เนื่องด้วยโลกจะมีประชากรถึงหนึ่งหมื่นล้านคนในปี 2050 จึงมีงานวิจัยชิ้นใหม่ที่เสนอแนวทางว่าเราจะมี การผลิตอาหาร เลี้ยงประชากรโลกให้เกิดความยั่งยืนได้อย่างไร
งานวิจัยใหม่เผยว่า ในปี 2050 มีการคาดการณ์ว่าโลกจะมีประชากรราวหนึ่งหมื่นล้านคน จึงต้องมีการรับประกันว่าโลกจะมีอาหารที่ทำให้สุขภาพดี ซึ่งจะทำให้ผู้คนอยู่อาศัยนั้นดีขึ้นตามไปด้วย เพื่อการนี้ โลกต้องมีการเปลี่ยนวิธีการทำฟาร์มและวิธี การผลิตอาหาร ครั้งใหญ่
“มีวิธีการที่เราจะบรรลุเป้าหมายนี้ แต่ความท้าทายนั้นใหญ่หลวงกว่าที่เราคิด” Richard Waite แห่งสถาบันทรัพยากรโลก (World Resource Institute – WRI) และผู้เขียนร่วมรายงานที่ชื่อว่า การสร้างอนาคตที่ยั่งยืนของอาหาร (Creating A Sustainable Food Future: Final Report)
การทำเกษตรกรรมใช้พื้นที่ที่สามารถเพาะปลูกได้ถึงครึ่งหนึ่งบนโลก และการเกษตรกรรมยังใช้น้ำมากถึงร้อยละ 90 จากจำนวนการบริโภคโดยมนุษย์ทั้งหมด นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนถึงหนึ่งในสี่อยู่ทุกปี อย่างไรก็ตาม ในจำนวนประชากรกว่าเจ็ดพันล้านคนที่อาศัยอยู่บนโลกขณะนี้ มีคนอยู่ราว 820 ล้านคนที่อยู่ในภาวะขาดสารอาหาร เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถเข้าถึงหรือได้รับอาหารอย่างเพียงพอ
“เราต้องผลิตอาหารเพิ่มให้ร้อยละ 30 ในพื้นที่เดียวกันนี้ หยุดการทำลายป่า และลดการปล่อยคาร์บอนที่มาจากการผลิตอาหารให้ได้สองในสาม” Waite กล่าว
“เพื่อที่จะไม่ให้ที่ดินต้องเปลี่ยนไปเป็นพื้นที่การเกษตรมากกว่านี้ ต้องมีการปรับปรุงคุณภาพของการเลี้ยงสัตว์ และมีการจัดการทุ่งเลี้ยงสัตว์ที่ดีกว่านี้ นอกจากนี้ ต้องมีการหาวิธีให้สามารถเพาะปลูกได้มากกว่าหนึ่งครั้งต่อปี และต้องอาศัยเทคนิคการปรับปรุงพันธุ์พืช ยกตัวอย่างเช่น เทคโนโลยี CRISP-R ที่เอื้อให้มีการปรับปรุงยีนของพืชที่ดีเพื่อเพิ่มผลผลิตให้ได้มากที่สุด เราจำเป็นต้องทำทุกอย่าง” Waite กล่าวเสริม
นี่คือข้อเสนอบางส่วนในรายงานของเขา
– ลดปริมาณอาหารที่ต้องสูญเสียหรือทิ้งไปให้ได้ราวหนึ่งในสาม ตั้งแต่การใช้ห้องเย็นพลังงานแสงอาทิตย์ในฟาร์ม ไปจนถึงการใช้สารประกอบธรรมชาติเพื่อให้แหล่งการเจริญของแบคทีเรียและรักษาน้ำในผลไม้เพื่อยืดชีวิตผลไม้ให้จำหน่ายในชั้นวางสินค้าได้นานขึ้น และต้องมีการปรับปรุงกระบวนการห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด
– เปลี่ยนจากผู้บริโภคเนื้อเป็นจำนวนมากมาเป็นอาหารที่ทำมาจากพืช เนื้อต่างๆ ที่ปกติทำมาจากสัตว์จำพวกวัว แกะ แพะ นั้นใช้ทรัพยากรในการผลิตมากมาย เพื่อให้จำนวนประชากรที่กำลังเติบโตขึ้นได้เข้าถึงอาหารจำพวกเนื้อ อาจต้องมีการบริโภคที่น้อยลง ดังเช่นนั้นตอนนี้มีการผลิตเนื้อเบอร์เกอร์ที่ประกอบไปด้วยเห็ดราวร้อยละ 20-35 หรือเนื้อแฮมเบอเกอร์ที่ทำมาจากพืชซึ่งให้รสชาติที่ใกล้เคียงกัน
– เพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและเพิ่มจำนวนผลผลิตของผลิตภัณฑ์นม เพื่อไม่ให้มีการใช้ที่ดินเพิ่มเติมในการทำการเกษตร จะต้องมีการปรับปรุงครั้งใหญ่ในการเลี้ยงและจัดการทุ่งเลี้ยงสัตว์ และจะต้องหาวิธีการที่สามารถปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิตให้ได้มากกว่าหนึ่งครั้งต่อปี ซึ่งจะต้องอาศัยพันธุ์พืชที่ดีกว่าเดิม เช่นการใช้เทคโนโลยี CRISP-R ดังที่กล่าวไปข้างต้น
– ปรับปรุงการจัดการการทำประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การออกใบรับรองและการบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้กำจัดการทำประมงที่ไม่มีรายงานสามารถรักษาจำนวนการสูญเสียปลาไปได้ราว 11 ถึง 26 ล้านตัน และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสามารถใช้สาหร่าย ตะไคร่น้ำ หรืออาหารปลาที่ทำมาจากพืชซึ่งดีกว่าการเลี้ยงสัตว์ด้วยการให้ปลาเล็กกับปลาที่ตัวใหญ่กว่า เช่นการเพาะเลี้ยงปลาแซลมอน
เพียงพอแล้วหรือ
“ผมไม่คิดว่ารายงานนี้สามารถแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่ระบบอาหารของโลกที่จำเป็นต้องดำเนินการได้อย่างแท้จริง” Hans Herran ประธานสถาบันมิลเลนเนียมประจำกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา และผู้ชนะรางวัลอาหารโลกในฐานะที่เขาทำงานเป็นนักกีฏวิทยา กล่าว
องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ และคณะกรรมการด้านความมั่นคงของอาหารโลก ได้สนับสนุนวิธีการที่เรียกว่า “เกษตรเชิงนิเวศ” ในการผลิตอาหาร ซึ่งเป็นวิธีการที่ในรายงานของสถาบันทรัพยากรโลกไม่ได้พูดถึงเอาไว้เลย
โดย เกษตรเชิงนิเวศ เป็นวิธีการทำการเกษตรที่เลียนแบบธรรมชาติ แทนที่การใช้สารเคมี หรือปุ๋ยเคมีด้วยองค์ความรู้ในวิธีการให้ทั้งต้นไม้ พืช และสัตว์มาเริ่มกันสร้างผลผลิตในที่ดินขึ้นมา
คณะกรรมการด้านความมั่นคงของอาหารโลกได้ออกรายงานในเรื่องวิธีการเลี้ยงประชากรโลกด้วยความยั่งยืน ในรายงานกล่าวว่ามีการมองว่าเกษตรเชิงนิเวศรวมทั้งการเกษตรและระบบอาหารนับตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตไปจนถึงการบริโภค จะเป็นวิธีที่ช่วยสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืน อย่างไรก็ตาม ในรายงานยอมรับว่าการเกษตรนั้นมีความแตกต่างกันอย่างในมากในแต่ละพื้นที่ กล่าวคือ วิธีนี้อาจจะได้ผลในอีกพื้นที่หนึ่ง แต่ไม่ได้ผลในอีกพื้นที่หนึ่ง
แม้ว่าจะไม่มีการพูดถึงคำว่า “เกษตรเชิงนิเวศ” ในรายงานของสถาบันทรัพยากรโลก แต่ Waite กล่าวว่า บางวิธีการที่เสนอไปรายงานอาจเข้าข่ายเดียวกัน “ผมคิดว่าการเน้นไปที่คำว่า ‘เกษตรเชิงนิเวศ’ มากเกินไป จะบดบังความจำเป็นที่แท้จริงในการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม”
ด้าน Danielle Nierenberg ประธานและผู้ก่อตั้ง Food Tank องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ทำงานด้านค้นหาวิธีการแก้ไขทางธรรมชาติที่ยั่งยืนในการบรรเทาความหิวโหย โรคอ้วน และความยากจน กล่าวว่า รายงานที่สถาบันทรัพยากรโลกได้เสนอมาได้ให้ข้อเสนอในเรื่องที่ต้องทำในอนาคต แต่สิ่งที่เราสามารถทำได้ตอนนี้คือการผลิตอาหารที่ยั่งยืนและสิ่งต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดการสร้างงานและสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ
และ Andrew Steer ประธานสถาบันทรัพยากรโลก กล่าวว่า “การผลิตอาหารและระบบนิเวศการผลิตจะต้องเชื่อมต่อกันในทุกระดับ ทั้งด้านนโยบาย การเงิน และวิธีการทำฟาร์ม เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันที่ก่อให้เกิดทำลายที่ดินและน้ำ”