ฟันฝ่าแดนไฟนรก หมู่เกาะคะแนรี ล้วงความลับดาวเคราะห์โลก

ฟันฝ่าแดนไฟนรก หมู่เกาะคะแนรี ล้วงความลับดาวเคราะห์โลก

ภูเขาไฟบน หมู่เกาะคะแนรี ดันธารลาวาหลอมเหลวแทรกผ่านพื้นดิน เกิดเป็นอุโมงค์ยาวหลายกิโลเมตร ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์และนักสำรวจลงไปในอุโมงค์ใต้ดินที่เย็นตัวลงเรื่อยๆ เพื่อค้นหาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตบนดาวเคราะห์ดวงนี้และอาจรวมถึงบนดวงอื่นๆ ด้วย

ณ หมู่เกาะคะแนรี พวกเราอาจอยู่บนดาวเคราะห์ดวงอื่นเลยทีเดียว

พื้นผิวขรุขระดูน่าอันตรายทอดตัวออกไปไกลสุดสายตา มีเนินที่เป็นเถ้าสีดำล้อมรอบอยู่ นี่คือธารลาวาใหม่บนเกาะลาปัลมาในกลุ่มเกาะภูเขาไฟคะแนรี นอกชายฝั่งประเทศโมร็อกโก พวกมันก่อตัวขึ้นในฤดูใบไม้ร่วงปี 2021 เมื่อหินหลอมเหลวเกือบสองร้อยล้านลูกบาศก์เมตรปะทุจากภูเขาไฟตาโฆไกเตบนเกาะเป็นเวลานานสามเดือน

การเดินทางเข้าไปในพื้นที่ส่วนใหญ่ของทุ่งลาวายังคงสงวนไว้เฉพาะนักวิทยาศาสตร์และเจ้าหน้าที่ด้านสิ่งแวดล้อม ฉันติดตาม ออกตาบิโอ เฟร์นันเดซ โลเรนโซ รองประธานสมาพันธ์ถ้ำวิทยาหมู่เกาะคะแนรี (Canary Islands Speleology Federation) เฟร์นันเดซพร้อมด้วยนักวิจัยจากสถาบันธรณีวิทยาและเหมืองแร่แห่งสเปน หรือไอจีเอ็มอี (Geological and Mining Institute of Spain: IGME) รับผิดชอบการสำรวจและตรวจสอบอุโมงค์ที่ลาวาจากการปะทุทิ้งไว้ซึ่งในบทความทางวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เรียกว่า อุโมงค์ไฟหรือถ้ำลาวา (pyroduct / lava tube) แต่บนเกาะลาปัลมา พวกมันมีชื่อเรียกที่ไพเราะดั่งบทกวีมากกว่าว่า กัญโญสเดฟูเอโก หรือถ้ำพระเพลิง

เฟร์นันเดซยื่นหมวกนิรภัยให้ฉัน ตรวจดูปริมาณน้ำดื่ม แล้วมุ่งหน้าไปยังรั้วสีขาวที่มีป้ายเตือนเราว่าห้ามเข้า ถนนที่พาเรามายังสถานที่นี้ถูกตัดขาดอย่างฉับพลันและหายไปภายใต้ชั้นลาวา

หมู่เกาะคะแนรี, ภูเขาไฟ
เจ้าหน้าที่กู้ภัยฝ่ายทหาร อาร์มานโด ซาลาซาร์ และอัลบาโร เอเรเดีย วัดและเก็บตัวอย่างธารลาวาเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2021 ภูเขาไฟที่ปะทุนาน 85 วันบนเกาะลาปัลมาหลังจากสงบต่อเนื่องมา 50 ปี กลืนกินอาคาร 2,800 หลัง และชาวเมือง 7,000 คนต้องไร้ที่อยู่อาศัย

เราพบอุโมงค์เพลิงได้เกือบทุกหนทุกแห่งบนโลกที่มีหรือเคยมีกิจกรรมภูเขาไฟ โพรงถ้ำเหล่านี้เกิดขึ้นในช่วงเวลา ทางธรณีวิทยาที่สั้นมาก ผิดกับถ้ำทั่วไปซึ่งใช้เวลาก่อตัวหลายล้านปี แต่ใช่ว่าภูเขาไฟทุกแห่งจะให้กำเนิดถ้ำหรืออุโมงค์ลาวา การปะทุต้องยาวนานพอเพื่อพ่นลาวาออกมาในปริมาณมากพอ ลาวานั้นต้องร้อนมากพอและประกอบด้วยสสารที่เหมาะสมเพื่อให้ยังคงหลอมเหลวอยู่ได้ และยังต้องเคลื่อนที่ลงลาดเขาด้วยความเร็วที่เหมาะสมด้วย

เฟร์นันเดซซึ่งยืนถือแท่งไม้ยาวสีขาวที่ช่วยให้เขาเคลื่อนที่อย่างคล่องแคล่วเหนือลาวาที่แข็งตัวแล้ว เขาจับตามองเราทุกย่างก้าวราวกับเป็นผู้พิทักษ์พื้นที่เกิดใหม่แห่งนี้ “เหยียบตรงที่ผมเหยียบนะครับ” เขาเตือน “สิ่งแวดล้อมทั้งหมดนี้เปราะบางมากๆ” มันดูออกจะย้อนแย้งที่ภูมิประเทศอันอลังการนี้ครั้งหนึ่งสามารถกลืนกินบ้านเรือนและไร่กล้วยได้ มาตอนนี้ กลับเปราะบาง

เราเดินกันไปช้าๆ เฟร์นันเดซหยิบหินตะกอนภูเขาไฟสีขาวโพลนก้อนเล็กๆ ขึ้นมาแล้วยื่นให้ฉัน นักวิจัยเรียกสิ่งนี้ว่า หินเรสทิงโกไลต์ (restingolite) ตามการปะทุของภูเขาไฟในภูมิภาคลาเรสติงกาบนเกาะเอลเอียร์โรที่อยู่ใกล้เคียงเมื่อปี 2011 เมื่อมีการพบหินสีค่อนข้างขาวหลายร้อยก้อนลอยอยู่ในมหาสมุทร ก่อให้เกิดการถกเถียงทางวิทยาศาสตร์ที่ยังไม่สิ้นสุด ผิดกับการปะทุครั้งนั้น สมมุติฐานหนึ่งสำหรับต้นกำเนิดของมันคือ พวกมันเป็นส่วนหนึ่งของรากฐานที่ลาปัลมาก่อตัวขึ้น อันได้แก่ตะกอนมหาสมุทรโบราณจากก้นทะเลอายุสองล้านปี ดาบิด ซันซ์ มังกัส วิศวกรธรณีผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา สภาพภูมิอากาศสุดขั้วและผลพวงที่ไอจีเอ็มอีกล่าวว่า “มันเหมือนการมองออกนอกหน้าต่างเข้าไปในอดีตของเราครับ”

หมู่เกาะคะแนรี, ภูเขาไฟ
ผู้เชี่ยวชาญด้านถ้ำ ดาบิด ซันซ์ มังกัส, เอดูอาร์โด ดิอาซ มาร์ติน และออกตาบิโอ เฟร์นันเดซ โลเรนโซ เก็บตัวอย่างภายในปากถ้ำลาวาที่วัดอุณหภูมิได้ประมาณ 60 องศาเซลเซียส เพื่อนำไปทดสอบหาองค์ประกอบของลาวา ทีมนี้สำรวจถ้ำลาวาที่เกิดจากภูเขาไฟตาโฆไกเต (ฉากหลังและภาพหน้าที่แล้ว) มาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปี 2022

ไม่ถึงหนึ่งเดือนหลังสำรวจภูเขาไฟปะทุบนเกาะลาปัลมา นักวิทยาศาสตร์ก็ตรวจพบถ้ำลาวา พวกมันมองเห็น ด้วยตาเปล่าได้ไม่ชัดเจนนัก ภาพจากโดรนในช่วงการปะทุช่วยคาดการณ์เส้นทางที่ธารลาวาน่าจะไหลไป ถ้ำหนึ่งค้นพบ เมื่อเดือนมิถุนายนปี 2022 หลังการปะทุสิ้นสุดลงได้หกเดือน ระหว่างที่คนงานเริ่มตัดถนนใหม่บนลาวาที่แข็งตัวแล้ว เมื่อพวกเขาพบโพรงเหมือนถ้ำและต้องหยุดงานชั่วคราว และนั่นเป็นตอนที่ซันซ์ซึ่งย้ายจากมาดริดมาประจำการที่หมู่เกาะ คะแนรีเพื่อศึกษาผลพวงจากการปะทุ เข้าร่วมทีมและเริ่มสำรวจอุโมงค์เพลิงเกิดใหม่บนเกาะลาปัลมานี้

“จากข้อมูลภาคสนามที่ได้จากกลุ่มเกาะฮาวาย ซึ่งเป็นบริเวณที่พบกลุ่มถ้ำภูเขาไฟขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เราคาดการณ์ว่าการสำรวจอุโมงค์จะเริ่มขึ้นได้หลังการปะทุประมาณสองปีครับ” เขาบอก แต่ที่นี่ “เราพบว่ามันเข้าถึงได้ แต่ลำบากสักหน่อย”

ถ้ำที่เรียกว่าถ้ำแดง คือผลิตผลของธารลาวาที่ไหลเข้าไปในเมืองเล็กๆ ชื่อโตโดเกเมื่อสามปีก่อน ปัจจุบัน ทางเข้า สองทางซึ่งอยู่ห่างกันประมาณ 60 เมตรทำให้อากาศหมุนเวียน “แทนที่จะมีอากาศร้อนพัดออกมา ปากถ้ำดูดอากาศบริสุทธิ์ จากด้านนอกเข้าไปครับ” เฟร์นันเดซกล่าวและเสริมว่า “นี่คือห้องปฏิบัติการที่ดีที่สุดที่เรามีในขณะนี้เพื่อเรียนรู้ว่า ธารลาวา เย็นตัวลงอย่างไร” เราเปิดไฟฉายคาดศีรษะ คลานเข้าไปข้างใน แล้วได้พบกับผนังสีค่อนข้างแดงอย่างน่าประหลาด บนเพดานถ้ำเราเห็นหินลาวาสีน้ำตาลเข้มย้อยลงมาเหมือนหยดน้ำ

หมู่เกาะคะแนรี, ภูเขาไฟ
ดิอาซควบคุมโดรนซึ่งเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญในภูมิประเทศอันตราย เพื่อช่วยบอกตำแหน่งให้เฟร์นันเดซที่พยายาม ยื่นเครื่องวัดอุณหภูมิเข้าไปในถ้ำลาวาที่ยังคงเย็นตัวลงหลังภูเขาไฟปะทุมาเกือบสองปี เฟร์นันเดซต้องอยู่ในระยะปลอดภัยจากขอบที่ไม่มั่นคงของปากถ้ำ

ภายในถ้ำ อากาศเย็นกว่าผนัง เครื่องวัดอุณหภูมิวัดค่าได้ตั้งแต่ 50-100 องศาเซลเซียส เราใช้มือที่สวมถุงมือยันผนังไว้ขณะเคลื่อนตัวไปข้างหน้าทีละก้าว ความชื้นและอุณหภูมิทำให้ถ้ำมีความรู้สึกสบายตัวเหมือนอยู่ในโรงอาบน้ำแบบตุรกี

เฟร์นันเดซอ่านค่าอุณหภูมิจากโดรนตรวจจับความร้อน ลึกเข้าไปจากปากถ้ำประมาณ 90 เมตร เขาบอกให้เราหยุด ความร้อนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ข้างหน้าไม่ไกลนัก ถ้ำแคบลงและมีอุณหภูมิสูงกว่า 250 องศาเซลเซียส ภาพในวิดีโอเห็นอากาศสั่นไหวเหมือนภาพลวงตา

อ่านเพิ่มเติม

มัมมี่พันปี ความลี้ลับแห่ง หมู่เกาะคะแนรี

เมื่อภูเขาไฟระเบิด ไม่ใช่แค่ลาวาที่ฆ่าคุณได้

ทำไมหลายคนเลือกสร้างบ้านใกล้ภูเขาไฟ?

“ไฟ” กับ “น้ำแข็ง” ตามล่า ” ทะเลสาบลาวา ” สุดขอบโลก

ปากถ้ำนี้เป็นเพียงหนึ่งในจำนวนกว่าร้อยแห่งที่ระบุพิกัดได้จนถึงขณะนี้ สวนใหญ่จากการใช้โดรนบินขึ้นไปสำรวจ แม้บางแห่งยังคงถูกอำพรางไว้ไม่ให้เห็นจากทางอากาศ มีถ้ำเพียงน้อยนิดที่ได้รับการสำรวจ ปากถ้ำหรือช่องเปิดจะสำรวจได้ก็ต่อเมื่อมีอุณหภูมิเหมาะสม ในธารลาวาหนาถึง 20 เมตร การเย็นตัวลงอาจใช้เวลาสองปีครึ่ง ธารลาวาที่หนา 45 หรือ 60 เมตร กระบวนการนี้อาจกินเวลา 20 ปี

ถ้ำเหล่านี้ยังมีสิ่งให้เรียนรู้อีกมาก และอาจไม่ได้เกี่ยวกับโลกของเราเท่านั้น อานา เซเลีย มิลเลอร์ นักจุลชีววิทยาธรณี จากสถาบันทรัพยากรธรรมชาติและชีวเกษตรกรรมในเซบิยา มุ่งความสนใจไปยังสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่ดวงตามนุษย์มองไม่เห็น การค้นพบครั้งแรกๆ ของเธอเกิดขึ้นในถ้ำพระเพลิงบนเกาะลาปัลมา จากการศึกษาตะกอนถ้ำคล้ายวุ้นหน้าตาประหลาดพิกล หรือตะกอนถ้ำที่เกิดจากแร่ธาตุ

งานวิจัยสิ่งมีชีวิตสุดขั้วของมิลเลอร์ โดยเฉพาะแบคทีเรียที่สามารถดึงพลังงานจากสารอนินทรีย์เพื่อเจริญเติบโต ส่งผลให้องค์การอวกาศยุโรปรับเธอเข้าทำงานในโครงการแพนเจีย-เอกซ์ (Pangaea-X Project) ภารกิจของโครงการ คือการฝึกมนุษย์อวกาศให้เก็บและวิเคราะห์ตัวอย่างแบคทีเรียบนเกาะลานซาโรเตที่อยู่ใกล้เคียง ภายในถ้ำลาวาแห่งหนึ่ง ที่มีสภาพแวดล้อมเทียบเคียงได้กับถ้ำลาวาบนดวงจันทร์และดาวอังคาร

หมู่เกาะคะแนรี, ภูเขาไฟ

ไอกำมะถันที่พ่นออกมาจากปล่องจะตกผลึกเมื่อเวลาผ่านไป แมงมุมพื้นถิ่นสกุล ออกซีโอพีส (ล่าง) เป็นสัตว์ที่เข้ามาอาศัยชนิดแรกๆ นักวิทยาศาสตร์ไม่เพียงกำลังตรวจสอบว่า สิ่งมีชีวิตเติบโตในลาวาได้อย่างไร แต่ยังค้นหาด้วยว่า สภาพแวดล้อมภูเขาไฟที่สุดขั้วเช่นนั้นคล้ายคลึงกับภูเขาไฟบนดาวเคราะห์ดวงอื่นในระบบสุริยะหรือไม่ (ภาพกำมะถันประกอบขึ้นจากภาพถ่ายซ้อนโฟกัส 29 ภาพและภาพแมงมุม 20 ภาพ)

นับจากปี 2009 เมื่อยานสำรวจอวกาศของญี่ปุ่นค้นพบแอ่งมารีอุสฮิลส์ (Marius Hills) ซึ่งอาจเป็นทางเข้าไปยังถ้ำ ภูเขาไฟแห่งหนึ่งบนดวงจันทร์ บรรดานักวิทยาศาสตร์ก็พากันศึกษาความคล้ายคลึงระหว่างถ้ำภูเขาไฟบนโลกและดาวเคราะห์อื่นๆ กันแล้ว สำหรับมิลเลอร์ คำถามไม่ใช่ว่าเราจะพบชีวิตบนดาวเคราะห์ดวงอื่นไหมอีกต่อไป แต่เป็นเมื่อใดต่างหาก

“ถ้ำบนดาวอังคารและดวงจันทร์แตกต่างจากถ้ำของเราอย่างมากในแง่สภาวะแวดล้อมและความโน้มถ่วง ซึ่งส่งผล ต่อขนาดและความเสถียร อย่างไรก็ตาม กระบวนการก่อตัวและสภาพแวดล้อมมีความคล้ายคลึงกับถ้ำบนโลกมากกว่า ที่คิดกันครับ” ฟรันเชสโก เซาโร นักวิทยาศาสตร์จากองค์การอวกาศยุโรป และนักสำรวจของเนชั่นแนล จีโอกราฟิก กล่าว ถ้ามีหรือเคยมีชีวิตในถ้ำลาวาต่างพิภพเหล่านี้ มันอาจเป็นจุลินทรีย์อย่างที่พบในถ้ำพระเพลิงบนเกาะลาปัลมาก็เป็นได้

“การปะทุของภูเขาไฟบนเกาะลาปัลมาเมื่อไม่นานมานี้เปิดโอกาสพิเศษให้เราได้เรียนรู้ไมโครไบโอตารุ่นบุกเบิก ในถ้ำลาวาเกิดใหม่เหล่านี้” มิลเลอร์กล่าว ถ้ำภูเขาไฟบนเกาะแห่งนี้มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่แล้ว ทีมของมิลเลอร์จำแนกแบคทีเรีย ที่รู้จักแล้ว และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในไฟลัมซูโดโมนาโดตาและแบคทีรอยโดตา ซึ่งท้ายที่สุดแล้วน่าจะได้รับการจำแนกว่าเป็นชนิดใหม่

เรื่อง เอมมา ลีรา
ภาพถ่าย อาร์ตูโร โรดริเกซ
แปล ปณต ไกรโรจนานันท์

ติดตามสารคดี ฟันฝ่าแดนไฟนรก ฉบับสมบูรณ์ได้ที่ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนมิถุนายน 2567

สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/612088


อ่านเพิ่มเติม เกาะอัคนี: บทเรียนของผู้คนที่อาศัยอยู่ร่วมกับ ‘ภูเขาไฟ’ หมู่เกาะคะแนรี

Recommend