อเล็กซ์ ฮอนโนลด์ : ปีนมือเปล่าโลกตะลึง
นี่คือเรื่องราวของ อเล็กซ์ ฮอนโนลด์ ชายผู้สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการปีนหน้าผาขนาดมหึมา
โดยปราศจากเชือก และยังคงมีชีวิตรอดมาเล่าถึงประสบการณ์ในครั้งนั้น
เรื่อง มาร์ก ซินนอตต์
ภาพถ่าย จิมมี ชิน
ตอนนั้นเป็นเวลา 4 นาฬิกา 54 นาที ของเช้าอันหนาวเหน็บวันหนึ่งในเดือนพฤศจิกายน ปี 2016 ณ อุทยานแห่งชาติโยเซมิที
แสงจากพระจันทร์เต็มดวงอาบไล้ผาหินแกรนิตด้านตะวันตกเฉียงใต้ของเอลแคพิแทน (El Capitan) ที่ซึ่ง อเล็กซ์ ฮอนโนลด์ กำลังยึดเหนี่ยวร่างของตนไว้ด้วยปลายนิ้วและรองเท้าปีนผาเท่านั้น เขากำลังพยายามทำสิ่งที่นักปีนผามืออาชีพเชื่อมานานแล้วว่าเป็นไปไม่ได้ นั่นคือการ “ฟรีโซโล่” (free solo) หน้าผาอันโด่งดังที่สุดของโลก หรือพูดง่ายๆ คือเขากำลังปีนผาหินสูง 900 เมตรด้วยตัวคนเดียวและปราศจากเชือกหรืออุปกรณ์ป้องกันใดๆ
ลมอ่อนไล้เส้นผมของเขา ขณะที่อเล็กซ์กำลังส่องไฟฉายคาดศีรษะไปยังพื้นผิวเย็นเยียบและเรียบลื่นจุดหนึ่งบนหินแกรนิต ซึ่งเขาต้องเอาเท้าไปวางเป็นจุดถัดไป จากตรงนี้ขึ้นไปอีกประมาณหนึ่งเมตร คือส่วนที่ผาหินจะเปล่าเปลือย ไร้รอยแยกและพื้นที่ให้ยึดเกาะ ผิดกับส่วนที่อยู่สูงขึ้นไปซึ่งมีทั้งหลุมตื้นๆ ปุ่มหินขนาดเท่าเม็ดกรวด และรอยแยกเล็กๆ มากมาย ให้อเล็กซ์ปีนป่ายขึ้นไปด้วยนิ้วที่แข็งแรงอย่างไม่น่าเชื่อ ผาหินช่วงนี้ซึ่งลาดชันเกือบ 90 องศาเรียกว่า ฟรีแบลสต์ (Freeblast) เป็นส่วนที่ต้องอาศัยสมดุลอันละเอียดอ่อนระหว่างเทคนิคและความมั่นใจสูงสุด เหล่านักปีนผาเรียกการปีนแบบไม่มีที่ยึดเกาะนี้ว่า ฟริกชันไคล์มิง (friction climbing) “เหมือนกับการเดินบนกระจกนั่นแหละครับ” อเล็กซ์เคยว่าไว้อย่างนั้น
เขาลองขยับนิ้วเท้าที่ด้านชา ข้อเท้าข้างขวาของเขาเกร็งและบวมจากอาการเคล็ดขัดยอกรุนแรงเมื่อสองเดือนก่อน ตอนที่ร่วงลงมาระหว่างการฝึกซ้อมเส้นทางช่วงเดียวกันนี้ ตอนนั้นเขามีเชือกผูกอยู่ แต่ตอนนี้ การร่วงลงไปข้างล่างไม่ใช่ทางเลือก การปีนผาแบบฟรีโซโล่ไม่เหมือนกับกีฬาผาดโผนอื่น ๆ ตรงที่คุณอาจเสียชีวิตได้หากทำพลาด แต่นี่ไม่มีคำว่า “อาจ” เมื่อคุณอยู่สูงจากพื้นเท่าตึก 60 ชั้นโดยปราศจากเชือก
ต่ำลงมา 180 เมตรเบื้องล่าง ผมนั่งอยู่บนท่อนไม้ล้ม เฝ้ามองวงไฟฉายของอเล็กซ์ซึ่งผมรู้สึกว่าไม่ขยับมาเป็นเวลานานราวชั่วกัปชั่วกัลป์ ทั้งที่ในความเป็นจริงมันอาจจะนิ่งไปไม่ถึงนาทีเลยด้วยซ้ำ และผมก็รู้เหตุผลว่าทำไม อเล็กซ์กำลังเผชิญกับจังหวะการเคลื่อนไหวที่ตามหลอกหลอนเขามาตั้งแต่ครั้งแรกที่ฝันถึงโครงการนี้เมื่อเจ็ดปีก่อน (2009) ผมเคยปีนผานี้มาแล้วด้วยตัวเอง และแค่คิดว่าจะต้องปีนมันโดยไม่มีเชือกก็ทำให้ผมคลื่นไส้ ห่างไปไม่ถึง 100 เมตรจากท่อนไม้ที่ผมนั่งอยู่นี้ คือจุดที่อเล็กซ์จะตกลงมาหากเขาพลาด
เสียงที่จู่ๆก็ดังขึ้นมาดึงผมกลับสู่ปัจจุบัน หัวใจผมหยุดเต้นไปครู่หนึ่ง ตากล้องของเราซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทีมบันทึกภาพเคลื่อนไหวรีบรุดไปตามเส้นทางที่นำไปสู่เชิงผา ผมได้ยินเสียงจากวิทยุสื่อสารของเขาพูดว่า “อเล็กซ์ถอนตัว”
ขอบคุณพระเจ้า ผมคิด อเล็กซ์จะมีชีวิตอยู่ต่อไป
ผมจะคุยกับเขาทีหลัง แต่ผมรู้แล้วว่าทำไมเขาถึงยอมถอย เขาต้องรู้สึกว่าไม่ใช่สิ่งที่ควรทำ แน่สิ เขาต้องรู้สึก นี่มันบ้าชัดๆ ผมได้แต่ปล่อยให้ตัวเองคิดว่า บางที นี่อาจไม่ใช่สิ่งที่ควรทำ
หลายคนในโลกของการปีนเขามองว่า ฟรีโซโล่เป็นเรื่องไม่สมควร นักวิจารณ์มองว่า มันเป็นการโอ้อวดความสามารถอย่างไร้สติซึ่งสร้างความเสื่อมเสียให้วงการ โดยยกรายชื่อนักปีนผามากมายที่ต้องจบชีวิตให้กับความพยายามนี้ ส่วนคนอื่นๆ รวมถึงผมมองว่า มันเป็นการแสดงออกถึงทักษะการปีนเขาอันบริสุทธิ์เต็มร้อย ดังเช่นทัศนคติของนักปีนเขาชาวออสเตรียนามว่า เพาล์ พรอยส์ ซึ่งนักประวัติศาสตร์การปีนเขายกย่องให้เป็นบิดาแห่งการปีนแบบฟรีโซโล่ เขาประกาศว่า แก่นแท้ของการ ปีนเขาคือการเอาชนะขุนเขาด้วยสมรรถนะทางร่างกายและจิตใจที่เหนือกว่า หาใช่ “อุปกรณ์ช่วยเหลือ” อย่างอื่น ตอนอายุ 27 พรอยส์ปีนเขาแบบฟรีโซโล่สำเร็จมาแล้วราว 150 ครั้ง ทั่วทั้งยุโรปฉลองให้กับเขา แต่แล้วเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ปี 1913 พรอยส์ตกเขาตายระหว่างฟรีโซโลขึ้นผานอร์ทริจ (North Ridge) ของยอดเขามันเดลโคเกลในเทือกเขาแอลป์ของออสเตรีย
แม้ตัวตาย แต่แนวคิดของพรอยส์ยังยืนยง ไม่เพียงเป็นแรงบันดาลใจให้นักปีนเขารุ่นหลังๆ แต่ยังจุดประกายให้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวที่เรียกว่า “free climbing movement” ในทศวรรษ 1960 และ 1970 ซึ่งสนับสนุนให้นำเชือกและเครื่องมืออื่นมาใช้เป็นอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยเท่านั้น ไม่ใช่นำมาช่วยให้ผู้ปีนไปได้สูงขึ้น
เช้าวันเสาร์ที่ 3 มิถุนายน ปี 2017 เจ็ดเดือนหลังการถอนตัวครั้งล่าสุด ผมอยู่ในทุ่งหญ้าใกล้กับเชิงเขาเอลแคพิแทน ผมหยีตามองผ่านกล้องส่องทางไกล และตรงนั้นเองบนความสูง 180 เมตรเหนือพื้นหุบเขา อเล็กซ์กำลังเคลื่อนตัวขึ้นไปบนฟรีแบลสต์ แผ่นหินเรียบลื่นราวกระจกที่สร้างความทุกข์ทรมานให้เขามาเกือบทศวรรษ ท่วงท่าของเขาซึ่งปกติจะลื่นไหลดูตะกุกตะกักอย่างน่าเป็นห่วง เท้าของเขากระทบกับกำแพงอย่างต่อเนื่อง ราวกับว่าเขากำลังคลำหาหนทางให้ตัวเองบนแผ่นหิน และแล้วทั้งอย่างนั้นเอง เขาก็ขึ้นไปยืนบนหิ้งซึ่งอยู่สูงขึ้นไปประมาณหนึ่งเมตรจากจุดที่ติดอยู่ในหัวเขามานานหลายปี ผมเพิ่งตระหนักในตอนนั้นว่าตัวเองกลั้นหายใจเอาไว้ จึงผ่อนออกมา การปีนป่ายอีกหลายพันท่ายังรออยู่เบื้องหน้า เช่นเดียวกับ “โบลเดอร์พร็อบเบลม” ที่ตระหง่านเงื้อมอยู่เบื้องบน แต่ในครั้งนี้เขาจะไม่หันหลังกลับ อเล็กซ์ ฮอนโนลด์ กำลังไปได้สวยบนเส้นทางสู่การเป็นนักไต่เขาผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์
อ่านเพิ่มเติม