อยากมี ชีวิตยืนยาว และสุขภาพดี? บางทีอาจต้องดู “ผู้หญิง” เป็นตัวอย่าง นับตั้งแต่การไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต การติดเชื้อ และอาการบาดเจ็บที่สมอง ร่างกายของผู้หญิงมีความยืดหยุ่นมากกว่าผู้ชาย ซึ่งเป็นความจริงตามธรรมชาติ
ความคิดที่ผู้หญิงเป็น ‘เพศที่อ่อนแอ’ นั้นแพร่หลายไปทั่วอาณาจักรของมนุษย์ ผู้ชายบางคนมักมองว่าผู้หญิงทำอะไรได้ไม่ดีเท่าผู้ชาย และเชื่อว่านั่นเป็นความจริงในทางวิทยาศาสตร์ด้วย ร่างกายของผู้ชายมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงกว่า ดังนั้นจึงแข็งแกร่งกว่า แต่ในมุมมองทางชีววิทยาแล้ว ความแข็งแกร่งดังกล่าวอาจไม่ได้ช่วยให้ผู้ชาย ‘มีชีวิตที่ดี’ มี ชีวิตยืนยาว ได้
.
ในความเป็นจริงแล้ว ความแตกต่างด้านอายุขัยนั้นโดดเด่นมาตลอดในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ ตามบันทึกของประเทศสวีเดนในปี ค.ศ. 1800 อายุขัยของผู้หญิงเฉลี่ยนั้นอยู่ที่ 33 ปี และผู้ชายมีอายุเฉลี่ย 31 ปี ขณะที่ปัจจุบันมีความแตกต่างมากขึ้นกว่าเดิม โดยอยู่ที่ 83.5 ปีและ 79.5 ปีตามลำดับ ในทั้งสองกรณี ผู้หญิงมีอายุยืนยาวมากกว่าผู้ชายประมาณ 5% และนั่นไม่ได้เป็นเพราะ ผู้ชายชอบใช้ชีวิตผาดโผนเท่านั้น แต่รวมถึงปัจจัยที่อยู่ในร่างกายของผู้หญิงนั้นมีความโดดเด่นที่น่าทึ่ง
.
“ข้อได้เปรียบในการเอาชีวิตรอดของผู้หญิงนั้นสอดคล้องกันอย่างน่าทึ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ชายในช่วงชีวิตวัยเด็ก ช่วงปั้นปลาย และในชีวิตทั้งหมด” รายงานเรื่อง ‘Sex Differences in Longevity and in Responses to Anti-Aging Interventions: A Mini-Review’ ที่เผยแพร่ในปี 2015 กล่าว “ซึ่งพบเห็นได้ในทุกประเทศ ในทุกปี ซึ่งมีบันทึกการเกิดและการตายที่เชื่อถือได้ อาจไม่มีรูปแบบที่ชัดเจนกว่านี้แล้วในชีววิทยาของมนุษย์”
.
ปัจจัยต่าง ๆ เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา และการเสพที่มากเกินไปอาจเป็นส่วนหนึ่งที่อธิบายได้ว่าทำไม ‘ช่องว่าง’ ระหว่างเพศถึงมีความแตกต่างกันอย่างมากระหว่างผู้ชายและผู้หญิง (โดยเฉพาะในรัสเซียที่ผู้ชายมีแนวโน้มจะเสียชีวิตเร็วกว่าผู้หญิงถึง 13 ปี) แต่ความจริงก็คือ ลิงชิมแปนซี กอริลล่า อุรังอุตัง ชะนี และแม้แต่วาฬเพชฌฆาตตัวเมียก็อายุยืนยาวกว่าสิ่งมีชีวิตตัวผู้อย่างเห็นได้ชัด โดยที่สัตว์เพศผู้นั้นไม่ได้ถือแก้วเบียร์ และคาบมวนบุหรี่อยู่ในปาก
.
ดังนั้นคำตอบที่แท้จริงจึงเกี่ยวกับวิวัฒนาการของเราแทน “แน่นอนว่าปัจจัยทางสังคมและวิถีชีวิตมีผลกระทบ แต่ดูเหมือนว่าจะมีบางอย่างฝังลึกอยู่ในชีววิทยาของเรา” ทอม เคิร์กวูด (Tom Kirkwood) นักวิทยาศาสตร์ที่ทำการศึกษาพื้นฐานทางชีววิทยาของการสูงวัย ที่มหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล กล่าว
ชีวิตยืนยาว เริ่มต้นที่โครโมโซม
เป็นที่รู้กันดีว่าโครมโมโซมเพศหญิงในมนุษย์คือ XX ขณะที่ผู้ชายจะเป็น XY นักวิทยาศาสตร์สงสัยมานานแล้วว่าการที่ผู้หญิงมีโครโมโซม X 2 ตัวนั้นมีผลกระทบอะไรบ้างที่ไม่เกี่ยวกับเพศ ในการศึกษาหลายชิ้นได้ให้ข้อมูลที่แตกต่างกันไป แต่ทั้งหมดนั้นดูเหมือนจะมีข้อดีร่วมกัน
.
พวกเขาพบว่าผู้หญิงสามารถมีสำเนาของยีนทุกตัวได้เป็น 2 เท่า (แม้ว่าจะมีความแตกต่างที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนยีนกันในขั้นตอนการแบ่งเซลล์ แต่ส่วนใหญ่จะไปในทางเดียวกัน) ซึ่งหมายความต่อไปว่า ผู้หญิงสามารถมีโอกาสมากขึ้นที่จะมี ‘ยีนสุขภาพดี’ บนโครโมโซม X ตัวใดตัวหนึ่ง หรืออาจทั้งสองตัว
.
ขณะที่ผู้ชายจะมีโอกาสน้อยกว่าและไม่มีการสำรองข้อมูลของ ‘ยีนสุขภาพดี’ ซึ่งอาจทำให้เมื่อเวลาผ่านไปเซลล์ที่มีการแบ่งตัวมากขึ้นก็อาจทำงานผิดปกติ และส่งผลให้ผู้ชายมีความเสี่ยงต่อโรคมากขึ้น แล้วท้ายที่สุดก็มีแนวโน้มที่จะถูก ‘โรคร้าย’ ทำลายสุขภาพได้มากกว่า
.
“ดูเหมือนว่าความยืดหยุ่นของผู้หญิงทำงานได้ดีในเกือบทุกระดับของร่างกาย” แคท โบฮานนอน (Cat Bohannon) ผู้เขียนหนังสือเรื่อง ‘How the female body drove 200 million years of human evolution’ กล่าว “มันยังมีอิทธิพลต่อวิธีที่เซลล์แต่ละเซลล์ตัดสินใจว่าจะมีชีวิตอยู่หรือไม่ ซึ่งมีความสำคัญจริง ๆ เมื่อเซลล์เหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของสมอง”
.
เซลล์เหล่านั้นในร่างกายมักจะถูกควบคุมการทำงานโดยรหัสพันธุกรรม และน่าแปลกใจที่นักวิทยาศาสตร์พบว่าเซลล์ในร่างกายเพศชายนั้นมีกลูตาไธโดนซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่น้อยกว่า ซึ่งส่งลให้เซลล์ดังกล่าวเสี่ยงต่อความเสียหายที่มาจากอนุมูลอิสระ และนำไปสู่การททำงานที่ผิดปกติกกับการตายของเซลล์ได้ ยิ่งไปกว่านั้นผลลัพธ์ของความแตกต่างนี้ยังพบได้ในสัตว์ฟันแทะด้วยเช่นกัน
เรื่องของฮอร์โมน
เอสโตรเจน (Estrogen) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิง ทำให้เรื่องความอายุขัยที่ยืนยาวของผู้หญิงมีความโดดเด่นมากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะกับการป้องกันโรคที่เกี่ยวกับความเสียหายของเนื้อเยื่อหลายประเภทเช่น สมอง
.
ในรายงานที่เผยแพร่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2023 ในวารสาร Neurology ชี้ให้เห็นว่า ผู้ที่ได้รับฮอร์ดมนเอสโตรเจนตลอดชีวิตมีความสี่ยงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมองลดลง รวมถึงโรคหลอดเลือดสมองตีบที่เกิดขึ้นเมื่อเส้นเลือดที่ไหลเวียนไปยังสมองถูกปิดกั้น และเลือดออกในสมองที่เป็นภาวะตรงข้ามกันด้วย
.
ทีมวิจัยได้ทำการตรวจสอบผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนมากกว่า 123,000 รายโดยที่กลุ่มตัวอย่างไม่มีประวัติโรคหลอดเลือดสมองมาก่อน ผู้ที่มีวัยเจริญพันธุ์ยาวนานกว่า หรือกล่าวง่าย ๆ ว่าผู้ที่ยังคงอยู่ในวัยประจำเดือนมานานที่สุด มีความเสี่ยงต่อโรคเหลือดเลือดสมองตีบลดลง 5% และมีความเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกในสมองลดลง 13% เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่เข้าวัยหมดประจำเดือนเร็วกว่า
.
“การศึกษาของเราชี้ให้เห็นว่า ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่สูงขึ้นเนื่องจากปัจจัยการสืบพันธุ์หลายประการ รวมถึงช่วงอายุของการสืบพันธุ์ที่ยาวนานขึ้นและการใช้ฮอร์โมนบำบัดหรือการคุมกำเนิด มีความเชื่อมโยงกับความเสี่ยงที่ลดลงของโรคหลอดเลือดสมองตีบ และเลือดออกในสมอง” เพียจ ซอง (Peige Song) นักวิจัยจากคณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง ในเมืองหางโจว ประเทศจีน กล่าว
.
นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่า เอสโตรเจนได้ไปช่วยให้หลอดเลือดขยายตัว ด้วยการกระตุ้นการสังเคราะห์และการหลังของสารไนตริกออกไซด์ (nitric oxide) กับพรอสดาไซคลิน (prostacyclin) ในเซลล์เยื่อบุผนังหลอดเลือด หรือกล่าวง่าย ๆ ว่าให้หลอดเลือดผ่อนคลายมากขึ้น
.
ขณะเดียวกัน ก็มีหลักฐานว่าฮอร์โมนเอสโตรเจนอาจช่วยให้ร่างกาย ‘รักษา’ บาดแผลได้เร็วขึ้น และช่วยต่อสู้กับอนุมูลอิสระ โดยทั่วไปแล้วสารเหล่านี้จะหลั่งออกมาเมื่อเซลล์อยู่ในภาวะเครียด รวมถึงเป็นสารที่พบในสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน เอสโตรเจนช่วยเข้าไปดูดซับสารเหล่านั้น เซลล์ทำงานได้ปกติและซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดขึ้นได้เร็วขึ้น
.
“หากคุณเอารังไข่ของสัตว์ฟันแทะออก เซลล์ก็จะไม่สามารถซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดจากโมเลกุลได้” เคิร์กวูด กล่าว
.
ในทางตรงกันข้าม ฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน (Testosterone) ที่เป็นฮอร์โมนของผู้ชายนั้น แม้จะทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น แต่มันก็สร้างการเปลี่ยนแปลงของร่างกายทำให้มีความเสี่ยงต่อมะเร็งต่อมลูกหมาก เปลี่ยนแปลงการทำงานของหัวใจและหลอดเลือด ท้ายที่สุดก็นำไปสู่โรคความดันโลหิตสูงและหลอดเลือดได้ในภายหลัง
.
การตอบสนองที่แตกต่างกันในช่วงโควิด-19
แม้ว่าไวรัสจะไม่มีตาและอคติใด ๆ เกี่ยวกับมนุษย์ทั้งเพศ เชื้อชาติ หรืออายุ พวกมันแพร่ระบาดไปทุกที่ที่มันไป แต่กลับสร้างผลกระทบที่แตกต่างกันในผู้ชายและผู้หญิงอย่างมีนัยสำคัญ
.
ในสหรัฐอเมริกาที่ได้รับการบันทึกและมีการศึกษาอย่างละเอียด นักวิทยาศาสตร์พบว่าจริง ๆ แล้วมีผู้ชายเสียชีวิตมากกว่าผู้หญิงถึง 2 เท่า แนวโน้มนี้เกิดขึ้นทั่วโลกแม้จะไม่มากเท่าในสหรัฐอเมริกา แต่ในบางประเทศแถบยุโรปตะวันกก็มีสัดส่วนมากกว่าถึง 69% รวมถึงจีนและที่อื่น ๆ ด้วยเช่นกัน
.
หลักฐานชี้ไปที่เอนไซม์ตัวหนึ่งที่ชื่อว่า แอนจิโอเทนซิน 2 (ACE2) ซึ่งเป็นตัวรับโปรตีนของเซลล์ที่ตั้งอยู่บนเซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจ นักวิทยาศาสตร์พบว่าการทำงานของ ACE2 ในปอดมนุษย์นั้นมีผลโดยตรงกับความรุนแรงของเชื้อ SARS-CoV-2
.
แต่ประเด็นสำคัญก็คือ ผู้ชายมีระดับการทำงานของ ACE2 มากกว่าผู้หญิงอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้เพศชาย ‘อ่อนไหว’ และได้รับความรุนแรงจากไวรัสมากกว่าผู้หญิง โดยที่นักวทิยาศาสตร์ก็ยังไม่ทราบเหตุผลที่แท้จริง แต่พวกเขาเชื่อว่าอาจเป็นเพราะโครโมโซม X
.
“เป็นที่ทราบกันว่าโครโมโซม X นั้นเพิ่มการแสดงออกของส่วนประกอบภูมิคุ้มกันที่สำคัญ ซึ่งช่วยกระตุ้นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่ควบคุมการติดเชื้อได้ดีขึ้น” ดร. ซานชารี สินหะ ดัตตา (Sanchari Sinha Dutta) เขียนในเว็บไซต์ News Medical Life Science “นอกจากนี้ฮอร์โมนเพศหญิงที่ได้แก่ เอสโครเจนและโปรเจนเตอโรนนั้น ยังมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นการส่งสัญญาณของระบบภูมิคุ้มกันและลดการอักเสบ ตามลำดับ”
.
ซึ่งหมายความว่าฮอร์โมนเพศหญิงทำให้ผู้หญิงผลิตแอนติบอดี้มากกว่าผู้ชาย เมื่อถูกไวรัสหรือแบคทีเรียบุกรุก การศึกษาหลายชิ้นที่ดำเนินการในผู้ป่วยโรคโควิด-19 ได้ชี้ให้เห็นว่าผู้หญิงมีการตอบสนองของทีเซลล์ (T-Cell, ระบบภูมิคุ้มกัน) สูงกว่า และนั่นอาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ผู้ชายเสียชีวิตมากกว่า
ศึกษาต่อไป
นักวิทยาศาสตร์หลายแห่งกำลังทดสอบเกี่ยวกับความสามารถของฮอร์โมนเอสโตรเจนเพิ่มเติม เนื่องจากข้อมูลเหล่านี้อาจกลายเป็นสิ่งที่ช่วยพัฒนายารักษาโรคต่าง ๆ ได้ในอนาคต เราควรใช้เท่าไหร่ ควรให้เมื่อใด หรือจุดใดของร่ากาย โดยรวมแล้วมันจะทำให้ชีวิตของมนุษย์ดีขึ้น รวมถึงการมีลูกหลานที่สุขภาพดีต่อไปด้วย
.
เนื่องจาก เคิร์กวูดและเพื่อนร่วมงานของเขาชี้ว่าโดยทั่วไปแล้วในการผสมพันธุ์ ผู้หญิงนั้นมักจะมีแนวโน้มที่จะเลือกผู้ชายซึ่งมีฮอรโมนเทสโทสเทอโรนมากกว่า นั่นหมายความว่าลูกที่เกิดมาอาจมีความเสี่ยงด้านสุขภาพมากขึ้นด้วยเช่นกัน
.
“สวัสดิภาพของลูกหลานมีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับสวัสดิภาพของร่างกายผู้เป็นแม่” เขาอธิบาย “สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ร่างกายของแม่ควรอยู่ในสภาพที่ดีเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเด็กมากกว่า (ร่างกาย) ของพ่อ”
.
แต่อย่างไรก็ตาม ระดับของฮอรโมนหรือการเสียชีวิตนั้นมีปัจจัยจำนวนมากที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการคุมกำเนิดด้วยฮอร์โมน การตั้งครรภ์ น้ำหนักตัว ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมอย่างการสัมผัสกับสารเคมีที่มีผลต่อต่อมไร้ท่อ รวมถึงการใช้ชีวิตอย่างการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์ด้วยเช่นกัน นักวิทยาศาสตร์ยอมรับว่าพวกเขาต้องการศึกษาต่อไป
.
“เราต้องเปิดใจให้กว้าง ๆ ว่าความแตกต่างสามารถอธิบายได้ด้วยความแตกต่างของฮอร์ดมนและปัจจัยอื่น ๆ มากเพียงใด” เคิร์กวูด บอก ซึ่งพวกเขาหวังว่าจะช่วยให้ใครหลายคนมีอายุยืนขึ้นอีกสักหน่อยได้ก็ยังดี
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา
https://journals.plos.org/plospathogens/article?id=10.1371/journal.ppat.1005374
https://ajp.amjpathol.org/article/S0002-9440(10)65217-0/fulltext
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC7792596/
https://www.neurology.org/doi/10.1212/WNL.0000000000206863
https://karger.com/ger/article/62/1/40/148229/Sex-Differences-in-Longevity-and-in-Responses-to
https://www.news-medical.net/health/Why-Can-Women-Fight-COVID-19-Better-Than-Men.aspx
https://www.newscientist.com/article/mg26234924-000-to-stay-alive-try-being-more-female/
https://www.healthline.com/health-news/estrogen-how-lifelong-exposure-may-reduce-the-risk-of-stroke#How-estrogen-affects-stroke-risk