“ลองจินตนาการถึงโลกเมื่อ 130 ล้านปีก่อน ณ ดินแดนที่ปัจจุบันเราเรียกว่าประเทศไทย”
ทุ่งหญ้ากว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตาที่ถูกปกคลุมด้วยหมอกบางยามเช้า เสียงคำรามทุ้มต่ำดังก้องมาแต่ไกล ก่อนจะเผยให้เห็นเงาขนาดมหึมาของไดโนเสาร์คอยาว ที่กำลังกินยอดไม้อย่างเชื่องช้า ขณะที่อีกฝากหนึ่งไกลออกไป ฝูงไดโนเสาร์กินเนื้อกำลังไล่เหยื่ออย่างว่องไว ภาพเหล่านี้อาจดูเหมือนฉากในภาพยนตร์ แต่นี่คือความจริงที่เคยเกิดขึ้นบนผืนแผ่นดินประเทศไทย
วันนี้ เราก้าวเข้าสู่การผจญภัยทางวิทยาศาสตร์ที่น่าตื่นเต้นที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ การค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์ที่ซ่อนอยู่ใต้ผืนดินประเทศไทยมาเนิ่นนาน กำลังเปิดเผยความลับยุคดึกดำบรรพ ทีละชิ้น ทีละชิ้น ราวกับจิ๊กซอว์ เพียงแต่มันขนาดใหญ่และมีอายุนับล้านปีเท่านั้นเอง
จากทุ่งหญ้าที่แห้งแล้งของภาคอีสาน สู่ห้องปฏิบัติการแสนทันสมัย ดร.สุรเวช สุธีธร ทายาทผู้เดินตามรอยเส้นทางบรรพชีวินวิทยาจาก ดร.วราวุธ สุธีธร นักบรรพชีวินวิทยา ผู้บุกเบิกเรื่องราวของไดโนเสาร์ในประเทศไทย กำลังปะติดปะต่อเรื่องราวของสิ่งมีชีวิตที่ครองโลกมาก่อนมนุษย์ การค้นพบแต่ละครั้งไม่เพียงแต่เผยให้เห็นถึงความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในอดีต แต่ยังเป็นกุญแจสำคัญในการไขปริศนาเกี่ยวกับวิวัฒนาการของเจ้ายักษ์ใหญ่ และทำความเข้าใจว่าทำไมการศึกษาสิ่งมีชีวิตที่สูญพันธุ์ไปนานแล้วสำคัญยิ่งต่อการเข้าใจโลกของเราในปัจจุบัน
ความลับใต้ผืนดินอีสาน
ราว 251-65 ล้านปีก่อน ที่แผ่นเปลือกโลกยังต่อกันเป็นผืนเดียว ภาคอีสานในมหายุคมีโซโซอิก มีสภาพเหมือน ‘บ้าน’ ขนาดยักษ์ของเหล่าสัตว์ดึกดำบรรพ ด้วยป่าขนาดใหญ่ ทะเลสาบและพื้นที่ชุ่มน้ำ ที่นี่เป็นสวรรค์ของไดโนเสาร์นานาชนิด ตั้งแต่พวกคอยาวไปจนถึงนักล่าที่น่าเกรงขาม พวกมันใช้เวลาในทุกช่วงชีวิตของพวกมัน กิน นอน และตายลงที่นี่
แต่ทำไมต้องเป็นภาคอีสาน? ไม่ใช่ภาคเหนือหรือภาคอื่น ดร.สุรเวช สุธีธร หัวหน้าหน่วยวิจัยไดโนเสาร์ รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยามหาวิทยาลัยมหาสารคาม หนึ่งในทีมนักบรรพชีวินวิทยาที่กลับมาคว้าเรื่องราวของไดโนเสาร์ภูเวียงอีกครั้งในรอบ 30 ปี เล่าให้เราฟังว่า ในขณะที่ภาคอีสานเป็นบ้านแสนสุขของเหล่าไดโนเสาร์ ภูมิภาคอื่น ๆ กลับไม่เป็นมิตรกับพวกมันเท่าไหร่นัก (ภาคกลางและภาคใต้ส่วนใหญ่จมอยู่ใต้ทะเล) และการมีไดโนเสาร์อยู่ที่นี่เพียงอย่างเดียวก็คงไม่พอ เพราะธรรมชาติต้องเตรียม ‘ตู้เซฟ’ ขนาดมหึมาไว้เก็บรักษาซากของพวกมันไว้ให้เราศึกษาด้วย ‘ตู้เซฟ’ ที่ว่าคือชั้นหินตะกอน ที่ทับถมกันเป็นระยะเวลานาน ซึ่งมีคุณสมบัติในการเก็บรักษาซากสิ่งมีชีวิตให้กลายเป็นฟอสซิลได้เป็นอย่างดี
ยิ่งไปกว่านั้น กระบวนการทางธรณีวิทยาที่เกิดขึ้นในพื้นที่นี้ ก็มีส่วนช่วยให้นักบรรพชีวินวิทยา เข้าใกล้ความลับของฟอสซิลได้ง่ายกว่าภูมิภาคอื่น ในขณะที่ภาคเหนือและภาคตะวันตกตั้งอยู่บนรอยเลื่อนที่สั่นสะเทือนอย่างรุนแรง จนทำให้ร่องรอยของไดโนเสาร์ถูกทำลายหรือฝังลึกเกินกว่าจะค้นพบ แม่น้ำและลำธารในภาคอีสานกลับช่วยเซาะหินออกทีละชั้น ๆ จนเผยให้เห็นชั้นหินที่มีอายุย้อนไปถึงยุคไดโนเสาร์ และถ้าโชคดีชั้นหินเหล่านี้ก็อาจมีฟอสซิลโผล่พ้นผิวดินติดมาด้วย
ฟอสซิลกุญแจไขปริศนาโลกล้านปี
“การกลายเป็นฟอสซิลไม่ใช่เรื่องง่าย มันยากพอ ๆ กับการถูกล็อตเตอรี่”
เพราะมีสิ่งมีชีวิตเพียงแค่ 1 ใน 10 ของจำนวนสิ่งมีชีวิต 1 % ในโลกใบนี้เท่านั้น ที่จะมีโอกาสได้กลายเป็นฟอสซิลเมื่อมันหมดอายุขัย ในกระบวนการเกิดซากดึกดำบรรพ์ (Fossilization) นั้น ร่างของสิ่งมีชีวิตจะต้องถูกเก็บรักษาไว้ โดยไม่ถูกย่อยสลายภายในระยะเวลาอันสั้น ดังนั้นซากของมันต้องถูกปกคลุมด้วยเศษหิน ดินตะกอน ลาวาหรือแม้แต่น้ำมันดิน (Tar) อย่างรวดเร็วและนานพอ (อย่างน้อยก็หลายหมื่นปี) ที่จะให้แร่ธาตุในตะกอนเหล่านั้นแทรกซึมเข้าไปในเนื้อและกระดูก ตกผลึกเป็นโครงสร้างที่แข็งแรงขึ้น และกลายเป็นฟอสซิลในที่สุด
“การค้นพบฟอสซิลในประเทศไทย เริ่มต้นโดยบังเอิญในยุคของคุณพ่อผม (ดร.วราวุธ สุธีธร) ราวปี พ.ศ.2519 ตอนนั้นคณะนักธรณีวิทยากำลังสำรวจหาแร่ยูเรเนียม ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูเวียง บริเวณห้วยประตูตีหมา แต่กลับพบก้อนหินขนาดใหญ่ที่มันวาวต่างจากหินทั่วไป เมื่อนำกลับมาตรวจสอบ ก็พบว่าเป็นกระดูกของต้นขาของไดโนเสาร์ กินพืชขนาดใหญ่ เดิน 4 ขา คอยาว หางยาว หลังจากนั้นอีก 2 ปี ทีมของคุณพ่อและคุณนเรศ สัตยารักษ์ ก็ลงพื้นที่และค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์จำนวนมากกระจายอยู่ทั่วบริเวณอุทยานแห่งชาติภูเวียง”
ถึงตอนนี้ก็เป็นเวลากว่า 40 ปีแล้ว ที่การขุดค้นที่ภูเวียงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องตั้งแต่การค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์ชิ้นแรก โดยทีมนักวิจัยทั้งไทยและต่างประเทศ การค้นพบที่สำคัญที่สุดที่ภูเวียง คือการพบตัวอย่างฟอสซิลของไดโนเสาร์ซอโรพอดชนิดใหม่ของโลก ในปี พ.ศ. 2525 ซึ่งภายหลังได้ขอพระราชทานนามจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพพระรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ว่า ‘ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน่’ (Phuwiangosaurus sirindhornae)
ขั้นตอนในการขุดฟอสซิล
“การขุดค้นฟอสซิลไม่ใช่แค่การขุดดินธรรมดา แต่เป็นศาสตร์และศิลป์ที่ต้องใช้ทั้งความรู้ ความอดทน และจินตนาการควบคู่ไปด้วยกัน”
การขุดค้นฟอสซิลนั้น เริ่มต้นด้วย ‘การสำรวจภาคสนาม’ นักบรรพชีวินวิทยาจะใช้สายตาอันเฉียบคม มองหาร่องรอยเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่อาจเป็นเศษชิ้นส่วนของฟอสซิล เพื่อเป็นใบเบิกทางสู้การค้นพบครั้งยิ่งใหญ่ เมื่อพบจุดที่น่าสนใจ ทีมขุดค้นจะเริ่ม ‘การขุดสำรวจ’ ไปตามแนวการวางตัวของฟอสซิลที่คาดคะเนไว้ด้วยความระมัดระวัง พวกเขาใช้เครื่องมือหลากหลาย ตั้งแต่เครื่องจักรขนาดใหญ่ ไปจนถึงแปรงขนอ่อนที่ใช้ปัดฝุ่นออกจากซากฟอสซิล
แก๊ก! แก๊ก! เสียงค้อนทุบสิ่วกระทบหินดังระงมในหลุมขุดค้นที่ 3 (ห้วยประตูตีหมา) แต่ละครั้งที่ค้อนฟาดลงไป อาจารย์ (นักบรรพชีวิน) ทุกท่านจะต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะหากลงแรงมากไปก็อาจทำลายฟอสซิลที่รอการค้นพบมานานนับล้านปีให้แตกเป็นเสี่ยง ๆ ได้
ยิ่งเข้าใกล้ฟอสซิลมากเท่าไหร่ การทำงานจะยิ่งต้องรอบครอบขึ้นมากเท่านั้น เมื่อชิ้นกระดูกโผล่ออกมา พวกเขาจะเปลี่ยนจากสิ่วและค้อน มาเป็นปากกาแกะสลักลม ที่คล้ายเครื่องกรอฟันของทันตแพทย์ ในขั้นตอนนี้ นักบรรพชีวินวิทยาจะค่อย ๆ สกัดหินที่ติดอยู่บนผิวกระดูกออกทีละน้อย ๆ อย่างระมัดระวัง ในขณะเดียวกันก็ทยอยหยอดกาวร้อน เพื่อประสานรอยร้าวไม่ให้ฟอสซิลไม่แตกออกจากกัน หลังจากนั้น พวกเขาจะหุ้มฟอสซิลด้วยผ้าชุบปูนปลาสเตอร์ เหมือนเวลาที่หมอหุ้มเฝือกแข็งเอาไว้รอบ ๆ กระดูกที่หัก เพื่อยึดกระดูกเข้าด้วยกัน และเพื่อปกป้องมันในขณะที่นำฟอสซิลออกจากแหล่งขุดและขนกลับมาที่ห้องแล็บ เพื่อสกัดเอาแต่ตัวฟอสซิลออกมาให้อยู่ในสภาพที่ดีที่สุด
เทคโนโลยีที่ใช้ในวงการบรรพชีวิน
เมื่อถึงห้องปฏิบัติการ ฟอสซิลจะถูกทำความสะอาดอย่างระมัดระวังเพื่อขจัดเศษหินและดินที่ติดมาด้วยปากกาแกะสลักลมจนสะอาดเอี่ยมอีกครั้ง เมื่อได้กระดูกที่สะอาดปราศจากเศษดินและหินแล้ว นักบรรพชีวินวิทยาก็จะศึกษารูปร่างและโครงสร้างของฟอสซิลอย่างละเอียด ในขั้นตอนนี้จะมีเทคนิคต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย เช่นการวิเคราะห์ไอโซโทปเพื่อคำนวนหาอายุของฟอสซิล การวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีเพื่อศึกษาสภาพแวดล้อมในยุคไดโนเสาร์ การเอ็กซเรย์ด้วยคอมพิวเตอร์โทโมกราฟี (CT Scan) เพื่อศึกษาโครงสร้างภายในของฟอสซิล ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้เราสามารถเข้าใจภาพรวมของสิ่งมีชีวิตและสภาพแวดล้อมในอดีตได้อย่างละเอียด
หลังจากนั้นนักบรรพชีวินวิทยาก็จะนำฟอสซิลที่ได้มาจำแนกเพื่อระบุสายพันธุ์ ในขั้นตอนนี้พวกเขาจะต้องเปรียบเทียบฟอสซิลกับตัวอย่างที่รู้จักแล้ว เพื่อระบุว่าฟอสซิลนั้นเป็นสายพันธุ์ที่มีอยู่แล้วหรือเป็นสายพันธุ์ใหม่ ในกรณีที่เป็นสายพันธุ์ใหม่ ก็จะมีการตั้งชื่อและจัดหมวดหมู่ตามหลักอนุกรมวิธานซึ่งต้องอาศัยความรู้และประสบการณ์อย่างมากในการตัดสินใจ
“เมื่อก่อนเราจะตรวจสอบกระดูกชิ้นหนึ่ง ถ้าไม่เปรียบเทียบกับชาร์จกระดาษที่เราพรินท์มา ก็ต้องบินไปถึงฝรั่งเศส ถึงอังกฤษ เพราะฉะนั้นกว่าจะจำแนกฟอสซิลได้หนึ่งชิ้นว่าเป็นพันธุ์อะไร ก็ใช้เวลาเป็นปี แต่ปัจุบันเรามีการนำเทคโนโลยีการสแกน 3 มิติ เพื่อสร้างแบบจำลองดิจิทัล และจัดเก็บข้อมูลด้วยคอมพิวเตอร์ เผื่อให้นักบรรพชีวินสามารถเปรียบเทียบตัวอย่างจากทั่วโลกได้ง่ายขึ้น”
“ตอนนี้เทคโนโลยีในวงการบรรพชีวินไปไกลมาก ไกลขนาดที่ว่าจีนสามารถระบุสีไดโนเสาร์ได้จากเมลาโนโซม ที่พบในฟอสซิลเส้นขน หลายประเทศใช้โดรนบินสำรวจหาพื้นที่ โดยไม่ต้องเดินเท้าเข้าไปสำรวจเอง และรู้ถึงขนาดที่ว่าไดโนเสาร์บางตัวเป็นมะเร็งกระดูกตาย มีการใช้ AI มาช่วยคำนวนเรื่องการวางตัวของกระดูก ทำให้นักบรรพชีวินรู้ว่าเราต้องลงมือขุดมากน้อยแค่ไหน”
แม้ว่าการศึกษาฟอสซิลไดโนเสาร์ในทั่วโลกจะก้าวหน้าไปอย่างมากในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา แต่นักบรรพชีวินวิทยาไทยยังคงเผชิญกับความท้าทายในการไขปริศนาแห่งอดีตกาลที่เทคโนโลยียังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ หลายครั้งที่ฟอสซิลที่พบอยู่ในสภาพที่ไม่สมบูรณ์ บางครั้งก็เหลือเพียงชิ้นส่วนเล็ก ๆ ทำให้การระบุสายพันธุ์หรือการศึกษากายวิภาคของไดโนเสาร์ไทยเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่ง
“ตลอด 40 กว่าปีที่ผ่านมา เราคิดว่าฟอสซิลไดโนเสาร์ชิ้นแรกที่เราพบในไทย เป็นกระดูกต้นขาของภูเวียงโกซอรัส แต่ความจริงแล้วเราตอบไม่ได้ด้วยซ้ำ ว่ามันเป็นกระดูกของไดโนเสาร์พันธุ์อะไร เพราะว่ามันเสียหายไปเยอะมาก จนคำนวนหรือเปรียบเทียบกับตัวอย่างกระดูกที่มีไม่ได้เลย ผมคิดว่าถ้าในอนาคตเราไม่เจอกระดูกต้นขาของไดโนเสาร์ ที่คาดว่าจะจะเป็นชนิดเดียวกันในสภาพสมบูรณ์ หรือชิ้นกระดูกที่รูปร่างและขนาดเหมือนกันให้พอเปรียบเทียบได้บ้าง กระดูกชิ้นนี้ก็จะเป็นปริศนาต่อไป”
ความท้าทายไม่รู้จบ
แม้เราจะมีเทคโนโลยีมากมายที่เข้ามาช่วยทุ่นแรงในทุกขั้นตอน แต่สิ่งที่ยากที่สุดคือเราไม่สามารถเอาชนะพลังของธรรมชาติได้ บางครั้งการขุดค้นต้องใช้เวลานานนับเดือนหรือเป็นปี ภายใต้สภาพอากาศที่โหดร้าย ทั้งความร้อนจากไอแดดและฝนที่ตกหนัก
“ยิ่งช่วงหน้าฝนยิ่งลำบาก ถ้าเป็นพื้นที่เปิดโล่งเราต้องทำทางระบายน้ำ หาผ้าใบมาคลุมไว้ แล้ว กลับมาขุดอีกทีหลังหน้าฝน แต่โชคดีหน่อยที่หลุม 3 ทางอุทยานได้สร้างอาคารถาวรมาครอบไซต์ขุดเอาไว้แล้ว เราเลยไม่ค่อยกังวลว่าฟอสซิลจะเสียหายจากน้ำฝน จะมีก็แค่ น้ำขังในไซต์ที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน”
นอกจากเรื่องฟ้าฝนแล้ว เรื่องหินและดินก็เป็นปัญหา บางครั้งฟอสซิลถูกฝังอยู่ในชั้นหินที่อ่อนร่วน ซึ่งเกิดจากตะกอนทรายและโคลนประสานเนื้อกันไม่ละเอียด จึงไม่เกิดกระบวนการเกิดซากดึกดำบรรพ์ที่กลายเป็นหินแข็งอย่างที่ควรจะเป็น ฟอสซิลเหล่านี้จึงมีความบอบมากมาก ถ้าหยิบจับอย่างไม่ระวังก็อาจสลายกลายเป็นเศษผงได้ทันที
“ฟอสซิลที่อยู่ในชั้นหินแบบนั้นถือเป็นฟอสซิลที่ขุดขึ้นมาง่าย กระดูกที่บอบบางเราแก้ปัญหาด้วยการใช้กาวร้อนหยอดเพื่อให้มันแข็งแรงได้ แต่ฟอสซิลในบางไซต์ ที่ถูกฝังอยู่ในชั้นหินที่มีตะกอนทับถมอัดแน่นเกินไป แบบนั้นขุดขึ้นมาศึกษายากกว่า โดยเฉพาะหลุม 3 ซึ่งอยู่ในหมวดหินเสาขัว ที่ทั้งผมและคุณพ่อยกให้เป็นหลุมที่ขุดยากที่สุดเท่าที่้เคยขุดมา”
“หลังจากกลับมาขุดที่หลุม 3 อีกครั้งในรอบ 30 ปี ผ่านไป 6 เดือน เราขุดได้แค่ 30% จากที่ตั้งใจไว้ ผิดกับแหล่งขุดค้นอื่น ที่อื่นเราขุดแค่หนึ่งชั่วโมง ก็เอาขึ้นมาได้เป็นสิบชิ้น ที่นี่เราต้องใช้เครื่องมือหนักทั้ง jackhammer และสว่าน พอเราใช้เครื่องมือเล็กอย่างสิ่ว ก็ทำได้แค่สกัดให้หินหลุดออกเป็นแผ่นบาง ๆ”
ฟอสซิลรหัส PW3-1 (PW=ภูเวียง 3=หลุมขุดค้นที่ 3) คือหลักฐานชิ้นสำคัญที่ยังเหลืออยู่ เพื่อยืนยันคำกล่าวอ้างของอาจารย์ทั้งสอง กระดูกชิ้นนี้ คือหนึ่งในฟอสซิลที่ถูกสายน้ำพัดพามาทับถมกันบริเวณนี้เมื่อ 130 ล้านปีก่อน และเป็นกระดูกชิ้นแรก ๆ ที่ดร.วราวุธ เห็นว่าโผล่พ้นผิวดินตอนมาสำรวจที่หลุมขุดค้นนี้ครั้งแรกเมื่อพ.ศ. 2532
“เราตั้งใจทิ้งมันไว้อย่างนั้น ไม่เชิงว่าเราเอาขึ้นมาไม่ได้ แต่เพราะเราขุดจนเห็นรูปทรงและพอรูัแล้วว่ามันเป็นกระดูกสันหลังของไดโนเสาร์ตระกูลซอโรพอด กระดูกของไดโนเสาร์ซอโรพอดเป็นกระดูกที่บอบบาง เพราะมีโพรงอากาศอยู่ในกระดูก ถ้าเรารีบใช้เครื่องมือหนักขุดเอามันขึ้นมา สิ่งที่แตกคงไม่ใช่หินแต่จะเป็นกระดูกชิ้นนี้แทน”
ความเป็นไปได้ที่จะเป็นไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่
“ตอนแรกเราก็คิดว่า PW3-1 เป็นกระดูกสันหลังของ ‘ภูเวียงโกซอรัส’ เหมือนที่เราเจอที่หลุมอื่น ในภูเวียง แต่ผมเอะใจหลังจากไปดูอีกครั้งเมื่อ 2-3 ปีก่อน คุณสุธรรม วงษ์จันทร์ หัวหน้าอุทยานภูเวียงคนปัจจุบัน เลยหาทุนให้ได้กลับมาขุดที่นี่อีกครั้ง พอเราเริ่มขุดลงลึกขึ้น ก็เห็นรายละเอียดมากขึ้น อาจารย์ทุกท่านเห็นตรงกันว่ามันไม่น่าจะใช่กระดูกของภูเวียงโกซอรัส แต่น่าจะเป็นกระดูกของไดโนเสาร์ที่ยังไม่เคยพบในไทยและมีขนาดใหญ่มากกว่า”
นอกจากขนาดของ PW3-1 ที่มีส่วนของปีกกระดูสันหลังยาวกว่า 1 เมตรแล้ว หลักฐานที่ทีมนักบรรพชีวินวิทยาขุดค้นเจอหลังจากหวนกลับมาขุดที่ภูเวียงอีกครั้ง ในรอบ 30 ปี ยังประกอบไปด้วยกระดูกส่วนต้นคอที่ต่อกับกระดูกสันหลัง และกระดูกซี่โครงขนาดใหญ่ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ดร.สุรเวช ในฐานะผู้เชี่ยวชาญไดโนเสาร์ซอโรพอด เพียงคนเดียวในอาเซียน และผู้เชี่ยวชาญได้โนเสาร์ 1 ใน 4 คนของประเทศไทย ยืนยันอย่างมั่นใจว่า กระดูกเหล่านี้น่าจะเป็นกระดูกของไดโนเสาร์กลุ่มแบรคิโอซอรัส ได้โนเสาร์คอยาว ที่เจอในยุโรปและอเมริกา
“ภูเวียงโกซอรัสที่เราเคยเจอว่าใหญ่แล้ว แต่พอเอากระดูกของภูเวียงโกซอรัสตัวเต็มวัยไปวางเทียบ เจ้าภูเวียงดูตัวเล็กกว่าตัวใหม่มาก จากที่ผมคะเนตัวใหม่อาจจะมีความยาวได้มากถึง 15-20 เมตร ถือว่าเป็นไดโนเสาร์ที่ใหญ่มาก แต่ก็คงไม่ใหญ่ไปกว่าอาเจนติโนซอรัส ส่วนจะเป็นไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ของโลกหรือไม่ ต้องรอลุ้นกันต่อไปครับ”
เรื่อง : อรณิชา เปลี่ยนภักดี
ภาพ : กรานต์ชนก บุญบำรุง
อ่านเพิ่มเติม : ไดโนเสาร์ล้านปี ขุดหาชั่วชีวิต – การหวน ขุดไดโนเสาร์ “ภูเวียง” รอบ 30 ปี