การทดลองสุดแปลก ใช้หนูทำนายอนาคตมนุษย์ ถ้าจำนวนประชากร ‘ล้นโลก’ สังคมจะเป็นอย่างไร?

การทดลองสุดแปลก ใช้หนูทำนายอนาคตมนุษย์ ถ้าจำนวนประชากร ‘ล้นโลก’ สังคมจะเป็นอย่างไร?

การทดลองสุดแปลกใน ‘หนู’ เพื่อทำนายอนาคตของมนุษยชาติว่าด้วยความกังวลด้านจำนวนประชากร ‘ล้นโลก’ 

ในปี 1968 นักชีววิทยาจอห์น คัลฮูน (John Calhoun) ได้สร้างจักรวาลแห่งหนึ่งขึ้นมา มันเป็นคอกใหญ่ขนาดประมาณลูกบาศก์ 4 ฟุตครึ่ง (1.3716 เมตร) ซึ่งในนั้นมีทุกสิ่งที่สิ่งมีชีวิตต้องการ ไม่ว่าจะเป็นอาหารและน้ำที่เพียงพอ(อย่างไม่จำกัด) สภาพอากาศที่สมบูรณ์แบบ อุปกรณ์ทำรังที่แสนสบาย และอพาร์ตเมนต์ ซึ่งแยกจากกันจำนวน 256 ห้องซึ่งเข้าถึงได้ผ่านเครือข่ายท่อที่ยึดกับผนัง

ไม่เพียงเท่านั้น คัลฮูน ยังคัดกรองหนูเพื่อให้สังคมปลอดโรค และทำให้หนูสามารถมีชีวิตได้อยู่ได้นานขึ้นโดยไม่มีผู้ล่าและความกังวลอื่น ๆ มารบกวน ในทางทฤษฎีแล้วนี่คือ ‘สวรรค์’ สำหรับหนูที่จะได้ชีวิตโดยไม่มีเรื่องอะไรมาทำให้เกิดความเครียด และมันคือ ยูโทเปียครั้งที่ 25 แล้วที่ คัลฮูน สร้าง หรือเรียกอีกอย่างว่า ‘จักรวาลที่ 25’

ผู้สนใจในพฤติกรรมของหนู

จอห์น คัลฮูน นั้นเติบโตมาในเทนเนสซี สหรัฐอเมริกา เขาเป็นลูกชายของผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมและศิลปิน อีกทั้งยังเป็นนักดูนกตัวยงเมื่อครั้นยังเด็ก หลังจากได้รับปริญญาเอกด้านสัตววิทยา เขาก็ได้เข้าร่วมโครงการที่ชื่อว่า ‘Rodent Ecology Project’ ในเมืองบัลติมอร์เมื่อปี 1946 ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อกำจัดศัตรูพืชจำพวกหนูในเมืองต่าง ๆ ให้หมดไป

“โครงการนี้ประสบความสำเร็จเพียงเล็กน้อย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่มีใครสามารถระบุได้ว่าควรจับตาดูพฤติกรรม วิถีชีวิต หรือชีววิทยาของหนูในลักษณะใดบ้าง” สถาบันประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์ ระบุบนเว็บไซต์

ด้วยความสงสัยที่ติดอยู่ในใจมาเนิ่นนาน คัลฮูน จึงตัดสินใจสร้างสถานที่สังเกตพฤติกรรมหนูขึ้นมาเป็นแห่งแรกในป่าหลังบ้านของเขา เพื่อติดตามหนูในช่วงเวลาต่าง ๆ และศึกษาว่ามีปัจจัยใดบ้างเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตของประชากร แต่เมื่อเขาลงมือทำ เขาก็แทบจะหยุดความใคร่รู้ของตนเองไม่ได้

คัลฮูน ปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมให้ซับซ้อน และควบคุมตัวแปรอย่างระมัดระวังมากขึ้นเรื่อย ๆ อีกทั้งยังรับเอาความสนใจด้านสถาปนิกและวิศวกรโยธาที่ขณะนั้นกำลังถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อนว่า ‘เมืองที่ดีควรเป็นอย่างไร?’ เขาตระหนักว่าการออกแบบเมืองในหนูนี้อาจขยายผลไปยังมนุษย์ได้

คัลฮูน ทำงานกับหนูมาตั้งแต่ปี 1958 ถึง 1972 โดยส่วนใหญ่(ไม่นับครั้งแรก)เกิดขึ้นในห้องปฏิบัติการจิตวิทยาของสถาบันสุขภาพจิตแห่งชาติ ซึ่งเขาหวังด้วยเช่นกันว่าจะได้เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับอนาคตที่แออัดของประชากรมนุษย์ ความพยายาม 24 ครั้งแรกจำเป็นต้องสิ้นสุดลงก่อนกำหนด เนื่องจากพื้นที่จำกัด

แต่เหตุการณ์ที่โด่งดังที่สุดของเขาคือ ‘จักรวาลที่ 25’ ซึ่งเริ่มต้นในปี 1968 โดยเริ่มต้นด้วยหนูตัวเมีย 4 ตัวและตัวผู้ 4 ตัวลงในกรง

จักรวาลที่ 25
หลังจากใช้เวลาปรับตัวเพียงเล็กน้อย ลูกหนูตัวแรกก็เกิดในเวลา 3 เดือนครึ่งและหนูก็เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากนั้น โดยเพิ่มเป็น 2 เท่าในทุก ๆ 55 วัน หลังจากนั้นเมื่อถึงวันที่ 560 หนูก็เพิ่มขึ้นถึงจุดสูงสุดที่ 2,200 ตัววิ่งไปวิ่งมา แต่การเติบโตที่ฉุกละหุกนี้ก็สร้างปัญหาตามมาหลายประการ

“มีหนูตัวเมียเพียงไม่กี่ตัวเท่านั้นที่ตั้งครรภ์จนครบกำหนด และหนูที่ตั้งครรภ์ก็ดูเหมือนจะลืมลูกไปเฉย ๆ” สถาบันซมิธโซเนียน ระบุ “พวกมันจะย้ายลูกครึ่งหนึ่งออกจากคอก และลืมลูกที่เหลือไป บางครั้งพวกมันก็ทิ้งลูกไว้ในขณะที่กำลังตั้งครรภ์”

ผลที่ตามมาก็คือมีลูกหนูจำนวนมากตายเพราะถูกละเลย กระนั้นก็ยังมีความผิดปกติอื่น ๆ ที่น่าหดหู่เพิ่มเติมนั่นคือ หนูที่ไม่ได้รับการเลี้ยงดูอย่างเหมาะสมหรือหนูที่ถูกไล่ออกจากรังแต่เนิ่น ๆ กลายเป็นพวกที่ไม่สามารถสร้างสายสัมพันธ์ทางสังคมได้ดี ดังนั้นมันจึงมีปัญหาในการสร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคมเมื่อโตขึ้

หนูตัวเมียที่ปรับตัวไม่ได้จะเริ่มแยกตัวในอพาร์ตเมนท์ที่ว่างเปล่าซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ผิดปกติอย่างยิ่ง ขณะเดียวกันหนูตัวผู้ที่ปรับตัวไม่ได้ก็ดูแลตัวเองทั้งวันทั้งคืน พวกมันเลียขนตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่า คัลฮูน เรียกตัวผู้ประเภทนี้ว่า ‘พวกตัวที่สวยงาม’ ซึ่งหมกมุ่นอยู่กับรูปลักษณ์ของตัวเอง และไม่สนใจจะจีบผู้หญิงหรือไม่สนใจเรื่องเซ็กซ์เลย

“พวกมันแค่กิน นอน และดูแลตัวเอง โดยจมอยู่กับการมองตัวเองอย่างหลงตัวเอง” วารสาร Cabinet เขียนในปี 2011

ท้ายที่สุด การเติบโตของประชากรที่มากเกินไปก็กัดกร่อนความมั่นคงและเกิดความล้มเหลว ขณะเดียวกันในพื้นที่ส่วนกลางที่แออัดซึ่งแม่หนูหลายตัวทิ้งลูกไว้ก็มีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ทำให้สังคมของหนูตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว

เพียงไม่กี่วันหลังจากวันที่ 560 ซึ่งก็คือประมาณวันที่ 600 ก็ไม่มีลูกหนูตัวใดรอดชีวิตได้นานกว่า 2-3 วัน ไม่ช้าการเกิดใหม่ก็หยุดลงโดยสิ้นเชิง เมื่อตัวผู้เอาแต่ดูแลตัวเอง และตัวเมียเอาแต่แยกตัว หนูที่แก่ก็ไม่สามารถผสมพันธ์ได้อีก และก็ถึงจุดสิ้นสุดหลังเริ่มการทดลอง 5 ปี ประชากรของหนูจาก 2,200 ตัวเหลือ 0 ตัวอย่างเป็นทางการ

สังคมมนุษย์

คัลฮูน เริ่มการทดลองของเขาด้วยความตั้งใจที่จะถ่ายทอดผลลัพธ์ไปยังพฤติกรรมมนุษย์ ซึ่งในขณะนั้นผู้คนสนใจเกี่ยวกับแนวคิดที่ว่าจำนวนประชากรที่มากเกินไปอาจเป็นอันตรายได้ โดยหนังสือเรื่อง ‘An Essay on the Principle of Population Malthus’ ของ โทมัส มาลธัส (Thomas Malthus) ได้เสนอไว้ว่า การที่ประชากรขยายตัวเร็วกว่าการผลิตอาหาร จะนำไปสู่ความเสื่อมถอยของสังคม

จากนั้นในปี 1968 พอล เอร์ลิช (Paul Ehrlich) นักกีฏวิทยาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดก็ได้ดีพิมพ์ ‘The Population Bomb’ หนังสือเล่มนี้ได้จุดชนวนความกลัวอย่างกว้างขว้างเกี่ยวกับอนาคนที่แออัดยัดเยียด

“ผู้คนที่มากเกินไป อัดแน่นอยู่ในพื้นที่แคบเกินไป และเอาของไปจากโลกมากเกินไป” นิตยสารสมิธโซเนียน กล่าวในปี 2018 โดยในหนังสือ ‘The Population Bomb’ ได้เสริมว่า “หากมนุษยชาติไม่ลดจำนวนลงในเร็ว ๆ นี้ เราทุกคนจะต้องเผชิญกับภาวะอดอยากครั้งใหญ่บนโลกที่กำลังจะตาย”

การทดลองของ คัลฮูน ถูกตีความว่าเป็นหลักฐานของแนวคิดดังกล่าว และสิ่งที่อาจเกิดบนโลกที่ประชากรมากเกินไป โดยมีพฤติกรมอย่าง ใช้ความรุนแรงแบบเปิดเผย ขาดความสนใจในการมีเซ็กซ์ และการเลี้ยงลูกที่ไม่ดี ในพื้นที่ที่ผู้คนแออัดกลายเป็นสัญญาณของความเสื่อมถอยทางศีลธรรม

ดูเหมือนว่าสิ่งเหล่านี้กำลังสะท้อนออกมาในโลกแห่งความจริง หลายประเทศมีอัตราการเกิดลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งอยู่ในระดับที่ไม่สามารถทดแทนคนรุ่นก่อนหน้าได้ ขณะเดียวกันคนหนุ่มสาวหลายคนก็แยกตัวออกไปและไม่สนใจที่จะมีความรัก เป็นความคล้ายคลึงกับ ‘จักรวาลที่ 25’ อย่างน่ากังวล

ขณะที่บางคนก็ชี้ไปยังประเด็นที่กำลังเป็นจริง โดยระบุว่าในการทดลองนั้นมีจำนวนหนูราว 1% ที่ครอบครองความมั่งคั่งไว้เป็นของตัวเอง ซึ่งทำให้สังคมไม่สามารถได้รับทรัพยากรที่จำเป็นต่อการมีชีวิตที่ดี “จักรวาลที่ 25 มีปัญหาดัานการกระจายอย่างยุติธรรม” สถาบันประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์ กล่าว

บทเรียนที่สำคัญ

แน่นอนว่าหนูและมนุษย์นั้นเป็นคนละสปีชีส์กันอย่างสิ้นเชิง เราไม่ใช่สัตว์ฟันแทะ เราเป็นสิ่งที่มีชีวิตที่มีสติปัญญาเพียงพอที่จะตระหนักถึงสัญญาณของปัญหาก่อนที่มันจะเกิดขึ้น และพยายามหาทางแก้ไขไม่ใช่ปล่อยให้มันดำเนินไปเหมือนหนูในจักรวาลที่ 25

เช่นเดียวกันงานวิจัยชิ้นอื่น ๆ ที่ศึกษาในมนุษย์ก็แสดงให้เห็นว่าสภาพแวดล้อมที่แออัด ไม่ได้นำไปสู่ผลลัพธ์เช่น ความเครียด ความก้าวร้าว หรือความไม่สบายใจเสมอไป แต่การทดลองของ คัลฮูน ก็ได้นำเสนอภาพที่ผู้มีอำนาจกำหนดนโยบายจำเป็นต้องตระหนัก

หากพวกเขาปล่อยปะละเลยสัญญาณของปัญหา และไม่มีการแก้ไขอย่างจริงจัง สังคมก็อาจค่อย ๆ ถดถอยลงอย่างน่าเศร้า ซึ่งท้ายที่สุดเราทุกคนไม่ว่าจะชนชั้นไหนก็จะได้รับผลกระทบ สิ่งสำคัญคือต้องตระหนักถึงอนาคตที่น่ากังวลโดยใช้ ‘สติและปัญญา’ อย่างรอบคอบ

“ด้วยสติปัญญา ความสามารถในการปรับตัว และความสามารถในการสร้างโลกที่อยู่รอบตัว มนุษย์จึงสามารถรับมือกับความแออัดได้ ในลักษณะที่หนูทำไม่ได้” สถาบันประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์ ระบุ

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ภาพ Yoichi R Okamoto, White House photographer จาก วิกิพีเดีย

ที่มา

https://www.smithsonianmag.com/smart-news/this-old-experiment-with-mice-led-to-bleak-predictions-for-humanitys-future-180954423/

https://www.sciencehistory.org/stories/magazine/mouse-heaven-or-mouse-hell/

https://gizmodo.com/how-rats-turned-their-private-paradise-into-a-terrifyin-1687584457

https://www.the-scientist.com/universe-25-experiment-69941

https://www.cabinetmagazine.org/issues/42/wiles.php


อ่านเพิ่มเติม :โครโมโซม XY ในวงการมวยหญิง ความท้าทายของ ‘ชีววิทยา’ และ ‘กติกากีฬา’

Recommend