ชาวปกาเกอะญอใน บ้านแม่เหาะ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน จัดการท่องเที่ยวด้วยการชูเอกลักษณ์ของชุมชน
08.00 น. บ้านแม่เหาะ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
แสงแดดยามเช้าในเดือนพฤศจิกายนแทงทะลุผ่านทุ่งดอกบัวตอง นำความอบอุ่นและสดชื่นมาในคราวเดียวกัน สำนึกที่เคยร่ำเรียนวิชานิเวศวิทยาก็พลันแล่นเข้ามาในความคิดว่า บัวตองเป็นพืชต่างถิ่นและเป็นผู้รุกราน แต่ถ้าในแง่ของความอภิรมย์ ภาพตรงหน้านับได้ว่าเป็นความงดงามอย่างหนึ่งในชีวิต
จากการระบาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวโดยตรง หลายฝ่ายจึงกลับมามองย้อนถึงสิ่งที่เกิดขึ้น รายได้จากการท่องเที่ยวที่เคยเบ่งบาน กลับหายวับไปในชั่วพริบตาเดียว หลายคนพูดถึงคำว่า “ยั่งยืน” เช่น รายได้ที่ยั่งยืน การประกอบธุรกิจอย่างยั่งยืน และอีกมากมายที่ลงท้ายด้วยคำว่ายั่งยืน
แต่พวกเราเข้าใจคำว่า “ยั่งยืน” อย่างไร
หลังจากสถานการณ์การระบาดโรคโควิด-19 ในประเทศไทยมีความผ่อนคลายมากขึ้น ประชาชนในประเทศต่างถวิลหาการเดินทางอีกครั้ง ทั้งด้วยนโยบายสนับสนุนการท่องเที่ยวจากภาครัฐ ยิ่งผลักให้ผู้คนในประเทศมองว่า เป็นช่วงเวลาอันดีที่จะออกไปปลดปล่อยอารมณ์ที่ตึงเครียดมาตลอดทั้งปี
อย่างไรก็ตาม มาตรการล็อกดาวน์ได้ทิ้งร่องรอยบางอย่างไว้ให้เราได้เรียนรู้ นั่นคือการฟื้นตัวของสถานที่ทางธรรมชาติ ทุกคนเห็นตรงกันว่า “เราควรเริ่มหันมามองการท่องเที่ยวอย่างใส่ใจสิ่งแวดล้อม” ซึ่งหมายความรวมไปถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชุมชน
เราจึงมองหาสถานที่ที่สามารถบอกเล่าเรื่องราว “ความยั่งยืน” และ “การท่องเที่ยว” ให้กับเราได้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันที่บริษัท Local Alike บริษัทนำเที่ยวชุมชน ติดต่อเราเข้ามาเพื่อไปเยี่ยมชมชุมชนแม่เหาะ ชุมชนที่บริหารจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน และสามารถสร้างความยั่งยืนได้จากการร่วมมือกันของคนในพื้นที่
เดินขึ้นดอยตามเส้นทางชุมชน
บ้านแม่เหาะ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นทางผ่านของนักเดินทางมากหน้าหลายตา แต่ยังไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวแวะเที่ยวค้างคืนที่นี่สักเท่าไร การเดินทางครั้งนี้จึงเป็นความตั้งใจที่อยากมาเห็นการท่องเที่ยวที่บริหารจัดการโดยชุมชน และการทำงานร่วมกันระหว่างชุมชน ภาคเอกชน และหน่วยงานรัฐบาล
“ที่นี่ไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางมาค้างคืนสักเท่าไรค่ะ ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติที่มาเดินป่า” กุ๊ก-ศิริพร พะเงาะ ไกด์ท้องถิ่นของเราในครั้งนี้ กล่าวด้วยสำเนียงอันเป็นเอกลักษณ์ และเสริมว่า “คนไทยส่วนใหญ่ก็จะมุ่งหน้าไปยังอำเภอปาย แม่ฮ่องสอน หรือสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมที่อื่นค่ะ”
เรากำลังเดินอยู่ในป่าเบญจพรรณ ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าชุมชนที่อยู่ด้านหลังหมู่บ้านแม่เหาะ เส้นทางที่เราใช้เดินอยู่ตอนนี้ คือเส้นทางเดียวกับที่ชาวบ้านขึ้นมาหาของป่า ทางเดินจึงไม่ใช่ทางปูนหรือมีราวจับระหว่างทาง นักท่องเที่ยวต้องใช้ทักษะการเดินป่าที่ดีในระดับหนึ่ง และเตรียมรองเท้าที่เหมาะสมกับการเดินป่า ไม่เช่นนั้นอาจลื่นล้มระหว่างเดินไปตามทางชัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าพึงพอใจเท่าไร
ระหว่างทางเราได้เห็นร่องรอยการใช้ประโยชน์จากป่า เช่น ร่องรอยการหาหน่อไม้ รอยถากต้นสนเพื่อนำยางสนไปทำเชื้อเพลิงก่อไฟ และร่องรอยของพืชสมุนไพรที่ขึ้นอยู่ริมทาง “ชาวบ้านแม่เหาะมักนำวัวขึ้นมาปล่อยไว้บนนี้ด้วยค่ะ เพื่อให้วัวหากินเอง แล้วจึงมาต้อนกลับลงไป” กุ๊กเล่าให้เราฟังถึงเรื่องการใช้ประโยชน์จากป่าชุมชน “บางครั้งเด็กๆ ในหมู่บ้านก็เดินขึ้นมาเล่นบนนี้ เหมือนเป็นสนามเด็กเล่น”
ส่วนเรื่องของการท่องเที่ยวเริ่มขึ้นจากแนวความคิดที่ว่า ชุมชนอยากมีรายได้เสริมจากการทำเกษตรกรรม ผู้นำหมู่บ้านจึงเล็งเห็นการพัฒนาเส้นทางหาของป่าบน “ดอยหัวสิงห์” ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ และมีไกด์ท้องถิ่นเป็นผู้ให้บริการ “ในเรื่องการท่องเที่ยว เราได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ จัดทำป้ายสื่อความหมายและข้อมูลของสถานที่ และบริษัท Local Alike ที่ให้ความรู้เรื่องการบริหารจัดการท่องเที่ยวในชุมชน” พี่แพค-ธนวุฒิ ศรีพนามีชัย ประธานกลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนแม่เหาะ กล่าว
ตลอดเส้นทางเดิน เราไม่พบสิ่งแปลกปลอมที่เป็นสิ่งปลูกสร้างถาวร เช่น ป้ายเช็กอิน ป้ายบอกเส้นทาง ที่นั่งพักระหว่างทาง หรือเสารั้วกันนักท่องเที่ยวเดินตกเขา เพราะชาวบ้านมองว่า สิ่งเหล่านั้นควรอยู่แค่ในหมู่บ้าน ไม่ควรขึ้นมาอยู่บนนี้ และเมื่อเรามีไกด์ท้องถิ่นที่ชำนาญเส้นทางแล้ว โครงสร้างเหล่านั้นก็ไม่มีความจำเป็นเลย
เส้นทางเดินป่าดอยหัวสิงห์ แทบไม่มีนักท่องเที่ยวชาวไทยมาเยือน ทั้งกุ๊กและพี่แพคบอกว่า พวกเราเป็นชาวไทยกลุ่มแรกๆ ที่เดินขึ้นมาบนนี้ ในช่วงเที่ยงวัน เรานั่งพักรับประทานอาหารเที่ยงกันบนสันเขา ข้าวที่ห่อมาในใบตองมัดด้วยตอก พร้อมกับข้าวแบบง่ายๆ ส่งผลให้มื้อนั้นมีอรรถรสที่ดียิ่งขึ้น ทุกคนพลางกินข้าวพลางยิ้ม และหัวเราะร่วนไปกับเรื่องเล่าของพี่แพค
“เราได้จัดเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ เช่น ช้อนกินข้าว แก้วน้ำ และน้ำดื่ม ไว้ให้บริการ เพื่อไม่ให้นักท่องเที่ยวนำขยะขึ้นมาบนดอย” พี่แพคอธิบายพร้อมเปิดเป้สัมภาระที่สะพายอยู่ประกอบการบรราย “ที่อื่นๆ นักท่องเที่ยวมักซื้ออาหารมากันเอง แล้วเราก็ต้องมาคิดเรื่องการจัดการขยะ แต่ที่นี่เราไม่ให้เอาขยะขึ้นมาบนดอย” ตอนเริ่มทำเรื่องการท่องเที่ยว ทีมงานจาก Local Alike ต้องทำความเข้าใจ และขอความร่วมมือจากชุมชนในเรื่องนี้ เพราะชาวบ้านยังขาดองค์ความรู้เรื่องการจัดการขยะ แต่เมื่อชาวบ้านเห็นประโยชน์จึงสามารถร่วมมือกันทำได้อย่างดี
จากจุดนี้ เราเห็นกระบวนการจัดการอย่างเป็นระบบและรอบคอบ รวมถึงชาวบ้านได้เรียนรู้จากปัญหาที่เกิดขึ้นในสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ และนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ของตัวเอง เพื่อรักษาความสมบูรณ์ของพื้นที่เอาไว้ และทำให้การท่องเที่ยวชุมชนดำเนินต่อไปอย่างยั่งยืน รวมไปถึงชาวบ้านก็ยังสามารถใช้ประโยชน์จากป่าที่เป็นบ้านของพวกเขาได้เช่นเดิม
เรียนรู้วิถีชีวิตผ่านการใช้ชีวิต
นอกจากเส้นทางเดินป่าดอยหัวสิงห์ ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ในชุมชน เช่น น้ำตกแม่สวรรค์น้อย จุดชมวิวหว่ากลึโจ๊ะ และโฮมสเตย์ในหมู่บ้านสำหรับให้นักท่องเที่ยวพักค้างคืน
การจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกคนในชุมชน โดยเฉพาะเรื่องการทำความเข้าใจให้เกิดแนวปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน ให้ชาวบ้านรู้จักหวงแหน และภาคภูมิใจในความเป็นเอกลักษณ์ของชุมชน “กุ๊กมองว่าอันนี้เป็นจุดขายที่เราแทบไม่มีต้นทุนเลยค่ะ” ไกด์ของเรากล่าวและเสริมว่า “แม้ความเจริญจะย่างกรายเข้ามา แต่พวกเรายังภูมิใจในความเป็นปกาเกอะญอ และอยากบอกเล่าเรื่องราวชีวิตที่ผูกพันกับธรรมชาติให้คนภายนอกได้รับรู้” กุ๊กเป็นหญิงสาวชาวเผ่า ที่เข้าไปเรียนมหาวิทยาลัยในจังหวัดเชียงราย และกลับมาเป็นครูในหมู่บ้านของตนเอง เพื่อสอนให้เยาวชนรุ่นหลังรู้จักรับมือกับโลกแห่งความทันสมัยที่อยู่ในมือของพวกเขา
ในทุกวันนี้คงเป็นเรื่องที่ปฏิเสธได้ยากที่จะไม่รับความทันสมัยเข้ามาปะปนกับวิถีชีวิตดั้งเดิม “แต่กุ๊กมองว่า การรับเข้ามาบางส่วน และคงวิถีชีวิตดั้งเดิมของเราไว้ หาจุดร่วมของทั้งสองสิ่งให้เกิดประโยชน์ ก็น่าจะเป็นการปรับตัวที่ดีค่ะ” เธอกล่าว
ชาวปกาเกอะญอในหมู่บ้านแม่เหาะอพยพมาตั้งถิ่นฐานตั้งเมื่อใด ไม่มีข้อมูลที่แน่ชัด แม้จะมีถนนหลวงตัดผ่านหมู่บ้าน แต่ชาวบ้านที่นี่ยังคงพูดภาษาประจำเผ่า และยังใช้ชีวิตแบบดั้งเดิมตามบรรพบุรุษ ทั้งเรื่องการแต่งกาย อาหาร และการทำการเกษตร และนำสิ่งเหล่านี้เสนอเป็น “คอนเทนต์” ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยี่ยมชมวิถีชีวิตของพวกเขา
จากความร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งในชุมชน และการสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอก ทำให้การท่องเที่ยวที่นี่ไม่ใช่แค่การไปถ่ายรูปเช็กอินกับป้ายชื่อสถานที่ขนาดใหญ่ ไม่มีนักท่องเที่ยวพลุกพล่านจนรถติดเหมือนสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม และไม่เกิดการสร้างขยะจนยากแก่การควบคุม
ชาวบ้านยังสามารถใช้ชีวิตได้อย่างที่เคยเป็น ในขณะที่นักท่องเที่ยวเป็นแขกผู้มาเยือน ที่เดินปะปนไปในถนนของหมู่บ้าน ชาวบ้านกินอะไร นักท่องเที่ยวก็กินแบบนั้น ชาวบ้านนอนอย่างไร นักท่องเที่ยวก็ต้องนอนอย่างนั้น และต้องเคารพธรรมเนียมปฏิบัติของเผ่า เช่น ชายหญิงที่ยังไม่แต่งงานกันห้ามนอนด้วยกัน เป็นต้น
จากการใช้ชีวิตร่วมกับชาวบ้านเป็นเวลาสามวัน เราได้เรียนรู้ว่า เราเป็นเพียงผู้มาเยือน และเราต้องเคารพท้องถิ่น ซึ่งรวมไปถึงทรัพยากรธรรมชาติ ชุมชน สังคม และวิถีชีวิต ทำให้เราได้มานั่งพูดคุยกันและนึกย้อนไปถึงสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งในประเทศไทย ที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางไปจำนวนมาก และความเป็นชุมชนท้องถิ่นค่อยๆ จางหายไปจนหมดเสน่ห์
การท่องเที่ยวชุมชนครั้งนี้ เราได้สัมผัสเสน่ห์ของชาวปกาเกอะญอ ความเรียบง่ายของการใช้ชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติ วิถีชีวิตที่ไม่เบียดเบียนแต่ดูแลรักษาให้ป่ายังคงเป็นแหล่งอาหารอย่างยั่งยืน ความเข้าใจชีวิตของชาวเผ่าที่เปิดรับคนจากภายนอก แต่ก็ไม่ได้สูญเสียความเป็นตัวเอง และโดยส่วนตัว เราได้สร้างความทรงจำที่ดีระหว่างเพื่อนร่วมทาง เมื่อเรามองย้อนกลับไปทุกครั้ง เราจะยังยิ้มให้กับความทรงจำนั้นเสมอ
เรื่อง ณภัทรดนัย
ภาพถ่าย วิศรุต วีระโสภณ
สนใจการท่องเที่ยวชุมชนแม่เหาะ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่อ่องสอน ติดต่อ https://localalike.com/
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ :ท่องเที่ยวชุมชน ที่บ้านบางหมาก จังหวัดชุมพร