[PARTNER CONTENT]
เพียงช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา เรารู้สึกถึงอาการป่วยของโลกใบนี้ผ่านประสาทสัมผัสทุกส่วน ถึงเวลาแล้วที่หัวหอกจากภาคเอกชนจะต้องจับมือกัน เพื่อผลักดันสังคม Low Carbon Society
โลกร้อน โลกรวน ปัญหาที่โลกแจ้งเตือนกับทุกคนว่าวิกฤตกำลังมาถึง ย่อมต้องอาศัยพลังจากทุกภาคส่วนของสังคม ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อช่วยชีวิตโลกใบนี้ให้อยู่กับทุกคนอย่างยั่งยืน
อ้างอิงจากระบบเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าบทบาทของผู้ประกอบการนับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการสร้างพฤติกรรมในการบริโภค ก่อนส่งไม้ต่อสู่ผู้บริโภคเพื่อสร้างความตระหนักและจิตสำนึกต่อไป การผลักดันสังคมคาร์บอนต่ำจึงเป็นหัวเรื่องจำเป็นที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ประกอบการภาคธุรกิจจากหลากหลายแขนง เพื่อผนึกรวมความถนัดและความตั้งใจในการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำอย่างที่วาดปลายทางไว้ได้ครบทุกมิติของสังคม
ESG Forum 2022 จึงเป็นโอกาสดีที่มีการรวมตัวซีอีโอจากกว่า 60 องค์กร มาร่วมระดมสมอง หาทางรอด เพื่อโลกที่ยั่งยืนต่อไป ผ่านการขับเคลื่อนเรื่อง ESG หรือ Environment – สิ่งแวดล้อม, Social – สังคม และ Governance – บรรษัทภิบาล จนสรุปออกมาเป็นแนวคิดในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านการลดคาร์บอน และความร่วมมือในการจัดการปัญหาดังกล่าวร่วมกัน
สามมิติทางสังคม ปรับเปลี่ยนเพื่อโลกยั่งยืน
จาก CEO ทั้ง 60 องค์กร ครอบคลุมหลายภาคส่วนอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นการผลิต อสังหาริมทรัพย์ บริการ การเงิน หรือบรรจุภัณฑ์ เห็นพ้องต้องกันว่า สภาวะโลกร้อนจะส่งผลกระทบทำให้ต้นทุนในการดำเนินกิจกรรมหรือกิจการหรือต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นในระดับปานกลางไปถึงมาก
เหตุการณ์รอบตัวที่เกิดขึ้นในช่วง 5-6 ปีให้หลัง นอกจากส่งผลกระทบต่อรายได้ให้กับผู้ประกอบการแล้ว ยังมองมุมกลับได้ว่าเป็นเรื่องของโอกาสที่จะได้เดินไปตามทิศทางของโลกที่กำลังเกิดขึ้น แรงกดดันจากความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมในยุโรปและสหรัฐอเมริกา เป็นโอกาสที่ทำให้ผู้ประกอบการได้ปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ซึ่งทางภาคเอกชนเองก็ริเริ่มความร่วมมือเพื่อสร้างโลกที่ยั่งยืนผ่านการรวมกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น กลุ่มเครือข่ายความร่วมมือ 23 องค์กรธุรกิจอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (CECI-Circular Economy in Construction Industry) และโครงการความร่วมมือ PPP Plastics (Public Private Partnership for Sustainable Plastic and Waste Management) สร้างต้นแบบการจัดการขยะพลาสติก นำกลับมาสู่กระบวนการรีไซเคิล ขับเคลื่อนโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (FTI) องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) และพันธมิตรกว่า 30 องค์กร
สามมิติทางสังคมจึงเป็นทางออกที่จะนำไทยและโลกไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ได้แก่ สังคมพลังงานสะอาด สังคมไร้ขยะ และสังคมบริโภคอย่างยั่งยืน ซึ่งทุกมิติจะสำเร็จได้ จำเป็นจะต้องผนึกกำลังทั้งภาคเอกชน และการสนับสนุนจากภาครัฐ ตั้งแต่การกำหนดแผนแม่บท การปรับเปลี่ยนกฎหมาย กฎระเบียบที่จะเอื้อให้การเดินทางไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ทั้งหมดนี้จะต้องทำให้เกิดขึ้นจริงให้ได้
สังคมพลังงานสะอาด Social of Green Energy & Efficiency
ประการแรก สังคมพลังงานสะอาด ผู้ประกอบการจะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจที่จะตอบสนองต่อการใช้พลังงานสีเขียว พลังงานหมุนเวียน รวมทั้งพลังงานทางเลือก ทั้งในห่วงโซ่คุณค่า และภายในองค์กร ผ่านการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการใช้งานนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ยกตัวอย่าง การใช้ระบบข้อมูลการใช้พลังงาน หรือ Big Data ด้วยการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ทุนสนับสนุน (Green Finance) และเทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (Digital for Energy) ให้มีการจัดการฐานข้อมูลการใช้พลังงานของประเทศไทย เพื่อนำไปบริหารจัดการต่อภายในองค์กร
อุตสาหกรรมการผลิตที่จำเป็นต้องใช้พลังงานสูง จะต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการ วิธีการผลิต เพิ่มนวัตกรรม และรูปแบบการใช้พลังงาน ที่ใช้พลังงานอย่างเกิดประสิทธิภาพสูงสุด หรือใช้การซื้อขายคาร์บอนเครดิตอย่างเต็มรูปแบบ นี่เป็นตัวอย่างในการจัดการด้านพลังงานทั้งในเชิงปฏิบัติและภาคนโยบายที่จำเป็นจะต้องพึ่งพากันทั้งภาครัฐและเอกชน
สังคมไร้ขยะ Society of Zero Waste
ประการถัดมา ผู้ประกอบการจะต้องปรับเปลี่ยนธุรกิจ ในแง่ของการผลิตสินค้า บริการ และโซลูชั่นที่ไม่ก่อให้เกิดของเสีย หรือมีการจัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ อันจะส่งผลต่อการเกิดคาร์บอนในกระบวนการ
ตัวอย่างของการปรับเปลี่ยนเพื่อสร้างสังคมใหม่ที่ไร้มลพิษ ได้แก่ การออกแบบที่ลดการเกิดของเสียทั้งจากการลดการใช้งาน (Reduce) และการหมุนเวียนขยะให้เกิดคุณค่ามากขึ้น (Recycle/Upcycling) การลดปริมาณหีบห่อที่เกินจำเป็น การลดการเผาของเสียทางการเกษตร เปลี่ยนสู่การเป็นทรัพยากรของพลังงานทางเลือก สู่ปลายทางที่การออกแบบระบบคัดแยกและจัดการของเสีย วินัยในการคัดแยกขยะที่ปลูกฝังในตัวผู้บริโภคทุกคนผ่านการใช้สินค้าและบริการจากผู้ประกอบการตั้งต้น
ส่วนภาพใหญ่ในเชิงนโยบายของภาครัฐ ควรต้องมีกฎระเบียบ มาตรฐานที่ชัดเจน พร้อมกับการจัดมาตรการทางภาษีมาช่วยสนับสนุนในเรื่องคาร์บอนอย่างเป็นรูปธรรม
สังคมบริโภคอย่างยั่งยืน Society of Sustainable Consumption
ประการสุดท้ายของสามมิติทางสังคม คือการปรับเปลี่ยนธุรกิจและห่วงโซ่คุณค่า โดยมุ่งเน้นการสร้างจิตสำนึกและพฤติกรรมของตลาดในการบริโภคเท่าที่จำเป็น รวมทั้งการใช้สินค้า บริการ และโซลูชั่นคาร์บอนต่ำ โดยเริ่มต้นตั้งแต่การปรับเปลี่ยนภายในองค์กร ส่งต่อสู่ผู้บริโภคปลายทาง
กระบวนการสู่การบริโภคอย่างยั่งยืน ผ่านการออกแบบผลิตภัณฑ์สีเขียว (Green Products) ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เริ่มต้นตั้งแต่สายพานการผลิตที่จะต้องมีระบบการบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่คุณค่าอย่างมีประสิทธิภาพ ไปพร้อมกับการจัดซื้อสีเขียว ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจผู้บริโภค กระตุ้นให้เกิดการบริโภคอย่างรับผิดชอบ
โดยจากการระดมสมองของภาคเอกชนในครั้งนี้ ได้นำไปสู่ความร่วมมือกับภาครัฐเดินหน้า 10 แนวทางการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ อาทิ โครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน สนับสนุนด้านเงินทุน สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ สำหรับพลังงานสะอาด การจัดระบบการจัดเก็บขยะที่มีประสิทธิภาพ การส่งเสริมวินัยการคัดแยกขยะตั้งแต่ครัวเรือน รวมถึงสนับสนุนองค์ความรู้ เทคโนโลยีการพัฒนาสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ความร่วมมือทั้งหมดนี้ ไม่เพียงแต่เกิดจากภาคเอกชนที่ร่วมมือกันเพื่อสร้างสรรค์สังคมคาร์บอนต่ำให้เป็นจริงเท่านั้น แต่จำเป็นต้องอาศัยพลังจากพวกเราทุกคนที่จะจับมือเดินหน้าไปด้วยกัน เริ่มต้นจากบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบ เรื่องหลังบ้านอย่างการแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ทั้งหมดนี้จะค่อยบ่มเพาะวินัยของตัวเองในระยะยาว และขยายวงกว้างสู่ปลายทางที่การสร้างสังคมคาร์บอนต่ำร่วมกันต่อไป