เป็น ลูกคนโต -คนกลาง-คนเล็ก มีผลบุคลิก-นิสัย จริงหรือ?

เป็น ลูกคนโต -คนกลาง-คนเล็ก มีผลบุคลิก-นิสัย จริงหรือ?

ลูกคนโต น้องคนเล็ก การเป็นพี่ใหญ่หรือน้องคนสุดท้องมีผลต่อลักษณะทาง บุคลิกภาพ จริงหรือไม่?

เป็น ลูกคนโต น้องคนเล็ก ? การถกเถียงถึงผลกระทบทางจิตวิทยาในเรื่องลำดับพี่น้องของครอบครัวนั้นมีมานานหลายทศวรรษ แต่ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเลิกคิดเกี่ยวกับสมมติฐานดังกล่าว

.
ในสังคมปัจจุบัน หรือแม้แต่ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา มักมีคำพูดที่ว่า ลูกคนโตเป็นคนที่มีความรับผิดชอบมากที่สุด ขณะที่ลูกคนกลางมักถูกมองข้ามอยู่เสมอ และลูกคนเล็กสุดได้รับการดูแลเอาใจใส่มากที่สุด กลายเป็นภาพลักษณ์ของบุคลิกภาพที่มาจากลำดับพี่น้องในครอบครัว จนทำให้เกิดทฤษฏีที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดดังกล่าว

.
ซึ่งเมื่อหลายคนนึกย้อนกลับไปยังประสบการณ์ส่วนตัว ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นจริงดังที่ว่าไว้ แต่นักจิตวิทยาในปัจจุบันเริ่มที่จะมองแตกต่างออกไป และนั่นคือสาเหตุที่ทำให้เราอาจต้องหยุดการเหมารวมเช่นนี้

ต้นกำเนิดของทฤษฏีทางจิตวิทยาเกี่ยวกับลำดับการเกิด

ความคิดที่ว่า การเกิดก่อนเกิดหลังส่งผลต่อบุคลิกภาพเด็กนั้นอาจจะเก่าแก่พอ ๆ กับความเชื่อว่าบุคลิกภาพในเด็กส่งผลต่อตอนโต ทำให้สังคมต่าง ๆ มอบสิทธิพิเศษ หรือมองข้ามบางคนโดยพิจารณาจากจุดยืนในครอบครัวของพวกเขา เช่นลูกคนเล็กมักได้สิ่งต่างๆ ก่อนเสมอ หรือไม่ก็ลูกคนโตต้องเสียสละ

.
หรือย้อนไปกว่านั้น ลำดับการเกิดยังกำหนดสิทธิในการรับมรดกและเชื้อสายราชวงศ์มาอย่างยาวนาน ดังเช่นในระบอบกษัตริย์อังกฤษที่จำเป็นจะต้องมี ‘ทายาท’ และ ‘ทายาทสำรอง’ อย่างน้อยหนึ่งคน เพื่อป้องกันเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดที่เกิดกับทายาท

.
ถึงอย่างนั้น ทฤษฏีทางจิตวิทยาเกี่ยวกับลำดับการเกิดก็ไม่ได้พัฒนาขึ้นเลยจนกระทั่งต้นศตวรรษที่ 20 เมื่อนักจิตวิทยา อัลเฟรด แอดเลอร์ (Alfred Adler) ได้ก่อตั้งทฤษฏีของเขาขึ้นมาว่า ลำดับการเกิดไม่เพียงแต่ส่งผลต่อสถานะทางสังคมเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อพัฒนาการและบุคลิกภาพของเด็กด้วย

.
แอดเลอร์ ได้กลายเป็นที่รู้จักในฐานะบิดาแห่งจิตวิทยารายบุคคล พร้อมกับทฤษฏี ‘หมู่ดาวแห่งครอบครัว’ (family constellation) ของแต่ละบุคคลที่ส่งผลให้เกิดลักษณะทางบุคลิกภาพที่คาดเดาได้ (ความหมายของเขาก็คือ ในแต่ละครอบครัวจะมีคนที่โดดเด่นขึ้นมาเหมือนดวงดาว ขณะเดียวกันก็จะมีบางคนที่ ‘ส่องสว่างน้อยกว่าคนอื่น’ ในหมู่ดาว)

.
“ตำแหน่งในครอบครัวได้ทิ้งร่องรอยประทับที่ลบไม่ออกให้กับรูปแบบชีวิตของแต่ละคน” แอดเลอร์ เขียนในปี 1931

.
อ้างอิงจากคำกล่าวของเขา การเกิดของพี่น้อง ทำให้ลูกคนโตขาดความสนใจจากพ่อแม่ (เนื่องจากพ่อแม่จะให้ความสนใจกับลูกที่เพิ่งเกิดมาใหม่) และเป็นผลทำให้พวกเขา (ลูกคนโต) มีแนวโน้มเป็นโรคทางจิตเวช มีโอกาสจะมีบุคลิกภาพแบบอนุรักษ์นิยม (ต้องเคารพผู้ที่โตกว่า) และมีแนวโน้มที่จะเลียนแบบผู้สูงอายุของพวกเขา

.
ขณะเดียวกัน ลูกคนที่สองจะได้เป็นเด็กที่ดึงดูดความสนใจบ้าง และเด็กที่อายุน้อยที่สุดจะได้รับการเอาอกเอาใจและเกียจคร้าน ท้ายที่สุดเขา ก็ตั้งทฤษฏีว่าคนที่เติบโตมาโดยไม่มีพี่น้องจะมี “ความซับซ้อนกับแม่” และแข่งขันกับพ่อของพวกเขา (เพื่อดึงดูดความสนใจ)

.
อิทธิพลของแอดเลอร์ดังก้องไปทั่วสาขาจิตวิทยา รวมถึงการบรรยายระดับนานาชาติ ตำราจิตวิทยายอดนิยม แะเทคนิคด้านจิตอายุรเวท ซึ่งทำให้นักจิตวิทยารุ่นใหม่ ๆ สนใจที่จะทำการพิสูจน์ทฤษฏีลำดับการเกิดของเขาเรื่อยมา

แล้วงานวิจัยบอกอะไรบ้างเกี่ยวกับลำดับการเกิด?

การศึกษาที่ดำเนินตั้งแต่สมัยของแอดเลอร์ ระบุว่าพวกเขาได้พบกับความเชื่อมโยงระหว่างลำดับการเกิดกับทุกสิ่ง ตั้งแต่ความสำเร็จด้านการศึกษา เพศวิถี ไปจนถึงความสำเร็จของเด็กคนกลางในการเล่นกีฬาเป็นทีม

.
แฟรงค์ ซัลโลวเวย์ (Frank Sullowway) หนึ่งในผู้สนับสนุนทฤษฏีนี้ในสมัยใหม่ที่โดดเด่นที่สุด ได้พิจารณาผู้ใหญ่และอาชีพของพวกเขาในช่วงทศวรรษที่ 1990 และ 2000 เพื่อประเมินอิทธิพลของลำดับการเกิด เขาได้ค้นพบกับแนวโน้มว่านักวิทยาศาสตร์ที่เป็นลูกหัวปี (ลูกคนโตสุด) มีแนวโน้มที่จะทำงานวิจัยเชิงอนุรักษ์นิยม

.
มากกว่าทฤษฏีที่มีความ ‘นอกกรอบ’ อย่างเช่นทฤษฏีวิวัฒนาการหรือทฤษฏีสัมพัทธภาพ ซึ่งเกิดจากนักวิทยาศาสตร์ที่มีลำดับการเกิดภายหลังหรือเป็นลูกคนเล็กกว่า ไม่เพียงเท่านั้น ซัลโลวเวย์ ยังพบความแตกต่างในการใช้กลยุทธ์ทางการทหารและการเมือง เช่นคนที่เป็นลูกคนโตมักจะใช้แนวทางที่มีความรุนแรงกว่า ขณะที่ลูกคนกลางหรือคนเล็กมักจะใช้วิธีที่ไม่รุนแรง

.
แต่งานวิจัยที่สามารถนำแนวคิดของแอดเลอร์ไปใช้กับบุคลิกภาพได้มากที่สุดก็คงจะเป็น บุคลิกภาพ 5 ประการ หรือ Big Five ที่กล่าวถึงลักษณะ 5 อย่างคือ 1. Neuroticism – ความไม่มั่นคงทางอารมณ์ 2. Extraversion – การเปิดเผย 3. Openness to Experience – การเปิดรับประสบการณ์ 4. Agreeableness – ความเป็นมิตร และ 5. Conscientiousness – การมีจิตสำนึก การศึกษาได้ระบุว่าลำดับการเกิดสามารถกำหนดลักษณะเหล่านี้ได้

.
ทาง โรดิกา ดาเมียน (Rodica Damian) รองศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่มหาวิทยาฮูสตัน ได้ทำการศึกษาครั้งใหญ่ในปี 2015 เพื่อทดสอบแนวคิดดังกล่าว ด้วยการใช้ข้อมูลจากการศึกษาระยะยาวของนักเรียนมัธยมปลายในสหรัฐฯ มากกว่า 440,000 คน โดยทำการควบคุมสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม เพศ กับอายุแล้ว พวกเขาพบว่า “ความสัมพันธ์ระหว่างลำดับการเกิดและลักษณะทางบุคลิกภาพนั้นใกล้เคียงกับศูนย์เท่าที่คุณจะทำได้” ดาเมียน กล่าว

.
การศึกษาอีกชิ้นที่ทำในปี 2015 เช่นเดียวกัน ได้เน้นย้ำการค้นพบของดาเมียนว่า หลังจากวิเคราะห์ตัวอย่างที่เป็นตัวแทนระดับประทศ 3 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และเยอรมนี นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า “เราพบว่า ลำดับการเกิดไม่มีผลต่อบุคลิกภาพภายนอก ทั้งในความมั่นคงทางอารมณ์ ความยินยอมพร้อมใจ การมีจิตสำนึก หรือการมีจินตนาการ”

.
แต่งานวิจัยทั้งสองพบหลักฐานบางประการที่อาจเป็นข่าวดีสำหรับลูกคนโตนั่นคือ ลูกที่เกิดก่อนมีแนวโน้มที่จะมีความฉลาดทางวาจาสูงกว่าน้อง ๆ ของพวกเขาเล็กน้อย

.
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าลูกคนโตจะฉลาดกว่าหรือเรียนรู้ได้ง่ายกว่าเสมอไป ดาเมียนกล่าวว่าอาจจะเป็นเพราะเด็กโตสุดมักจะใช้เวลาอยู่กับผู้ใหญ่มากกว่าในวัยเด็ก และเธอชี้ว่ามีคะแนนไอคิวแค่จุดจุดเดียวเท่านั้นที่แตกต่าง

.
โดยรวมแล้ว “เราต้องสรุปว่าลำดับการเกิดไม่มีผลถาวรต่อลักษณะบุคลิกภาพกว้าง ๆ ที่อยู่นอกขอบเขตทางปัญญา”

แล้วอะไรที่ทำให้เกิดบุคลิกภาพจริง ๆ ?

ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ ดาเมียน ระมัดระวังในการอ้างว่าทฤษฏีใด ๆ ก็ตามที่ “ยังคงไม่ได้รับการพิสูจน์” อย่างไรก็ดี การวิจัยสมัยใหม่ก็ได้หักล้างทฤษฏีลำดับการเกิดที่ส่งผลต่อบุคลิกภาพ พร้อมกับเรียกแนวคิดนั้นว่า ‘ทฤษฏีซอมบี้’ เพราะมันไม่มีวันตาย แล้วเหตุใดมันยังคงอยู่ในกระแสของสาธารณชน และเหตุใดนักวิจัยจึงยังคงตั้งคำถามต่อไป?

.
“ทุกคนมีความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะทุกคนมีลำดับการเกิด แม้แต่เด็ก ๆ ก็ตาม” ดาเมียน บอก และเหตุผลส่วนหนึ่งที่เราไม่สามารถละทิ้งจิตวิทยาเกี่ยวกับลำดับการเกิดได้ ก็อาจเป็นเพราะประสบการณ์ส่วนตัวของเราที่ดูเหมือนจะสนับสนุนความคิดดังกล่าวเสมอ เด็กโตมักจะมีความรับผิดชอบและมีความซับซ้อนมากกว่าน้องเสมอ เพราะพวกเขามีพัฒนาการในการเป็นผู้ใหญ่มากกว่า

.
“แม้ว่าคุณจะเห็นสิ่งนี้และคิดว่ามันเป็นเรื่องจริง แต่คุณไม่มีเลนส์วิเศษที่จะย้อนเวลากลับไปเฝ้าดูเด็ก ๆ ในวัยเดียวกันแน่นอน” ดาเมียน บอก มันเป็น “ความสับสนที่สมบูรณ์แบบ” และมันก็เป็น “สถานการณ์หนึ่งที่ประสบการณ์ส่วนตัวสามารถผิดได้ และความจริงจะถูกค้นพบก็ต่อเมื่ออาศัยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์และการศึกษาที่ดีเท่านั้น”

.
ความจริงแล้ว ศาสตร์แห่งการพัฒนาบุคลิกภาพนั้นไม่มีอะไรเลยนอกจากการตัดสิน การวิจัยสมัยใหม่โดยใช้การศึกษาจากฝาแฝดแสดงให้เห็นว่า การสร้างบุคลิกภาพนั้นมีสาเหตุมาจากพันธุกรรมประมาณ 40% ส่วนที่เหลืออาจเป็นเรื่องของการผสมผสานที่ซับซ้อนระหว่างสภาพแวดล้อม และแนวปฏิบัติทางวัฒนธรรม ที่ช่วยกำหนดรูปแบบนิสัยของเราขึ้นมา

.
แม้ว่านักวิจัยจะสามารถวัดบุคลิกภาพ ‘5 ประการ’ ได้ แต่ก็ยากที่จะวัดปริมาณประสบการณ์ส่วนตัวซึ่งหล่อหลอมสิ่งที่เราทำในชีวิตประจำวันของเรา และบางทีก็อาจจะเป็นบุคลิกภาพของเราเองด้วย

.
ปัจจุบัน ดาเมียน กำลังศึกษาผลกระทบที่เป็นไปได้จากการเล่าเรื่องราวชีวิตของผู้คน ซึ่งเป็นเรื่องราวที่พวกเขาเล่าให้ฟังเกี่ยวกับประสบการณ์ของตนเอง ว่ามีผลอย่างไรต่อผู้คน แต่สำหรับคนทั่วไปแล้ว การลงลึกไปกับความซับซ้อนของธรรมชาติและการเลี้ยงดูนั้น ดูจะสนุกน้อยกว่า การพูดถึงพี่น้องของพวกเขามาก

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา
.
https://www.nationalgeographic.com/science/article/birth-order-personality-traits-siblings


อ่านเพิ่มเติม “ มนุษย์ยุคหิน ” เลี่ยง “เพศสัมพันธ์” ในพี่น้อง-ญาติใกล้ชิดอย่างไร

มนุษย์ยุคหิน

Recommend