ประกาศรางวัล Greener Bangkok Hackathon 2022 สวน 15 นาที สู่การปฏิบัติจริง

ประกาศรางวัล Greener Bangkok Hackathon 2022 สวน 15 นาที สู่การปฏิบัติจริง

Greener Bangkok Hackathon 2022 ประกาศผลผู้ชนะรางวัล ที่ไม่ได้สิ้นสุดเพียงแค่โครงการในกระดาษ แต่ก้าวสู่การผลักดันสวน 15 นาทีให้เกิดขึ้นจริงร่วมกันกับ กทม.​ และภาคีพัฒนาเมือง

‘สวน 15 นาที’ วลีที่คุ้นหูกันอย่างยิ่งในช่วงครึ่งปีให้หลัง กับความเข้าใจถึงความสำคัญของการสร้างเมืองที่เป็นมิตรกับทุกคน จากภาคนโยบายเดินทางมาสู่การลงมือปฏิบัติจริงโดยความร่วมมือของทุกภาคส่วนในสังคม ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคีเครือข่ายนักพัฒนาเมือง จนมาวันนี้ที่ได้ผู้ชนะรางวัลจากโครงการ Greener Bangkok Hackathon 2022 เรียบร้อยแล้ว

หลังผ่านการนำเสนอโครงการและระดมสมองอย่างเข้มข้นมาเป็นเวลากว่าสองเดือน โดยตลอดกระบวนการมีการจัดสรรกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาแนวคิดโดยผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขามาร่วมเปิดมุมมองของเมืองในแง่มุมที่แตกต่าง พร้อมกับการระดมสมองและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างทีมผู้เข้าแข่งขันที่มีความถนัดที่แตกต่าง งอกเงยกลายเป็นผลสรุปจากข้อเสนอที่น่าสนใจ และสามารถต่อยอดเป็นโครงการใหม่เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนได้อีก

ข้อสรุปจากนักแฮก

ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการ Uddc-CEUS หนึ่งในเจ้าภาพใหญ่ของโครงการนี้ ได้ทำการวิเคราะห์ผลสรุปจากทั้ง 66 ข้อเสนอที่ส่งเข้าร่วมประกวด ถึงความเป็นไปได้ที่ส่งโครงการเหล่านี้ลงสู่สนามจริงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

โดยหากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ภาคประชาสังคม และประชาชน ร่วมกันขับเคลื่อนข้อเสนอสู่การปฏิบัติได้จริง มีความเป็นไปได้ที่กรุงเทพมหานครจะมีพื้นที่สีเขียวเป็นไปตามที่ปรารถนาจากจากปัจจุบัน 7.6 ตารางเมตร/คน เป็น 24.5 ตารางเมตร/คน รวมถึงลดระยะการเข้าถึงจาก 60 นาทีในปัจจุบัน เป็น 15 นาที ตามเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้

อีกส่วนที่ควรให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วนเพื่อการลงมือปฏิบัติไม่แพ้กันคือ การใช้ข้อมูล Open Data ร่วมวิเคราะห์หาพื้นที่ที่มีความเร่งด่วนและเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาตามนโยบายสวน 15 นาที โดยทำการเปรียบเทียบของเขตการให้บริการพื้นที่สีเขียวในปัจจุบัน ครอบคลุมทั้งที่ดินของภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมกันกับความหนาแน่นของพื้นที่เมือง ประชากร และพื้นที่ศักยภาพเดินได้ จนได้ข้อสรุปที่ว่า พื้นที่สีเขียว 15 นาทีของกรุงเทพฯ​ ในปัจจุบันยังครอบคลุมพื้นที่เพียง 17% และยังต้องดำเนินการอีก 83% การจัดลำดับความเร่งด่วนจึงเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวช่วยเร่งการพัฒนาสู่การสร้างกรุงเทพฯ เมืองที่เขียวกว่า

โดย 10 เขตเร่งด่วนในกรุงเทพฯ ที่เข้าเงื่อนไข และควรรีบดำเนินการก่อน ได้แก่ บางซื่อ บางคอแหลม ธนบุรี ป้อมปราบศัตรูพ่าย พระโขนง วังทองหลาง สวนหลวง บางนา หลักสี่ และบางกอกใหญ่ ซึ่งรศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และประธานการเปิดงานประกาศผลรางวัลได้กล่าวถึงการเดินหน้าก้าวต่อไปของกรุงเทพมหานคร

“กรุงเทพมหานครจะต้องเปิดพื้นที่และสนับสนุนให้ข้อเสนอจากแฮกกาทอนเกิดขึ้นจริง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยทำให้เร็ว ประเมินผลให้เร็ว และปรับแก้ให้ทันควัน เพื่อให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น”

จากทั้ง 66 ข้อเสนอที่ส่งเข้าร่วมประกวด ได้ให้แนวคิดที่ตอบทั้งการออกแบบพื้นที่สีเขียว อย่างการออกแบบพื้นที่คลอง ทางเท้า สะพานลอย การปรับการใช้งานของพื้นที่หน้าร้านสะดวกซื้อ ลานโล่งของวัด และธนาคาร รวมไปถึงข้อเสนอด้านบริบทที่รายล้อม ทั้งด้านมาตรการทางกฎหมาย ภาษีที่ดิน รวมถึงการใช้แอปพลิเคชันเข้ามาช่วยด้านการบริหารจัดการ ซึ่งนอกจากจะตอบโจทย์ทางกายภาพของพื้นที่สีเขียวแล้ว ยังตอบโจทย์ในด้านอื่น ๆ ด้วย อาทิ การช่วยลดผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) เช่น การซับน้ำ ในมิติสวนเกษตรกินได้ ด้านเศรษฐกิจ ด้านความมั่นคงทางอาหาร (food security) รวมถึงด้านสุขภาพอีกด้วย

และจากการนำเสนอแนวทางการต่อยอดข้อเสนอจากผู้เข้าประกวดสู่การปฏิบัติจริงบนพื้นที่นำร่อง Green Matching สวมเข้ากับพื้นที่จริง โดยเริ่มจากย่านพระโขนง-บางนา ในรูปแบบ Policy Sandbox ของกทม. สร้างย่านสีเขียว 15 นาที ด้วยโมเดลจตุรภาคี หรือ 4Ps (Public Private People Partnerships)

ทีมชนะการแข่งขัน

ผลรางวัลของทีมที่ชนะเลิศ และทีมชนะรางวัลขวัญใจมหาชน จาก 2 ประเภท ได้แก่ ประเภท A เน้นผลลัพธ์ทางด้านการออกแบบ เพื่อพัฒนาในเชิงกายภาพของพื้นที่สีเขียว รวมทั้งเป็นต้นแบบเพื่อนำไปต่อยอดขยายผลต่อไป และประเภท B เน้นผลลัพธ์ด้านกลไกและการบริหารจัดการ โดยเน้นในแนวทางการทำงานเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เหมาะสมกับบริบทที่แตกต่าง หรือเชิงแนวคิดในการดำเนินงานของผู้รับผิดชอบพื้นที่ รวมทั้งหมด 5 ทีม ได้แก่

  • รางวัลชนะเลิศข้อเสนอประเภทเน้นผลลัพธ์ด้านการออกแบบ กลุ่มนักเรียน นักศึกษา ได้แก่ ทีม Hipstect ด้วยผลงาน Amphibious Bangkok (พื้นที่เขตจตุจักร) ที่ใช้การจัดการพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมไปพร้อมกับการเพิ่มพื้นที่สีเขียว

  • รางวัลชนะเลิศข้อเสนอประเภทเน้นผลลัพธ์ด้านการออกแบบ กลุ่มบุคคลทั่วไป ได้แก่ ทีม ร้านสะดวกสวน ด้วยผลงาน CONVENIENCE PARK (พื้นที่เขตห้วยขวาง) จากโจทย์สถานที่ที่ทุกคนเดินเข้าถึงได้ภายใน 15 นาทีอย่างร้านสะดวกซื้อมาเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการสร้างโครงข่ายสีเขียวของเมือง

  • รางวัลชนะเลิศข้อเสนอประเภทเน้นผลลัพธ์ด้านกลไกและการบริหารจัดการ กลุ่มนักเรียน นักศึกษา ได้แก่ ทีม สวนพร้อมก่อ สุดหล่อพร้อมยัง ด้วยผลงาน เหนื่อยเมื่อไร ก็แวะมา (พื้นที่เขตพระโขนงและบางนา) อีกไอเดียจากร้านสะดวกซื้อที่สร้างกลไกการบริหารจัดการเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในย่านให้กับคนในพื้นที่

  • ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศข้อเสนอประเภทเน้นผลลัพธ์ด้านกลไกและการบริหารจัดการ กลุ่มบุคคลทั่วไป ได้แก่ ทีม Green Dot. ด้วยผลงาน Green Dot. (แอปพลิเคชันการบริหารจัดการ) แอปฯ​ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างประชาชนทุกคนกับรุกขกร เพื่อการแลกเปลี่ยนแบ่งปันข้อมูลในการดูแลรักษา และบริหารจัดการพื้นที่สีเขียวในระดับนโยบายต่อไป

  • ผู้ได้รับรางวัลขวัญใจมหาชน ได้แก่ ทีม BE GREEN AGAIN ด้วยผลงาน Green Bank Near Your Area ธนาคารสาขา สู่ธนาคารสีเขียว (เขตพระโขนงและบางนา) ว่าด้วยการดึงศักยภาพในแง่การกระจายตัวของสาขาธนาคารมาเป็นจุดแข็งในการสร้างพื้นที่สีเขียวสำหรับชุมชน

 

นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการร่วมสร้างความสามัคคีของผู้คน ผ่านการขับเคลื่อนและปลดล็อกสวน 15 นาทีภายใต้ร่มของความคิดสร้างสรรค์ทั้งงานออกแบบและภาคนโยบาย ต่อจากนี้ข้อเสนอบางส่วนจะถูกนำไปปรับใช้จริง รวมทั้งพัฒนาต่อยอดไปสู่การบรรจุเป็นนโยบายและแผนปฏิบัติงานจริงของกรุงเทพมหานคร ซึ่งทั้งหมดนี้ย่อมต้องอาศัยพลังของทุกภาคส่วนทั้ง กรุงเทพมหานคร องค์กรที่เกี่ยวข้อง ภาคีเครือข่าย และภาคประชาสังคม เพื่อขยายผลให้เกิดขึ้นจริง และนำไปสู่โครงการใหม่ๆเพื่อการพัฒนาเมืองในโอกาสถัดไป


อ่านเพิ่มเติม ระดมสมองและไอเดีย Greener Bangkok Hackathon Public Presentation

Recommend