นักสำรวจที่เล่าเรื่องเพื่อเปลี่ยนโลก ใน National Geographic Talk ครั้งแรกที่ไทย

นักสำรวจที่เล่าเรื่องเพื่อเปลี่ยนโลก ใน National Geographic Talk ครั้งแรกที่ไทย

Postcards from Planet Possible: Impact Storytelling ทอล์กโชว์และเสวนาจาก National Geographic ครั้งแรกในประเทศไทย ที่มาถ่ายทอด ‘ชุดความคิด’ ของนักสำรวจ ที่เล่าเรื่องราวเพื่อทำให้ผู้คนได้เรียนรู้ที่จะรักโลกมากขึ้น

กว่า 133 ปีมาแล้ว ที่ชื่อ เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ได้ปรากฎขึ้นในฐานะองค์กรที่บอกเล่าเรื่องราวของธรรมชาติที่ทำให้ผู้คนทั่วโลกได้รู้จักและเปิดหูเปิดตาถึงความมหัศจรรย์ของโลกใบนี้ ผ่านช่องทางของนิตยสาร และภาพยนตร์สารคดี รวมไปถึงสื่อออนไลน์ในโลกยุคใหม่ โดยการทำงานของบรรดา ‘นักสำรวจเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก’ (National Geographic Explorer) ซึ่งเป็นเครือข่ายนักสำรวจของเนชั่นแนล จีโอกกราฟฟิก ที่ได้รับการสนับสนุนเพื่อทำโครงการสำรวจ ไม่ว่าจะเป็นด้านวิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม รวมไปถึงงานด้านสื่อสารมวลชนที่บอกเล่าเรื่องราวความเป็นไปของโลกใบนี้

นักสำรวจเหล่านี้มีทั้งความอยากรู้อยากเห็น และความอยากเรียนรู้อยู่ในตัวอย่างเต็มเปี่ยม พวกเขาใช้คำถามเป็นอาวุธ เพื่อสกัดเอาเรื่องราวความเป็นไปบนโลกมาถ่ายทอดในสิ่งที่เรียกว่า ‘สารคดี’ โดยบรรดานักสำรวจเหล่านี้ต่างมุ่งหวังว่าการทำงานของเขาจะส่งผ่านไปให้ผู้คนทั่วโลก ซึ่งจะมีส่วนให้โลกใบนี้น่าอยู่อย่างยั่งยืน

งาน Sustainability Expo หรือ SX2022 งานมหกรรมด้านความยั่งยืน ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน ได้เห็นถึงความสำคัญของพลังแห่งการเล่าเรื่องเพื่อการอนุรักษ์ในรูปแบบของสารคดี National Geographic ที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก จึงได้ร่วมมือกันเพื่อจัดงานทอล์กโชว์และเสวนาในหัวข้อที่มีชื่อว่า Postcards from Planet Possible: Impact Storytelling เพื่อนำเสนอเรื่องราวของนักสำรวจเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ที่ได้ทำงานเพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดผลลัพธ์อันทรงพลังด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติออกไปสู่สังคมวงกว้าง และหวังว่าเรื่องราวที่พวกเขาถ่ายทอดในงานจะสร้างจิตวิญญาณของนักสำรวจให้กับคนทุกคนได้ออกไปทำสิ่งดีเพื่อธรรมชาติและโลกใบนี้

‘มอลลี แฟร์ริล’ (Molly Ferrill) ความหมายของนักสำรวจ คือ ‘ชุดความคิด’ ของการเรียนรู้เพื่อสร้างสิ่งที่ดีให้กับโลก

มอลลี แฟร์ริล นักสำรวจของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก เป็นนักเขียนสารคดีและช่างภาพที่มีผลภาพถ่ายที่บอกเล่าเรื่องราวของธรรมชาติ สัตว์ป่า และกำลังทำโปรเจกต์มากมายที่บอกเล่าเรื่องราวของปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนและธรรมชาติทั่วโลก มีความเห็นว่า คำว่า นักสำรวจ (Explorer) แท้จริงแล้วคือชุดความคิด (Mindset) ของความอยากรู้อยากเห็น ความรักในการเรียนรู้ธรรมชาติรอบตัว

ในฐานะนักสำรวจ เธอสนใจในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับธรรมชาติ ตลอดการทำงานเป็นนักสำรวจ เธอพบว่าท่ามกลางเรื่องราวของโลกที่เปลี่ยนแปลง วิถีแห่งความสัมพันธ์นี้ยังคงอยู่และสืบสานจนเกิดเป็นวัฒนธรรมที่มีเสน่ห์ และเกิดเป็นผู้คนมากมายที่อุทิศชีวิตเพื่อพิทักษ์ป่าและสิ่งแวดล้อม ความถึงการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่ทำให้โลกน่าอยู่ยิ่งขึ้น

เธอมีความเห็นว่า สำหรับคนทุกคน การเป็นนักสำรวจขึ้นอยู่กับชุดความคิดดังกล่าว เราทุกคนสามารถเป็นนักสำรวจเพื่อท้องถิ่น หรือเพื่อบ้านของตัวเอง และในที่สุด ชุดความคิดนี้จะพาให้เราทุกคนออกไปเรียนรู้ว่า โลกของเรานั้นมีกำลังปัญหาและความท้าทายทางสิ่งแวดล้อมอีกมาก แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีวิธีที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้สิ่งแวดล้อมนั้นดีขึ้น และชุดความคิดนักสำรวจนี้เองที่สร้างจิตสำนึกการเป็นนักอนุรักษ์ ด้วยการใช้ชีวิตประจำวันให้โลกดีขึ้น และมีความยั่งยืนมากขึ้น ทีละเล็กทีละน้อย ซึ่งถ้าคนทุกคนร่วมมือกัน ก็จะสามารถสร้างโลกที่ยิ่งใหญ่ได้

ดังเช่นเรื่องราวของนักสำรวจ ทั้ง 3 ท่าน (หรือทีม) ดังต่อไปนี้

วัชรพงษ์ หงส์จำรัสศิลป์: นักสำรวจ นักชีววิทยา ที่ค้นพบปรากฎการณ์ของ กุ้ง ที่มีความหมายต่อชีวิตและวัฒนธรรมของมนุษย์ (รวมไปถึงการปลูกฝังการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน)

ดร.วัชรพงษ์ หงส์จำรัสศิลป์ เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นนักชีววิทยา และเป็นนักสำรวจของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก

เขามีความสนใจในเรื่องราวความสัมพันธ์ของสัตว์กับมนุษย์ ดังเช่นในเรื่องของ “กุ้งเดินพาเรด” หรือกุ้งเดินขบวน ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่กุ้งแม่น้ำตัวเล็กๆ ในจังหวัดอุบลราชธานีนับล้านตัวจะขึ้นมาจากน้ำเพื่อเดินบนบกขึ้นไปสู่พื้นที่ต้นน้ำในช่วงหน้าฝน  เขาทุ่มเทพยายามในบทบาทของนักสำรวจเพื่อศึกษาพฤติกรรมของกุ้ง ที่บางครั้งก็ต้องเสี่ยงอันตรายหลายต่อหลายครั้ง เพื่อค้นหาเบื้องราวเบื้องหลังปรากฎการณ์ของกุ้งนี้

ท้ายที่สุดแล้ว เขาค้นพบว่า กุ้งนับล้านตัวนี้เพียงต้องการที่จะ ‘กลับบ้าน’ ของมันเนื่องจากพวกมันไม่สามารถต้านทานกระแสน้ำเชี่ยวกรากในช่วงหน้าฝน แต่การเดินทางนี้เองทำให้กุ้งนับพันนับหมื่นตัวต้องจบชีวิตระหว่างทางเนื่องจากติดกิ่งไม้ระหว่างเดิน หรือกลายเป็นอาหารของแมงมุมนักล่า ปรากฎการณ์นี้เองทำให้เขาได้เรียนรู้ถึงวิธีของห่วงโซ่อาหารในธรรมชาติ ซึ่งเป็นกระบวนการให้โลกของเรายังคงอยู่

ไม่เพียงแค่นั้น การสำรวจศึกษาพฤติกรรมของกุ้งทำให้เขาได้พบกับความสัมพันธ์ของกุ้งและวัฒนธรรมของมนุษย์ ชาวบ้านแถวนั้นได้เฝ้าสังเกตปรากฎการณ์นี้จนเกิดวัฒนธรรมเฉลิมฉลองการเดินทางของกุ้ง ซึ่งชี้ให้เห็นว่ากุ้งมีความสำคัญต่อชาวบ้านอย่างมาก

แต่ทว่ายังมีแง่มุมของปัญหา ในเรื่องของการส่งเสริมปรากฎการณ์ของกุ้งนี้ให้เป็นการท่องเที่ยว จนเกิดเป็นภาวะนักท่องเที่ยวล้นเกิน (Overtourism) ซึ่งพฤติกรรมนักท่องเที่ยวอาจส่งผลกระทบให้กุ้งลดจำนวนลง และอาจสูญพันธุ์ไปจากระบบนิเวศได้ ในท้ายที่สุดแล้ว เรื่องราวจากกุ้ง ที่เขาได้เรียนรู้และถ่ายทอดไปในฐานะนักสำรวจของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ทำให้เขาได้รับแง่คิดในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสัตว์ว่าส่งผลต่อการดำรงอยู่และวัฒนธรรมของเผ่าพันธุ์มนุษย์มากมายเพียงใด

ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย: จากความสิ้นหวังจากประมงทำลายล้าง สู่ความหวังใหม่ในการประมงอย่างยั่งยืน

ศิรชัย เป็นนักชีววิทยาทางทะเลและช่างภาพสารคดีผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของการอนุรักษ์ทะเล ตลอดการเป็นนักสำรวจและช่างภาพ เขาได้เห็นท้องทะเลไทยมากมาย ซึ่งเขาได้พูดถึงประสบการณ์การดำน้ำที่ จ.สตูล

ที่นั่นยังเป็นระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ เต็มไปด้วยปะการังและฝูงปลานับหมื่น รวมไปถึงเป็นแหล่งที่อยู่ของฉลามวาฬ  ซึ่งเป็นสัตว์ทะเลที่เขาให้ความสนใจอย่างมาก แต่ในพื้นที่เดียวกันนี้เอง เขาได้เห็นฉลามวาฬที่เขาชื่นชอบตายเป็นซากบนเกาะเนื่องจากได้รับผลกระทบจากอวนลากขนาดใหญ่ ซึ่งเขามองว่าเป็นส่งร้ายต่อทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์ใต้ท้องทะเลจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม ความเป็นนักสำรวจใต้ทะเลพาเขาไปพบเจอวิธีการจับปลาของชาว อูรักลาโว้ย ซึ่งเป็นชาวเลท้องถิ่นซึ่งยังชีพด้วยการทำประมงพื้นบ้านแบบใช้ตาข่ายดักปลา ซึ่งเป็นวิธีจับปลาแทบไม่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ทางลบต่อสิ่งแวดล้อม หากแต่ไม่ได้ปริมาณปลามากมายเทียบเท่ากับการใช้ประมงแบบอวนลาก นอกจากนี้ การทำประมงพื้นบ้านกำลังได้รับความนิยมที่ลดลง เนื่องจากความยากลำบากในการทำ และได้ผลตอบแทนที่น้อย

ศิรชัยเล็งเห็นถึงคุณค่าและภูมิปัญญาชาวบ้านที่ทำให้เห็นว่าที่จับโดยวิธีประมงพื้นบ้านมีคุณภาพที่ดีกว่า จึงทำให้ปลาเหล่านี้เป็นที่ต้องการของบรรดาร้านอาหารที่ให้ความสำคัญกับวัตถุดิบ (แน่นอนว่าสร้างรายได้ให้ชาวประมงพื้นบ้านได้พอสมควร) เขาจึงเห็นว่า วิถีประมงแบบนี้มีคุณค่าทั้งในแง่ของการอนุรักษ์ และก่อให้เกิดความยั่งยืน จึงต้องการสื่อสารสิ่งที่เขาได้ค้นพบจากวิถีนักสำรวจของตัวเองให้ผู้คนได้รับรู้ถึงคุณค่าการประมงพื้นบ้านเหล่านี้ อันจะเป็นเผยแพร่วิถีการประมงแบบยั่งยืนนี้ให้เป็นรูปธรรม ซึ่งจะก่อให้เกิดวิถีโลกใหม่ซึ่งดีต่อทรัพยากรโลกใต้ทะเล และโลกของเรา

Emerging Islands: สร้างความเชื่อมั่นในตัวตน สื่อสารความสำคัญของชาวเกาะเพื่อธรรมชาติของโลกที่ดีกว่า

Emerging Islands เป็นองค์กรศิลปะจากประเทศที่เป็นหมู่เกาะอย่างฟิลิปปินส์ ซึ่งเกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของ ศิลปิน โปรดิวเซอร์ และภัณฑารักษ์ อย่าง ‘นิโคลา เซบาสเตียน’ (Nicola Sebastian) ‘ซาแมนธา ซาแรนดิน’ (Samantha Zarandin) และ ‘เดวิด โลห์แรน’ (David Loughran)

พวกเขาร่วมกันสร้างงานศิลปะ เวิร์กช็อป และควมร่วมมือระดับนานาชาติมากมายเพื่อให้โลกได้เห็นความสำคัญของ ‘ชาวเกาะ’ ในฐานะแหล่งระบบนิเวศทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่สำคัญ พวกเขาส่งเสริมให้ชาวเกาะพื้นถิ่นมากมายมีความมั่นใจที่บอกเล่าเรื่องราวและอัตลักษณ์ของตน โดยใช้พลังของการเล่าเรื่องและศิลปะที่พวกเขาเชื่อสื่อสารความสำคัญของพวกเขาออกไป เพื่อให้พวกเขาเกิดแรงบันดาลใจและคุณค่าในตัวเอง

อย่างไรก็ตาม Emerging Islands ไม่เพียงแต่ทำงานเพื่อให้โลกได้รับรู้คุณค่าและตัวตนของชาวเกาะ แต่ยังมีความห่วงใยในเรื่องของมลภาวะขยะพลาสติกในท้องทะเล ซึ่งกำลังเป็นปัญหาใหญ่ของทั้งฟิลิปปินส์และทั่วโลก รวมไปถึงปัญหา ‘ภาวะโลกรวน’ ที่ก่อให้เกิดอากาศที่แปรปรวนสุดขั้ว ส่งผลให้บรรดาชาวเกาะกลายเป็น ‘ด่านหน้า’ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาทั้งสองอย่างหนัก

โดยความจริงที่น่าเจ็บปวดคือ ผลกระทบที่ชาวเกาะโดยเฉพาะที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องเผชิญอย่างหนักนี้ล้วนเป็นผลที่เกิดจากการกระทำของคนทั้งโลก โดยเฉพาะจากประเทศพัฒนาแล้ว Emerging Islands จึงมีความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะใช้พลังแห่งการเล่าเรื่องราวและงานศิลปะให้ผู้คนได้ตระหนักถึงผลกระทบต่อขยะพลาสติกและภาวะโลกรวนที่มีต่อชาวเกาะและธรรมชาติทั่วโลก และนำไปสู่ความร่วมมือร่วมใจในการอนุรักษ์ธรรมชาติจากคนทั้งโลก

จากเรื่องราวของนักสำรวจเหล่านี้ ท้ายที่สุดแล้วเราคงมองย้อนกลับไปถึงสิ่งที่ มอลลี แฟร์ริล ได้กล่าวเอาไว้ในตอนต้นว่า แท้จริงแล้ว ความเป็นนักสำรวจเริ่มต้นที่ชุดความคิดของเรา และความเป็นนักสำรวจไม่ได้หมายถึงการออกเดินทางไปสถานที่ต่างๆ มากมายเพื่อให้ได้เรื่องราวหรือประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้นเพียงอย่างเดียว

แต่การเป็นนักสำรวจนั้นเริ่มได้จากชีวิตประจำวัน ในพื้นที่ที่เราอยู่ ดังจะเห็นได้จากบรรดานักสำรวจทั้งหมดที่เริ่มต้นโครงการเพื่อธรรมชาติในบ้านของตัวเอง พวกเขาพบเห็นเรื่องราวทางธรรมชาติ พวกเขาต่างมีความอยากรู้อยากเห็น พวกเขามีจิตวิญญาณของการเรียนรู้ และมีการตั้งคำถามกับตัวเองอย่างเสมอว่า “ฉันจะทำให้สิ่งนี้ (ธรรมชาติ) ดีขึ้นได้อย่างไร” และออกไปลงมือทำ รวมไปถึงสื่อสารให้คนทั่วไปได้เข้าใจ

โครงการสำรวจของพวกเขาล้วนไม่ใช่โครงการที่ใหญ่ และอาจจะไม่ได้ส่งผลมากมายต่อคนทั้งโลก เพียงแต่ว่า ถ้าโลกของเรามีผู้คนที่ ‘ชุดความคิดของนักสำรวจ’ ที่มุ่งมั่นพัฒนาโลกให้ดีขึ้นเป็นจำนวนมาก ความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีก็จะเกิดขึ้น เรายังมีความหวังที่เฝ้าใฝ่ฝีนถึงโลกที่ดีกว่า และนั่นจะทำให้โลกของเรากลายเป็นโลกที่น่าอยู่ได้อย่างยั่งยืนต่อไป

ชมวิดีโอทอล์กโชว์ และเสวนาตลอดทั้งงานได้ที่นี่ (ภาษาอังกฤษ)

Recommend