ดร. สมบัติ กิจจาลักษณ์ เล่าความยั่งยืนแบบ BEM เชื่อมสังคมด้วยทางด่วนและขนส่งระบบราง

ดร. สมบัติ กิจจาลักษณ์ เล่าความยั่งยืนแบบ BEM เชื่อมสังคมด้วยทางด่วนและขนส่งระบบราง

ฟังเรื่องเล่าความยั่งยืนของบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM อะไรคือสิ่งที่ผู้ให้บริการทางด่วนและระบบรางวางไว้เพื่ออนาคตที่ดีสำหรับคนรุ่นต่อไป


ความยั่งยืนนั้นเป็นมากกว่าสิ่งที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าหรือการคาดคะเนจากรูปแบบของธุรกิจที่ทำ แต่เป็นแนวคิด กระบวนการทำงานเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าสำหรับเศรษฐกิจและสังคมต่างหาก และแม้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการสัญจรก็คิดแบบยั่งยืนได้

ตัวอย่างที่น่าสนใจคือบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ซึ่งเป็นคู่สัมปทานที่สำคัญของการรถไฟฟ้าขนส่วมวลชนแห่งประเทศไทย การรถไฟแห่งประเทศไทยและการทางพิเศษแห่งประเทศไทย  BEM เกิดจากการควบรวมกิจการกันระหว่างบริษัททางด่วนกรุงเทพและรถไฟฟ้ากรุงเทพในปี 2558 ปัจจุบันมีสินทรัพย์ขนาดใหญ่กว่า 1.1 แสนล้านบาท สร้างรายได้ในปี 2565 ได้เกือบ 1.5 หมื่นล้านบาท

องค์กรแห่งนี้เชื่อมโยงชีวิตผู้คนนับล้านที่เดินทางด้วยรถไฟฟ้าและใช้บริการทางด่วนตลอดทั้งวัน ยังไม่นับพนักงานในองค์กรรวมทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอีกมากที่อยู่ในพื้นที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหรือเกี่ยวข้องกับธุรกิจ การพัฒนาอย่างยั่งยืนจึงเป็นหัวใจสำคัญที่ไม่เพียงสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนหมู่มากแต่ยังเป็นแต้มต่อใหม่สำหรับการแข่งขันในอนาคตของ BEM อีกด้วย

National Geographic ภาษาไทย พูดคุยกับ ดร. สมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการของ BEM เพื่อทำความเข้าใจวิธีคิดและวิถีการทำงานของพวกเขา เพื่อถ่ายทอดผ่านบทสัมภาษณ์พิเศษนี้

พอเราพูดถึง BEM จะนึกถึงทางด่วนและรถไฟฟ้า สิ่งที่ทำอยู่เกี่ยวข้องความยั่งยืนได้อย่างไร?

ความยั่งยืนที่พูดกันต้องประกอบไปด้วยหลายเรื่องนะครับ เรามองว่าเรื่องสังคมเราก็ต้องดูแลด้วย ไม่ใช่ว่าเรายั่งยืนอยู่คนเดียว สังคมไม่ยั่งยืน เราก็ไม่ยั่งยืนหรอกครับ ที่สำคัญคือต้องดูเรื่องเศรษฐกิจด้วย BEM ต้องมีผลประกอบการที่ดีควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งเเวดล้อมต่างๆ กิจกรรมที่ทำมันเสริมสร้างเรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่แล้วนะครับ อย่างรถไฟฟ้าก็เป็นการขนส่งคนใช่ไหมครับ ขนส่งคนโดยที่ใช้พลังงานสะอาดมาก คนขับรถและใช้พลังงานน้อยลง และถ้าอีกหน่อยเราอาจจะใช้พลังไฟฟ้าที่ที่ไม่ใช่จากฟอสซิลด้วยซ้ำ จะช่วยลดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมได้เยอะเลย ส่วนทางด่วนเนี่ย จริงๆก็คือทำให้คนเดินทางได้เร็วขึ้น รถบนถนนด้านล่างที่ปล่อยควันพิษตรงไปที่ผู้บริโภคก็น้อยลงด้วย ดีกว่าไม่มีทางด่วนแล้วรถติดกันเต็มไปหมด เพราะฉะนั้นกิจกรรมของเรามันเป็นตัวเสริมสร้างปัจจัยแห่งความยั่งยืนอยู่แล้ว

เรามักพูดกันว่าในประเทศที่เขาจัดการดีๆ ประชานจะเลือกใช้รถสาธารณะ เห็นด้วยหรือไม่? แล้วเมื่อไหร่ประเทศไทยจะไปถึงจุดนั้น?

ก็จริงๆแล้ว กรุงเทพฯเราก็ถือว่าเป็นเมืองใหญ่นะครับ รัฐบาลต้องมีส่วนช่วยอย่างมากในการผันคนที่ใช้รถมาสู่การขนส่งสาธารณะ ทำให้คนอยากใช้รถไฟฟ้าหรือรถขนส่งที่มี ประเทศที่เจริญแล้วจะมีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนมากมาย บ้านเรานี่สร้างทีหลังเขา อย่างของเขาวันๆหนึ่งคนเดินทางเป็นสิบล้านทริป ประชาชน 40% จะเดินทางบนระบบรางนะครับ ส่วนของเราน่าจะยังไม่ถึง 10% ถ้าจะทำให้ได้แบบเขาเราต้องมีเครือข่ายที่เชื่อมกันและมีแรงจูงใจด้านค่าใช้จ่ายให้คนมาใช้บริการด้วไม่ใช่ให้ผู้ใช้บริการเสียค่าแรกเข้าหรือค่าใช้จ่ายซ้ำซ้อนอะไรแบบนั้น เขาก็เลือกนั่งแท็กซี่ดีกว่า

เรื่องโมเดลธุรกิจของการขนส่งนี่สำคัญมาก คือรัฐควรมองเป็นภาพรวมที่รอบด้านของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ หมายความว่าทำไปแล้วมันทำให้เกิดการพัฒนารอบๆเส้นทาง พอเจริญก็จะเก็บภาษีเพิ่มได้อีกในอนาคต เพราะถ้าไปคิดแต่ตัวเลขตรงๆ มันก็อาจไม่คุ้มค่า ก็เลยเกิดความยากลำบากของรัฐบาลที่จะทำให้เกิดระบบรถไฟฟ้าขึ้นมาเนื่องจากต้องมีงบประมาณบางส่วนเข้าสนับสนุนด้วย สุดท้ายแล้วสิ่งที่ทำไปก็เป็นสินทรัพย์ของชาตินะครับ เหมือนเวลาสร้างถนน ทำเสร็จแล้วก็เกิดการสัญจรไปมา

คิดว่าค่ารถไฟฟ้าเมืองไทยแพงไปไหม?

ครับ ผมคิดว่ารัฐบาลควรดูแลนะครับ เนื่องจากจากโมเดลธุรกิจที่กำหนดแต่แรกก็เพื่อจูงใจเอกชนให้เข้ามาลงทุน บางทีก็ไปคิดค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนทับกันไปมา ค่าโดยสารก็ยิ่งแพงทั้งที่มันควรจะเดินทางต่อเนื่องไปได้เลย ผมไม่ได้บอกว่าเป็นตั๋วร่วมนะครับ แต่ควรเป็นค่าธรรมเนียมที่มีร่วมกันเพื่อทำให้เกิดค่าแรกเข้าแค่ครั้งเดียว ตรงนี้เป็นหน้าที่ของภาครัฐในการสนับสนุน

พลังงานที่ BEM ใช้เอามาจากแหล่งใดบ้าง?

เป็นแบบผสมครับ เนื่องจากไฟฟ้าที่เราใช้นั้นมีต้นทางจากการจ่ายไฟโดยภาครัฐซึ่งก็ใช้ถ่านหินและน้ำมัน ส่วนหนึ่งก็มีจากพลังงานน้ำด้วย แต่ถือว่ามีพลังงานทดแทนในส่วนที่น้อยครัว ที่เราทำได้ตอนนี้คือการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เราเริ่มติดแผงโซลาร์เซลส์ตามหลังคาและอาคาร ในอนาคตเราจะปรับปรุงอาคารสำนักงานใหญ่เป็นอาคารสีเขียวด้วย

ถ้าวันข้างหน้า เราสามารถซื้อไฟฟ้าจากแหล่งที่ต้องการได้โดยตรง เราก็จะเลือกจากแหล่งพลังงานที่ไม่ได้เกิดจากการเผาถ่านหินอะไรแบบนั้น ก็เป็นการลดการปล่อยคาร์บอนตั้งแต่ต้นทางได้เลย

สร้างวัฒนธรรมหรือแนวทางในการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนอย่างไร?

เดี๋ยวนี้ง่ายขึ้นครับ มันมีกรอบแนวคิดที่ชัดเจนอยู่แล้ว อย่างทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็นำมาใช้ในการกำกับดูแลนะครับ ซึ่งก็อ้างอิงกรอบความคิดมาจากต่างประเทศ อย่างระบบรถไฟฟ้าในระดับสากลเขามีคำว่าการพัฒนาอย่างยั่งยืนมานานแล้ว จากนั้นก็พัฒนาต่อยอดและยกระดับขึ้นมาเรื่อยๆ มีคยวามลึกซึ้งมากขึ้น เกี่ยวข้องกับยทุกส่วนในห่วงโซ่อุปทาน วิธีของเราก็คือเราต้องเข้าไปร่วมกับเขาด้วย เอาความยั่งยืนมาเป็นกระบวนการทำงานซึ่งฝังอยู่ในทุกส่วน ตค้องรู้ว่าความยั่งยืนมีกี่มิติบ้างและดำเนินการให้ครบในทุกมิติ จากนั้นก็จะประเมินออกมาได้ว่าเราพัฒนาไปถึงไหน อยู่ในระดับใด มีตรงไหนที่ทำเพิ่มได้อีกบ้าง

ตอนนี้เราบอกตัวเองได้ว่าเราต้องการให้บริษัทของเราเป็นบริษัทที่มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนและทำเรื่องนี้กันทุกวัน แต่การที่เราทำอยู่ทุกวันเนี่ย เราใช้มาตรฐานทั้งในระดับโลก ระดับภูมิภาคและระดับมาเทศมาจับกับสิ่งที่เราทำเพื่อดูว่าเราเดินมาถูกทางแล้วหรือไม่ อย่างมาตรฐานต่างๆที่ทำกันอยู่แล้วอย่าง ISO หรือเรื่องอื่นๆ ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วย ซึ่งเป็นภาพที่กว้างกว่า

เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือ การจ่ายเงินค่ารถไฟฟ้าโดยใช้บัตรเครดิตแตะและชำระค่าโดยสารทันที ทำไมถึงทำเรื่องนี้ก่อนคนอื่น?

การใช้บัตรแตะจ่ายหรือ EMV Contactless แบบที่เราใช้กับทางด่วนและรถไฟฟ้า อันที่จริงทั่วโลกเขาพัฒนาเรื่องนี้ไปเยอะแล้ว คือตอนนี้ถ้าพูดคำว่าตั๋วรวมเนี่ยมันเชยไปแล้วครับ รูปแบบใหม่นี้มันเป็นเป็นตัวร่วมระดับโลกไปแล้วคือชำระเงินผ่านแพลตฟอร์มชำระเงินที่เป็นที่ยอมรับ แต่ก่อนด้วยข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีเราก็ต้องออกตั๋วกันเองของใครของมัน พอตอนนี้ร่วมมือกันกับทั้ง VISA และ Mastercard ก็ทำให้ผู้โดยสารแตะเปิดประตูได้เร็วขึ้นมาก เวลาไปกระทบยอดหรือหักค่าใช้จ่ายก็ไปจัดการกันเองที่หลังบ้านของธนาคาร คือเทคโนโลยีนี้จะลดเวลาและขั้นตอนการซื้อตั๋วหรือเติมเงินของผู้โดยสาร ซึ่งจริงๆประเทศเราสามารถใช้ EMV Contactless ในวงที่กว้างมากขึ้นกว่านี้ได้

ถ้าเช่นนั้น ก็ไม่จำเป็นต้องมีตั๋วร่วมแล้ว?

ไม่ต้องแล้วครับ เพราะEMV Contactlessมันยิ่งกว่าร่วมอีกครับ เพราะใช้ที่ไหนก็ได้ เพียงแต่ต้องมาปรับระบบเพื่อให้เขาสามารถคำนวณได้ เราต้องมีตัวอ่านเพื่อส่งข้อมูลเข้าไปให้เขาตัดเงินจากบัตรได้โดยตรง พอผู้โดยสารแตะบัตรเครดิตออกที่สถานีปลายทาง ก็ต้องรู้ได้ว่าเขาถูกหักเงินไปเท่าไหร่ พูดถึงเรื่องระบบเนี่ย มันไม่ใช่ว่าเราทำวันนี้และจะใช้ได้ตลอดไปนะครับ เราต้องพัฒนามันตลอดเวลา ซึ่งเราก็เลือกจับมือกับแพลฟฟอร์มชำระเงินระดับโลกที่เขาเชี่ยวชาญเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว ระบบเดิมๆที่เราเคยใช้กัน สักวันมันก็จะไม่ตอบโจทย์และหายไปอยู่ดี อย่างประเทศที่ที่นำโด่งเลยก็คืออังกฤษ ตอนนี้ที่อังกฤษก็เปลี่ยนจากระบบเก่ามาเป็น EMV Contactless กันหมดแล้ว อย่างในเอเชียที่โดดเด่นก็คือสิงคโปร์ที่ทำได้ 50-60% และตั้งเป้าจะเปลี่ยนเป็นของใหม่ทั้งหมด

ตอนนี้โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้ามทั่วกรุงเทพฯเลย พอมีปัญหาฝุ่น PM2.5 คนก็มองว่าเพราะเป็นเพราะโครงการเหล่านี้ อยากจะชี้อแจงอะไรหรือเปล่า?

เราก็ต้องให้ความรู้กับเขานะครับ เพราะฝุ่นมันมีหลายแบบนะ ฝุ่นที่เป็น PM2.5 เราต้องไปดูที่มาของมัน ความจริงคือฝุ่นจากการก่อสร้างมันเป็นฝุ่นเม็ดใหญ่ครับ ทำละอองไอน้ำปุ๊บมันก็ตกลงมาหมด ไม่ได้ลอยไปไกล ฝุ่น PM 2.5 ที่เป็นปัญหา ผมคิดว่าส่วนใหญ่มาจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง เพราะฉะนั้นเราต้องแยกให้ออก การจัดการต้องเป็นระดับรัฐบาลเลยนะครับที่ควรเข้ามาช่วยแก้ไข ต้องดูแลให้ถูกจุดว่าอะไรเป็นตัวที่ทำให้เกิดฝุ่นขนาดเล็กอย่างแท้จริง ที่เกิดในประเทศก็ส่วนหนึ่ง ยังมีฝุ่นจากต่างประเทศอีก วันข้างหน้ามันก็อาจกลายเป็นปัญหาระดับโลกได้ ทุกอย่างมันเชื่อมกันหมด

ผมคิดว่าแรงจูงใจทางบวกอย่างเดียวมันไม่ทันแล้ว มันไม่ใช่แค่การรณรงค์แต่ต้องเป็นการบังคับมช้กฏหมายเลย อย่างในต่างประเทศ เขาก็ประกาศจะเลิกใช้รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน ถ้าใครเผาโน่นเผานี่จะโดนจับ แต่ในประเทศกำลังพัฒนามันต่างออกไป การเผาพื้นที่เพาะปลูกเป็นวิธีที่ต้นทุนต่ำที่สุด อย่างพืชพวกอ้อยหรือพืชเชิงเดี่ยว ควรลดการปลูกลงแล้วไปปลูกอย่างอื่นหรือเปล่า หรือย่างน้อยราคาสินค้าเกษตรที่เขาขายได้ควรจะดีหน่อย ใช้การบังคับใช้กฏหมายอย่างเท่าเทียมควบคู่ไปกับกลไกด้านราคาเพื่อจูงใจ

เราเห็นรถไฟฟ้าในจีนสร้างไม่นานก็เสร็จพร้อมใช้ แล้วทำไมเมืองไทยทำได้ช้าจัง?

เรื่องเงินทุนก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ถ้าเราดูให้ลึกซึ้งอย่างของประเทศจีน เราจะเห็นว่าเราได้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกลับมาเยอะมาก เมื่อก่อนนี้รถไฟฟ้าเขาล้าหลังคนอื่นนะครับ มาวันนี้เขามีมากกว่าคนอื่นและกำลังจะกลายเป็นผู้นำตลาดโลก จีนทำในประเทศเทศของเขาเองก่อนและผลิตเองด้วย ช่วงแรกก็อาจไปซื้อเทคโนโลยีจากคนอื่นมาเลียนแบบก่อนจากนั้นก็พัฒนาให้มันดีขึ้น จนตอนนี้ผลักดันเส้นทางสายไหมใหม่หรือ Belt and Road Initiative (BRI) เห็นชัดเจนจากรถไฟฟ้าที่วิ่งไปที่ สปป.ลาว และจะเชื่อมต่อไปยังจุดอื่นๆ เรื่องนี้เป็นยุทธศสตร์ประเทศของเขาที่มีแนวทางชัดเจน เรารู้ว่าต้องทำอะไรและทำอย่างจริงจัง

นอกจากจีน ประเทศที่ทำได้ดีคือสิงคโปร์เพราเขากำหนดนโยบายชัดเจนมากว่าต้องมีสถานีรถไฟฟ้าจากระยะที่เดินได้ ไม่เกิน 1 กิโลเมตร ประเทศเขาเล็กจึงทำได้ดี หรือย่างญี่ปุ่นก็จะเห็นว่ารถไฟฟ้าขนส่งมวลชนเป็นอำนาจของประเทศเขาเลย มีเทคโนโลยีและรถไฟฟ้าเป็นของตัวเองเลย

ตั้งใจจะผลักดันเรื่องความยั่งยืนอย่างไรต่อไป?

ผมคิดว่าเรื่องความยั่งยืน  จะเน้นทำที่ตัวเราก่อนครับ พัฒนาทุกจุดในห่วงโซ่อุปทานของเราก่อนโดยใช้กรอบที่เป็นมาตรฐานระดับโลก BEM ยังมีช่องว่างที่สามารถจะพัฒนาตัวเองต่อไปได้อีก เวลาที่พูดภาพใหญ่ก็ถือว่าเป็นองค์ความรู้ไปนะครับ แต่เวลาทำจริง เราจะเดินทีละก้าวทุกวันนี้แบบนี้แหละครับ ทำตรงนี้จริงๆให้ได้ก่อน จากนั้นก็จะไปช่วยผู้ส่วนได้ส่วนเสียคนอื่นกับองค์กรเรา ทำให้เขามีความรู้ เข้าใจกติกาต่างๆและเห็นประโยชน์จากการทำเรื่องนี้

ที่BEMเราได้รับรางวัลต่างๆมาก็ต้องขอบคุณครับ เรื่องรางวัลสำหรับผมผมถือว่าเป็นผลพลอยได้ สิ่งที่เราต้องการอย่างแท้จริงก็คือการพัฒนาคนของเรา ให้ทั้งคิด พูด ทำเป็นเรื่องที่อยู่ในกรอบของความยั่งยืนจริงๆ เพราะคุณค่าที่สำคัญที่สุดของบริษัทคือคน เราจะทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ พอทำไปสักพักก็จะมีแนวทางที่ชัดเจนที่เราไม่ได้คิดเองแต่เรียนรู้และรวมรวมจากองค์ความรู้ระดับโลกมา อีกหน่อยอาจมีระบบปัญญาประดิษฐ์ที่ช่วยคัดกรองการทำกิจกรรมต่างๆและทำให้เราเน้นได้ถูกจุดมากขึ้น เราก็จะนำไปพัฒนาคนจต่อได้อย่างถูกทาง

นอกเหนือจากทำกันที่บริษัทแล้ว ผมก็หวังว่าพนักงานของเราจะใช้องค์ความรู้นี้ไปทำที่บ้านตัวเองด้วยครับ อย่างน้อยอยู่ที่บ้านตัวเองก็ทำบ้านเราให้ดีได้เหมือนกันนะ

เรื่อง : มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล

อ่านเพิ่มเติม : CSR ไม่ได้แปลว่าบริจาค เข้าใจความยั่งยืนภาคธุรกิจ แบบ ‘อนันตชัย ยูรประถม’ ผู้บริหาร SBDi

Recommend