ม้งไซเบอร์: แพลตฟอร์มพัฒนาเยาวชนชาวเขา

ม้งไซเบอร์: แพลตฟอร์มพัฒนาเยาวชนชาวเขา

ม้งไซเบอร์ ธุรกิจเพื่อสังคม ที่พัฒนาเยาวชน ส่งเสริม คุณภาพชีวิต และสร้างผู้นำชุมชน

ปัญหาที่เกิดกับการศึกษาในประเทศไทยมาอย่างยาวนานคือ สถาบันการศึกษาขั้นพื้นฐานมีปัญหาด้านคุณภาพการศึกษาที่แตกต่างกันสูงมากระหว่างโรงเรียนมีชื่อเสียงในเมืองราวสี่ร้อยแห่ง และโรงเรียนทั่วประเทศอีกสามหมื่นกว่าแห่ง ม้งไซเบอร์

บุตรหลานของคนรายได้ต่ำที่ได้รับการศึกษาในโรงเรียนที่มีคุณภาพต่ำกว่า และมีปัญหาสภาพแวดล้อมทางสังคมอื่น ๆ เป็นปัจจัยร่วม ส่งผลให้เด็กเหล่านั้นต้องออกจากการระบบการศึกษากลางคัน คือเรียนไม่จบมัธยมศึกษาตอนปลายเป็นสัดส่วนสูง รศ.วิทยากร เชียงกูล อาจารย์พิเศษ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวในการสัมภาษณ์ของกรุงเทพธุรกิจ

ม้งไซเบอร์, ธุรกิจเพื่อสังคม, ความยั่งยืน, ธุรกิจเพื่อความยั่งยืน, การพัฒนาเพื่อความยั่งยืน, บ้านน้ำจวง,
บรรยากาศในหมู่บ้านน้ำจวง ประชากรทั้งหมดเป็นชาวม้ง และประกอบอาชีพเกษตรกรรม

จากปัญหาดังกล่าว ครูปาร์ค – บุตรพจน์ พลพิพัฒนาพงศ์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัท ม้งไซเบอร์ โซเชียลเอนเตอร์ไพรส์ จำกัด ได้พบเจอปัญหาด้านการศึกษาไทยจากประสบการณ์ตรง ที่ได้ไปเยี่ยมเยือนหมู่บ้านม้งพร้อมกับคุณพ่อและคุณแม่ ที่หมู่บ้านน้ำจวง ตำบลบ่อภาค อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก เขาเล่าว่า “ในหมู่บ้านมีแต่ผู้สูงอายุและเด็ก วัยทำงานต่างจำเป็นต้องละถิ่นเพื่อไปหารายได้ในเมือง” และเสริมว่า “ปัญหาของเด็กนักเรียนในหมู่บ้านน้ำจวงคือไม่มีความรู้ที่มีศักยภาพเพียงพอ ที่จะสร้างรายได้จากทรัพยากรในพื้นที่ได้ พอถึงวัยทำงานก็ต้องเข้าไปทำงานในเมือง” ซึ่งเป็นเหตุสืบเนื่องมาจากปัญหาการเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน และคุณภาพการศึกษาของพื้นที่ห่างไกล ที่แตกต่างกับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนในเมืองอย่างลิบลับ

จึงเป็นจุดเริ่มที่ครูปาร์ครู้สึกว่า ต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อให้เยาวชนในหมู่บ้าน เข้าถึงทักษะอาชีพที่พวกเขาต้องการเรียนรู้จริงๆ และสามารถนำไปสร้างอาชีพให้กับตัวเองได้

จัดการเรียนรู้ตามความต้องการของผู้เรียนจริงๆ

ครูปาร์คเริ่มต้นจากการเป็นครูอาสาในบ้านน้ำจวง โดยสอบถามความต้องการของเด็กๆ ว่า พวกเขาอยากเรียนวิชาอะไร ก็ได้คำตอบว่า สิ่งที่พวกเขาอยากเรียนเป็นเรื่องที่สามารถจัดการสอนเพิ่มเติมจากโรงเรียนได้ เขาจึงนำเด็กที่มีความสนใจด้านต่างๆ มารวมตัวกันเปิดชั้นเรียนขึ้นมา โดยสิ่งที่เด็กๆ สนใจคือ วิชาคหกรรม การเขียน Coding ถ่ายภาพและวิดีโอ ศิลปะ และเกษตรกรรม

ครูปาร์คแบ่งเด็กออกเป็นกลุ่มตามความสนใจ และจัดหาอุปกรณ์การเรียนที่เหมาะสมให้กับเด็กๆ “ในช่วงเริ่มแรก ผมไม่สามารถสอนน้องๆ ได้ทุกวิชา ยกเว้น การเล่นดนตรีที่ผมถนัด แต่ผมก็เรียนรู้ไปพร้อมกับน้องๆ” เขายกตัวอย่างว่า “ในวิชาคหกรรม ผมถามน้องๆ ว่าอยากทำอาหารอะไร เด็กๆ ตอบว่า อยากทำอาหารเกาหลี ผมก็ไปซื้อวัตถุดิบจากตลาด แล้วก็เปิดวิดีโอการทำอาหารเกาหลีจากยูทูบ”

“น้องๆ มีศักยภาพอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่มีโอกาสได้ต่อยอดการเรียนรู้ และนำไปประยุกต์ใช้อย่างถูกวิธี ซึ่งมักถูกจำกัดด้วยระบบการศึกษาที่มีอยู่” วิน – วริทธิ์ สิงหเสนี หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทฯ กล่าว

นอกจากนี้ ค่านิยมของสังคมมักตีกรอบคุณค่าของคนชาวม้งว่าเป็นบุคคลชายขอบ ทำให้การเข้าถึงงานและโอกาสในเรื่องงานน้อยลงไปด้วย “พอเด็กๆ เรียนจบมา เขาก็อยากทำงานดีๆ นะ แต่ค่านิยมทางสังคมก็เป็นอุปสรรคหนึ่งที่ตัดสินคุณค่าของพวกเขาไปแล้ว” บอล – กัมพล​ เหล่าอารีรัตน์​

จากสิ่งต่างๆ ที่ทีมงานม้งไซเบอร์รับรู้ผ่านการทำงานในพื้นที่ จึงเป็นแรงผลักให้พวกเขาอยากเพิ่มคุณค่าให้กับเยาวชนม้งบ้านน้ำจวง เพื่อพวกเขาเองจะเป็นตัวอย่างให้สังคมเห็นว่า บุคลากรชาวม้งก็มีความสามารถ และมีศักยภาพ เหมือนกับคนที่อื่นๆ ทั่วไป

กิจกรรมที่ครูปาร์คทำทั้งหมดได้ถูกเผยแพร่ลงในบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ส่วนตัว ซึ่งทำให้เพื่อน ๆ เริ่มเห็นความตั้งใจของเขา และอยากลงพื้นที่เพื่อมาช่วยสอนทักษะต่างๆ ให้กับเยาวชนที่บ้านน้ำจวง

ในที่สุดก็เกิดเป็นรูปแบบการเรียนการสอนจริงๆ ที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เป็นผู้สอนทักษะอาชีพที่น้องๆ ต้องการ เขาจึงมีแนวคิดว่า เมื่อนัองมีศักยภาพแล้ว ก็ควรมีพื้นที่ของการแสดงศักยภาพ และเป็นการประชาสัมพันธ์เรื่องราวหมู่บ้านน้ำจวงให้ภายนอกได้รับรู้ จุดนี้คือการเริ่มต้นของการจัดงาน Hmong Cyber Music Festival 2019

จากหมู่บ้านที่มีนาขั้นบันได สู่เทศกาลดนตรี

หลังจากลงพื้นที่สอนวิชาต่างๆ ให้กับเยาวชนในบ้านน้ำจวง ครูปาร์คได้รู้จักตัวเองมากขึ้น เขาค้นพบว่า หนึ่งในงานที่เขาสนุกและรักมากคือ การสอนหนังสือ เขาไม่เคยรู้ตัวมาก่อนจนกระทั่งได้มาทำงานกับเด็กๆ ที่นี่ “เราพบว่าเยาวชนม้งมีทักษะชีวิตสูงมาก เนื่องจากต้องช่วยงานที่บ้านตั้งแต่ยังเล็ก เวลาเรียนหนังสือเขาก็จะตั้งใจมากเช่นกัน” เขากล่าว

เมื่อจบหลักสูตร เขาจึงอยากให้เด็กๆ มีพื้นที่การแสดงออก และต้องการให้ผู้ปกครองเห็นว่า การเรียนการสอนของลูกๆ สามารถนำมาต่อยอดทางอาชีพที่สร้างรายได้ ได้อย่างไร

“เราต้องการให้คนภายนอก และผู้ปกครองของเด็กๆ ได้เห็นภาพตรงกันว่า เยาวชนที่เข้ามาเสริมทักษะด้านอาชีพกับม้งไซเบอร์ มีผลสัมฤทธิ์เป็นอย่างไร” ครูปาร์คกล่าวและเสริมว่า “นอกจากนี้ เราอยากให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม และให้เขาเห็นคุณค่าของทรัพยากรในพื้นที่ของตัวเอง”

ในปี 2019 ครูปาร์คได้มองหาผู้จัดงานเทศกาลดนตรี แต่ก็พบกับกลุ่มมิจฉาชีพที่รับค่าจ้างไปแล้วไม่สามารถจัดงานได้ “แต่ผมประกาศกับชาวบ้านไปแล้วว่า เราจะจัดงานเทศกาลดนตรี มันเป็นความรับผิดชอบที่ค้ำคอเราอยู่ ผมจึงยืนยันที่จะจัดงานต่อให้ได้” เขาเล่าถึงประสบการณ์การจัดงานครั้งแรก

(ซ้าย) เมล – ธนาธิป ภาคามล (ขวา) เค้ก – พรรณปพร ภาคามล

จนกระทั่งเขาได้พบกับ เค้ก – พรรณปพร ภาคามล และเมล – ธนาธิป ภาคามล ที่สามารถรังสรรค์ให้เทศกาลดนตรีเกิดขึ้นได้จริง “เราอยากสร้างน้องๆ ให้เกิดแรงบันดาลใจ สอนน้องๆ ให้มีทักษะ และนำทักษะที่เรียนรู้ไปสร้างรายได้ผ่านเทศกาลดนตรี” ครูปาร์คกล่าว จุดเด่นของการจัดงานในปีแรกคือการจัดประกวดมิสม้ง ภายใต้แนวคิด ผีเสื้อจากขุนเขา โดยทีมงาน มิสม้งไทยแลนด์

ในปีแรก เราผ่านการจัดงานมาแบบเหนือความคาดหมายอย่างมาก และชาวบ้าน รวมถึงเด็กๆ เองก็มองเห็นภาพว่า หมู่บ้านน้ำจวงมีศักยภาพในการสร้างรายมูลค่าได้ โดยไม่ต้องละถิ่นเข้าไปทำงานในเมือง

“งานในปีแรกมันเกินความคาดหมายของพวกเรามาก” ทีมผู้ก่อตั้งกล่าวเป็นเสียงเดียวกัน “นาขั้นบันไดถูกแปลงให้เป็นลานกางเต็นท์ แสงสีเสียงทั้งหมดที่ใช้ในงานได้เปลี่ยนพื้นที่บนเขาสูงเป็นลานเทศกาลดนตรีอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน”

งานในครั้งนั้นมีผู้สนใจเข้าร่วมงานราว 500 คน โดยมาจากการขายบัตรเข้าชมงานแก่ชาวเมืองประมาณ 200 คน และชาวม้งที่เข้าร่วมงานได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายอีกประมาณ 300 คน

การสร้างทรัพยากรมนุษย์อย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

จากความสำเร็จในการงาน Hmong Cyber Music Festival 2019 จึงเกิดการจัดงานครั้งที่สองในปี 2020 โดยม้งไซเบอร์ต้องการพัฒนาการศึกษาและการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนไปพร้อมกัน

บรรยากาศงาน Hmong Cyber Music Festival 2020

ทั้งจากปัญหาเรื่องการถูกโกง และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นระหว่างการจัดการเรียนการสอนในบ้านน้ำจวง ม้งไซเบอร์จึงเกิดแนวทางการพัฒนาระบบการศึกษาเพื่อพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่สามารถบริหารจัดการท่องเที่ยวได้ โดยให้นักเรียนในหมู่บ้าน นำทักษะด้านอาชีพ ทั้งเรื่องการทำอาหาร ทำขนม การจัดอีเวนต์ การสื่อสารมวลชน และการบริการนักท่องเที่ยว มาขับเคลื่อนเศรษฐกิจในหมู่บ้านด้วยการจัดงานเทศกาลดนตรีปีละหนึ่งครั้ง แต่เปิดรับนักท่องเที่ยวให้เข้าชมหมู่บ้านตลอดทั้งปี โดยม้งไซเบอร์จะเป็นผู้ที่สื่อสารไปยังสังคมภายนอก และหานักท่องเที่ยวเข้ามาร่วมงาน ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ที่มี

“เด็กๆ ดูมีความสุขนะ ที่เขาได้นำความรู้ที่เรียนไปจากเรามาร่วมสร้างเทศกาลดนตรี” ครูปาร์คกล่าว

งานในปี 2020 ก็ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น และยังได้รับการตอบรับที่ดีจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาร่วมงาน โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐในท้องถิ่นที่เข้ามาสังเกตการณ์การจัดงานในบ้านน้ำจวงด้วย “หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรเอกชนต่างๆ เล็งเห็นถึงความหมายของการจัดงานของเรา เราจึงเริ่มยื่นขอทุนสนับสนุนไปยังหน่วยงานต่างๆ เพิ่มขึ้น และได้รับการสนับสนุนที่ดี” วริทธิ์กล่าว

เทศกาลดนตรีครั้งที่สามกำลังจะเกิดขึ้นในปี 2021 แต่ก็ต้องประสบกับปัญหาเรื่องการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด – 19 ในช่วงนี้ ม้งไซเบอร์จึงพยายามนำแผนธุรกิจไปเสนอในรายการประกวดต่างๆ เพื่อหาเงินทุนเพิ่มเติม และเป็นการประชาสัมพันธ์ธุรกิจเพื่อสังคมของพวกเขาไปในตัว

“ในระหว่างการทำงาน เราพบคำถามประจำคือ ม้งไซเบอร์กำลังไปเปลี่ยนวิถีชีวิตของชาวม้งหรือไม่” กัมพลกล่าวและเสริมว่า “ผมคิดว่า เราไม่ได้เปลี่ยนเขาไปอย่างสิ้นเชิง สิ่งที่เราพยายามสร้างคือความรู้ เมื่อเขามีความรู้ เขาก็จะมองออกว่า สิ่งที่เป็นรากฐานทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวม้ง สามารถนำมาพัฒนาให้ยั่งยืนได้อย่างไร โดยไม่ทิ้งรากเหง้าของตัวเอง”

“ที่ผ่านมา ความเป็นอยู่ของชาวบ้านน้ำจวง ที่วัยทำงานต่างละถิ่นเพื่อไปทำงานที่อื่น วิถีแบบนั้นหรือเปล่าที่กระทบต่อวิถีชีวิตของชาวม้ง” วริทธิ์กล่าวเสริม

“เราทำงานกับชุมชนมาแล้ว 2 ปี เรารู้ความต้องการจริงๆ และต้นเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น เรามั่นใจว่า การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีศักยภาพ เขาจะไม่อยากละทิ้งบ้านเกิดของตัวเอง แต่เขาจะต่อยอดจากสิ่งที่เขามี” ครูปาร์คกล่าว

ในอนาคต ม้งไซเบอร์อยากขยายรูปแบบการเรียนการสอนตามความต้องการของผู้เรียนไปยังหมู่บ้านม้งอื่นๆ ในจังหวัดพิษณุโลก และในระยะยาวก็วางเป้าหมายขยายผลออกไปยังพื้นที่ด้อยโอกาสทางการศึกษาทั่วประเทศ

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับม้งไซเบอร์
เฟซบุ๊ก : https://www.facebook.com/hmongcyber
อินสตาแกรม : hmongcyber
เว็บไซต์ : https://hmongcyber.com/
ยูทูป : Hmong Cyber Social Enterprise
ไลน์ : @hmongcyber

เรื่อง ณภัทรดนัย
ภาพถ่าย พศิน รัตนเดชตระกูล และม้งไซเบอร์

ขอบคุณผู้สนับสนุนงานของม้งไซเบอร์ 

โรงเรียนบ้านน้ำจวง, วิสาหกิจชุมชนบ้านน้ำจวง, กลุ่มสหายสามจังหวัด, อบต. บ่อภาค, อำเภอชาติตระการ, คณะศึกษาศาสตร์ ม.นเรศวร, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม, มิสม้งไทยแลนด์, สมาคมม้งกรุงเทพและเครือข่าย, สถาบันพัฒนาสี่แยกอินโดจีน, สมาคมสตรีอาสาสมัครรักษาดินแดน จ.พิษณุโลก, มูลนิธิ พลเอก ดร.ศิริ ทิวะพันธุ์, ททท. พิษณุโลก, รายการ Win Win War, Banpu Champion for Change, บริษัท เมืองธรรมไลท์ จำกัด, บจก.สิงห์สหภัณฑ์, โตโยต้า พิษณุโลก, สเต็กปีนัง พิษณุโลก, The piney bistro cafe, bitpasa, Ram10 ราม10, SAMT mobility school, Great Reform และ CannaHmong


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : Local Alike ธุรกิจเพื่อสังคมด้านการท่องเที่ยว กับผลกระทบจากการระบาดใหญ่

Recommend