แนวคิดวัดสมัยใหม่ของ ‘วัดจากแดง’ ศูนย์กลางศาสนาและศูนย์จัดการขยะครบวงจร

แนวคิดวัดสมัยใหม่ของ ‘วัดจากแดง’ ศูนย์กลางศาสนาและศูนย์จัดการขยะครบวงจร

วัดจากแดง จังหวัดสมุทรปราการ วัดสมัยใหม่ที่สอนชาวบ้านให้มีความตระหนักรู้ด้านสิ่งแวดล้อม และพัฒนาจนเป็นศูนย์การเรียนรู้และจัดการขยะชุมชนอย่างครบวงจร

เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว พระมหาประนอม ธมฺมาลงฺกาโร เจ้าอาวาสวัดจากแดง จ.สมุทรปราการ ได้ริเริ่มความคิดที่จะเปลี่ยนวัดจากแดงให้เป็นศูนย์กลางการจัดการสิ่งแวดล้อมจากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ อย่างการลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหา “ขยะไม่มีชีวิต” และ “ขยะมีชีวิต” ที่อยู่ภายในวัด

พระมหาประนอมเล่าว่า “‘ขยะไม่มีชีวิต’ หมายถึงขยะที่ถูกน้ำพัดเข้ามาไหลกองรวมกันอยู่ด้านหลังวัดเป็นจำนวนมาก ส่วน ‘ขยะมีชีวิต’ คือเหล่าสุนัขจรจัดจำนวน 300 กว่าตัว ที่ชาวบ้านนำมาปล่อยทิ้งไว้ในวัด ทำให้เกิดปัญหาตามมา อย่างปัญหาอุจจาระสุนัขส่งกลิ่นเหม็น ปัญหาสุนัขกัดรองเท้าของชาวบ้านที่มาวัด และปัญหาวัดไม่มีงบประมาณและไม่มีความรู้เรื่องการบริหารจัดการขยะ”

ด้วยปัญหาและผลกระทบที่ตามมามากมายทำให้พระมหาประนอมเกิดคำถามว่า “แล้วเราจะแก้ปัญหาที่มาจากขยะทุกทิศทางนี้อย่างไร”

ท่านจึงเริ่มจากการแก้ไขปัญหา “ขยะมีชีวิต” ก่อน โดยเริ่มจากการตั้งศูนย์ในวัด เอาสุนัขไปไว้รวมกันที่เดียว แต่พอเอาไปไว้รวมกัน กลับเกิดปัญหาสุนัขส่งเสียงดังและส่งกลิ่นเหม็น เลยต้องปล่อยสุนัขออกมาเหมือนเดิม และได้ลองหาศูนย์รับเลี้ยงสุนัขเพื่อนำสุนัขไปฝากเลี้ยงแทน แต่ทุกศูนย์กลับเต็มหมด ไม่สามารถรับสุนัขไปเลี้ยงได้

เมื่อการตั้งศูนย์ในวัดไม่ประสบความสำเร็จประกอบกับวัดมีพื้นที่แคบ เลยคิดหาทางออกใหม่ด้วยการหาพื้นที่โล่ง ๆ ที่มีคนช่วยดูแลสุนัขแทน “สุดท้ายเจอสถานที่หนึ่งที่เหมาะสมจึงได้ส่งสุนัขจรจัดทั้งหมดไปที่นั่น ทางศูนย์ใหม่ช่วยดูแลเรื่องการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า ทำหมัน และฝึกสุนัขให้เชื่อง ส่วนทางวัดมีหน้าที่จัดหาอาหารเม็ดส่งไปให้ ทำให้สุนัขที่อยู่ในศูนย์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ปราศจากเชื้อโรค และหายจากการเป็นโรคเรื้อน

“ทางวัดแก้ปัญหาเรื่องสุนัขจรจัดอย่างเดียวเป็นเวลา 2 ปีเต็ม ๆ ใช้ทั้งงบประมาณ ใช้การต่อสู้ ใช้เวลา และความอดทน จนสามารถเปลี่ยนจากสุนัขจรจัดที่ไม่มีใครเหลียวแลกลายเป็นสุนัขแสนรู้ที่ชาวบ้านอยากนำไปเลี้ยง จนปัจจุบันจากสุนัขที่เคยมีถึง 300 ตัว ลดลงเหลือเพียง 100 กว่าตัว และทางวัดได้กลายเป็นที่ปรึกษาให้พื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องสุนัขอีกด้วย”

จัดการปัญหา “ขยะไม่มีชีวิต”

“ขยะไม่มีชีวิต ยังแบ่งออกเป็นขยะบนบก ขยะในน้ำ และขยะในอากาศ” พระมหาประนอมกล่าว “อย่างขยะบนบก มีทั้งขยะที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่นพวกกิ่งไม้ที่หักร่วง และขยะที่มนุษย์สร้างขึ้น”

ทางวัดหาหนทางแก้ไขปัญหาเรื่องกิ่งไม้ใบไม้แห้งที่ร่วงหล่นตามลานวัดก่อน โดยกวาดใบไม้ไปกองรวมกันไว้ที่หนึ่งแล้วนาน ๆ ทีค่อยนำไปทิ้ง แต่เมื่อมีต้นไม้มากขึ้น ขยะเหล่านี้กลายเป็นขยะกองใหญ่และย่อยสลายช้า เลยต้องหาวิธีอื่นในการจัดการ ตอนแรกจึงใช้มือหมักขยะและพลิกเอา แต่ใช้ระยะเวลานาน จึงต้องใช้เครื่องจักรมาจัดการแทน

“ตอนนั้นเริ่มมีบริษัทผลิตขึ้นมา เครื่องที่ผลิตออกมารุ่นแรก ๆ ยังมีราคาแพง วัดต้องหาเครื่องที่ราคาถูกกว่าและสู้ราคาไหว จนมาเจอเครื่องในซอยเล็ก ๆ ซอยหนึ่ง เขาผลิตเครื่องบดใบไม้แห้ง บดแล้วใบไม้ละเอียดและย่อยเร็วขึ้น แม้จะส่งเสียงดังรบกวนแต่ใช้เวลาบดประมาณ 1 ชั่วโมง ทางวัดเลยซื้อมา 2 เครื่อง ปัญหาเรื่องใบไม้แห้งนี้จึงเริ่มกำจัดไปได้”

แม้จะแก้ปัญหาเรื่องขยะใบไม้แห้งไปได้แล้ว แต่ยังมีปัญหาเรื่องขยะเศษอาหารที่เป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่อยู่ “ตอนแรกเอาถังขยะไว้หลังวัด พอรถขยะเข้ามาและเอาขยะใส่ในรถ รถก็บีบอัดขยะทำให้ขยะที่อยู่ในถังเริ่มเน่าเหม็น ส่งผลให้น้ำที่เน่าเหม็นเหล่านี้ไหลลงมาตลอดทางจากหลังวัดถึงหน้าวัด”

ทางวัดจึงแก้ปัญหาด้วยการเปลี่ยนที่วางถังขยะ จากการวางถังขยะไว้หลังวัดก็นำมาวางไว้หน้าวัด แต่ภาพขยะที่อยู่หน้าวัดนี้เป็นภาพที่ไม่ค่อยน่ามองเท่าไร “ขยะไม่ควรเอาไว้หน้าวัด หลังวัดก็ไม่สมควรอยู่ แล้วมันจะไปอยู่ที่ไหน”

สุดท้ายจึงเกิดความคิดนำเศษอาหารไปทำปุ๋ยหมัก และได้ไปดูเครื่องต้นแบบที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทางวัดใช้เครื่องย่อยเศษอาหารทำเป็นปุ๋ยมาเป็นเวลามากกว่า 10 ปี ปุ๋ยเหล่านี้ถ้าเหลือก็เอาไปจำหน่ายแจกจ่ายต่อ นอกจากนี้เศษอาหารยังหมักได้แก๊สและปุ๋ย สามารถนำแก๊สไปใช้หุงต้มในครัวเรือนได้ ส่วนปุ๋ยจะได้ออกมาเป็นปุ๋ยน้ำใส่ขวดเอาไว้ และปุ๋ยเปียกเป็นขี้โคลน เอามาตากแห้งเป็นปุ๋ยตากแห้ง

เยียวยาวิกฤต “ขยะพลาสติก”

แล้วขยะพลาสติกที่มีปริมาณมากไม่แพ้ขยะชนิดอื่น ทางวัดมีวิธีจัดการอย่างไรบ้าง?

“ตอนแรกนำพลาสติกไปเผาหลังวัด แต่เผาแล้วควันเยอะแถมยังส่งกลิ่นเหม็น เลยมาคิดกันว่าทำอย่างไรถึงไม่ต้องนำพลาสติกไปเผาและสามารถขจัดกลิ่นเหม็นได้ด้วย”

นวัตกรรม “เครื่องไพโรไลซิส” เครื่องนึ่งน้ำมันจากพลาสติก จึงเป็นทางออกสำหรับปัญหานี้ หลักการทำงานของเครื่องคือใช้ความร้อนจากแก๊สนึ่งให้พลาสติกละลายออกมาเป็นน้ำมันเบนซิน 30% น้ำมันดีเซล 60% แก๊ส 10% และถ่านหินอีกเล็กน้อย

“พลาสติก 20 กิโลกรัม ทำน้ำมันได้ 2 ลิตร ดีใจที่พลาสติกหายไปแต่มันก็ไม่คุ้ม เพราะเครื่องมีขนาดเล็กและเทคโนโลยีต่ำ ในขณะที่รออยู่ว่าจะจัดการอย่างไรต่อ เกิดโครงการ Our Khung BangKachao ของมูลนิธิชัยพัฒนา มีการเชิญองค์กรเอกชนระดับประเทศ 36 องค์กร มาพัฒนาชุมชนบางกระเจ้าให้เป็นพื้นที่สีเขียวและเป็นปอดของกรุงเทพในด้านต่าง ๆ”

วัดจากแดงจึงได้มาเชื่อมกับโครงการนี้เรื่องการจัดการขยะ “พอโครงการนี้มาก็เหมือนเสือติดปีก สิ่งที่วัดคิดไว้ว่าอยากทำก็มีคนสนับสนุน”

นี่เองจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการทำจีวรจากขวดพลาสติกที่สร้างเสียงฮือฮาไปทั่ว เพราะแรกเริ่มมีบางคนคัดค้าน หาว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะนำขวดพลาสติกมาทำจีวรและกล่าวหาว่าพระกุเรื่องมาหลอกชาวบ้าน “ตอนนั้นอาตมาพาไปดูขั้นตอนตั้งแต่เก็บขวดเลย เก็บเสร็จแล้วนำมาอัดเป็นก้อน ส่งไปยังโรงงานแล้วก็บด จากนั้นนำมาทำเป็นเส้นใย พอได้เส้นใยโพลิเมอร์แล้วก็นำไปผสมเส้นใยฝ้ายและใส่ซิงค์นาโนเข้าไป เอาเข้าโรงทอและย้อมออกมากลายเป็นผ้าผืน สุดท้ายนำมาตัดเป็นจีวร”

จีวรที่ได้จากขวดพลาสติกนี้มีแอนตี้แบคทีเรียอยู่ในผ้า ซักง่ายและแห้งเร็ว ไม่ยับ ไม่อับ ป้องกันโรคผิวหนังได้ และยังนิ่มเหมือนผ้าธรรมดา ใส่แล้วไม่ร้อน พอทุกคนได้เห็นกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นจนจบด้วยตาตนเอง ทุกคนก็เริ่มเข้าใจจนปัจจุบันไม่มีเสียงต่อต้านเรื่องนี้แล้ว

“ขยะทุกอย่างมีทางไปต่อได้หมด” พระมหาประนอมเล่าต่อว่า ขยะประเภทโฟมก็สามารถนำมา Upcycling ได้หลากหลายอย่างเช่นกัน ทั้งการเอาโฟมผสมทินเนอร์ทำกาวยางเพื่อติดเป็นฉนวนกันความร้อน หรือนำโฟมไปผสมซีเมนต์ทำเป็นกระถางและอิฐตัวหนอน นำโฟมไปทำเป็นกล่องดินสอ หรือโฟมโพลิเมอร์เม็ดเล็ก ๆ ยังสามารถนำไปใส่ในหลุมต้นไม้ไว้อุ้มน้ำ ทำให้ประหยัดทั้งน้ำและเวลา สามารถรดน้ำต้นไม้เพียง 1 ครั้งต่อวันก็เพียงพอต่อความต้องการของต้นไม้

นอกจากนี้ ขวดแก้วที่เหลือทิ้งยังสามารถนำไปบด บดเสร็จจะได้ออกมาเป็นทรายแก้ว นำไปทำเป็นพระพุทธรูปองค์เล็ก ๆ จากทรายแก้วหรือทำเป็นโถแก้วก็ได้

“อะไรที่มันไม่มีมูลค่า เราทำให้มันมีมูลค่าขึ้นมาได้ อะไรที่มูลค่าน้อย ทำให้มันมูลค่าสูง นี่คือหัวใจของเรื่องการ Upcycling ทำของที่เป็นเลขศูนย์ให้เป็นเลขล้านให้ได้”

กุศโลบายชักจูงชาวบ้านจัดการขยะ ผ่านเรื่องเล่าทางพระพุทธศาสนา

เรื่องที่น่าประหลาดใจระหว่างฟังพระมหาประนอมเล่าเรื่องการจัดการขยะคือ แท้จริงแล้วการจัดการขยะมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล

“พระวินัยปิฎกระบุว่าหากพระไม่เก็บกวาดทำความสะอาด จะโดนปรับอาบัติทุกกฎ ในพระสุตตันตปิฎก ถ้าไม่เก็บกวาดทำความสะอาด จะป่วยเป็นโรคผิวหนังรักษาไม่หาย แต่ถ้าเก็บกวาดทำความสะอาด จะเกิดเป็นอานิสงส์ 5 อย่าง ได้แก่ มนุษย์รักใคร่ ใครเห็นใครก็รัก เทวดารักใคร่ ทำแล้วมีความสุขใจ ถือว่าได้ปฏิบัติตามคำสั่งสอน และวิมานบนสวรรค์เกิดรอ

“ส่วนในพระอภิธรรมปิฏก ถ้าพระไม่เก็บกวาดทำความสะอาด จะเป็นปลิโพธเล็ก (ปลิโพธ แปลว่า เครื่องกังวลใจ) ขวางไม่ให้วิปัสสนาญาณเกิดได้ง่าย เวลาปฏิบัติธรรมแม้จะนั่งสมาธิแต่ปัญญาไม่เกิด เพราะเราทิ้งขยะ ไม่เก็บกวาดทำความสะอาดให้เรียบร้อยก่อนมาปฏิบัติธรรม แต่ถ้าเก็บกวาดทำความสะอาด วิปัสสนาญาณเกิดได้ง่าย เนื่องจากจิตสงบ ปัญญาเลยเกิดขึ้นตามมาได้ง่าย”

ยังมีเรื่องเล่าในพระไตรปิฎกที่เล่าถึงตอนพระอินทร์ลงมาเกิดเป็นมนุษย์ ชื่อ ‘มฆมาณพ’ นำชาวบ้านจัดการขยะด้วยจิตกุศล และตั้งเป็นกลุ่มคณะจิตอาสาพัฒนาหมู่บ้าน 33 คน จนสุดท้ายเมื่อคนทั้ง 33 คนตายไป ได้ไปเกิดเป็นเทวดาชั้นดาวดึงส์ มีพระอินทร์อยู่ 33 ตน เพราะอานิสงส์จากการเก็บกวาดทำความสะอาด

“โลโก้ของกรุงเทพฯ เอง ก็เป็นรูปช้างที่พระอินทร์ใช้ตอนเป็นมนุษย์ เป็นช้างที่พระราชาพระราชทานให้มฆมาณพเอาไปใช้ในการทำความสะอาดบ้านเมือง ถ้าคนมองโลโก้นี้แล้วมีจิตสำนึกแบบมฆมาณพ กรุงเทพฯ ก็จะสะอาดขึ้นทันที”

การจัดการขยะไม่เพียงแต่จัดการขยะที่อยู่ภายนอกตัวเรา แต่ยังรวมไปถึงการจัดการขยะที่อยู่ภายในใจของเราด้วย

“อยากได้บุญก็ได้บุญ อยากได้เงินก็ได้เงิน อันนี้คือจุดเริ่มต้นของเรื่องการจัดการขยะ แต่สุดท้ายขยะเป็นเพียงของหลอก ของจริงซ่อนอยู่ข้างใน ขยะภายนอกเก็บไม่นานไม่กี่ปีก็หมดแล้ว แต่อยากให้เก็บขยะภายในที่อยู่ในจิตใจของคนด้วย ขี้โมโหคือโทสะ เก็บออกไปด้วยขันติและเมตตา ขี้หลงขี้ลืมคือโมหะ เก็บออกไปด้วยการเจริญสติ ขี้งกเห็นแก่ตัว เก็บออกไปด้วยจาคะการบริจาค ขี้สงสัยขี้ระแวง เก็บออกไปด้วยการถามและสนทนามาก ๆ ขี้อิจฉา เห็นใครดีกว่า เก่งกว่า เก็บออกไปด้วยการเจริญมุทิตาพรหมวิหาร ขี้เกียจ เก็บออกไปด้วยวิริยะคือความเพียร ขยะ 10 กองที่อยู่ในสมองจนรกรุงรังนี้ก็ต้องการการเก็บ นี่คือเป้าหมายที่ไม่ได้บอกไว้แต่แรก

“ขยะภายนอกฆ่าคนได้ ทำลายโลกได้ แต่ขยะภายในมันฆ่าเราได้ มันทำร้ายเรานับภพชาติไม่ถ้วน เพราะฉะนั้นขยะภายนอกถ้าเราจัดการได้จะมีสมบัติ ได้เงินได้ทอง มีวิมานบนสวรรค์เกิดรอ แต่ขยะภายในถ้าเราจัดการได้ เราเองจะประจักษ์ สมองโปร่งโล่งเบาสบายและไม่ต้องทุกข์อีกต่อไป

“ฉะนั้น ‘การขุดทองจากกองขยะ’ มีแต่ได้กับได้ ทองในที่นี้คือสุขภาพ มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ นิพพานสมบัติ เราเสียเวลาคัดแยกขยะแค่ 5 นาทีมันไม่เสียหายอะไร แต่ถ้าเราไม่เสียเวลา 5 นาทีตรงนี้ เราจะเสียเวลาอีกหลายปีในโรงพยาบาล”

บทบาทใหม่ของวัดที่เปลี่ยนไปในเชิงสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบันวัดจากแดงจึงขยายบทบาท จากเดิมที่เป็นเพียงศูนย์รวมด้านจิตใจกลายเป็นศูนย์รวมการเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อมด้วย

“จริง ๆ ถ้าไม่มีโควิด วันนึงเรารับคนไม่รู้กี่กลุ่ม เราได้แชร์ความรู้เรื่องการจัดการขยะ คนทั่วไปสามารถมาร่วมทำกิจกรรมกับวัดได้ทุกอย่าง ทั้งช่วยเป็นจิตอาสาคัดแยกขยะ มาเรียนรู้เพื่อนำไปประกอบอาชีพ หรือจะมาช่วยสอนก็ได้ หรือวัดอื่น ๆ บ้าน โรงเรียน หรือองค์กร ก็สามารถมาเรียนรู้และแลกเปลี่ยนความรู้ได้หมด

“ที่วัดจึงเป็นทั้งศูนย์ที่ไปเรียนรู้จากที่อื่นแล้วนำมาต่อยอดให้ดีขึ้น และเป็นตัวกลางที่ส่งต่อความรู้ออกไปด้วย เหมือนทางวัดเป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้นเอง นับ 1 2 3 ให้ แต่ถ้าใครเก่งนับถึง 100 ได้ เขาก็นำความคิดไปต่อยอดจนประสบความสำเร็จ”

นอกจากนี้สิ่งที่พระมหาประนอมอยากทำต่อไปในอนาคตคือ การทำให้วัดจากแดงกลายเป็นศูนย์เรียนรู้แบบเต็มรูปแบบ และพัฒนาให้การศึกษาของพระเป็น active learning อย่างการใช้อินโฟกราฟฟิกเข้ามาช่วยในการเรียนรู้ ทำสื่อการสอนภาษาบาลีโดยทำเป็นการ์ตูนบาลี เรียนยังไงให้ไม่น่าเบื่อ เรียนยังไงให้เจาะลึกแต่เสียเวลาน้อย เรียนแล้วสามารถนำไปใช้ได้จริง

“สอนเสร็จแล้วลงมือทำ ไม่ใช่จำมาสอบ สอบเป็นเพียงแค่การวัดผล แต่การลงมือทำได้คือของจริง อย่างการสอนสวดมนต์ให้เสียงมีพลัง สวดยังไงให้คนหันมาฟังได้ทั้งหมด ทำยังไงให้เราสื่อสารออกไปตรงกับสิ่งที่เรากำลังนำเสนออยู่และเขาอยากจะลงมือทำทันที

“สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้น ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องการประกอบอาชีพ และเรื่องการศึกษา”

เรื่อง ภัทราพร ชัยบุตร

(โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย)


เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : ดร.เป้า Green Road ทางไปต่อของพลาสติก ที่จะไม่จบลงด้วยการเป็นขยะอีกต่อไป

Recommend