บันทึกขุดหอยที่เกาะกลาง

บันทึกขุดหอยที่เกาะกลาง

บันทึกขุดหอยที่ เกาะกลาง จังหวัดกระบี่

แพะ 2 ตัว กับไก่ตัวผู้และตัวเมีย เดินมาหาผม (Robert Reid) ที่เปลญวน ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอะไรที่จะแบ่งปันพื้นที่บนหาดของ เกาะกลาง จังหวัดกระบี่ นี้ร่วมกัน

มันเป็นช่วงเวลาน้ำขึ้นของทะเลอันดามัน และตอนนี้คลื่นก็ซัดเข้ามาใกล้ แต่ผมไม่ได้สนใจมันเท่าไหร่นัก ตรงกันข้ามกลับไกวเปลไปมาอยู่ในร่มเงาของดอกราชพฤกษ์ (Cassia fistula) ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำชาติไทย หรือที่เรียกกันว่า “golden rain tree” เนื่องจากดอกสีเหลืองสว่างที่บานสะพรั่งของมัน หลังผ่านไปราว 1 ชั่วโมง ผมมองดูอีกทีคลื่นลดระดับลงแล้ว ในหมู่บ้านไทยที่เกาะกลางเป็นวิถีชีวิตปกติที่ชาวประมงจะออกมาเมื่อกระแสน้ำลดระดับลง

บาว, พ่อของเด็กผู้ชายซุกซน 2 คนค่อยๆเดินย่ำทรายด้วยรองเท้าแตะมาหาผม เขาเป็นผู้ดูแลบ้านพักบนเกาะที่ผมอาศัยอยู่ มันคือบังกะโลเรียบๆ ติดทะเลพร้อมบริการอาหาร 3 มื้อต่อวัน ทว่าได้คลุกคลีกับวิถีชีวิตของคนท้องถิ่นอย่าง คนต่อเรือ, ชาวนา และศิลปิน

บาวถือคราดยาวกับสายรัดที่ดูหลวมๆ เรากำลังจะไปหาหอยกัน…

เกาะกลาง
ดอกไม้ประจำชาติไทย ดอกราชพฤกษ์สีทองสว่างกำลังบานสะพรั่ง
ภาพถ่ายโดย Pradeep Soman

ผมเดินเท้าเปล่าบนผืนทรายที่ยังคงมีเศษเปลือกไม้เล็กๆ น้อยๆ จากทะเลกองอยู่ เราเดินผ่านเสาไม้ค้ำ 4 เสา ที่ยื่นออกมาจากทราย มีลักษณะเหมือนเสาโกลฟุตบอล ดูเหมือนว่าเสาเหล่านี้จะแช่อยูในน้ำไปแล้วครึ่งวัน ไกลออกไปบนผืนทรายสีน้ำตาล เสามากมายตั้งเรียงรายเป็นจุดๆ ใต้ท้องฟ้าเปิดโล่ง มันยาวออกไปเป็นไมล์ และปรากฏเป็นรอยขรุขระตัดกับเส้นขอบฟ้า ระหว่างนั้นเองเสียงละหมาดดังขึ้นมาจากสุเหร่าที่มองไม่เห็นทางด้านหลังผม

แตกต่างจากรีสอทที่คึกคักในตัวเมืองกระบี่ซึ่งอยู่ห่างออกไปไม่กี่ไมล์ การเดินทางมายังเกาะกลางที่มีขนาด 26 ตารางไมล์ซึ่งมีแค่หมู่บ้านชาวมุสลิม 3 หมู่บ้านแห่งนี้ไม่ได้มีแค่ชายหาด แต่สิ่งที่น่าจดจำคือวิถีชิวิตดั้งเดิมของชาวบ้าน เกือบ 5,000 คน ผู้ที่ส่วนใหญ่ยังคงดำรงชีพด้วยการหาปลา

ผมมาถึงเกาะเมื่อคืนก่อนหน้าด้วยเรือหางยาว ต่อด้วยมอเตอร์ไซค์พ่วงข้างของบาว เราขับผ่านถนนเลนเดียวที่เรียงรายด้วยบ้านที่มีเสาค้ำอย่างรวดเร็ว ก่อนจะหยุดยืนกินขนมอยู่ใต้แสงของโคมไฟ “ไม่มีรถยนต์บนเกาะ” บาวกล่าว “มีแค่มอเตอร์ไซค์และจักรยาน แถมยังไม่มีเอทีเอ็ม และปั้มแก๊สที่ตั้งอยู่โดดๆ ก็โดนล้อมไปด้วยควายหมดแล้ว”

ภารกิจหาหอยของเราเริ่มต้นขึ้นหลังเจอจุดที่เหมาะสมบนทราย พูดตามตรง ผมคิดไม่ออกเลยว่าบาวจะเก็บหอยจากชายหาดที่กว้างใหญ่เช่นนี้ได้อย่างไร ผมมองเขาขยับสายรัดให้ถนัด และค่อยๆ ครูดคราดช้าๆ ตามเส้นยาวบนผืนทราย ซึ่งบางครั้งคราดกระแทกกับบางสิ่งบางอย่างจนเกิดเสียงขึ้น ทันใดนั้นบาวหยุดค้นหาและครูดคราดยังบริเวณนั้นไปมาเพื่อเขี่ยเอาหน้าทรายออก ทว่าสิ่งที่ปรากฏกลับเป็นแค่เปลือกหอยเก่าเท่านั้น ก่อนที่เขาจะยังคงมองหาหอยต่อไป

(ชีวิตบนเกาะซึ่งหนาแน่นที่สุดในโลก)

เกาะกลาง
จังหวัดกระบี่ในภาคใต้ของไทยคือสถานที่ที่ไม่ควรพลาดสำหรับนักเก็บหอย
ภาพถ่ายโดย Eugene Tang

ในที่สุดหอยก็โผล่ออกมา พวกมันมีขนาดเท่าฝ่ามือ และมีสีน้ำตาลอ่อนตัดกับเส้นสีฟ้าสดใส บาวจับหอยที่เก็บได้ลงในกระเป๋า ผมลองทำตาม สายรัดของคราดร่วงลงมาที่ขาผมราวกับกำลังใส่กางเกงหลวมเกินตัว แล้วผมก็หาองศาที่เหมาะสมเจอจนได้ มันยากในช่วงแรก แต่ต่อมาผมต้องก็รู้สึกประหลาดใจ บาวเองก็ด้วย เพราะผมหาหอยได้ถึง 8 ตัว ในเวลาแค่ 15 นาที

การเก็บหอยถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมของคนท้องถิ่นที่เติมเต็มผมตลอดสองวันของที่นี่ เรานั่งเรือหางยาวผ่านคลองป่าชายเลน และเจอกับคนต่อเรือผู้ที่สามารถเอาชีวิตรอดจากคลื่นสึนามี ในปี 2004 ได้ “ผมควรจะอยู่ที่ทะเลในวันนั้น” เขากล่าว “แต่เพื่อนจากภูเก็ตเรียกให้เราไปที่สุเหร่าเพื่อหลบภัย เลยไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ โชคดีมากๆ”

ต่อมาเราเดินผ่านควายบนคันนาแคบๆ ผมยังมีโอกาสได้ลองทำผ้าบาติก ซึ่งเป็นศิลปะโบราณแบบหนึ่ง โดยใช้เทียนปิดบริเวณที่ไม่ต้องการลงสี ซึ่งมันสนุกมาก และสิ่งที่ดีที่สุดคืออาหาร บรรดาปูที่แกะมาแล้ว กุ้ง และปลาต่างๆ ถูกเสิร์ฟในทุกวันด้วยฝีมือของคนท้องถิ่น

กลับมาที่หาด หลังจากที่บาวและผมเก็บหอยได้เต็มกระเป๋าแล้วสำหรับมื้อค่ำ เราเดินไปยังตาข่ายดักปลาที่อยู่ห่างออกไป เมื่อคลื่นลดลงแล้วผมเห็นสัตว์ทะเลมากมายไม่ว่าจะเป็นหอย ดาวทะเล, อีแปะทะเล และ แมงดาทะเล ให้ความรู้สึกราวกับกำลังเดินชมพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำอยู่ก็ไม่ปาน ตอนนี้น้ำขึ้นมาถึงแค่ข้อเท้าและครอบคลุมพื้นที่ที่ห่างออกไปถึง 1 กิโลเมตร ที่ด้านหน้าคือแถวของเสาความยาว 12 ฟุต ที่เรียงรายเป็นเขาวงกตไว้สำหรับดักปลายามน้ำขึ้น บาวเดินไปสำรวจ แต่น่าเสียดายที่วันนี้ไม่มีปลาติดกับ

ผมเดินเตร็ดเตร่ต่อไปอีกสักพัก บัดนี้ท้องฟ้าที่เคยแจ่มใสกลายมาเป็นสีน้ำเงินเข้มเมื่อใกล้ค่ำ เสียงบาวตะโกนเรียกให้ช่วยถือกระเป๋า “ได้เวลาไปกินหอยแล้ว!”

 

จะไปทริปนี้ได้อย่างไร?

มันค่อนข้างยากในการหาที่พักบนเกาะกลางด้วยตัวเอง มีคนท้องถิ่นไม่มากที่เข้าใจภาษาอังกฤษ ผมได้ที่พัก 2 คืนผ่านทาง Andaman Discoveries ซึ่งครอบคลุมบริการไกด์ทัวร์ที่พูดภาษาอังกฤษได้

บังกะโลไม้ไผ่ที่ผมเข้าพักจะประกอบไปด้วยห้องน้ำส่วนตัว ที่นอนเป็นบางๆ ปูบนพื้นพร้อมกับมุ้งกันยุง มีพัดลมและกำแพงที่ไม่แตะเพดานเพื่อถ่ายเทอากาศ อาหารจะเสิร์ฟในพื้นที่ส่วนกลาง ซึ่งบางครั้งใช้เป็นที่ให้ความรู้หรือประชุมสำหรับคนในหมู่บ้าน และมีเรือคายัคให้บริการด้วย ถ้าคุณสนใจ

เรื่อง Robert Reid

 

อ่านเพิ่มเติม

สำรวจหมู่บ้านชาวประมงร้างในจีน

Recommend