ปี 2025 ปีแรกของ ‘Gen Beta’
“คน Gen Z ทำงานไม่อดทน” สื่อปัจจุบันกล่าว, “ส่วนคน Gen Baby Boomer ก็หัวโบราณ” ประโยคเหล่านี้เรามักจะได้ยินกันบ่อยครั้งเกี่ยวกับเรื่องการแบ่ง ‘รุ่นคน’ ซึ่งทำให้ใครหลายคนอาจเกิดความสงสัยได้ว่าแล้ว ‘Gen’ หรือ Generation เหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไรและผู้แบ่งใช้เกณฑ์อะไรเป็นตัวกำหนดขอบเขต
ตามรายงานจาก ‘Pew Research Center’ ซึ่งเป็นองค์กรสำรวจความคิดเห็นของสาธารณชน วิเคราะห์ข้อมูล และทำการวิจัยทางสังคมในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสังคม อเมริกาและโลก รวมถึงประชากรมนุษย์ ระบุว่า อายุนั้นปัจจัยแรกสุดในการแบ่งผู้คนแต่ละรุ่นออกจากกัน ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่ชัดเจนที่สุด
“อายุของบุคคลเป็นตัวทำนายความแตกต่างในทัศนคติและพฤติกรรมที่พบได้บ่อยที่สุดตัวหนึ่งในประเด็นต่าง ๆ ตั้งแต่กิจการระหว่างประเทศไปจนถึงนโยบายสังคม ความแตกต่างตามอายุอาจเป็นตัวกำหนดที่ดีที่สุด และให้ความกระจ่างมากที่สุด ซึ่งบ่งบอกถึงลักษณะสำคัญ 2 ประการเกี่ยวกับบุคคลคือ ตำแหน่งของพวกเขาในวงจรชีวิตและการเป็นสมาชิกของกลุ่มบุคคลที่เกิดในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกัน” แถลงการณ์จาก Pew Research Center ระบุ
ด้วยอายุที่ทุกคนรู้กันอยู่แล้วว่าตนเองอายุเท่าไหร่รวมถึงคนรอบข้างอายุเท่าไหร่ ทำให้ข้อมูลด้านตัวเลขนี้กลายเป็นเครื่องมือให้นักวิทยาศาสตร์ที่ทำการวิจัยนำไปวิเคราะห์ได้เป็นจำนวนมาก ทั้งในด้านทัศนคติ พฤติกรรม ความคิดเห็น หรือแม้แต่ปัญหาที่พวกเขาเผชิญในแต่ละช่วงวัย
แม้หลายคนจะไม่ได้เป็นไปตามสิ่งที่คนส่วนใหญ่ในอายุไล่เลี่ยกันทำ แต่ก็เป็นภาพกว้าง ๆ ที่ทำให้เข้าใจได้อย่างรวดเร็วว่าแต่ละช่วงอายุมีพฤติกรรมอย่างไรในแบบง่าย ๆ รวมไปถึงอนาคตของคนรุ่นเบตาและสิ่งที่เด็ก ๆ จะต้องเผชิญ
แนวทางการกำหนดรุ่น
ทาง Pew Research Center ระบุว่าแนวทางกำหนดเกณฑ์ของแต่ละรุ่นนั้นมาจากปัจจัยต่าง ๆ ที่ไม่เหมือนกัน เนื่องจากแต่ละกลุ่มนั้นเติบโตมาไม่เหมือนกันเลยซึ่งเกิดจากปัจจัยสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา ไม่ว่าจะเป็นสภาพสังคม สภาพเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม การเข้าถึงการศึกษา รวมไปถึงนโยบายภาครัฐและสาธารณสุข
โดยเริ่มต้นจากรุ่นหรือ ‘Gen’ ที่มีชื่อว่า ‘เบบี้บูมเมอร์’ (Baby Boomer) ทางศูนย์วิจัยระบุว่าที่ต้องเริ่มต้นที่รุ่นนี้เนื่องจากเพิ่งเริ่มมีการเก็บข้อมูลประชากรกันอย่างจริงจังในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งช่วยให้สามารถนำไปวิเคราะห์ได้อย่างมีคุณภาพมากกว่าคนรุ่นก่อนหน้า
ทำให้คนเบบี้บูมเมอร์กลายเป็นสมาชิกรุ่นที่มีอายุมากที่สุด และมีการเจริญพันธุ์สูงตั้งแต่ปี 1946 ไม่นานหลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง จากนั้นการเจริญพันธุ์ก็เริ่มลดลงอย่างมีนัยสำคัญในปี 1964 ทำให้เป็นจุดสิ้นสุดการแบ่งรุ่นของเบบี้บูมเมอร์ โดยนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าน่าจะเป็นผลจากยาคุมกำเนิดที่เพิ่งออกสู่ตลาดเป็นครั้งแรก จากนั้นโลกก็เข้าสู่รุ่นเอ็กซ์ (X)
“เจเนอเรชันเอ็กซ์ หมายถึงผู้คนที่เกิดระหว่างปี 1965 ถึง 1980 ซึ่งคำเรียกมาแทนชื่อแรกที่ติดไว้กับเจเนอเรชันซึ่งก็คือ ‘Baby Bust’ โดยส่วนหนึ่งของเจเนอเรชันนี้ถูกกำหนดโดยอัตราการเกิดที่ค่อนข้างต่ำในช่วงปีดังกล่าวเมื่อเทียบกับเจเนอเรชัน ‘เบบี้บูมเมอร์’ ก่อนหน้าและเจเนอเรชัน ‘มิลเลนเนียน’ (Millennial) ที่ตามมา” Pew Research Center ระบุ
หลังจากโลกสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 และหยุดพักชั่วคราว มนุษย์ก็เริ่มกลับมาเจริญเติบโตอีกครั้งซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจโลกพุ่งทะยานอีกทั้งยังเป็นเจเนอเรชันแรกที่เติบโตขึ้นในสหัสวรรษใหม่ ทำให้คนที่เกิดหลังปี 1980 ได้ที่มาของชื่อรุ่นว่า ‘มิลเลเนียน’ หรือบางคนเรียกกันว่า ‘Gen Y’ ซึ่งเป็นอักษรต่อจากรุ่นเอ็กซ์ก่อนหน้า
โดยสรุปแล้ว นักวิทยาศาสตร์จะแบ่งรุ่นคนจากสภาพแวดล้อมต่าง ๆ เข้ากับข้อมูลประชากรที่กลุ่มคนเหล่านั้นมีชีวิตอยู่ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะคอยหล่อหลอมพฤติกรรมของพวกเขาให้แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ
คนรุ่นเบตากับ AI สิ่งแวดล้อม อนาคต และความคาดหวัง
โดยทั่วไปแล้วปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความแตกต่างระหว่างรุ่นอาจมีผลกระทบที่ซับซ้อนและทับซ้อนกันอย่างมาก แต่โดยรวมแล้วนักวิทยาศาสตร์มักจะคิดถึงผลกระทบ 3 ประการที่แยกจากกันคือ ผลกระทบจากวงจรชีวิต (บางครั้งแรกเรียกว่าผลกระทบจากอายุ) ผลกระทบจากช่วงเวลา และผลกระทบจากกลุ่มคนนั้น ๆ โดยผลกระทบที่ ‘รุ่นเบตา’ (Beta) ซึ่งเริ่มนับตั้งแต่ 1 มกราคม 2025 (พ.ศ. 2568) คือผลกระทบด้านช่วงเวลาที่ปัจจุบันเป็นยุคแห่ง ‘เอไอ’ และ ‘ปัญหาสิ่งแวดล้อม’
จากที่ มาร์ก แม็กครินเดิล (Mark McCrindle) นักประชากรศาสตร์และหนึ่งในทีมที่มีส่วนร่วมในการแบ่งประชากรระบุว่า ‘รุ่นเบตา’ นั้นเริ่มต้นในปี 2025 ถึง 2039 หลังจากการสิ้นสุดลงของ ‘รุ่นอัลฟา’ (Alpha) โดยภายในปี 2035 นั้นประชากรรุ่นเบตาน่าจะมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 19 ของกำลังแรงงานโลก
ดังนั้นเราจึงสามารถคิดได้ว่า หากเอไอเป็นอย่างไร คนรุ่นเบตาก็อาจเป็นเช่นนั้น แต่ในขณะเดียวกันเอไอในปัจจุบันก็ยังมีความไม่แน่นอนอยู่มากทั้งการให้ข้อมูลผิด ๆ และการให้คำปรึกษาที่ไม่เหมาะสม ซึ่งอาจชักจูงคนรุ่นเบตาได้มาก เนื่องจากผู้ใหญ่มีการปล่อยให้ ‘อยู่กับหน้าจอ’ นานขึ้น
กลับกันหากไม่นับเรื่องเอไอแล้ว คนรุ่นเบตาจะต้องเผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพอกาศ และการขยายตัวเมืองอย่างรวดเร็ว ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นบ่อยและรุ่นแรงขึ้น อันเป็นผลพวงมาจากภาวะโลกร้อน เด็กเจเนอเรชันเบตา ที่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ถึงศตวรรษหน้าจึงไม่อาจหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เกิดขึ้นเหล่านี้ได้ (หรืออาจจะรุนแรงกว่าที่เราเผชิญในปัจจุบัน)
อย่างไรก็ตามนักประชากรศาสตร์ก็เชื่อว่า เด็กรุ่นนี้จะเติบโตมาโดยไม่เพิกเฉยกับปัญหาเหล่านี้ เพราะเด็กรุ่นนี้จะได้รับการเลี้ยงดูดจากพ่อแม่ที่เป็นคนรุ่นมิลเลนเนียลและรุ่นซี (Z) ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน สิ่งนี้จะหล่อหลอมให้เจเนอเรชันเบตาให้ความสนใจกับปัญหาระดับโลก เช่นการดูแลสิ่งแวดล้อม หรือการคิดค้นนวัตกรรมและการแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์
ตามข้อมูลของ Pew Research Cebter พบว่าคนรุ่นมิลเลนเนียลร้อยละ 71 และคนรุ่น Z ร้อยละ 67 เชื่อว่าปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศควรเป็นสิ่งสำคัญที่สุดเพื่อให้แน่ใจว่าโลกจะยั่งยืนในอนาคต ความคิดเหล่านี้อาจส่งต่อไปยังเจเนอเรชันเบตา ทำให้ในอนาคตพวกเขาจะเป็นกลุ่มที่ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมโลกอย่างจริงจัง และมุ่งมั่นที่จะเป็นกลุ่มคนที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลง“รุ่นเบตาเป็นตัวแทนของรุ่งอรุณยุคใหม่ พวกเขาจะเติบโตในโลกที่ถูกหล่อหลอมด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี บรรทัดฐานทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป และการให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและความเป็นพลเมืองโลกมากขึ้น” แม็กครินเดิล กล่าว
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าคนรุ่นเบตาจะถูกคาดหวังในการแก้ไขปัญหาสิ่งที่คนรุ่นก่อนหน้าทำในเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งหมายความว่าพวกเขาจะต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างมาก
“สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนที่สุดก็คือ เด็ก ๆ และวัยรุ่นในปัจจุบันมีแนวโน้มที่ถูกหล่อหลอมด้วยอิทธิพลและแรงผลักดันที่แตกต่างกันอย่างมากจากเจเนอเรชันก่อนหน้า” รายงานจาก Pew Research Center ระบุ
ผลกระทบด้านอื่น ๆ ของประชากร
ในขณะที่ผลกระทบด้านอื่น ๆ คือจากวงจรชีวิตหรือผลกระทบจากอายุ ซึ่งเกิดจากความแตกต่างระหว่างคนรุ่นใหม่และผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักเกิดจากตำแหน่งของพวกเขาในวงจรชีวิต ตัวอย่างเช่นคนหนุ่มสาวมีแนวโน้มที่จะลงคะแนนเสียงและมีส่วนร่วมในทางการเมืองน้อยกว่าผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า
ทีมวิจัยระบุว่าอาจเป็นเพราะพวกเขามีความรู้เกี่ยวกับการเมืองน้อยกว่าหรือรู้สึกว่าตนมีส่วนได้ส่วนเสียน้อยกว่าในการถกเถียงทางการเมืองหรือแนวทางนโยบาย แต่เมื่อคนคนนั้นมีอายุมากขึ้น อัตราการลงคะแนนเสียงก็จะเพิ่มขึ้น ผลกระทบนี้ยังคงสามารถมองเห็นได้ชัดเจนไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาไหน ๆ
และท้ายที่สุดผลกระทบจากกลุ่มคน ซึ่งเป็นผลจากช่วงเวลาสำคัญในวัฏจักรชีวิตเช่น วัยรุ่นมักจะเป็นช่วงเวลาแห่งการค้นหาตัวเอง ติดเพื่อนหรือต้องการการยอมรับจากกลุ่ม ในขณะที่วัยผู้ใหญ่มักจะตระหนักถึงตนเอง สังคม และโลกที่กว้างขึ้น สิ่งเหล่านี้ได้หล่อหลอมให้แต่ละรุ่นมีความแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงอายุแต่ละคน
โดยผลกระทบจากกลุ่มคนนี้สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมใหญ่ได้เช่น คนรุ่นมิลเลนเนียนและคนรุ่นเอ็กซ์นั้นมีการสนับสนุนให้เกย์และเลสเบี้ยนสามารถแต่งงานกันได้อย่างถูกกฎหมายมากกว่าคนรุ่นก่อน ทำให้นโยบายมีการเปลี่ยนแปลง
หรือจะเป็นแนวโน้มการใช้ชีวิตตัวอย่างเช่นมีคนรุ่นเอ็กซ์เพียงร้อยละ 38 เท่านั้นที่แต่งงานเมื่อมีอายุระหว่าง 18 ถึง 33 ปี แต่คนรุ่นเดียวกันอื่น ๆ กลับไม่แต่งงานเลยหรือแต่งงานในช่วงอายุอื่นมากกว่าคนรุ่นก่อนหน้า ขณะเดียวกันคนรุ่นมิลเลนเนียนที่ตามมาก็กลับมีอัตราการแต่งงานในช่วงอายุเดียวกันน้อยลงเพิ่มเติม
ความสำคัญในการแบ่งรุ่นประชากร
ข้อมูลเหล่านี้ทำให้เราสามารถเห็นภาพประชากรโดยรวมที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งสามารถนำไปคาดการณ์ผลกระทบที่จะตามมาต่อทั้งสังคม โลก สิ่งแวดล้อม และกลุ่มประชากรเองได้ การที่คนแต่งงานน้อยลงอาจทำให้ประชากรลดลง การสนับสนุนความหลากหลายก็ทำให้สังคมเปิดกว้างมากขึ้น และการใส่ใจสิ่งแวดล้อมก็ส่งผลต่อธรรมชาติที่เราอาศัยอยู่
ไม่เพียงเท่านั้นยังช่วยให้รัฐบาลทั่วโลกสามารถวางแผนนโยบายเพื่อรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ เช่นการเข้าถึงการศึกษาในด้านต่าง ๆ ที่แตกต่างกันไปตามแต่ละรุ่น คนรุ่นมิลเลนเนียลต่างเข้าเรียนกวดวิชาเพื่อพยายามเข้าในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยชื่อดัง ขณะที่คนรุ่นอัลฟามักจะเรียนรู้ผ่านทางออนไลน์กันมากขึ้น
ซึ่งอาจทำให้เกิดช่องว่างทางการศึกษาได้หากรัฐบาลไม่มีการปรับตัว หรือจะเป็นการเข้าถึงระบบสาธารณสุขและโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ที่คนแต่ละรุ่นเผชิญไม่เหมือนกัน ทั้งหมดนี้สามารถส่งผลต่อประเทศได้อย่างทรงพลัง
การแบ่งประชากรเป็นรุ่น ๆ นี้จึงไม่ใช่เรื่องที่ใช้พูดคุยกันอย่างสนุนสนาน แต่เป็นข้อมูลที่นักวิทยาศาสตร์นำไปใช้วิเคราะห์ได้จริง และการมีพ่อแม่ที่แตกต่างกันไปตามรุ่นก็ส่งผลกระทบต่อลูกได้อย่างมากมายโดยเฉพาะคนรุ่นมิลเลนเนียลที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะเรื่องภาวะโลกร้อนที่เป็นปัญหาในปัจจุบัน
“การเลี้ยงดูของพวกเขา(พ่อแม่)จะเน้นย้ำถึงความสำคัญของสิ่งต่าง ๆ” แม็กครินเดิล กล่าว “ไม่ใช่แค่เอาที่สะดวกเท่านั้น แต่เพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วนในยุคสมัยของพวกเขาด้วย”
สืบค้นและเรียบเรียง
วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา