เมื่อประชากรโลกกำลังก้าวสู่ 8 พันล้าน อาหารยุคใหม่ต้องพึ่ง AI และไม่ทิ้งความยั่งยืน : สรุปสาระสำคัญจากงาน Future Food Leader Summit 2025

เมื่อประชากรโลกกำลังก้าวสู่ 8 พันล้าน อาหารยุคใหม่ต้องพึ่ง AI และไม่ทิ้งความยั่งยืน : สรุปสาระสำคัญจากงาน Future Food Leader Summit 2025

“ปัจจุบันอุตสาหกรรมอาหารทั่วโลกต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ”

ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตของประชากรโลกที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเกือบ 2 พันล้านคนในอีก 30 ปีข้างหน้า (United Nations, 2022) หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อการผลิตอาหารทั้งโลก นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เริ่มให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและอาหารที่ปลอดภัยมากขึ้น ปัญหาเหล่านี้ทำให้การพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารในอนาคตต้องพึ่งพาเทคโนโลยีที่สามารถตอบสนองได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งมีศักยภาพในการช่วยปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ ลดการสูญเสียทรัพยากร และสนับสนุนการผลิตอาหารที่ยั่งยืน

จากการศึกษาของ McKinsey & Company (2023) พบว่า AI สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอาหารได้ถึง 20% โดยการใช้เทคโนโลยีนี้ในกระบวนการจัดการทรัพยากร การคาดการณ์ความต้องการของตลาด และการพัฒนาอาหารทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น โปรตีนจากแหล่งทางเลือกที่ไม่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติในปริมาณมาก อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ AI จะเป็นเครื่องมือที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหาร แต่ในประเทศไทยยังถือว่าเทคโนโลยีนี้ยังใหม่และยังไม่ได้ถูกนำมาใช้ในวงกว้างเท่าที่ควร

เพื่อสร้างความเข้าใจและเปิดโอกาสในการนำ AI มาใช้ในการผลิตอาหารที่ยั่งยืน งาน Future Food Leader Summit 2025: Regenerative Food for the Future จึงจัดกิจกรรม Workshop ขึ้นเพื่อรวบรวมแนวคิดและไอเดียจากผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขา รวมถึงการแชร์ความรู้ให้กับผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจในอุตสาหกรรมอาหาร โดยงานนี้มีผู้เข้าร่วมจากหลากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยี AI, นักวิทยาศาสตร์ด้านอาหาร ผู้ประกอบการ รวมไปถึงนักศึกษา และผู้ที่สนใจ เพื่อมาร่วมพูดคุยถึงบทบาทของ AI ในการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมอาหารให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากขึ้นภายใต้หัวข้อ Regenerative, Symbiotic Growth, AI with Future Food  โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้

อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต: อุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมอาหารของไทยได้รับการยกระดับและได้รับการยอมรับในระดับโลกมากยิ่งขึ้น โดยประเทศไทยได้กลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตและส่งออกอาหารที่มีคุณภาพเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ด้วยมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหาร 1,638,445 ล้านบาท ในปี 2024

ด้วยศักยภาพในการผลิตดังกล่าว ทำให้รัฐบาลไทยได้ตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาอุตสาหกรรม Future Food ให้เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมความหวัง ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต เนื่องจากการเติบโตของประชากรโลกและความต้องการอาหารที่ยั่งยืนและปลอดภัยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อุตสาหกรรม Future Food จึงถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจไทย ทั้งในแง่ของการผลิตและการส่งออก 

การยกให้ Future Food เป็นอุตสาหกรรมเรือธงของประเทศนั้น จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่การตอบสนองต่อความต้องการของตลาดในปัจจุบัน แต่ยังเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตที่อาหารไม่เพียงแต่จะต้องมีความปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการเท่านั้น แต่ยังต้องตอบโจทย์ในเรื่องของความยั่งยืน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด

นอกจากนี้ การพัฒนาอุตสาหกรรม Future Food ยังเกี่ยวข้องกับการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาปรับใช้ เพื่อสร้างอาหารจากแหล่งทางเลือก เช่น การใช้พืชหรือแมลงเป็นแหล่งโปรตีนทดแทน การผลิตเนื้อสัตว์จากห้องทดลอง (lab-grown meat) การพัฒนาอาหารที่สามารถผลิตได้ในสภาพแวดล้อมที่จำกัด รวมไปถึงอาหารทางการแพทย์ ที่มีแนวโน้มเติบโตสูงในอนาคต จากสถานการณ์ที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเข้าสู่สังคมผู้อายุระดับสุดยอด (Super-Aged Society) หรือการที่ประเทศมีประชากรอายุมากกว่า 60 ปี มากกว่าร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด

คุณพชรณัชช์ เอกวุฒิ ผู้จัดการศูนยพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี อธิบายถึงแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารทางการแพทย์ของประเทศไทยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีศักยภาพมากพอที่จะเป็นผู้นำในเรื่องนี้ได้ไม่ยาก เพราะประเทศไทยมีบุคคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องวิทยาศาสตร์อาหารอยู่เป็นจำนวนมาก แต่สิ่งที่ทำให้ไทยมีความได้เปรียบในอุตสาหกรรมนี้ไม่น้อยหน้าไปกว่าอเมริกาหรือประเทศโซนยุโรป 

 คือศักยภาพในการผลิตอาหารจากทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลายรวมถึงการเป็นผู้นำในการผลิตและส่งออกอาหารที่มีคุณภาพ ซึ่งสามารถตอบสนองกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคทั่วโลกในอนาคต ที่กำลังมองหาอาหารที่มีความยั่งยืนและมีโปรไฟล์โภชนาการที่ดี

ใช้ AI เพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืน: เป้าหมายสำคัญของอุตสาหกรรม Future Food

อย่างที่ได้กล่าวไปในข้างต้นว่าอุตสาหกรรมอาหารในยุคปัจจุบันกำลังเผชิญกับความท้าทายหลายประการ สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิตและการจัดหาวัตถุดิบสำหรับการผลิตอาหาร การพัฒนาอาหารที่มีความยั่งยืนและสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น และนี่คือจุดที่ AI (ปัญญาประดิษฐ์) เข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม Future Food ให้ก้าวไปข้างหน้า

ความท้าทายที่สำคัญที่สุดในอุตสาหกรรมอาหารที่ผู้ร่วมวงสนทนาเห็นพ้องกัน คือการพัฒนาอาหารที่สามารถรองรับการเติบโตของประชากรและความต้องการของผู้บริโภคในอนาคต โดยไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ การนำ AI มาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารในอนาคตจึงไม่ใช่เพียงแค่แนวโน้ม แต่เป็นความจำเป็นที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป 

หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ AI สามารถมีบทบาทในอุตสาหกรรม Future Food คือการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า เช่น น้ำ พลังงาน และที่ดิน ซึ่ง AI สามารถช่วยคำนวณและวางแผนการใช้ทรัพยากรเหล่านี้ในกระบวนการผลิต โดยสามารถคาดการณ์และควบคุมกระบวนการผลิตให้อยู่ในขอบเขตที่ยั่งยืน นอกจากนี้ AI ยังช่วยให้สามารถใช้เทคโนโลยีต่างๆ เช่น การเกษตรที่มีความแม่นยำ ซึ่งช่วยลดการใช้สารเคมีและเพิ่มผลผลิตในพื้นที่ที่มีข้อจำกัด

การใช้ AI มาช่วยในลดการสูญเสียอาหารก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่สำคัญในอุตสาหกรรมอาหารที่ผู้ร่วมสนทนาให้ความสนใจ เนื่องจากการสูญเสียอาหารถือเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ทุกปีมีอาหารที่ถูกทิ้งหรือสูญเสียไปในทุกขั้นตอนของห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การเก็บเกี่ยว การขนส่ง การแปรรูป ไปจนถึงการบริโภคในบ้านเรือน 

การนำ AI มาใช้ในกระบวนการผลิตและจัดการอาหาร จึงสามารถช่วยลดการสูญเสียอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย AI จะทำหน้าที่ในหลากหลายด้านตั้งแต่การคาดการณ์ความต้องการของตลาด การควบคุมการจัดส่ง ไปจนถึงการจัดการสต็อกสินค้าในระดับต่าง ๆ เพื่อให้การผลิตและการจำหน่ายอาหารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ที่ปรึกษาของการสนทนานี้ ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า นอกจาก AI จะช่วยให้ผู้ผลิตอาหารสามารถาดการณ์ความต้องการของตลาดและบริหารจัดการสินค้าคงคลังได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว AI ยังสามารถเข้ามาช่วยแก้ปัญหาการติดตามคุณภาพอาหารในทุกขึ้นตอน ตั้งแต่การเก็บเกี่ยว การแปรรูป ไปจนถึงการขนส่ง ด้วยการใช้เซ็นเซอร์และวิเคราะห์ภาพถ่าย ซึ่งจะช่วยลดการเสียหายของอาหาร และลดการสูญเสียในกระบวนการผลิต ซึ่งนอกจากจะหมายถึงการสูญเสียทรัพยากรแล้ว ยังหมายถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นจากการจัดการที่ไม่เหมาะสมด้วย

โดยในช่วงท้ายของกิจกรรม ผู้เข้าร่วมได้ร่วมกันระดมความคิดถึงแนวทางใหม่ ๆ ในการนำ AI มาใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคและความยั่งยืนของอุตสาหกรรม โดยมีการแบ่งกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและนำเสนอแนวคิดที่น่าสนใจหลายประการ เช่น

  • การพัฒนาอาหารอัจฉริยะ (Smart Food Deveแพlopment): AI ช่วยวิเคราะห์สารอาหารและพฤติกรรมการบริโภค เพื่อนำไปสู่การสร้างสรรค์อาหารที่เหมาะสมกับสุขภาพของแต่ละบุคคล
  • ระบบอัตโนมัติในกระบวนการผลิต: หุ่นยนต์และ AI ถูกนำมาใช้ในการผลิตและบรรจุภัณฑ์เพื่อลดของเสีย เพิ่มความแม่นยำ และลดต้นทุนแรงงาน
  • การจัดการห่วงโซ่อุปทาน: AI ทำให้การบริหารจัดการวัตถุดิบมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดปัญหาสินค้าคงคลัง และช่วยให้การกระจายสินค้าเป็นไปอย่างรวดเร็วและคุ้มค่า
  • การผลิตอาหารจากพืชและโปรตีนทางเลือก: เทคโนโลยี AI ถูกนำมาใช้ในการวิจัยและพัฒนาอาหารที่มีโปรตีนจากพืชและโปรตีนเพาะเลี้ยงเพื่อลดการพึ่งพาเนื้อสัตว์ ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปัญหาสิ่งแวดล้อม
  • การลดขยะอาหาร (Food Waste Management): AI ช่วยวิเคราะห์ปริมาณการใช้วัตถุดิบเพื่อลดขยะอาหารทั้งในกระบวนการผลิตและการบริโภค
  • บรรจุภัณฑ์อัจฉริยะ: AI และ IoT ถูกนำมาใช้เพื่อพัฒนาแพ็คเกจที่สามารถตรวจสอบคุณภาพอาหาร ลดการใช้พลาสติก และยืดอายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์

ความเป็นไปได้ในสายตาของนักลงทุน

Future Food น่าลงทุนไหม? ในมุมมองของนักลงทุน การลงทุนในอุตสาหกรรม Future Food ของไทยกำลังเป็นที่สนใจอย่างมากจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ตลาดโลกให้ความสำคัญกับการผลิตอาหารที่ยั่งยืนและสามารถตอบสนองต่อความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่เพิ่มมากขึ้น อุตสาหกรรมอาหารของไทยซึ่งถือเป็นหนึ่งในผู้ผลิตและส่งออกอาหารรายใหญ่ที่สุดในโลก มีศักยภาพที่โดดเด่นในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงนี้ ผ่านการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยอย่าง AI ที่เรากล่าวไปก่อนหน้านี้  ทำให้ Future Food กลายเป็นโอกาสทางการลงทุนที่น่าสนใจและเป็นที่จับตามองสำหรับนักลงทุนที่ต้องการร่วมขับเคลื่อนอนาคตของอุตสาหกรรมอาหารอย่างยั่งยืน

ดร.เบญจวรรณ มุ่งรักษาธรรม ผู้อำนวยการด้านการประเมินเทคโนโลยีของ InnoSpace (Thailand) หนึ่งในตัวแทนฝั่งนักลงทุนที่มาร่วมงานในวันนี้กล่าวว่า แม้ว่าจะมีโอกาสที่น่าสนใจและมีศักยภาพในการเติบโต แต่การลงทุนในอุตสาหกรรม Future Food ยังต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ โดยเฉพาะในเรื่องของการปรับตัวของผู้บริโภคในตลาดไทย ที่ยังมีความเชื่อมั่นในอาหารแบบเดิมที่ตัวเองคุ้นชิน และการพัฒนาเทคโนโลยีที่ยังคงใหม่ในหลาย ๆ ด้าน ดังนั้น นักลงทุนจึงจำเป็นต้องพิจารณาในเรื่องความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค และการยอมรับผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ จากตลาดที่ยังไม่คุ้นเคย

การสนับสนุนจากภาครัฐในด้านนโยบาย การวิจัยและพัฒนา รวมถึงการสร้างเครือข่ายร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมจะช่วยเพิ่มความน่าสนใจในการลงทุนในอุตสาหกรรม Future Food ของไทยได้ ขณะเดียวกัน การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีและการสนับสนุนทางการเงินในระดับต่าง ๆ จะช่วยให้การลงทุนในอุตสาหกรรมนี้สามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนในระยะยาว

ท้ายสุดแล้ว สำหรับเรา การลงทุนใน Future Food จึงไม่ใช่แค่การสร้างโอกาสทางธุรกิจในตลาดอาหารที่กำลังเติบโต แต่ยังเป็นการลงทุนนวัตกรรมที่สามารถเปลี่ยนแปลงอนาคตของการผลิตอาหารและการกินในโลกที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม การก้าวสู่อนาคตของอุตสาหกรรมอาหารจึงเป็นก้าวที่สำคัญในการร่วมกันสร้างโลกที่ดีกว่า ไม่เพียงแต่สำหรับผู้บริโภคในวันนี้ แต่ยังรวมถึงการรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเพื่ออนาคตของเราและคนรุ่นถัดไป

อ้างอิง

https://savoreat.com


อ่านเพิ่มเติม : AI & Smart City จะช่วยสร้างเมืองอัจฉริยะและยั่งยืนได้อย่างไร

ใจความสำคัญจาก AI Engineering & Innovation Summit 2024

 

Recommend