ประเทศไทยเผชิญกับ ปัญหาน้ำท่วม มานานหลายทศวรรษ แผนการแก้ปัญหาต่างๆ ที่ผุดขึ้นดูเหมือนไม่ช่วยแก้ไขให้เป็นอย่างเป็นรูปธรรม เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น
เรื่อง ราชศักดิ์ นิลศิริ
ภาพถ่าย สิทธิชัย จิตตะทัต
ตีพิมพ์ใน เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนพฤศจิกายน 2557
ทางหลวงชนบทจากอำเภอทุ่งเขาหลวงมุ่งหน้าอำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด แคบเพียงรถวิ่งสวนกัน สองข้างทางเป็นนาร้าง ทุกสองสามกิโลเมตร ปรากฏสุขภัณฑ์นั่งยองสีขาวบนไหล่ทางราวกับอนุสาวรีย์แห่งความทุกข์ “พอหน้านํ้าท่วม ชาวบ้านจะย้ายครัวมาอาศัยบนถนนครับ” สิริศักดิ์ สะดวก บอกที่มาที่ไปของฐาน
ปฏิบัติการปลดทุกข์เหล่านั้น เอ็นจีโอหนุ่มชาวศรีสะเกษผู้นี้ทำงานกับศูนย์พิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรชุมชนในลุ่มนํ้าชีตอนล่าง องค์กรเอกชนที่เคลื่อนไหวต้านเขื่อนในแม่นํ้าชีแถบจังหวัดร้อยเอ็ด เขากำลังพาผมไปเยี่ยมชาวบ้านหลายคนในพื้นที่ “พอท่วมซํ้าซากทุกปี แล้วก็ท่วมหนัก ท่วมนานหลายเดือน ก็เลยสร้างส้วมถาวรไว้เสียเลย หน้านํ้าทีก็เอาสังกะสีมาล้อมบังตาเอา” เขาเฉลย
ความอายของการปลดทุกข์ริมทางหลวงคงเป็นเรื่องขี้ปะติ๋วเมื่อเทียบกับความเดือดร้อนที่ชาวบ้านแถบนี้ประสบ ทุกปีนาข้าวและบ้านเรือนของพวกเขาต้องเผชิญนํ้าท่วมสูงถึงคอนานสองสามเดือนเป็นอย่างน้อย นานและซํ้าซาก (เกิน) พอจนทำให้พวกเขาเชื่อว่าเป็นผลมาจากเขื่อน [ทางราชการเรียก ฝาย] ร้อยเอ็ดกลางแม่นํ้าชีใกล้หมู่บ้านที่สร้างเสร็จตั้งแต่ปีพ.ศ. 2542 “ต้องเป็นเพราะเขื่อนแน่ๆ ครับ ไม่มีทางเป็นอย่างอื่นไปได้ แต่ก่อนมันท่วมก็จริง ไม่กี่วันก็หาย แต่นี่ท่วมได้ยังไงตั้งหลายเดือน” บุญจันทร์ สาระกลม ชาวนาในพื้นที่ บอกผม
เขื่อนร้อยเอ็ดเป็นหนึ่งใน 22 เขื่อนตามโครงการผันนํ้า “โขง-ชี-มูล” โครงการชลประทานขนาดยักษ์ที่เริ่มสร้างมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2530 มีระยะเวลาดำ เนินการยาวนานกว่า 40 ปี ภายใต้งบประมาณ 228,000 ล้านบาท โดยพุ่งเป้าไปที่การผันนํ้าสู่พื้นที่เกษตรห่างไกลในภาคอีสานเพิ่มพื้นที่ชลประทานให้ได้ถึง 4.98 ล้านไร่ และหวังว่าปริมาณนํ้าทำการเกษตรที่เพียงพอจะช่วยลดปัญหาแรงงานชนบทอพยพเข้าสู่เมือง
“แต่มันยิ่งกลับทำให้คนหนีเข้าเมืองมากขึ้น เพราะอะไรรู้ไหมคะ ก็นํ้าท่วมไง มันอยู่ไม่ได้” อมรรัตน์ วิเศษหวาน ขึ้นเสียงสูง แม่บ้านผู้จงชังเขื่อนชนิดหัวชนฝา ระบายความอัดอั้น
การก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่เมื่อ 20 ปีก่อนเป็นเรื่องง่ายกว่าทุกวันนี้มาก ชาวบ้านหลายรายเล่าด้วยนํ้าเสียงขุ่นเคืองว่า พวกเขาไม่เคยมีส่วนร่วมใดๆกับการสร้างเขื่อน และไม่เคยรู้มาก่อนว่าจะได้รับผลกระทบอย่างไร แต่ที่ชอกชํ้าที่สุดคือ เมื่อเกิดความเดือดร้อน เจ้าหน้าที่รัฐกลับไม่เหลียวแล
บัว สาโพนทัน ชาวนาอีกรายที่ผันตัวมารับตำแหน่งประธานคัดค้านการสร้างเขื่อน เล่าว่า “ผมเคยไปร้องรัฐมนตรีเกษตร เค้าถามว่าไงรู้ไหม เค้าถามว่าร้อยเอ็ดนํ้าท่วมด้วยเหรอ ไม่เห็นรู้ ผมได้แต่ส่ายหน้าแล้วถามว่า ท่านเป็นถึงรัฐมนตรี แต่ไปอยู่ที่ไหนมา”
สิริศักดิ์เล่าว่า สาเหตุของนํ้าท่วมในพื้นที่เกิดจากหลายปัจจัย ตั้งแต่ภูมิประเทศลุ่มตํ่า การไม่เปิดประตูระบายนํ้าให้สอดคล้องกับฤดูกาล ไปจนถึงการถมลำนํ้าชีเดิมจนนํ้าระบายไม่ทัน และนํ้าหนุนจากแม่นํ้ามูลที่เชื่อมกับแม่นํ้าชีทางทิศใต้ในหน้านํ้า
“ชาวบ้านเคยเสนอให้แขวนบานประตูนํ้าตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเพื่อระบายนํ้า” เขาเล่าถึงทางการ “แต่เขาบอกว่า เดี๋ยวคนทางโน้นไม่มีนํ้าทำนา เห็นไหมครับ เขาจับชาวบ้านสองฝั่งมาทะเลาะกันอีก”
เรื่องราวทำนองนี้เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย การจัดการนํ้าที่สร้างผลกระทบกับคนเล็กคนน้อย เป็นปัญหาเรื้อรังที่บ่มเพาะมาจากยุคการปฏิวัติเขียวช่วงต้น พ.ศ. 2500 การชลประทานซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในสูตรสำเร็จของการปฏิวัติเขียวทั่วโลก กลับเป็นงานยากในภูมิภาคที่มีระบบแม่นํ้าและลุ่มนํ้าซับซ้อนอย่างประเทศไทย
(อ่านต่อหน้า 2)