เปิดแนวคิดนวัตกรรมของคนรุ่นใหม่ สู่สิ่งแวดล้อมยั่งยืนในอนาคต

เปิดแนวคิดนวัตกรรมของคนรุ่นใหม่ สู่สิ่งแวดล้อมยั่งยืนในอนาคต

ปัญหาสิ่งแวดล้อม โลกรวน อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ส่งผลให้เกิดกลุ่มคนรวมตัวกันเรียกร้องให้ภาครัฐ และเอกชนตระหนัก และเร่งให้เรื่องนี้เป็นวาระสำคัญ ในช่วง 5 ปีหลังที่ผ่านมา เราจะเห็นภาพของเยาวชนคนรุ่นใหม่ออกมาพูดเรื่องประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการเรียกเรื่องให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเสมอ

เพราะคนรุ่นใหม่มองว่าประเด็นสังคมและสิ่งแวดล้อมไม่สามารถแยกออกจากกันได้ พวกเขาได้ส่งเสียงผ่านทางโซเชียลมีเดีย อย่างการติด # (Hashtag) จนขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์ เช่น #LetTheEarthBreathe ที่เกิดจากกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ในอังกฤษสร้างแคมเปญประท้วงการสร้างโรงงานเชื้อเพลิงฟอสซิล และต่อมาแฮชแท็ก Let The Earth Breathe ก็ได้กลายเป็นแคมเปญรณรงค์ให้คนตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมไปทั่วโลก รวมทั้งคนรุ่นใหม่ในไทยเช่นเดียวกัน

บทสนทนาของพวกเขาไม่ได้คุยเรื่องนี้กันอย่างผิวเผิน หากแต่จริงจัง หาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องภาวะโลกร้อน และความปลอดภัยของสิ่งมีชีวิตมากขึ้น เชื่อหรือไม่ว่า คนรุ่นใหม่มีบทสนทนาเกี่ยวกับภาวะฉุกเฉินด้านสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้นถึง 200% การข้อความทวิตเตอร์เรื่องขยะ คุณภาพอากาศที่เลวร้าย กลายเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนต้องพูดถึง

พลังเยาวชนใน ESG Symposium 2022

เราได้คุยกับน้องๆ วัยมัธยมที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของงาน ESG Symposium 2022: Achieving ESG and Growing Sustainability การรวมพลังจากภาคธุรกิจ องค์กรต่างๆ กลุ่มพลังหญิง และคนรุ่นใหม่ ที่มีบทบาทสำคัญต่ออนาคตโลกและอนาคตของพวกเขาเอง

อมินตา เพิ่มพูนวิวัฒน์ เยาวชนผู้แทนประเทศไทย เข้าร่วม UN Youth for Cilmate บนเวที ESG Sympoium 2022

อมินตา เพิ่มพูนวิวัฒน์ หรือ เอม เยาวชนผู้แทนประเทศไทย เข้าร่วม UN Youth for Cilmate ซึ่งเป็นหนึ่งในสปีคเกอร์ของงาน นักเรียนมัธยม 6 ที่ลุกขึ้นมาขับเคลื่อนสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยมีความเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนต้องเริ่มที่การศึกษา อมินตาจึงจัดทำโครงการจิตอาสาพี่สอนที่ชื่อว่า Youth Mentorship Project

อมินตาเล่าว่า เธอสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่เด็ก ประกอบการอยู่ชมรมโต้วาที ทำให้ต้องอ่านหนังสือ ค้นคว้าข้อมูล หาความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นจำนวนมาก แต่สิ่งที่จุดประกายให้อมินตาหันมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนอย่างจริงจังคือหลังจากที่เธอได้ลงไปเป็นครูอาสาในต่างจังหวัด เธอได้เห็นผลกระทบจาก Climate Change ที่เกิดขึ้นกับชีวิตประจำวันของเด็กๆ และคนชุมชนพื้นเมือง แต่เรื่องนี้กลับถูกพูดถึงอย่างผิวเผิน และไม่ได้เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง

“ตอนที่เอมไปต่างจังหวัด บางที่ที่เขาทำเกษตร ชีวิตประจำวันของเขาถูกผลกระทบจาก Climate Change ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ และการอยู่รอด เด็กๆ ในชุมชนก็ได้รับผลกระทบต่อการเรียนด้วย การเรียนเป็นสิ่งที่เอมรู้สึกว่าสอดคล้องกับ Climate Change เพราะจิตสำนึกจะเกิดได้ก็ต้องศึกษาเรียนรู้ แล้วหาวิธีแก้ไข อีกปัญหาหนึ่งก็คือเรื่องความเหลื่อมล้ำ นักเรียนที่เอมไปสอนแต่ละโรงเรียน แม้ว่าจะอยู่ในระดับชั้นเดียวกัน แต่เขามีความเข้าใจหรือทักษะไม่เหมือนกัน ต่างกันเห็นอย่างเห็นได้ชัด นี่จึงเป็นอีกจุดสำคัญที่ทำให้เอมคิดว่า เราต้องเริ่มจากการศึกษาเพื่อที่จะนำไปสู่สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนได้”

อรณิชา ศิริอุดมเศรษฐ, ศิรยาภา ศุทธรัตน์, อมินตา เพิ่มพูนวิวัฒน์, นิสรา สุขประดิษฐ์ และปุณยภา สุขสมบูรณ์ กลุ่มเยาวชนผู้ทำงานในโครงการจิตอาสาพี่สอนน้อง

และหลังจากที่อมินตาได้เป็นครูฝึกสอนในโครงการหนึ่ง ทำให้เธอมีความคิดที่จะทำโครงการในแบบของตัวเอง Youth Mentorship Project โครงการจิตอาสาพี่สอนน้อง จึงเกิดขึ้นมาโดยมีแนวคิดว่าอยากชวนเพื่อนๆ รุ่นเดียวกันเข้ามามีส่วนร่วม ให้นักเรียนมัธยมปลายมาเป็นครูอาสา ออกแบบกระบวนการสื่อสารแบบพี่สอนน้อง ซึ่งเอมเชื่อว่าจะสร้างความความเข้าใจและสายสัมพันธ์ที่ดี

“กระบวนการต่างๆ ของโครงการนี้ พวกเรานำจากประสบการณ์ตัวเองโดยตรงเลยค่ะ นำสิ่งที่เราคิดว่าได้ผล อะไรที่ทำแล้วสนุก ทำให้อยากที่จะกลับไปศึกษาต่อ การสอนไม่ได้เป็นแบบยืนหน้าห้อง แต่เราเน้นกิจกรรมและการลงมือทำ เช่น เราเคยไปทำถังขยะ ทำถุงผ้าระบายสี เป็นกิจกรรมที่น้องๆ เอากลับบ้านได้ หรือสามารถใช่ต่อที่โรงเรียนได้ ไม่ใช่หลังจบกิจกรรมแล้วทุกอย่างก็หายไป”

ความภูมิใจและความสำเร็จของโครงการนี้คือตอนที่ได้เห็นรอยยิ้มของน้องๆ ในอนาคตอันใกล้ อมินตาและเพื่อนๆ จะจัดโครงการ Hackathon เพื่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของชนเผ่ากับทักษะด้าน Robotics โดยจับคู่โรงเรียนชนบทกับโรงเรียนที่สามารถเข้าถึงทักษะด้าน Robotics มาแลกเปลี่ยนความรู้กัน

สิ่งที่อมินตามองว่าปัญหาใหญ่ที่สุดในด้านสิ่งแวดล้อม ยังคงเป็นเรื่องของทัศนคติของผู้คน ที่เธอให้เหตุผลว่าคนส่วนใหญ่มักมองว่าเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคม ทั้ง Climate Change ความเหลื่อมล้ำ หรือเรื่องการศึกษา เป็นเรื่องของผู้มีอำนาจที่มีหน้าที่กำหนดนโยบาย แต่สำหรับอมินตา เธอเชื่อว่าทุกคนมีพลังอำนาจอยู่ในมือ ไม่ว่าจะเป็นอาชีพใดก็สามารถขับเคลื่อนเรื่อง ESG ได้

“การเปลี่ยนความคิดเป็นเรื่องยากค่ะ แม้เรื่องนี้ถูกพูดถึงกันมานานมากแล้ว สิ่งที่เราน่าจะทำให้เขาเห็นได้มากที่สุด ก็คือชี้ให้เห็นว่าทุกปัญหามันเกี่ยวข้องกัน สมมติว่าชาวนาถูกผลกระทบจาก Cilmate Change สิ่งที่ตามมาคือข้าวที่ปลูกจะได้ปริมาณน้อยลง ทำให้ราคาข้าวสูงขึ้น แปลว่าเราที่เป็นผู้บริโภคก็ได้รับผลกระทบเหมือนกัน เห็นไหมคะว่าทุกอย่างเชื่อมโยงกันหมดเลย เราจะไม่สามารถแยกแยะได้ว่าเราจะแก้ปัญหาแค่ Cilmate Change หรือว่าปัญหาความเท่าเทียมทางเพศเท่านั้น ถ้าเราทำให้ทุกประเด็นสามารถเข้าใจได้ง่ายสำหรับทุกคน ก็จะทำให้ทุกคนเห็นว่าจริงๆ ตัวเขาก็สร้างผลกระทบ และเขาก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เขาจึงต้องลุกขึ้นมาแก้ปัญหาค่ะ” อมินตากล่าว

หากมองปัญหาในภาพรวม สิ่งที่ต้องได้รับการแก้ไขมากที่สุดคือการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา เพราะการศึกษาสำคัญที่สุด

“ก่อนที่เราจะไปแก้ปัญหาอื่นๆ เช่น พัฒนาสังคม พัฒนาประเทศ หรือว่าเศรษฐกิจ เอมคิดว่าต้องเริ่มที่การศึกษาก่อน ถ้าเราไม่แตะเรื่องนี้ เราก็ไม่สามารถไปต่อได้ หรือว่าถ้าเดินต่อไปได้ ก็ต้องมีคนที่ถูกผลักออก หรือถูกทิ้งไว้ข้างหลังตลอด ถ้าเราให้ทุกคนมีการสนับสนุนการศึกษาที่ดี ก็จะทำให้ประเทศก้าวหน้าได้ไวขึ้น ที่สำคัญคือเราก็ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

ทีมมงฟอร์ต แก้ปัญหาการศึกษาและความเหลื่อมล้ำด้วย AI

หนึ่งกิจกรรมสำคัญของ ESG Sympoium 2022 คือ “ปล่อยแสงไอเดียเปลี่ยนโลก” (Hacks to Heal Our Planet: ESG Idea Pitching) ที่เปิดให้คนรุ่นใหม่ส่งไอเดียที่ช่วยเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นในแบบที่พวกเขาอยากเห็น ซึ่งมีเยาวชนหลายร้อยกลุ่มทั้งจากไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม เข้าร่วมด้วย

ส่วนหนึ่งของผลงานที่เข้าร่วมประกวดใน “ปล่อยแสงไอเดียเปลี่ยนโลก

หนึ่งในกลุ่มเยาวชนที่ส่งผลงานอันโดดเด่นเข้าร่วมโครงการ คือกลุ่มของ คณาเนศ เวชวิธี, ปพิชญา ใจปัญญา และ พงศภัค พรหมวังศรี นักเรียนจากโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย โดยทั้ง 3 คนร่วมกันพัฒนาโปรแกรมแปลภาษามือ และเกมออนไลน์เพื่อการศึกษา ก็ได้สะท้อนปัญหานี้ออกมาเช่นกัน

คณาเนศ เวชวิธี, ปพิชญา ใจปัญญา และ พงศภัค พรหมวังศรี ทีมที่สร้างผลงาน “ภาษามือกระชากใจ” ได้รับรางวัลโดดเด่น ด้าน Social Inequality ของโครงการปล่อยแสงไอเดียเปลี่ยนโลก

คณาเนศ หรือโทนี่ ได้เล่าให้ฟังถึงไอเดียที่มาของแอพพลิเคชัน “ภาษามือกระชากใจ” ซึ่งเริ่มมาจาก 2 ปีที่แล้วได้มีโอกาสไปที่มูลนิธิคนพิการ และได้ดูแลผู้บกพร่องทางการได้ยิน โทนี่เห็นปัญหาว่าเขาและผู้พิการไม่สามารถสื่อสารให้เข้าใจกันได้ แม้แต่เขียนก็ยังลำบาก นั่นคือจุดเริ่มต้นของภาษามือกระชากใจ

สำหรับแอพพลิเคชัน “No.1 of school” เกิดจากการฟังเรื่องเล่าของรุ่นพี่ที่ได้เจอเพื่อนตามงานเลี้ยงรุ่น สิ่งแรกที่มักจะถูกหยิบยกขึ้นมาคือ ชีวิตในวัยรุ่นและชีวิตมัธยม เขาจึงหยิบเรื่องเล่านี้มาเป็นจุดแข็งในการเดินเรื่อง โดยแอพนี้เป็นความพยายามที่นำเกมกับการเรียน ที่เหมือนจะไม่เข้ากันให้มาผสมลงรอยให้เข้ากัน คล้ายกับเกมใน Pokemon and Harvest Moon ที่ทุกคนพูดถึงและจดจำได้ เขายังบอกว่าแอพฯ นี้สามารถช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่าง Generation ได้ด้วย

การพัฒนาแอพพลิเคชันที่เกี่ยวกับภาษามือและเกมออนไลน์เพื่อการศึกษา พวกเขาเพียงหวังว่าเทคโนโลยี และนวัตกรรมเหล่านี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนได้

“นวัตกรรมจะมาเป็นตัวช่วยเร่งปฏิกิริยาของ ESG ให้มันเกิดขึ้นเร็วขึ้น อย่างเรื่องของสิ่งแวดล้อม มีเทคโนโลยีเครื่องดูดจับคาร์บอน ซึ่งจะทำให้เราไปถึง NET ZERO ได้เร็วขึ้น อย่างแอพฯ ภาษามือ ก็ช่วยเรื่องความเหลื่อมล้ำของผู้พิการ ช่วยให้เขาได้สามารถสื่อสารกับคนทั่วไปได้มากขึ้น หรือว่าเกม No.1 of School คนที่อยู่ห่างไกลไม่สามารถเดินทางโรงเรียนได้ แต่ยังพอมีอุปกรณ์ มีอินเตอร์เน็ตในการเรียนก็สามารถเรียนทางไกลได้ ทำให้สังคมเข้าถึงกันด้วยเทคโนโลยี” คณาเนศกล่าว

คณาเนศ เวชวิธี เป็นตัวแทนเยาวชนเข้าร่วมบนเวทีเสวนา “โลกป่วยขั้นวิกฤต จะกู้โลกได้อย่างไร”

พวกเขามีแผนจะพัฒนาแอพพลิเคชันให้สามารถใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคต พัฒนาแอพฯ ภาษามือให้มีความแม่นยำมากขึ้น เพิ่มภาษามือให้หลากหลาย อาจมีภาษามือ 4 ภาค หรือภาษามืออังกฤษ รวมไปถึงการแปลงตัวหนังสือให้กลายเป็น 3D Animation ที่ช่วยให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

ส่วนแอพฯ No.1 of school ทางทีมต้องการพัฒนาให้เป็นโลกเสมือน หรือ Metaverse เช่น ออฟฟิศที่มีทั้งตึก ชั้น และห้องจำนวนมาก หากสามารถนำทุกอย่างไปอยู่ในรูปแบบออนไลน์ แล้วให้พนักงานเดินในเกมเหมือนกับเดินทำงานที่สำนักงานจริงๆ ก็น่าจะช่วยลดการเดินทางและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้นอีกด้วย

“ถ้าในอนาคตทุกอย่างเพียบพร้อม เข้าสู่ยุคสมัยดิจิทัล สิ่งที่เราพูดวันนี้ก็ไม่ไกลเกินไป เช่น เราอยากให้ใส่แว่นแล้วตัวเดินเข้าไปในเกมจริงๆ เหมือนในยุคก่อนที่คนจะสร้างเครื่องบิน คนยุคนั้นเขาก็หัวเราะว่ามันทำไม่ได้หรอก เหมือนที่เขาบอกว่า คุณอาจจะหัวเราะในวันที่ผมเอาฮา แต่คุณจะเสียน้ำตาในวันที่ผมเอาจริง” พงศภัคพูดเสริม

พวกเขาคือกลุ่มเยาวชนที่เอาจริงเรื่องการสร้างนวัตกรรมเพื่อช่วยสังคมและสิ่งแวดล้อม แต่สำหรับการตระหนักรู้เรื่องนี้ของคนในเจนเดียวกัน ปพิชญา หรือทอฝัน ก็ยังรู้สึกว่าคนเจนนี้เกือบ 50% อาจยังไม่รู้เรื่อง ESG เพราะไม่ได้ถูกบรรจุในหลักสูตรการศึกษา รวมถึงสื่อโซเชียลที่พวกเขาสนใจ ก็ไม่ได้พูดถึงเรื่อง ESG อย่างจริงจัง

“เราซึ่งเป็นคนเจนใหม่ก็ต้องยอมรับว่า ESG เป็นสิ่งใหม่สำหรับเราอยู่เหมือนกัน เพราะเราไม่ได้ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก ไม่เหมือนประเทศญี่ปุ่น ที่เขาจะปลูกฝังเรื่องนี้กันตั้งแต่เด็ก ในขณะที่เราไม่มีในหลักสูตรการเรียนการสอน พูดตรงๆ ว่าถ้าพวกเราไม่ได้มาแข่งในโครงการปล่อยแสง พวกเราก็ไม่รู้จักคำว่า ESG ว่าคืออะไร นี่เป็นเรื่องที่ต้องสื่อสารและปลูกฝัง เป็นเรื่องที่ต้องถูกพูดถึงให้เป็นปกติ”

 ในฐานะคนรุ่นใหม่ที่ต้องได้รับผลกระทบสิ่งแวดล้อมในอนาคต พวกเขามีความเห็นว่า การรับมือผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ใหญ่ สำคัญอย่างยิ่ง คือนโยบายที่มาช่วยสนับสนุนเรื่องนี้อย่างจริงจัง

“เอสซีจี เป็นองค์กรหนึ่งที่ตระหนักถึงปัญหา และได้เริ่มลงมือทำมานานแล้ว เราก็อยากให้รัฐมีนโยบายที่สนับสนุนเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น อยากเป็นวาระใหญ่ขึ้น กระตุ้นให้คนสนใจ สื่อก็สนใจ ประชาชนที่เห็นข่าวต่อก็จะเข้าใจ และเกิดความเคลื่อนไหวของสังคม”

สุดท้ายนี้ เยาวชนคนรุ่นใหม่อย่างพวกเขาอยากฝากบอกถึงผู้ใหญ่หลายคนที่มีทัศนคติและความเชื่อแบบเดิม ให้หันมารับฟังเสียงของพวกเขาบ้าง ไม่ตีกรอบความคิด ให้อำนาจเยาวชนตัดสินใจ เพราะพวกเขาคือคนรุ่นใหม่ที่จะได้รับผลกระทบจากปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมมากที่สุด

“ถึงแม้วันนี้จำนวนประชากรของ New Gen มีเพียง 30% ของประชากรโลก แต่เขาคือ 100% ของอนาคต”


อ่านเพิ่มเติม รวมพลังสู้วิกฤตโลกรวน รัฐ เอกชน พลังผู้หญิง คนรุ่นใหม่ หัวใจสำคัญใน ESG Symposium 2022

Recommend