เศรษฐกิจหมุนเวียน : ขยะจะกลายเป็นศูนย์ได้จริงหรือ
โลกไร้ขยะฟังดูไม่น่าเป็นไปได้ แต่แนวคิด เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่มนุษย์ใช้ทรัพยากรอย่างประหยัดและนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ซ้ำอย่างไม่สิ้นสุด เป็นความหวังของธุรกิจและนักสิ่งแวดล้อม แต่เราจะทำให้เกิดขึ้นจริงได้ไหม หรืออันที่จริงต้องบอกว่า เราไม่ทำได้ด้วยหรือ
ในกรุงอัมสเตอร์ดัม เมืองหลวงของเนเธอร์แลนด์ ผมพบชายคนหนึ่งที่แสดงให้ผมเห็นสายธารอันซ่อนเร้นในชีวิตของพวกเรา นั่นคือการไหลบ่าของวัสดุและผลิตภัณฑ์ที่มนุษย์ 7,700 ล้านคนใช้สอย โดยส่งผลทั้งที่วิเศษสุดและทำลายล้าง หรือเราอาจบอกว่ามันเป็นกระบวนการสร้างและเผาผลาญหรือเมแทบอลิซึมร่วมของมนุษย์ ในเช้าอันเย็นเฉียบของฤดูใบไม้ร่วงนั้น ผมนั่งอยู่ในอาคารอิฐเก่าสง่างามข้างๆโอสตรูปาร์ก ย้อนหลังไปเมื่อร้อยปีก่อน ตอนที่ชาวดัตช์ยังขูดรีดเอากาแฟ น้ำมัน และยางจากอาณานิคมของตัวเองในอินโดนีเซีย อาคารหลังนี้เคยใช้เป็นสถาบันวิจัยอาณานิคม แต่ตอนนี้มันเป็นที่ตั้งขององค์กรเพื่อสังคมหลากหลายหน่วยงาน มาร์ก ดี วิต ทำงานให้องค์กรชื่อเซอร์เคิลอีโคโนมี (Circle Economy) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในขบวนการเคลื่อนไหวอันคึกคักระดับนานาชาติ มุ่งปฏิรูปทุกอย่างที่พวกเราทำลงไปในช่วงสองร้อยปีที่ผ่านมา
ดี วิต เปิดแผ่นพับกางแผนภาพที่เขาเรียกว่า “ภาพเอกซเรย์เศรษฐกิจโลก” ขณะที่ระบบนิเวศในธรรมชาติดำเนินไปอย่างเป็นวัฏจักร นั่นคือ พืชเติบโตจากดิน สัตว์กินพืชเข้าไป แล้วมูลสัตว์กลายเป็นปุ๋ยบำรุงดิน เศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรมส่วนใหญ่กลับเป็นเส้นตรง (linear) บนแผนภาพมีแถบสีหนาๆของวัตถุดิบสี่ประเภทได้แก่ แร่ธาตุ สินแร่ เชื้อเพลิงฟอสซิล และชีวมวล พุ่งจากซ้ายไปขวา แยกออกและหลอมรวมไประหว่างที่มันกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการทั้งเจ็ดของมนุษย์ ในปีหนึ่งเราใช้ชีวมวลไป 20,100 ล้านตันเพียงเพื่อผลิตอาหารป้อนคนทั้งโลก เชื้อเพลิงฟอสซิลขับเคลื่อนพาหนะต่างๆ ให้ความอบอุ่น ใช้ทำพลาสติก กลายเป็นของใช้ต่างๆ สายธารทั้งหมดนี้ไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเมื่อปี 2015 คิดเป็น 92,800 ล้านตัน
จนถึงตอนนี้ ทุกอย่างดูดีไปหมด น่าทึ่งเลยด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่เกิดตามมาหลังจากที่ความต้องการต่างๆ ของเราได้รับการตอบสนองแล้วต่างหากที่เป็นปัญหา หรือที่จริงก็เป็นตัวแม่แห่งปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งปวง ดี วิต ชี้ไปยังหมอกสีเทาตรงขอบขวาของแผนภาพนั้น มันคือขยะ
เขาอธิบายว่า เมื่อปี 2015 วัตถุดิบที่เราขูดรีดจากโลกราวสองในสามหมดไปอย่างรวดเร็ว ของที่หามาได้ยากกว่า 61,000 ล้านตันสูญหาย ส่วนใหญ่กระจัดกระจายไปโดยไม่อาจนำกลับมาอีกได้ ขยะพลาสติกลอยล่องในแม่น้ำและมหาสมุทร เช่นเดียวกับบรรดาไนเตรตและฟอสเฟตที่ไหลซึมจากไร่นาที่ใส่ปุ๋ย หนึ่งในสามของอาหารทั้งหมดบูดเน่าเสีย ทั้งๆที่ป่าแอมะซอนถูกทำลายไปก็เพื่อขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่ม ลองคิดถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมสักเรื่องดู จะต้องเกี่ยวข้องกับการทิ้งสิ่งใดสิ่งหนึ่งเสมอ นั่นรวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเกิดจากการเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิลและปล่อยของเสีย หรือคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศ
ตอนที่ดี วิต อธิบายตัวเลขต่างๆให้ผมฟังเช้าวันนั้น ผมรู้สึกเหมือนรู้แจ้งเห็นจริง มีความกระจ่างอย่างเป็นเอกภาพและมีชีวิตชีวาอยู่ในแผนภาพชวนงงนั้น จนสามารถระบุถึงหนทางแก้ไขปัญหาได้เลย แผ่นพับบอกว่า ภัยคุกคามที่เราเผชิญอยู่มีมากมายหลายหลากและท่วมท้น และเป็นเรื่องใหญ่ในระดับโลกแน่ๆ แต่การจะอยู่กับโลกนี้ต่อไปให้ได้จริงๆ เราต้องทำเพียงประการเดียวเท่านั้น นั่นคือหยุดใช้ทรัพยากรแบบทิ้งขว้างมากเกินไป ดี วิต ชี้ไปยังลูกศรผอมๆ ท้ายแผนภาพที่วกกลับจากขวาไปซ้าย ซึ่งหมายถึงวัตถุดิบทั้งหมดที่เรากู้หรือนำกลับมาได้จากกระบวนการรีไซเคิล การย่อยสลาย และอื่นๆ มีเพียง 8,400 ล้านต้น แค่ร้อยละเก้าของทั้งหมดเท่านั้น
ลองคิดถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมสักเรื่องดู จะต้องเกี่ยวข้องกับการทิ้งสิ่งใดสิ่งหนึ่งเสมอ นั่นรวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเกิดจากการเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิลและปล่อยของเสีย หรือคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศ
“ช่องว่างของการหมุนเวียน” (circularity gap) ที่ดี วิต กับเพื่อนร่วมงานเรียก ตอนนำเสนอรายงานในเวทีสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ที่ดาวอสเมื่อปี 2018 ถือเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ในประวัติศาสตร์มนุษย์ ซึ่งเกิดขึ้นนับตั้งแต่การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเชิงอุตสาหกรรมในศตวรรษที่สิบแปด ก่อนหน้านั้น กิจกรรมส่วนใหญ่ของมนุษย์อาศัยพลังงานกล้ามเนื้อ ทั้งของมนุษย์เองหรือของสัตว์ การเพาะปลูก การผลิตสิ่งของ การส่งสินค้า ล้วนใช้แรงงานอย่างหนัก ทำให้สิ่งเหล่านั้นมีค่า พลังงานทางกายที่จำกัดยังเป็นตัวกำกับขนาดของผลกระทบที่เรามีต่อโลกด้วย อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดนี้ก็ทำให้พวกเราส่วนใหญ่ยากจนมาก
พลังงานฟอสซิลราคาถูกเปลี่ยนทุกอย่างที่ว่ามา ทำให้การสกัดวัตถุดิบทำได้ง่ายขึ้นในทุกที่ รวมทั้งการขนส่งไปยังโรงงาน และการกระจายสินค้าไปทุกแห่งหนด้วย กระบวนการนี้ก็เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ขณะที่ประชากรโลกเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ปริมาณวัตถุดิบที่ไหลอยู่ในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นกว่าสามเท่า
“ตอนนี้เรามาถึงขีดจำกัดแล้วครับ” ดี วิต บอก
ในช่วงครึ่งศตวรรษเดียวกันนั้น นักสิ่งแวดล้อมพร่ำเตือนเรื่องข้อจำกัดของการเติบโตตลอดมา แต่ขบวนการเคลื่อนไหวใหม่เพื่อ “เศรษฐกิจหมุนเวียน” (circular economy) นั้นต่างออกไป สิ่งนี้เป็นการรวบรวมกลยุทธ์ต่างๆ บ้างเก่า เช่น การลดใช้ การใช้ซ้ำ และการรีไซเคิล บ้างใหม่ เช่น การเช่ายืมสิ่งของแทนการเป็นเจ้าของ ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วมุ่งเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจโลกเพื่อกำจัดขยะ เศรษฐกิจหมุนเวียนไม่ได้จะยุติการเติบโต แต่มุ่งหันเหวิถีที่เราทำสิ่งต่างๆให้กลับไปสอดคล้องกับธรรมชาติ เพื่อให้การเติบโตนั้นดำเนินต่อไปได้ “ความรุ่งโรจน์ในโลกที่มีทรัพยากรจำกัด” ดังที่กรรมาธิการด้านสิ่งแวดล้อมยุโรป ยาเนซ โปตอชนิก เขียนไว้
เศรษฐกิจหมุนเวียนไม่ได้จะยุติการเติบโต แต่มุ่งหันเหวิถีที่เราทำสิ่งต่างๆให้กลับไปสอดคล้องกับธรรมชาติ เพื่อให้การเติบโตนั้นดำเนินต่อไปได้
แนวคิดนี้ได้รับความนิยมโดยเฉพาะในยุโรป ยุโรปลงทุนกลยุทธ์นี้ไปหลายพันล้าน เนเธอร์แลนด์ปฏิญาณว่าจะเข้าสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนเต็มตัวภายในปี 2050 อัมสเตอร์ดัม ปารีส และลอนดอน ล้วนมีแผนเช่นนั้น “มันต้องเกิดแหละครับ” เวย์น ฮับเบิร์ด ประธานคณะกรรมการจัดการขยะและการรีไซเคิลของกรุงลอนดอน ตอบเมื่อผมถามว่าเศรษฐกิจหมุนเวียนจะเกิดขึ้นได้หรือไม่
บุคคลหนึ่งที่มั่นใจว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นได้แน่และมีผลงานประจักษ์ตาคนมากมาย คือสถาปนิกชาวอเมริกัน วิลเลียม แมกดอนาห์ เขากับนักเคมีชาวเยอรมัน ไมเคิล เบราน์การ์ต เขียนหนังสือที่มองการณ์ไกลอย่างลึกซึ้งและเปี่ยมจินตนาการชื่อ Cradle to Cradle (จากอู่สู่อู่ หรือ เปลี่ยนเส้นตรงให้เป็นวงกลม) ตีพิมพ์เมื่อปี 2002 โดยเสนอว่าเราสามารถออกแบบผลิตภัณฑ์และระบบเศรษฐกิจให้ขยะทั้งหมดกลายเป็นวัสดุสำหรับสิ่งของอย่างอื่นได้ ก่อนไปยุโรป ผมไปพบแมกดอนาห์ที่สำนักงานในเมืองชาร์ล็อตส์วิลล์ รัฐเวอร์จิเนีย ที่คุยกันมาเรื่องอวสานขยะนี่เป็นเรื่องเพ้อฝันหรือเปล่า
“เป็นความคิดเพ้อฝันแน่ละครับ ไม่ต้องสงสัยเลย” แมกดอนาห์ตอบและเสริมว่า “เราต้องมีความคิดเพ้อฝันเพื่อช่วยให้เราก้าวไปข้างหน้าไม่ใช่หรือ
เศรษฐกิจหมุนเวียนที่เป็นแรงบันดาลใจให้คนจำนวนมากทำเรื่องเท่ๆ แต่มันจะยังไม่เกิดขึ้น ถ้าเราหันหน้าหนีจากแสงสว่าง และมองตัวเลขอันหม่นมัวที่ดี วิต แห่งเซอร์เคิลอีโคโนมี ให้ผมดู “ช่องว่างของการหมุนเวียน” กำลังถ่างออก ไม่ใช่หดแคบลง การใช้ทรัพยากรธรรมชาติของเราอาจเพิ่มขึ้นเท่าตัวภายในปี 2050 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็ยังคงเพิ่มขึ้น
“มันไปเร็วพอไหม ก็ไม่เชิงนะครับ” ดี วิต บอก “ตัวบ่งชี้ทั้งหมดยังเป็นตัวแดงอยู่”
ดี วิต ยังรอเวลา เหมือนคนมองโลกแง่ดีอื่นๆที่ผมพบ การสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนต้องใช้การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมขนานใหญ่ระดับการปฏิวัติอุตสาหกรรม “คุณต้องอึดครับ” ดี วิต บอก ก่อนจะทิ้งท้ายว่า “ผมรู้สึกว่าเราไม่อาจทำได้ด้วยคนรุ่นที่มีอำนาจอยู่ตอนนี้ ต้องใช้คนทั้งชั่วรุ่นกว่าจะเห็นผลชัดเจน” นั่นคือคนรุ่นผม แน่ละว่าเราคงตายไปนานแล้ว กว่าเศรษฐกิจหมุนเวียนจะมาถึง แต่เราจะทำส่วนของเราเพื่อนำพาโลกไปสู่หนทางนั้น
เรื่อง โรเบิร์ต คุนซิก
ภาพถ่าย ลูกา โลกาเตลลี
*** อ่านสารคดีฉบับเต็มได้ในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนมีนาคม 2563
สารคดีแนะนำ