ไขกุญแจชะลอวัย นักวิทย์เผยวิธีทำให้สมอง “แก่ช้าลง” กว่าอายุจริง

ไขกุญแจชะลอวัย นักวิทย์เผยวิธีทำให้สมอง “แก่ช้าลง” กว่าอายุจริง

เราจะเปลี่ยน ‘สมอง’ ของเราให้ ‘แก่ช้าลง’ หรือเปลี่ยน ‘อายุสมอง’ ได้หรือไม่? นักวิทยาศาสตร์หลายคนเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีความเป็นไปได้ 

การสูงวัยทางร่างกายเป็นอีกแง่มุมหนึ่งของชีวิตที่ไม่ว่าใครในปัจจุบันก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แม้จะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดกับทุก ๆ คน แต่ชีววิทยาซึ่งเป็นรากฐานของความจริงนี้ก็ยังเป็นที่ไม่เข้าใจดีนัก ว่าเซลล์แต่ละเซลล์ของเรารู้ได้อย่างไรว่าพวกมันมีอายุมากขึ้น

กระนั้นสิ่งที่วิทยาศาสตร์รู้และสามารถบอกคุณได้อย่างชัดเจนก็คือ การดำเนินวิถีชีวิตของเรานั้นส่งผลต่อสุขภาพและยิ่งกว่านั้นคือส่งผลต่อ ‘อายุ’ ของร่างกายของคุณ การเลือกที่จะใช้ชีวิตแบบ ‘ดีต่อสุขภาพ’ ทำให้เราแก่ช้าลง กลับการไม่ดูแลสุขภาพก็ทำให้เราแก่ยิ่งกว่าอายุจริง

แต่กับสมองล่ะ หนึ่งในอวัยวะสำคัญของร่างกายนี้ได้รับผลกระทบอะไรบ้างจากอายุที่เพิ่มขึ้นทุกปี และเราสามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เกิดขึ้นได้หรือไม่?

แต่ก่อนอื่น การแก่ขึ้นคืออะไร?

อายุที่มากขึ้นมักมาพร้อมกับความชราภาพของร่างกาย ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้ระบุเอาไว้ว่าความชราภาพนี้แท้จริงแล้วคือการลดลงของทำงานของเซลล์ เนื้อเยื่อ และอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย ทำให้เกิดการทำงานที่ผิดปกติมากขึ้น ซึ่งส่งผลต่อเนื่องไปยังความไม่สมดุลระหว่างความเสียหายของโมเลกุลและการซ่อมแซม

เช่น “การที่ไมโทคอนเครียได้รับอิเล็กตรอนที่บกพร่อง ทำให้เกิดความเสียหายจากกระบวนการออกซิเดชันที่เพิ่มขึ้นในดีเอ็นเอของไมโครทอนเดรียเอง ซึ่งท้ายที่สุดก็นำไปสู่การผลิตพลังงานน้อยลง” โอลิเวีย เกรกช์ (Olivia Grech) นักวิจัยด้านสมองจากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม ในสหราชอาณาจักร กล่าวและว่า “นอกจากนี้ยังมีหลักฐานว่าทำให้สารต้านอนุมูลอิสระลดลงด้วยเช่นกัน”

ทั้งหมดนี้นำไปสู่การสะสมของของเสียและโปรตีนที่เป็นพิษต่อระบบประสาท เนื่องจากเซลล์ที่คอยจัดการกระบวนการเหล่านี้ไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพอีกต่อไป การแก่ชรายังมีรวมถึงการสะสมความเสียหายของดีเอ็นเอที่ไม่ได้รับการซ่อมแซม และสูญเสียความสมบูรณ์ของจีโนมที่ตามมา ทำให้การผลิตสารพันธุกรรมอย่างอาร์เอ็นเอ (RNA) และโปรตีนต่าง ๆ ที่ใช้สื่อสารกับเซลล์เปลี่ยนไป และความเสียหายเหล่านี้ก็มีผลกระทบต่อสมองอย่างยิ่ง

อายุเปลี่ยน สมองก็เปลี่ยน

แม้จะเป็นที่รู้กันดีว่าเมื่อแก่ขึ้น เราทุกคนจะประสบกับการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาและการรับรู้เมื่อเวลาผ่านไป อย่างไรก็ตามปัจจัยที่ส่งผลกระทบดังกล่าว เช่น พันธุกรรม ชีวภาพ หรือสิ่งแวดล้อมที่ทำให้ระบบประสาทของเราเสื่อมลงนั้นยังไม่ได้รับการอธิบายอย่างชัดเจน

แต่นักวิทยาศาสตร์ก็สามารถมองเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้บ้าง นั่นคือ หลังจากอายุ 40 ปีขึ้นไป ปริมาตรสมองของมนุษย์จะลดลง และอัตราการลดลงนี้จะเร่งตัวขึ้นอีกครั้งหลังจากอายุ 70 ปี ซึ่งเกิดจากสิ่งที่เรียกกันว่า ภาวะสมองฝ่อ

“ภาวะสมองฝ่อเป็นสาเหตุของปริมาตรรวมที่ลดลง และยังอาจเกิดจากปริมาตรของโพรงสมองที่เพิ่มขึ้น รวมถึงร่องลึกของผิวที่ขยายใหญ่ขึ้น” เกรกช์ กล่าว “ทั้งนี้กลไกลที่ส่งผลต่อการตายของเซลล์ยังไม่เป็นที่เข้าใจดี”

นักวิทยาศาสตร์ยังถกเถียงกันอยู่ว่าการสูญเสียปริมาตรเซลล์ในสมองคืออะไรกันแน่ แต่กระบวนการนี้สามารถเร่งให้เร็วขึ้นได้ด้วยการบาดเจ็บ การติดเชื้อ หรือความผิดปกติของระบบประสาท นอกจากปริมาตรที่ลดลงแล้ว ปริมาตรของเนื้อสมองสีเทาที่ส่วนใหญ่ประกอบด้วยเซลล์ประสาท ก็ลดลงตลอดช่วงอายุของวัยผู้ใหญ่ด้วยเช่นกัน

นอกจากโครงสร้างของสมองจะเปลี่ยนไปเมื่อมีอายุมากขึ้นแล้ว องค์ประกอบทางเคมีในสมองก็เปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน ซึ่งส่งผลตามมาคือทำให้พฤติกรรมของบุคคลนั้น ๆ เปลี่ยนไป โดยที่พบมากที่สุดก็คือ ความรู้ความเข้าใจ การรับรู้ และความทรงจำ

“การวิเคราะห์เมตารระบุว่าการสูญเสียปริมาตร(สมอง)ในส่วนต่าง ๆ เช่น ฮิบโปแคมปัสและเยื่อหุ้มสมองส่วนเอนโทรฮินัล มีความสัมพันธ์กับความบกพร่องทางสติปัญญาระดับเล็กน้อย” เกรกช์ เขียนผ่านเว็บไซต์ News-Medical Life Science “จึงไม่น่าแปลกใจที่โครงสร้างเหล่านี้เกี่ยวข้องกับความผิดปกติที่เชื่อมโยงกับการสูญเสียความทรงจำ”

กล่าวโดยรวมแล้ว การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสมองมีความสัมพันธ์ที่ชัดเจนอย่างยิ่งกับอายุที่เพิ่มขึ้น และเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนจะต้องเจอ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมผู้สูงอายุจำนวนมากถึงประสบกับโรคที่เกี่ยวกับระบบประสาทไม่ว่าจะเป็น โรคอัลไซเมอร์ ภาวะสมองเสื่อม หรือพาร์กินสัน

หยุดความชราของสมองได้ไหม?

มีงานวิจัยเกี่ยวกับสมองจำนวนมากที่พยายามหาวิธีแก้ไขปัญหาความชราภาพของอวัยวะนี้ และนักวิทยาศาสตร์ก็มักค้นพบสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ แต่ทั้งหมดชี้ไปยังจุดเดียวกันนั่นคือ ‘การดำเนินชีวิต’ คือกุญแจสำคัญที่ไม่ต้องพึ่งพามีดผ่าตัด

ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ความกระตือรือร้นในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ การออกกำลังกาย การเข้าสังคม การเล่นดนตรี การมีความสุข และรวมไปถึงการพักผ่อนนอนหลับ ทั้งหมดนี้ทำให้สมองของเรา ‘แก่ช้าลง’ ได้นานหลายปี

“เมื่อผู้คนอายุมากขึ้น พวกเขาก็เผชิญกับความเสื่อมถอยโดยทั่วไป อย่างไรก้ตาม การวิจัยพบว่ากระบวนการนี้สามารถเริ่มได้เร็วกว่าที่คาดไว้ ซึ่งคุณสามารถเห็นความแตกต่างบางอย่างได้ตั้งแต่อายุ 30 เลยด้วยซ้ำ” แอนน์ วอล์ค (Anne Walk) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ กล่าว

“เราต้องการให้เข้าใจว่าการรับประทานอาหารส่งผลต่อการรับรู้ตลอดชีวิตได้อย่างไร หากลูทีน (สารอาหารที่มีอยู่ในผักสีเขียว) สามารถป้องกันการลดลงได้ เราควรส่งเสริมให้ผู้คนบริโภคอาหารที่อุดมด้วยลูทีนในช่วงชีวิตของตน เพื่อที่จะได้รับประโยชน์สูงสุด” เธอเสริม

ขณะเดียวกันการนอนหลับพักพ่อนให้เพียงพอก็เป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้สมองของเรารู้สึก ‘อายุน้อย’ อยู่ตลอดเวลา เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์พบว่าในขณะที่นอนหลับ สมองจะเข้าสู่ภาวะการทำความสะอาดตัวเอง ซึ่งจะชะล้างเบต้า-อะไมลอยด์ และ เทาว์โปรตีน (tau proteins) ที่เป็นสองสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์

“การนอนหลับเป็นสิ่งเดียวที่ได้ผลมากที่สุด ที่คุณสามารถทำได้ทุกวันเพื่อรีเซ็ตสุขภาพสมองและร่างกายของคุณ” Matthew Walker ศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยาและจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กเลย์ กล่าว “เมื่อคุณนอนหลับการทำงานของจิตใจก็จะได้รับการปรับปรุงอย่างน่าอัศจรรย์ และก็บกพร่องลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อคุณไม่ได้รับ(นอนหลับ)อย่างเพียงพอ”

รวมไปถึงการออกกำลังกายที่งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยไมอามี ซึ่งศึกษาคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไปพบว่า คนที่ออกกำลังกายเล็กน้อยหรือแทบไม่ได้ออกกำลังกายเลยจะมีความจำและทักษะการคิดลดลงเมื่อเทียบกับผู้ที่มีการออกกำลังกายปานกลางถึงสูง

รายงานระบุว่า โดยพื้นฐานแล้วการออกกำลังกายช่วยชะลอความชราของสมองได้ 10 ปี เช่นเดียวกันการเล่นดนตรีที่นักวิจัยพบว่า การเรียนรู้วิธีเล่นเครื่องดนตรีชนิดต่าง ๆ จะเปลี่ยนแปลงคลื่นสมองและช่วยพัฒนาทักษะการฟังให้กับบุคคลนั้น ๆ หรือกล่าวง่าย ๆ ว่ากระตุ้นให้สมองของเรากระปรี้กระเปร่ายิ่งขึ้น

แม้ว่าจะยังคงมีคำถามมากมายเกี่ยวกับสมองที่แก่ชรา แต่นักวิทยาศาสตร์ก็มีความก้าวหน้าอยู่เรื่อย ๆ ในการหาคำตอบว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างเกี่ยวกับการทำงานของสมองและร่างกายของเราในทุกช่วงชีวิต ซึ่งทั้งหมดต่างเน้นย้ำเป็นเสียงเดียวกันว่าเราทุกคนสามารถเลือกอนาคตของสมองเองได้

การกินผักสีเขียวเพิ่มขึ้นบ้าง หรือการออกไปวิ่งไปเดินให้บ่อยขึ้นบ้าง คงไม่ได้ยากเกินไปสำหรับคนหนุ่มสาว ใช่ไหม?

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

www.ncbi.nlm

www.tandfonline.com

www.jneurosci.org

www.bbc.com

www.news-medical.net

www.medicalnewstoday.com


อ่านเพิ่มเติม : อินโทรเวิร์ต ไม่ใช่ เอ็กซ์โทรเวิร์ต ไม่เชิง หรือเป็น แอมบิเวิร์ต , ออมนิเวิร์ต ?

Recommend