บรรยากาศการช็อปปิ้งใน เดนมาร์ก ต่างจากที่อื่นเพราะถุงพลาสติกเป็นอะไรที่พบเห็นได้ยาก
ภาพถ่ายโดย Yadid Levy
ชีวิตคน เดนมาร์ก ใช้พลาสติกน้อยมาก พวกเขาทำได้อย่างไร?
โคเปนเฮเกน – เป็นอีกครั้งที่ Karen Gunn บรรณาธิการนิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกใน เดนมาร์ก ไปช็อปปิ้งยังซุปเปอร์มาร์เก็ต และไม่มีถุงพลาสติกติดมือกลับมาเลยแม้แต่ใบเดียว แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ช่วยให้ Gunn ไม่ต้องเพิ่มจำนวนถุงพลาสติกที่มีอยู่แล้วภายในบ้าน ตลอดจนเพิ่มรอยเท้าคาร์บอนบนโลกใบนี้ จากความสะดวกสบายของตัวเราเอง
ในเดนมาร์ก ถุงพลาสติกที่นิยมใส่ข้าวของต่างๆ กลับกลายเป็นสิ่งที่หายาก และพบได้แค่ในร้านค้าต่างถิ่นที่ขายผักผลไม้ หรืออาหารทะเลสดเท่านั้น ร้านอาหารในเดนมาร์กไม่มีถุงพลาสติกไว้ให้บริการ ส่วนที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตขายถุงพลาสติกขนาดใหญ่ซึ่งเหนียวทนทานเป็นพิเศษ เพื่อช่วยให้บรรดาผู้ใช้งานสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้
เดนมาร์กเป็นประเทศแรกที่ออกนโยบายการเก็บภาษีถุงพลาสติก ในปี 1993 ทุกวันนี้ถุงพลาสติกหนึ่งใบมีราคาราว 50 เซนต์ ราคาที่ตั้งไว้ส่วนใหญ่คือค่าภาษีสำหรับพลาสติก และอีกนิดหน่อยที่เป็นกำไรให้แก่ร้านสะดวกซื้อเอง การที่ถุงพลาสติกมีต้นทุนที่ต้องจ่ายส่งผลให้สัดส่วนการใช้ถุงพลาสติกภายในประเทศลดลงถึง 40% ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา ทุกวันนี้ชาวเดนมาร์กใช้ถุงพลาสติกซ้ำเฉลี่ย 70 ถุงต่อปี และใช้ถุงพลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งเฉลี่ย 4 ถุงต่อปี หรือน้อยกว่า 1.5 ถุงต่อสัปดาห์ในภาพรวม (เทียบกับค่าเฉลี่ยของชาวอเมริกันที่ใช้ถุงพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งหนึ่งใบต่อคน ในทุกวัน)
แต่ในความรู้สึกของ Gunn แล้ว ค่าเฉลี่ยการใช้พลาสติกของชาวเดนมาร์กยังไม่ดีพอ
เธอเล่าว่า บ้านของเธอแยกขยะเป็นนิสัย Gunn มีถังขยะสำหรับกระดาษ, แก้ว, โลหะ และพลาสติก ลูกชายอายุ 10 ขวบของเธอนำขวดและกระป๋องเครื่องดื่มที่ใช้แล้วไปหย่อนลงตู้รีไซเคิลที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตเป็นประจำ ซึ่งเขาจะได้รับค่าตอบแทนเล็กๆ น้อยๆ กลับมา โดยในหนึ่งครั้งขวดเครื่องดื่มปริมาณ 1 ลิตร 10 ขวด และครึ่งลิตรอีก 10 ขวด จะช่วยให้เขามีรายได้เข้ากระเป๋าราว 7 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 225 บาท) นอกจากนั้นครอบครัวของ Gunn ยังรียูส และรีไซเคิลทึกอย่างทำที่จะทำได้
คุณแม่วัย 80 ปีของเธอเองเป็นอีกคนหนึ่งที่แทบไม่ใช้ถุงพลาสติกเลย เธอเดินไปร้านขายของพร้อมกับตะกร้ารถเข็น ซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่ผู้สูงอายุ
อะไรคือถุงที่ดีที่เราควรใช้?
เมื่อเร็วๆ นี้ ประเด็นดังกล่าวกลายเป็นที่ถกเถียงในเดนมาร์ก จุดเริ่มต้นมาจากรายงานการวิจัยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2018 โดยหน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเดนมาร์ก พวกเขาวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ในกระบวนการผลิต, ปริมาณการใช้น้ำ, การทำลายโอโซน, สารพิษสะสมในมนุษย์ ไปจนถึงกระบวนการกำจัดขยะจากถุงหลากหลายประเภท (ฝ้าย, พลาสติก, กระดาษ)
รายงานการวิจัยสรุปผลว่าถุงพลาสติกประเภท LDPE (พอลิเอทิลีนความหนาแน่นต่ำ) คือถุงพลาสติกที่เหมาะสมที่สุดสำหรับใช้ในซุปเปอร์มาร์เก็ต ของเดนมาร์ก อันเนื่องมาจากมันมีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
สมาคมอนุรักษ์ธรรมชาติแห่งเดนมาร์กออกมาคัดค้านข้อสรุปนี้ พวกเขาชี้ว่ารายงานดังกล่าวมีการวัดข้อมูลที่ผิดพลาด และสร้างความเข้าใจผิดต่อถุงจากวัสดุธรรมชาติอย่าง “ถุงผ้าฝ้าย” ทั้งยังละเลยมลพิษที่เกิดขึ้นจากถุงพลาสติก อย่างไรก็ตามแม้ประเด็นนี้จะยังคงเป็นข้อถกเถียง แต่มีสิ่งหนึ่งที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน ไม่ว่าถุงของคุณจะทำมาจากวัสดุอะไร จงใช้งานมันจนกว่ามันจะหมดสภาพ เพื่อเพิ่มขยะต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด
(6 สิ่งที่คุณทำได้เพื่อลดพลาสติก และไม่รู้ลึกเจ็บปวด)
ยุติวงจรขยะพลาสติก
ว่าแต่จะทำอย่างไรกับถุงที่กลายเป็นขยะแล้วจริงๆ ?
ในบางประเทศแม้จะมีการรีไซเคิลพลาสติก แต่สุดท้ายแล้วถุงพลาสติกมักลงเอยในกองขยะ ที่เดนมาร์กพวกเขาเปลี่ยนขยะพลาสติกเหล่านี้ให้กลายเป็นพลังงานไฟฟ้า และความร้อน แทนที่จะฝังกลบพวกมันแทน อย่างไรก็ดีการเผาไหม้พลาสติกยังคงถือว่าเป็นกระบวนการทำลายที่ไม่คุ้มค่า
ในการแก้ไขปัญหานี้ เครือข่ายซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่อย่าง Netto ที่มีร้านค้ากว่า 1,300 ร้านในยุโรปทางตอนเหนือจับมือกับ WWF พวกเขาคิดราคาค่าถุงพลาสติกใบละ 8 เซนต์ แต่หากลูกค้านำถุงที่ใช้แล้วกลับมาคืน พวกเขาจะได้รับเงิน 16 เซนต์ ทว่าสำหรับถุงพลาสติกที่ไม่ได้กลับมา ทาง Netto เองจะบริจาค 1 โครนเดนมาร์กหรือราว 5 บาท ให้แก่ WWF เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการกำจัดพลาสติก โครงการนี้เริ่มต้นในเดนมาร์กเพียงประเทศเดียวปรากฏว่ามันประสบผลสำเร็จอย่างมาก ซึ่งขณะนี้ทาง Netto เองมีแผนที่จะขยายโครงการไปในหลายประเทศ และสวีเดนเองกำลังทดลองใช้ระบบนี้
ความสำเร็จที่ได้มานั้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะประชาชนชาวเดนมาร์กเองสนับสนุนการลดใช้พลาสติก รายงานจากโพลสำรวจโดย TNS Gallup เมื่อปี 2017 ชาวเดนมาร์ก 68% ระบุว่าระบบคืนถุงพลาสติก (ที่คนคืนได้เงินด้วย) เป็นไอเดียที่ดีมาก มีเพียง 13% เท่านั้นที่ไม่เห็นด้วย
เรื่อง Karen Gunn
อ่านเพิ่มเติม
วิกฤติพลาสติกล้นโลก