ำใต้ทะเลลึก

ในช่วงเทศกาลแห่งความรัก คนที่ยังครองสถานะโสดอยู่ บ้างอาจจะรู้สึกมีความสุขกับความเป็นอิสระ บ้างอาจจะตัดพ้อตัวเองว่าเมื่อใดจะเจอคนที่ใช่สักที แต่สบายใจได้ครับ เพราะมนุษย์ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตชนิดเดียวที่มีปัญหาเรื่องความรักและการหาคู่ บทความนี้จะพาคุณดำดิ่งลงสู่ท้องทะเลลึกและร่วมเป็นสักขีพยานให้กับความรักสุดทรหดของสัตว์ทะเลน้ำลึก 3 ชนิดที่มีความพิเศษไม่เหมือนใคร

กว่าเราจะหากันจนเจอ

โลกของทะเลลึกเป็นโลกแห่งความมืดมนและหนาวเย็น สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในท้องทะเลลึกจึงมีการปรับตัวให้มีโครงสร้างหรือพฤติกรรมพิเศษเพื่อให้ตัวเองสามารถอยู่รอดได้ หนึ่งในพฤติกรรมของคู่รักใต้ท้องทะเลลึกที่น่าสนใจ คือ พฤติกรรมการสืบพันธุ์ของปลาแองเกลอร์ (Anglerfish) ซึ่งเป็นปลาที่อาศัยอยู่ที่น้ำลึกได้ถึง 1 กิโลเมตรจากผิวน้ำทะเล มีลักษณะพิเศษคือ ครีบที่บริเวณหลัง (Dorsal fin) ที่ถูกแปลงให้เป็นหลอดไฟขนาดจิ๋วห้อยอยู่ด้านหน้าของใบหน้า ภายในหลอดไฟจิ๋วนี้เป็นที่อยู่ของแบคทีเรียที่สามารถสร้างแสงได้ (Photobacterium) ปลาแองเกลอร์จะใช้เจ้าหลอดไฟจิ๋ว หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Esca ในการล่อเหยื่อเข้ามาใกล้ๆ กับตัวเอง จากนั้นก็จะกินเป็นอาหาร และเนื่องจากปลาแองเกลอร์อาศัยอยู่ในน้ำลึกมากๆ ทำให้การศึกษาพฤติกรรมและชีววิทยาของพวกมันก็ยากด้วยเช่นกัน เมื่อนักชีววิทยาทางทะเลจับเจ้าปลาแองเกลอร์ได้มากขึ้นจึงรู้ว่าจริงๆ แล้ว ปลาแองเกลอร์ตัวผู้กับตัวเมียนั้นมีขนาดต่างกันมาก โดยตัวเมียสามารถใหญ่กว่าตัวผู้ได้ถึง 60 เท่า และเมื่อศึกษาอย่างถี่ถ้วน ตัวผู้ไม่มีหลอดไฟจิ๋วบนหัวแบบตัวเมีย แต่ในทางกลับกับ ตัวผู้จะมีโพรงจมูกขนาดใหญ่ไว้รับกลิ่นใต้น้ำ

ผู้อ่านบางท่านอาจจะเริ่มตั้งคำถามว่า แล้วปลาแองเกลอร์ตัวผู้กับตัวเมียจะหากันจนเจอได้อย่างไรในทะเลลึกอันมืดมิด ปริศนานี้จริงๆ ก็ยังไม่มีใครทราบ แต่จากโครงสร้างร่างกายของปลาแองเกลอร์ตัวผู้ สามารถคาดการณ์ได้ว่าปลาแองเกลอร์ตัวผู้นั้นใช้การ “ดมกลิ่น” เพื่อหาตัวเมียในที่มืด แน่นอนว่ากว่าจะหากันจนเจอนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่สามารถปัดทินเดอร์ได้เหมือนพวกเรา ผู้อ่านสามารถทดลองได้ด้วยการวางอาหารที่มีกลิ่นไว้ในห้องนอน จากนั้นปิดไฟให้มืดแล้วจับเวลาที่ใช้ในการเดินหาอาหารให้เจอ แล้วลองคำนวณดูว่าใช้เวลาเท่าไร ทะเลกว้างกว่าห้องนอนเราหลายเท่ามาก นั่นแปลว่า ปลาแองเกลอร์ไม่มีโอกาสมากที่จะเลือกคู่ กว่าจะหากันจนเจอก็ยากมากแล้ว ดังนั้น สิ่งที่ปลาแองเกลอร์ตัวผู้ทำเมื่อหาตัวเมียเจอก็คือ “กัด” ปลาแองเกลอร์ตัวเมียไว้แน่นๆ เมื่อเวลาผ่านไปตัวผู้จะเริ่มเชื่อมเส้นเลือดเข้ากับตัวเมีย จนกลายเป็นติ่งเนื้อบนร่างของเธอและกินอาหารผ่านทางเส้นเลือดนั้นไปตราบจนตัวเมียตายลง สิ่งเดียวที่ตัวผู้ให้กับตัวเมียได้คือการให้สเปิร์มกับตัวเมีย เมื่อเธอต้องการ (แอบกระซิบว่า… นักชีววิทยาทางทะเลเคยพบว่า ตัวเมีย 1 ตัว สามารถมีตัวผู้เกาะอยู่ได้ถึง 8 ตัวเลยทีเดียว เรียกลักษณะแบบนี้ว่า Polyandry หรือ หนึ่งเมียหลายผัว)

ปลาแองเกลอร์ Anglerfish
ภาพปลาแองเกลอร์หลากหลายชนิดที่มีตัวผู้ (ลูกศรสีแดง) เกาะติดอยู่บนตัวเมีย
ภาพจาก https://news.cgtn.com/news/3d3d414d3559444f7a457a6333566d54/index.html; https://opening.download/spring-2021.html

เธอจะอยู่กับฉันตลอดไป ไม่ว่าจะนานแค่ไหน

ทุกคู่รักก็มักจะหวังให้คู่ของตัวเองอยู่ด้วยกันไปจนตาย แต่จะมีกี่คู่ที่อยู่ด้วยกันไปจนตายจริงๆ ในยุคปัจจุบันที่ความผันผวนของความรักค่อนข้างสูง ส่วนธรรมชาติมีสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งในท้องทะเลลึกที่อยู่ด้วยกันไปจนตายจริงๆ

บนผิวทรายใต้ทะเลลึก มีฟองน้ำแก้วชนิดหนึ่งชื่อว่า กระเช้าดอกไม้ของวีนัส (Euplectella spp.) หรือ Venus’ flower basket ฟองน้ำชนิดนี้มีความพิเศษคือร่างกายของมันมีรูปร่างเป็นร่างแหใสคล้ายแก้วสานกันเป็นเส้นๆ จนมีรูปร่างคล้ายกับกระเช้าดอกไม้แนวสูง ด้านในของฟองน้ำเป็นโครงสร้างโปร่งคล้ายห้องโถงขนาดใหญ่ และภายในที่แห่งนั้น มีกุ้งน้อยน้ำลึกสองตัวอาศัยอยู่

ฟองน้ำกระเช้าดอกไม้ของวีนัส
ภาพบน ฟองน้ำกระเช้าดอกไม้ของวีนัสจากใต้ทะเลลึก
ภาพล่าง ภาพขยายขนาดแสดงโครงสร้างของฟองน้ำกระเช้าดอกไม้ของวีนัส จะเห็นได้ว่าผนังของฟองน้ำชนิดนี้จะสานกันเป็นเส้นใยไม่ให้สิ่งมีชีวิตใดก็ตามที่มีขนาดใหญ่หลุดรอดเข้าไปหรือหลุดออกมาได้ ภาพจาก https://earthlingnature.wordpress.com/tag/sponges/; https://bio113portfolioleighhobson2.weebly.com/euplectella-aspergillum.html; https://kenmei.edu.vn/venus-flower-basket-wedding-gift-61glttvx/

กุ้งที่ว่าคือกุ้งชนิด Spongicola venusta กุ้งชนิดนี้มีข้อมูลทางชีววิทยาน้อยมากๆ เนื่องจากการเก็บตัวอย่างขึ้นมาศึกษาค่อนข้างยาก แต่ความน่าสนใจของกุ้งชนิดนี้ก็คือ ในตอนที่เป็นวัยรุ่น ขนาดของตัวกุ้งจะเล็ก ทำให้สามารถมุดผ่านรูฟองน้ำเข้าไปอาศัยอยู่ในฟองน้ำกระเช้าดอกไม้ของวีนัสได้ นักชีววิทยาทางทะเลตั้งคำถามว่า แล้วกุ้งเหล่านี้ทั้งตัวผู้ตัวเมียจะหาเจ้าฟองน้ำที่เปรียบเสมือนเรือนหอของพวกมันได้อย่างไรในที่มืด? หากเป็นมนุษย์ เราคงไปนัดเจอกันตามร้านอาหาร หรือห้างสรรพสินค้า แต่ฟองน้ำกระเช้าดอกไม้ของวีนัสที่อยู่ตามท้องสมุทรอันมืดแสนมืด แล้วกุ้งน้ำลึกนี้จะนัดเดทกันในได้อย่างไร?

นักชีววิทยาทางทะเลพบว่า ฟองน้ำกระเช้าดอกไม้ของวีนัสนั้นสามารถเรืองแสงได้เนื่องจากโครงสร้างร่างกายทำมาจากแก้ว ทำให้หลายครั้งเมื่อมีแบคทีเรียที่เรืองแสงได้มาอาศัยอยู่ตามผิวของฟองน้ำ แสงของแบคทีเรียก็จะสะท้อนโครงสร้างแก้วของฟองน้ำออกมา ทำให้ดูเหมือนว่าฟองน้ำนั้นเรืองแสงได้ แสงนั้นเองเป็นสิ่งดึงดูดกุ้งวัยรุ่นทั้งสองให้มาเจอกัน และอาศัยอยู่ในฟองน้ำด้วยกัน

ในระหว่างที่ทั้งสองย้ายมาอยู่ด้วยกันในฟองน้ำที่เปรียบเสมือนเรือนหอ ทั้งสองจะได้รับอาหารจากฟองน้ำไปเรื่อยๆ เหมือนอยู่โรงแรมที่มีอาหารมาเสิร์ฟให้ตลอดเวลา ในทางกลับกัน กุ้งทั้งสองก็ช่วยกันทำความสะอาดฟองน้ำให้สะอาดเอี่ยมอ่อง ทั้งสองอยู่กินกัน มีลูกด้วยกัน แล้วลูกก็ออกไปเติบใหญ่ภายนอกเรือนหอของพ่อแม่ เมื่อเวลาผ่านไป กุ้งทั้งสองโตขึ้น ขนาดตัวก็จะใหญ่ขึ้นจนทำให้ไม่สามารถออกมาจากฟองน้ำได้ ทั้งสองจึงต้องอยู่ในเรือนหอนี่ตลอดไปจนกว่าความตายจะพรากจาก หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตายไปก่อน เรือนหอนี้ก็จะกลายเป็นคุกที่กักขังให้อีกฝ่ายอยู่อย่างโดดเดี่ยวไปจนตาย

กุ้งชนิด Spongicola venusta
ภาพซ้าย อธิบายเกี่ยวกับการอาศัยอยู่ด้วยกันระหว่างฟองน้ำและกุ้ง
ภาพขวา กุ้งอาศัยอยู่ในฟองน้ำ จะเห็นว่าในฟองน้ำ 1 อันจะมีกุ้งอยู่ 2 ตัว
ภาพจาก https://kenmei.edu.vn/venus-flower-basket-wedding-gift-61glttvx/

บางครั้ง ชาวญี่ปุ่นจะมอบฟองน้ำกระเช้าดอกไม้ของวีนัสให้เป็นของขวัญวันแต่งงานให้แก่คู่บ่าวสาวเพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่า ให้ทั้งสองอยู่ด้วยกันไปจนตาย ดังเช่นกุ้งทั้งสองในฟองน้ำ

ฝากไว้ในกายเธอ

คนโสดไม่น้อยบางทีก็แก้ปัญหาด้วยการใช้เงินเพื่อให้คนที่เราชอบมาอยู่กับเรา ในโลกของสัตว์น้ำลึก เมื่อคู่ชีวิตนั้นหายากจนแทบจะไม่มีวันได้เจอกัน สิ่งมีชีวิตบางชนิดก็เลือกที่จะปรนเปรอคู่รักด้วยทรัพยากรต่างๆ

บนซากกระดูกของวาฬที่จมลงไปใต้ท้องทะเลลึก มีกลุ่มสิ่งมีชีวิตหน้าตาคล้ายหนอนอาศัยอยู่ หนอนชนิดนี้มีชื่อว่าหนอนซอมบี้ (Osedax spp.) ซึ่งพบว่าอาศัยอยู่บนกระดูกของสัตว์ที่จมลงสู่พื้นมหาสมุทร โดยมันจะค่อยๆ ย่อยกระดูกนั้นมากินเป็นอาหาร

สัตว์ชนิดต่างๆ ที่มาหากินบริเวณกระดูกวาฬ
ภาพซ้าย ยานสำรวจใต้น้ำลงไปเพื่อศึกษาซากกระดูกของวาฬที่จมตัวลงไปในทะเลลึก
ภาพขวา ภาพวาดอธิบายสัตว์ชนิดต่างๆ ที่มาหากินบริเวณกระดูกของวาฬ โดยหมายเลข 13 คือหนอนซอมบี้สีแดง ซึ่งจะอาศัยอยู่ด้วยกันเป็นกลุ่มๆ
ภาพจาก https://noaasanctuaries.tumblr.com/post/633504102290227200/ringing-in-the-spooky-season-with-whale-falls

หนอนซอมบี้มักจะมีขนาดเล็กและอยู่กับเป็นชุมชนบนกระดูก นักชีววิทยาทางทะเลศึกษาเจ้าหนอนชนิดนี้เมื่อหลายปีก่อน พบว่ามีแต่เพศเมีย ไม่มีใครหาเพศผู้พบ จนกระทั่งมีทีมวิจัยสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังในทะเลค้นพบว่า ที่ไม่มีใครหาเพศผู้เจอนั้น เพราะที่จริงหนอนตัวผู้อาศัยอยู่ภายในตัวเมียแล้ว! โดยหนอนตัวผู้จะมีขนาดเล็กกว่าตัวเมียมากๆ หากดูเผินๆ จะนึกว่าเป็นจุดอะไรซักอย่างอยู่ในตัวเมีย โดยตัวเมีย 1 ตัวสามารถพบตัวผู้ได้ถึง 600 ตัวอยู่กันเป็นฮาเร็ม (Harem)

ใช่ครับ ด้วยความที่กว่าตัวผู้ตัวเมียจะมาเจอกันได้นั้นช่างยากเย็น ต้องรอให้มีกระดูกวาฬ หรือสัตว์มีกระดูกสันหลังในทะเลจมลงมาที่ก้นทะเลก่อน ถึงจะเจอกันได้ ดังนั้นหนอนกลุ่มนี้จึงวิวัฒนาการให้ตัวผู้นั้นเมื่อหาตัวเมียพบ ก็เขาไปอยู่ในตัวเมียซะเลย โดยตัวเมียจะปรนเปรอเพศผู้ด้วยการให้อาหารและที่อยู่อาศัย ในขณะเดียวกันเพศผู้ก็จะให้สเปิร์มกับเพศเมียเมื่อเพศเมียต้องการจะสืบพันธุ์ ฟังดูแล้วก็เป็นการอยู่ด้วยกันแบบผลประโยชน์ต่างตอบแทนที่ค่อนข้างจะเท่าเทียมกันทั้งสองฝ่าย

หนอนซอมบี้ที่อาศัยอยู่บนกระดูกของวาฬ
ภาพหนอนซอมบี้ที่อาศัยอยู่บนกระดูกของวาฬ โดยนับจากซ้าย ภาพที่ 1 คือกลุ่มของหนอนซอมบี้เพศเมียที่อาศัยอยู่รวมกัน ภาพที่ 2 คือภาพขยายของหนอนซอมบี้เพศเมียจะเห็นว่ามีเพศผู้อยู่ภายในบริเวณข้างๆลำตัว (ลูกศรชี้ males) ภาพที่ 3 หนอนซอมบี้เพศผู้ขนาดเล็กจำนวนกว่าร้อยตัวที่อาศัยอยู่ในตัวเมีย หรือที่เรียกว่าฮาเร็ม (Harem) ภาพที่ 4 ภาพขยายหนอนซอมบี้เพศผู้ขนาดเล็ก
ภาพจาก Verna, C. (2010). Phylogeny and diversity of symbionts from whale fall invertebrates (Doctoral dissertation, Bremen, Univ., Diss., 2010).

สามเรื่องราวความรักอันน่ามหัศจรรย์ของสัตว์ใต้ทะเลลึก ผู้อ่านคงทราบแล้วว่าการจะหาคู่สำหรับมนุษยฺนั้นไม่ใช่เรื่องยากสักเท่าไร เมื่อเทียบกับสิ่งมีชีวิตหลายอย่างที่กว่าจะหาคู่เจอนั้นใช้เวลายาวนาน เมื่อเจอกันแล้วก็พยายามอยู่ด้วยกันไปจนตาย สำหรับคนที่ยังไม่มีคู่ก็ขอเป็นกำลังใจให้เจอคนที่ใช่เร็วๆ และสำหรับใครที่มีคู่แล้ว ก็ขอให้รักษากันไว้นานๆ เหมือนตำนานทั้งสามของสัตว์ทะเลน้ำลึกในบทความนี้นะครับ

เรื่อง ดร. วัชรพงษ์ หงส์จำรัสศิลป์
ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล
คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


อ่านเพิ่มเติม ไขความลับการกินหอยนางรม จากการ์ตูน อลิซ ในแดนมหัศจรรย์

หอยนางรม อลิซในแดนมหัศจรรย์

Recommend