สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เมื่อระบบการขนส่งสาธารณะที่ดีเป็นปัจจัยพื้นฐานในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ทำให้ผู้คนเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคม เพิ่มประสิทธิภาพ และกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทุกๆ วัน ประชาชนใช้ระบบขนส่งสาธารณะเพื่อไปทำงาน ส่งลูกหลานไปโรงเรียน หรือไปเยี่ยมครอบครัวและญาติพี่น้องในต่างจังหวัด ซึ่งผู้คนจำนวนไม่น้อยใช้ระบบรางในการเดินทาง
แม้ว่าระบบรางของไทยจะมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับการขนส่งรูปแบบอื่นๆ แต่ข้อมูลจากธนาคารโลก (World Bank) ปี 2560 รายงานว่ามีผู้ใช้บริการในระบบรางกว่า 40 ล้านคนต่อปีเพื่อเดินทางระหว่างเมือง โดยในกรุงเทพฯ ระบบรถไฟฟ้าได้ให้บริการผู้โดยสารกว่า 200 ล้านเที่ยวต่อปี
ระบบคมนาคมทางรางจึงเป็นหนึ่งในสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่สำคัญต่อการขนส่งในประเทศ
ทั้งการขนส่งเชิงพาณิชย์ การเดินทางของประชาชน และการพัฒนาพื้นที่โดยรอบระบบราง ดังนั้น การเชื่อมระบบรางให้ครอบคลุมและพัฒนาให้ทันสมัยจึงเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของประเทศไทย และยังเอื้อประโยชน์ต่อสาธารณะชนที่จะได้ใช้การเดินทางในระบบราง และในปี 2564 สถานีกลางบางซื่อจะกลายเป็นศูนย์กลางโครงข่ายเชื่อมต่อการคมนาคมทุกระบบที่สำคัญของไทย
เชื่อมโยงการเดินทางอย่างไร้รอยต่อ
สถานีกลางบางซื่อ เป็น Grand Station หรือ “สถานีรถไฟหลัก” แห่งใหม่ของไทย ที่ได้รับการพัฒนาและยกระดับให้เป็น “ศูนย์กลางรถไฟไทย” ทุกระบบ ครอบคลุมครบทุกบริการ “ระบบราง” สามารถเชื่อมต่อทุกรูปแบบการเดินทาง โดยเชื่อมต่อระบบรางกับระบบขนส่งมวลอื่น ๆ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็น “การเดินทางแบบไร้รอยต่อ น้ำ บก อากาศ” ทั้ง รถไฟทางไกล ไม่ว่าจะเป็นสายเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ ใต้ ตะวันออก และตะวันตก รถไฟความเร็วสูง รถไฟชานเมือง รวมถึง รถไฟเชื่อมท่าอากาศยาน ทั้งเชื่อมต่อกับระบบ รถไฟฟ้ามหานคร และโครงข่าย ถนนสายหลัก
ซึ่งนอกเหนือจากความงดงามที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ด้วยรูปทรงโค้งแบบร่วมสมัย ยังเน้นเรื่องความสะดวกสบาย ความปลอดภัย และประหยัดเวลา เพื่อให้ประชาชนสามารถเชื่อมการเดินทางไปยังทุกจุดมุ่งหมาย บนพื้นที่ใช้สอยที่กว้างขวางกว่าสองแสนเจ็ดหมื่นตารางเมตร ที่สามารถรองรับผู้โดยสารได้มากกว่าหกแสนคนต่อวัน เป็น “สถานีศูนย์กลางระบบรางที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน” เทียบเท่าสถานีรถไฟชั้นนำระดับสากล
ตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เริ่มเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงโดยไม่คิดค่าบริการ และจะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ในเดือนธันวาคม ปี 2564 โดยคาดการณ์ว่าจะมีผู้โดยสารใช้บริการประมาณ 136,000 คน–เที่ยวต่อวัน ในปี 2565 และเพิ่มเป็น 624,000 คน-เที่ยวต่อวัน ในปี 2575
ทั้งนี้ การก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อได้รับการบรรจุไว้ในแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยระหว่างปี 2558 – 2565 โดยมีเป้าหมายให้เป็นศูนย์กลางการเดินทางของประเทศไทย และในเขตเศรษฐกิจอาเซียน
นอกจากนี้ สถานีกลางบางซื่อยังได้รับการพัฒนาและยกระดับให้เป็น “ศูนย์กลางระบบรางและการเดินทางทั่วไทย” และสามารถเชื่อมต่อไปถึงกรุงปักกิ่งได้ด้วยรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ที่จะเชื่อมเข้ากับทางรถไฟจาก สปป. ลาว ที่จังหวัดหนองคาย และไปต่อกับรถไฟความเร็วสูงของจีนไปยังกรุงปักกิ่งในอนาคต
โครงสร้างสถานีที่เพียบพร้อมในการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน
ในปลายปี 2564 สถานีกลางบางซื่อจะเปิดให้บริการพร้อมกับการเดินรถของระบบรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ – ตลิ่งชัน และช่วงบางซื่อ – รังสิต ซึ่งจะทำให้สถานีกลางบางซื่อกลายเป็นสถานีขนาดใหญ่ที่สุดของไทยและอาเซียน นอกจากจะเป็นศูนย์กลางระบบรางของไทยแล้ว ยังเป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายการเดินทางที่เชื่อมต่อกับรูปแบบการเดินทางอื่นๆ ได้อย่างสะดวกสบาย
สถานีกลางบางซื่อได้รับการออกแบบอาคารผู้โดยสารขนาดใหญ่ มีพื้นที่ใช้สอยรวม 304,000 ตารางเมตร แบ่งเป็น
ชั้นใต้ดิน พื้นที่รวม 72,000 ตารางเมตร จัดให้เป็นที่จอดรถยนต์สำหรับบุคคลทั่วไป 1,681 คัน ที่จอดรถคนพิการ 19 คัน รวม 1,700 คัน
ชั้นลอย มีพื้นที่รวม 12,000 ตารางเมตร เป็นพื้นที่พาณิชยกรรม ร้านค้า และห้องควบคุม
ชั้นที่ 1 พื้นที่รวม 86,000 ตารางเมตร เป็นพื้นที่จำหน่ายตั๋วโดยสารของระบบรถไฟชานเมือง รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ รถไฟฟ้าความเร็วสูง ขบวนรถทางไกล และเป็นจุดเชื่อมต่อกับสถานีบางซื่อของรถไฟฟ้ามหานครสายสีน้ำเงิน รวมถึงยังเป็นโถงพักคอยของผู้โดยสารทุกระบบ ศูนย์อาหาร และร้านค้าให้บริการ
ชั้นที่ 2 พื้นที่รวม 67,000 ตารางเมตร เป็นชานชาลารถไฟทางไกล 8 ชานชาลา และรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้มและสายสีแดงอ่อน 4 ชานชาลา
ชั้นที่ 3 พื้นที่รวม 67,000 ตารางเมตร เป็นชานชาลารถไฟที่มีขนาดทาง 1.435 เมตร เพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน และรถไฟเชื่อมท่าอากาศยาน (แอร์พอร์ตลิงก์) 2 ชานชาลา และรถไฟความเร็วสูง 10 ชานชาลา รวม 12 ชานชาลา
ศูนย์กลางด้านคมนาคมเชื่อมโยงการพาณิชย์
นอกจากจะเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมแล้ว ในอนาคต พื้นที่รอบ ๆ สถานีกลางบางซื่อจะได้รับการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีให้เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ด้วย ไม่ว่าจะเป็นอาคารสำนักงาน โรงแรม ศูนย์การค้า บ้านพัก คอนโดมิเนียม สวนสาธารณะ และสถานที่จัดกิจกรรมที่รวบรวมทุกไลฟ์สไตล์ไว้ด้วยกัน หรือ ที่รู้จักกันใน TOD ซึ่งย่อมาจาก Transit Oriented Development หรือการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้า หรือขนส่งมวลชน
โดยออกแบบพื้นที่รอบสถานีให้ผสมผสานระหว่างศูนย์กลางพาณิชยกรรม ร้านค้า ที่พักอาศัย และสำนักงาน เป็นต้น เพื่อเพิ่มจำนวนผู้โดยสารและการเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนที่สะดวกสบาย
ตลอดโครงการฯ การรถไฟมุ่งหวังให้ย่านสถานีกลางบางซื่อเป็นการก่อสร้างแบบ Smart City ศูนย์กลางย่านเศรษฐกิจแห่งใหม่ของไทยและอาเซียน โดยพัฒนาตามแนวคิดการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีกลางบางซื่อจำนวน 2,325 ไร่ รวมถึงเป็นแหล่งธุรกิจที่น่าสนใจมากมาย แบ่งออกเป็นโซนอย่างชัดเจน 9 โซน ดังนี้
จากระบบโครงสร้างพื้นฐานระบบรางของประเทศไทย ที่เคยชะงักงันและเดินอย่างเชื่องช้ามาหลายทศวรรษ แต่ปัจจุบัน หนึ่งในนโยบายหลักที่รัฐบาลให้ความสำคัญ และมีผลงานออกมามากมาย ก็คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยเฉพาะด้านคมนาคมระบบราง ซึ่งสถานีกลางบางซื่อ จะนับได้ว่า เป็นหนึ่งในผลงานสำคัญในการอำนวยความสะดวกและการสร้างความเชื่อมโยงสำหรับโครงสร้างพื้นฐานของไทย
ล่าสุดในปี 2565 กระทรวงคมนาคม ได้ทำการเปลี่ยนชื่อ สถานีกลางบางซื่อ เป็น สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และมีการดำเนินการเปลี่ยนป้ายชื่อที่สถานีใหม่ในช่วงต้นปี 2566 กับการเดินหน้าสู่การเป็นสถานีรถไฟหลักที่ใหญ่ที่สุดของไทย และศูนย์กลางระบบรางที่ใหญ่อันดับต้น ๆ ของอาเซียน
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ ยังคงมุ่งมัน คิดและเตรียมทุกความพร้อม สร้างระบบขนส่งมวลชนทางรางที่ดีที่สุด ลดเวลาการเดินทาง เพิ่มความปลอดภัย เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนไทยทุกคนหลังวิกฤตผ่านพ้น นั่นคือเวลาที่คนไทยทุกคนจะสัมผัสกับระบบขนส่งทางรางที่พร้อมนำคุณมุ่งสู่โอกาสครั้งใหม่ … อีกครั้ง