โลกไซเบอร์ : เมื่อเราถูกจับตามองมากขึ้นเรื่อยๆ

โลกไซเบอร์ : เมื่อเราถูกจับตามองมากขึ้นเรื่อยๆ

โลกไซเบอร์ : เมื่อเราถูกจับตามองมากขึ้นเรื่อยๆ

ย้อนหลังไปเมื่อปี 1949 ท่ามกลางความหวาดผวาลัทธิอำนาจนิยมในยุโรป จอร์จ ออร์เวลล์ นักเขียนนวนิยายชาวอังกฤษ ตีพิมพ์นวนิยายแนวดิสโทเปียชิ้นเอกเรื่อง 1984  ซึ่งมีคำเตือนน่าขนลุกว่า “พี่เบิ้มกำลังจับตาดูคุณอยู่”  (Big Brother is watching you!) แม้ความคิดดังกล่าวจะฟังดูน่าวิตก แต่ “การเฝ้าดู” ในยุคนั้นยังนับว่าค่อนข้างจำกัด และในปีเดียวกันนั้นเองบริษัทอเมริกันแห่งหนึ่งเปิดตัวกล้องโทรทัศน์วงจรปิดเป็นครั้งแรก

ทุกวันนี้ มีภาพที่แชร์หรือเก็บไว้ในอินเตอร์เน็ตปีละกว่า 2.5 ล้านล้านภาพ ยังไม่นับภาพถ่ายและคลิปวิดีโออีกหลายพันล้านที่ผู้คนเก็บไว้เป็นของส่วนตัว บริษัทโทรคมนาคมแห่งหนึ่งคาดการณ์ว่า พอถึงปี 2020 คน 6,100 ล้านคนจะมีโทรศัพท์ที่ถ่ายภาพได้ ในเวลาเดียวกัน กล้องวงจรปิดจราจรหรือเอเอ็นพีอาร์ (automatic number plate recognition: ANPR) ที่อ่านป้ายทะเบียนรถอัตโนมัติหลายหมื่นตัวได้รับการติดตั้งเหนือผิวการจราจรเพื่อจับคนที่ขับรถเร็วเกินกำหนดหรือจอดรถในที่ห้ามจอด รวมทั้งติดตามการเคลื่อนไหวของผู้ต้องสงสัยว่าเป็นอาชญากรหรือผู้ก่อการร้าย ทุกวันนี้ ผู้คนนิยมพกกล้องติดตัว (body camera) กันมากขึ้น แม้จะไม่มีการนับจำนวนแน่ชัด ไม่เฉพาะตำรวจเท่านั้น แต่ยังมีเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลและบุคลากรที่ไม่ใช่ผู้รักษากฎหมายอื่นๆด้วย อุปกรณ์ติดตามส่วนบุคคลอื่นๆ ที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่กล้องติดรถยนต์ กล้องติดหมวกนิรภัยของนักปั่นจักรยานหรือคนขับมอเตอร์ไซค์ ไปจนถึงกริ่งประตูติดเลนส์เพื่อจับภาพโจรขโมยพัสดุ กลายเป็นส่วนหนึ่งของยุทโธกรณ์ในชีวิตประจำวันของชาวเมืองจำนวนไม่น้อยอย่างรวดเร็ว แต่สิ่งที่ชวนวิตกยิ่งกว่าคือภาพคนธรรมดาสามัญหลายพันล้านภาพที่เทคโนโลยีจดจำใบหน้าบันทึกและเก็บไว้ในฐานข้อมูลของผู้รักษากฎหมายหรือบริษัทเอกชน ซึ่งแทบไม่มีมาตรการควบคุมใดๆ เลย

โลกไซเบอร์
ดีโน เบอร์โตลิโน นักเทคนิคยานอวกาศของบริษัทแพลเน็ตในแซนแฟรนซิสโก ถือดาวเทียมติดกล้องที่บริษัทเรียกว่าโดฟ (Dove) แพลเน็ตมีดาวเทียมขนาดเท่ากล่องรองเท้าลักษณะนี้กว่า 150 ดวงที่ปฏิบัติงานอยู่ในวงโคจร ถ่ายภาพวินาทีละสองภาพ ด้วยกองทัพดาวเทียมนี้ บริษัทสามารถถ่ายภาพมวลแผ่นดินทั้งหมดของโลกได้ภายในหนึ่งวันถ้าสภาพอากาศเหมาะสม

สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงอุปกรณ์ “จับตาดู” ที่เรามองเห็นได้ ปัจจุบัน ท้องฟ้าคลาคล่ำไปด้วยโดรน เมื่อปี 2016 หน่วยงานธุรกิจและผู้ชื่นชอบงานอดิเรกในสหรัฐฯ ซื้อโดรนรวมกันถึง 2.5 ล้านเครื่อง  ตัวเลขนี้ไม่รวมอากาศยานไร้คนขับหรือยูเอวี (unmanned aerial vehicle: UAV) จำนวนมากที่รัฐบาลสหรัฐฯ ใช้ในภารกิจทั้งทางทหารและพลเรือน  ยังไม่ต้องพูดถึงอุปกรณ์สอดแนมทางอากาศอีกหลายพันเครื่องของประเทศอื่นๆ เช่น รัสเซีย จีน อิหร่าน และเกาหลีเหนือ

เรายังถูกจับตามองจากอวกาศเบื้องบนด้วย ดาวเทียมกว่า 1,700 ดวงเฝ้าติดตามดูโลกอยู่ จากระยะทางราว 500 กิโลเมตร ดาวเทียมบางดวงสามารถจับภาพฝูงควายหรือการลุกลามของไฟป่าได้ และใครที่ไหนก็ไม่รู้อาจได้ภาพถ่ายคมชัดของช่วงถนนที่เราทำงานอยู่ได้ไม่ยาก

 


ชมความงดงามจากเทคโนโลยี Laser ฉายภูมิทัศน์ที่ปราศจากผืนป่าปกคลุม


 

ในเวลาเดียวกัน บนถนนสายเดียวกัน เราอาจถูกถ่ายภาพระยะใกล้จนน่าขนลุกวันละหลายสิบภาพจากเลนส์ที่เราอาจไม่เคยเห็น และอาจไม่มีวันรู้ว่า ภาพของเราถูกเก็บไว้ในฐานข้อมูลเพื่อวัตถุประสงค์ใด โทรศัพท์มือถือ การสืบค้นด้วยอินเทอร์เน็ต และโซเชียลมีเดียต่างๆ ล้วนเปิดเผยความลับของเรา กัส โฮเซน ผู้อำนวยการไพรเวซีอินเตอร์เนชั่นแนล (Privacy International) องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานรณรงค์เรื่องสิทธิส่วนบุคคลทั่วโลก บอกว่า “ในศตวรรษที่สิบเก้า ถ้าอยากรู้ว่าคุณคิดอะไร ตำรวจต้องทรมานคุณ แต่เดี๋ยวนี้ แค่หาจากอุปกรณ์สื่อสารของคุณก็เจอหมดแล้ว”

โลกไซเบอร์
โดรนจิ๋วของกองทัพเรือสหรัฐฯ เหล่านี้ (ที่จริงเป็นแค่แผงวงจรอากาศพลศาสตร์เท่านั้น) ออกแบบสำหรับทิ้งลงมาจากท้องฟ้าเป็นกลุ่มใหญ่เพื่อใช้ประโยชน์ด้านต่างๆ เช่น เฝ้าระวังพายุเฮอริเคน ติดตั้งลวดสะดุดตามแนวชายแดน หรือนำทางชาวไร่ในการหว่านเมล็ดพืชในแปลง

นี่คือโลกใหม่แสนฉลาด (“Brave New World”) ของเรา ซึ่งเป็นชื่อหนังสือของอัลดัส ฮักซ์ลีย์  นักเขียนแนวอนาคตชาวอังกฤษอีกคนหนึ่ง โลกที่กำลังขยับไปสู่ทิศทางนี้น่าวิตก เพราะดังที่อาเลสซันโดร อัคควิสตี อาจารย์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศจากมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน บอกไว้ว่า “การปกป้องความเป็นส่วนตัวไม่ต่างจากเกมแมวจับหนู  ผู้ที่เป็นข้อมูล (หรือถูกจับตามอง) มักเป็นฝ่ายเสียเปรียบเสมอ” การยอมแพ้ในเกมนี้เป็นความคิดที่น่าหดหู่  แต่การดิ้นรนหาทางปกป้องความเป็นส่วนตัวอาจทำให้สิ้นหวังยิ่งกว่า แรนดอลฟ์ ลูอิส อาจารย์ด้านอเมริกันศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทกซัส เขียนไว้ในหนังสือเล่มใหม่ของเขาชื่อ ภายใต้การสอดส่อง: เมื่อถูกเฝ้ามองในอเมริกายุคใหม่ (Under Surveillance: Being Watched in Modern America) ว่า “การสอดส่องมักเป็นเรื่องน่าเหนื่อยหน่ายสำหรับผู้ที่รับรู้ถึงคลื่นใต้น้ำของมันอย่างแท้จริง  มันจะโถมทับเราด้วยการทำงานซ้ำแล้วซ้ำเล่า  ความลี้ลับที่มีอยู่ทุกหนแห่ง ตลอดจนการเคลื่อนไหว การเกาะติด และความเป็นไปได้ต่างๆ อันที่ไม่รู้จักจบสิ้นของมัน”

อัคควิสตีกล่าวว่า ความปรารถนาที่จะมีความเป็นส่วนตัว “เป็นลักษณะของปุถุชนในทุกวัฒนธรรมและทุกยุคทุกสมัย  สิ่งที่น่ากังวลก็คือ ถ้ามนุษย์ทุกคนต้องทนอยู่กับการขาดความเป็นส่วนตัวในระดับปัจเจก กว่าสังคมโดยรวมจะตระหนักถึงคุณค่าของความเป็นส่วนตัวก็อาจเมื่อสูญเสียมันไปแล้วตลอดกาล”

โลกไซเบอร์
ในความมืดมิด ภาพจากอุปกรณ์ถ่ายภาพความร้อนแสดงภาพเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าของเขตสงวนแห่งชาติมาไซมาราในเคนยา ไล่ล่านักลักลอบฆ่าสัตว์คนหนึ่งซึ่งจะถูกจับได้ในไม่ช้า อุปกรณ์ต่างๆที่กองทุนสัตว์ป่าโลกจัดหาให้เอื้อให้เจ้าหน้าที่ขยายการปกป้องสัตว์ป่าไปถึงตอนกลางคืนได้ ช่วงกลางวัน เจ้าหน้าที่ช่วยลูกช้างเพศผู้ตัวหนึ่งที่พลัดจากฝูงและเสี่ยงตกเป็นเหยื่อของสัตว์นักล่า

สภาวการณ์น่าขนลุกในนวนิยายของออร์เวลล์ที่กำลังตั้งเค้าอยู่นี้สายเกินแก้แล้วจริงหรือ หรือยังมีอะไรที่พอให้ความหวังได้บ้าง ลองนึกถึงกล้องดักถ่ายอินฟราเรด 463 ตัวที่กองทุนสัตว์ป่าโลกหรือดับเบิลยูดับเบิลยูเอฟใช้ติดตามความเคลื่อนไหวของแพนด้ายักษ์ที่ถูกคุกคามในจีน หรือกล้องถ่ายภาพความร้อนที่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าในเขตสงวนแห่งชาติมาไซมาราในเคนยาใช้ตรวจจับพวกลักลอบล่าสัตว์ตอนกลางคืน หรือระบบกล้องใต้น้ำทำงานด้วยเสียงซึ่งใช้ติดตามโลมาบากีตาที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือกล้อง “ยามเฝ้าป่า” ที่ติดตั้งไว้เพื่อช่วยรักษาป่าไม้ที่กำลังหดหายของศรีลังกา

“ถ้าคุณต้องการภาพอนาคต ก็จินตนาการถึงรองเท้าบู๊ตที่กระทืบใบหน้ามนุษย์—ตลอดกาล” ออร์เวลล์เตือนเราอย่างมืดมนในนวนิยายคลาสสิกของเขา จินตภาพของอำนาจนิยมนี้บั่นทอนความเป็นไปได้ที่รัฐจะใช้เครื่องมือลักษณะนี้เพื่อการรักษาความปลอดภัยบนท้องถนน เช่น ลองนึกถึงคลิปจากกล้องรักษาความปลอดภัยที่ช่วยไขคดีรถไฟใต้ดินลอนดอนเมื่อปี 2005 และคดีลอบวางระเบิดในการวิ่งมาราธอนที่บอสตันเมื่อปี 2013

ที่ท่าเรือบอสตัน กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิทดลองวิธีตรวจสินค้า ซึ่งเป็นผลงานประดิษฐ์ของสองนักฟิสิกส์ จากสถาบันเอ็มไอที เครื่องมือตรวจวัตถุนี้แสดงภาพคร่าวๆของวัตถุได้โดยไม่ต้องเปิดตู้คอนเทนเนอร์ ขณะที่เครื่องสแกนรังสีเอกซ์ที่ใช้กันทั่วไปบอกได้แค่รูปทรงและความหนาแน่นของวัตถุ เครื่องนี้บอกได้ถึงความแตกต่างระหว่างน้ำอัดลมปกติกับน้ำอัดลมที่ไม่ใส่น้ำตาล เพชรแท้กับเพชรเทียม ระเบิดพลาสติกกับระเบิดแรงสูง และวัตถุนิวเคลียร์กับวัตถุที่ไม่ใช่นิวเคลียร์

โลกไซเบอร์
ในภาพที่ถ่ายโดยใช้การเปิดหน้ากล้องเป็นเวลานานภาพนี้ เครื่องบินของกรมป่าไม้สหรัฐฯ บินวนเหนือไฟป่าใกล้ทะเลสาบอิซาเบลลาในวนอุทยานแห่งชาติซีคัวยา รัฐแคลิฟอร์เนีย เพื่อถ่ายภาพด้วยเครื่องสแกนอินฟราเรดจับความร้อน ข้อมูลที่ได้จะนำไปวางซ้อนบนแผนที่เพื่อให้เห็นแนวไฟที่แม่นยำ นักดับเพลิงจะได้วางแผนดับเพลิง ทำนายพฤติกรรมของไฟ และแจ้งเตือนการคุกคามของไฟป่าได้

มีใครสงสัยบ้างไหมว่า โลกที่มีการตรวจตราอย่างถี่ถ้วนในช่วง 150 ปีที่ผ่านมาปลอดภัยกว่าเดิมจริงไหม แน่นอนว่าความปลอดภัยสาธารณะย่อมเป็นจุดประสงค์แรกของการสอดส่อง แต่ทุกวันนี้ อาจมีคนมองว่า เทคโนโลยีเหล่านั้นคืออุปกรณ์ช่วยชีวิตที่ครอบคลุมมากขึ้น ภาพจากกล้องดาวเทียมทำให้องค์กรบรรเทาทุกข์ระบุตำแหน่งผู้ลี้ภัยที่ตั้งค่ายพักแรมอยู่ในทะเลทรายใกล้เมืองโมซุลทางเหนือของอิรักได้ และยานสำรวจในอวกาศก็ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์มีข้อพิสูจน์ว่าสภาพภูมิอากาศกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง

หรือจินตนาการอันยิ่งใหญ่ของออร์เวลล์จะผิดพลาด “พี่เบิ้ม” หรือบิ๊กบราเทอร์ช่วยมนุษยชาติ แทนที่จะจองจำเป็นทาสหรือทั้งสองสถานการณ์จะเป็นจริงในเวลาเดียวกัน

เรื่อง โรเบิร์ต เดรเพอร์

 

อ่านเพิ่มเติม

กล้ามเนื้อเทียมที่เคลื่อนไหวเลียนแบบมนุษย์

Recommend