เพื่อนบ้านใหม่ของโลก เผยมินิมูนชั่วคราวที่ท้าทายนิยามดวงจันทร์

เพื่อนบ้านใหม่ของโลก เผยมินิมูนชั่วคราวที่ท้าทายนิยามดวงจันทร์

จะเกิดอะไรขึ้นหากโลกมีดวงจันทร์เล็กอีกดวง ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาโลกได้จับเอาหินอวกาศขนาดเล็กเข้ามาเป็นดวงจันทร์ดวงที่สองแบบชั่วคราว 

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาโลกได้ ‘จับ’ เอาหินอวกาศขนาดเล็กเข้ามาเป็นดวงจันทร์ดวงที่สองแบบชั่วคราว โดยขนาดวัตถุที่ค้นพบนี้ มีขนาดเท่ารถโรงเรียน และมีรายงานว่ามันจะโคจรรอบโลกถึงวันที่ 25 พฤศจิกายนนี้

ดาวเคราะห์นี้กลายเป็นมินิมูนชั่วคราว และเมื่อมันโคจรเข้ามาใกล้โลกมากที่สุด มันจะอยู่ห่างจากโลกอย่างน้อย 5 เท่าเมื่อเทียบกับระยะทางระหว่างโลกและดวงจันทร์(ตัวจริง) ดังนั้นมันจึงมีขนาดเล็กเกินไปที่จะมองเห็นด้วยตาเปล่า และการที่จะมองเห็นมันจำเป็นต้องใช้กล้องโทรทรรศน์ระดับการวิจัยเท่านั้น 

มีรายงานว่า อันที่จริงแล้ว แม้แต่การเรียกวัตถุชิ้นนี้ว่า ‘ดวงจันทร์ดวงเล็ก’ ก็ยังดูเกินจริงไปบ้างตามคำกล่าวของ โทมัส สแตทเลอร์ (Thomas Statler) นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับวัตถุทรงกลมขนาดเล็กในระบบสุริยะที่สำนักงานใหญ่ของนาซา (NASA) 

แต่เพื่อที่มันจะกลายเป็น ดาวบริวารดวงที่สองแบบชั่วคราวของโลก ดาวเคราะห์น้อยนี้จะต้องถูกผูกไว้ด้วยแรงโน้มถ่วงของระบบโลก-ดวงจันทร์ที่มีอยู่แล้ว และโคจรรอบระบบนี้หลายรอบ อย่างไรก็ตามเงื่อนไขเหล่านี้ยังไม่เกิดขึ้นกับดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ที่มีชื่อว่า ‘2024 PT5’ 

โดยทั่วไปแล้วระบบสุริยะของเรามีดวงจันทร์หลายร้อยดวง โดยส่วนใหญ่ถูกดึงดูดไปที่ดาวเคราะห์ชั้นนอกขนาดใหญ่อย่างดาวเสาร์ที่มีอยู่ถึง 146 ดวง ส่วนดาวพฤหัสบดีเองก็มี 95 ดวง ขณะที่ดาวอังคารซึ่งเป็นเพื่อนบ้านของเรามีดวงจันทร์ของตัวเองเพียง 2 ดวง ซึ่งน้อยกว่า พลูโต ดาวเคราะห์แคระที่พึ่งถูกปลดแต่ก็ยังมีดาวบริวารมากถึง 5 ดวง

นักวิทยาศาสตร์ได้เฝ้าติดตามวัตถุบนท้องฟ้าที่โคจรมาภายในระยะห่างจากโลก 10 เท่าของระยะโลก-ดวงจันทร์ได้ราว ๆ 1,000 ดวงทุกปี และแม้ว่าวัตถุท้องฟ้าส่วนใหญ่จะอยู่ได้ไม่นานและมีขนาดค่อนข้างเล็ก แต่ 2024 PT5 ก็มีความโดดเด่นในทั้งสองแง่มุม (มีขนาดใหญ่กว่าทั่วไป และมีอายุยาวนานกว่าวงโคจรของเราเมื่อเทียบกับวัตถุท้องฟ้าอื่น ๆ) 

แต่การมีอยู่ของมันก็ทำให้เราสงสัยว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่โลกจะมีดวงจันทร์อีกดวงหนึ่ง (แบบจริง ๆ) และหากเป็นเช่นนั้นจริง สิ่งมีชีวิตบนโลกจะได้รับผลกระทบอย่างไร

อะไรทำให้ดวงจันทร์เป็น ‘ดวงจันทร์’?

ดาวเคราะห์น้อยเคลื่อนผ่านโลกของเราอย่างเงียบ ๆ ตลอดเวลา ส่วนใหญ่เป็นวัตถุขนาดเล็กเข้าและออกจากพื้นที่ของเราโดยไม่ได้รับความสนใจมากนัก ส่วนวัตถุขนาดใหญ่ก็จะพุ่งเฉียดเข้ามาเพียงครั้งเดียวในรอบไม่กี่ล้านปี

เช่นเดียวกับวัถตุท้องฟ้าส่วนใหญ่อื่น ๆ ในระบบสุริยะ ดาวเคราะห์น้อยถูกขับเคลื่อนผ่านอวกาศด้วยแรงโน้มถ่วงของดวงอาทิตย์ นักวิทยาศาสตร์พยายามอย่างมากเพื่อตรวจจับและติดตามเส้นทางที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ทั้งนี้เพื่อประเมินภัยคุกคามและศึกษาคุณสมบัติของมัน

แม้ว่า 2024 PT5 จะมีขนาดเล็ก แต่ก็ไม่ได้เป็นเหตุผลที่จะไม่ถือเป็นดวงจันทร์ ซึ่งไม่ว่าดาวเคราะห์น้อยจะมีมวล องค์ประกอบ หรือรูปร่างอย่างไร การจะประกาศให้มันเป็นดวงจันทร์ได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับว่ามันเริ่มโคจรรอบวัตถุอื่นหรือไม่

ตัวอย่างเช่น ดวงจันทร์ของเราโคจรรอบโลกเป็นวงรี ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 เดือนในการโคจร 1 รอบ แรงโน้มถ่วงของดวงจันทร์จะดึงดูดโลก ทำให้มวลของโลกเปลี่ยนแปลงและบิดเบือนรูปร่างจนดูเหมือนลูกฟุตบอลเล็กน้อย 

กระบวนการนี้ส่งผลต่อการก่อตัวของกระแสน้ำขึ้นน้ำลง และมีผลอย่างมากต่อการดำรงชีวิตบนพื้นดิน เช่น การดำรงชีวิตในระบบนิเวศทางทะเลและกิจกรรมการสืบพันธุ์ของสัตว์ทะเลหลายชนิด นอกจากนี้ก็ยังส่งผลต่อมนุษย์ในด้านการคาดการณ์กระแสน้ำเพื่อการเดินทางและการค้าทางทะเลอีกด้วย

“สิ่งมีชีวิตแทบทุกชนิดได้รับผลกระทบจากวัฎจักรของดวงจันทร์ในทางใดทางหนึ่งหรือในทางที่รุนแรง” สแตทเลอร์ กล่าว “ดังนนั้นเราจึงถูกจำกัดให้ต้องพึ่งพาการมีอยู่ของดวงจันทร์ของเราเองในระดับที่สำคัญ” 

ในทางตรงกันข้าม 2024 PT5 จะไม่คงอยู่นานที่จะส่งผลกระทบได้มากขนาดนั้น

“มีดวงจันทร์ขนาดเล็กที่โคจรเร็วกว่ามินิมูดวงนี้มาก (2024 PT5) และจะมีอีกในอนาคต” สแตทเลอร์ เสริม แต่โชคดีที่นักวิทยาศาสตร์สามารถตรวจจับวัตถุขนาดเล็กเหล่านี้ได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ในปี 2016 นักวิจัยค้นพบ ‘ดวงจันทร์เสมือน’ ดวงหนึ่งที่เรียกว่า ‘Kamo‘oalewa’ ซึ่งคาดว่าจะโคจรรอบโลกไปอีกประมาณ 300 ปีข้างหน้า

Kamo‘oalewa นั้นเป็นชื่อที่มาจากคำว่า ‘เศษที่แกว่งไปมา’ ในภาษาฮาวาย มันมีขนาดใกล้เคียงกับชิงช้าสวรรค์ โดยมีวงโคจรรูปวงรีซึ่งดูเหมือนจะเคลื่อนที่ไปร้อมกับโลก อย่างไรก็ตามจริง ๆ แล้วมันโคจรอยู่นอกอิทธิพลของแรงโน้มถ่วงของโลก ทำให้ผู้มาเยือนรายนี้ไม่ถือเป็นดวงจันทร์ขนาดเล็กอย่างแท้จริง

ในเดือนมิถุนายน นาซา ยังติดตามการโคจรของดาวเคราะห์น้อย 2011 UL21 และค้นพบว่ามันเป็นระบบดาวคู่ โดยในที่นี้ก็คือเป็นดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็กกว่าที่เรียกว่า ‘มูนเล็ท’ (Moonlet) โคจรรอบกันในระยะทางประมาณ 2 ไมล์ (3.2 กิโลเมตร) 

การตรวจะบดวงจันทร์ที่แม่นย้ำดังกล่าวถือเป็นก้าวกระโดดครั้งใหญ่จากปี 1991 VG ซึ่งเป็นดวงจันทร์ขนาดเล็กดวงแรกที่ตรวจพบ กลายเป็นเรื่องราวโด่งดังขึ้นมาเนื่องจากผุ้คนถกเถียงกันว่าดวงจันทร์นี้เป็นวัตถุธรรมชาติหรือมีต้นกำเนิดมาจากนอกโลกกันแน่

ความสำคัญที่แท้จริงของ 2024 PT5 และการวิจัยดาวเคราะห์น้อย

แม้ว่าระบบโลก-ดวงจันทร์จะไม่ใช่คนแปลกหน้าสำหรับแขกอวกาศที่มีอายุสั้น (และต่อนข้างเงียบขรึม) แต่ผู้เชี่ยวชาญสามารถพูดได้อย่างมั่นใจว่าเราจะไม่ได้รับวัตถุที่มีขนาดใหญ่หรือมีความสำคัญมากเท่ากับดวงจันทร์ของเราในอีกเร็ว ๆ นี้ 

วัตถุขนาดเล็กเหล่านี้ได้โคจรในบริเวณใกล้เคียงเรามานานหลายพันล้านปี และเราก็ไม่เคยสังเกตเห็นจริง ๆ เลยเพราะมันไม่ได้สร้างเลวร้ายอะไรให้เกิดขึ้น 

“นั่นเป็นข้อบ่งชี้ที่ดีว่านี่ไม่ใช่เรื่องสำคัญในแง่ของการส่งผลกระทบต่อชีวิตบนโลก” สแตทเลอร์บอก 

แต่หากมันอยู่ในรูปแบบที่มั่นคง การมีดวงจันทร์สองดวงที่มีขนาดใกล้เคียงกันก็จะเปลี่ยนกระแสน้ำในมหาสมุทรไปโดยสิ้นเชิง รวมถึงอาจเปลี่ยนแปลงสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์รู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ดาราศาสตร์ รวมถึงเกี่ยวกับวิธีการก่อตัวของดวงจันทร์เหล่านั้น 

กระนั้นสิ่งนี้ก็แทบจะไม่มีทางเกิดขึ้นในเร็ว ๆ อย่างแน่นอน ซึ่งหลายพันล้านปีที่ผ่านมาเป็นข้อบ่งชี้ที่ชัดเจน แต่แล้วทำไม 2024 PT5 กลับได้รับความสนใจมากขนาดนี้?

แอนดรูว์ ริฟกิน (Andrew Rivkin) นักดาราศาสตร์ดาวเคราะห์จากห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ประยุกต์ของมหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ กล่าวว่า อาจเป็นเพราะการปรากฏตัวของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้เป็นครั้งแรก ๆ ที่นักวิทยาศาสตร์สามารถคาดการณ์การปรากฏตัวของมันได้ล่วงหน้า

“นี่เป็นการแสดงให้เห็นถึงความสามารถของเราในการค้นหาสิ่งต่าง ๆ และทำนายได้ว่าสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นจะไปทางไหนต่อ” เขากล่าว

ริฟกิน ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมสืบสวนในภารกิจ ‘DART’ (Double Asteroid Redirection Test) ล่าสุดของ นาซา ซึ่งเป็นการทดลองเพื่อสาธิตเทคโนโลยีการเบี่ยงเบนดาวเคราะห์น้อย และเป็นส่วนหนึ่งของความทะเยอทะยานในการป้องกันดาวเคราะห์ของมนุษย์ชาติ 

ภารกิจดังกล่าวแสดงให้เห็นเป็นครั้งแรกว่าสิ่งที่ประดิษฐ์โดยมนุษย์ สามารถเปลี่ยนแปลงตำแหน่งวัตถุบนท้องฟ้าในจักรวาลได้ 

ณ วันนี้ วัตถุใกล้โลกขนาดใหญ่ดวงต่อไปที่จะโคจรมาขวางทางเราก็คือ ‘อาโปฟิส’ (Apophis) มันเป็นดาวเคราะห์น้อยที่มีความกว้าง 305 เมตร โดยคาดว่าจะโคจรผ่านโลกอย่างปลอดภัยในเดือนเมษายนปี 2029 และมีโอกาสน้อยมากที่ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้จะถูกจับไว้ในวงโคจรของเรา เนื่องจากมันจะบินผ่านโลกเร็วเกินไป แต่การเข้ามาใกล้โลกมากที่สุดถึง 10 เท่า ก็จะทำให้เรามองเห็นด้วยตาเปล่า

แม้ว่าการมาเยือนของ อาโปฟิส อาจทำให้รู้สึกหวาดผวามากกว่า 2024 PT5 แต่การมาเยือนครั้งนี้จะเป็นประสบการณ์ที่น่าตื่นตาตื่นใจสำหรับนักล่าดาวเคราะห์น้อยรุ่นใหม่

“(ดาวเคราะห์น้อย) ไม่ใช่แค่สิ่งที่ต้องกลัวเท่านั้น” ริฟกิน กล่าวและว่า “ท้องฟ้าเต็มไปด้วยสิ่งที่ยิ่งใหญ่และสิ่งมหัศจรรย์มากมาย” 

สืบค้นและเรียบเรียงข้อมูล : วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ภาพ : NASA

ที่มา

https://www.nationalgeographic.com/science/article/second-mini-moon-asteroid


อ่านเพิ่มเติม : SPACE JOURNEY BANGKOK ผจญภัยอวกาศกับนิทรรศการระดับโลก ครั้งแรกในเอเชีย

Recommend