ฤดูหนาว : มนตร์สะกดแห่งแดนหนาวเหน็บ
ปล่อยเขตร้อนกับทะเลทรายให้คนอื่นเขาไปเถอะ สายเลือดทรหดคนบึกบึนอย่างเรา ต้องไปขั้วโลก ยิ่งหนาว…ยิ่งดี
วันใน ฤดูหนาว เช่นวันนี้ เลียบชายฝั่งอ่าวฮัดสันของแคนาดา เราห้าคนนั่งอยู่ในพาหนะที่สั่งทำขึ้นเฉพาะส่งเสียงกระหึ่มเหนือดินแดนทุนดราเพื่อตามหาหมีขั้วโลก พายุหิมะปั่นป่วนจนสภาพข้างนอกขาวโพลน จนบางคนในพวกเราบอกว่า เหมือนขับรถอยู่ในลูกปิงปองอย่างนั้น
แต่แล้วความอุ่นในรถบั๊กกีตะลุยหิมะก็หายไป ต่อให้พยายามกู้ชีพสักกี่ครั้ง ก็หาได้ฟื้นคืนกลับมาไม่ มีเพียงกระจกบางๆ ชั้นเดียวกับโลหะที่ปกป้องเราจากลมฟ้าอากาศข้างนอก
พระอาทิตย์กำลังตก และอากาศหนาวจับใจ
แต่พวกเราปลอดภัยแน่นอน เพราะอยู่ไม่ไกลจากที่พักอันอบอุ่น ต่อให้เราเริ่มรู้สึกถึงความเหน็บหนาวตอนไปถึงที่นั่นแล้วก็ตาม เราซุกกายในเสื้อพาร์กาตัวหนา เจอไวน์ขวดหนึ่งกับวิสกีอีกขวด เราล้อมวงปล่อยมุกฮากระจายว่าด้วยสถานการณ์ของพวกเราเอง
มันหนาว แต่เราก็เป็นสุข และผมได้อยู่ในถิ่นของผม
จากการฝ่าน้ำแข็งทะเลอาร์กติกในเรือตัดน้ำแข็ง ถึงการต้านพายุกระหน่ำในแอนตาร์กติกา จากการพักแรมในกระท่อมที่อะแลสกาถึงการไปยืนอยู่ที่ขั้วโลกเหนือ เหตุการณ์สำคัญส่วนใหญ่ในชีวิตผมล้วนเกี่ยวข้องกับความหนาวเย็นจับขั้วหัวใจ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสถานที่และสิ่งแวดล้อมที่ผมรู้สึกว่าเป็นบ้านมากที่สุด เป็นที่ที่ผมเลือกใช้ชีวิตและตั้งตาคอยที่จะได้ไปเยี่ยมเยือน และเป็นถิ่นที่ผมต้องกลับไปเสมอ
แต่ใช่ว่าผมจะโอบกอดความหนาวเย็นอย่างไม่มีข้อจำกัด แม้จะมีค่ำคืนที่ผมเดินเตะหิมะให้ฟุ้งกระจายเหมือนเด็กเล่นสนุก แต่ก็มีวันที่ผมลนลานวางเครื่องทำความร้อนให้เป่าท่อที่กลายเป็นน้ำแข็ง และนึกในใจว่าผมน่าจะได้อยู่ในที่อุ่นๆอย่างฮาวาย ผมไม่ปฏิเสธว่า ช่วงของ ฤดูหนาว ที่ผมโปรดปรานที่สุดคือ ตอนที่ฤดูใบไม้ผลิกำลังจะมาแทนที่ และกระทั่งในหมู่ “ชิโอโนไฟล์” (chionophile – คำศัพท์เรียกคนที่รักความหนาวเย็น) ด้วยกัน ผมก็ไม่ได้เป็นแบบนี้อยู่คนเดียว เอลีซา แมกคอล เพื่อนผมบอกว่า “ฉันรักความเงียบสงัด” ของชีวิตในภูมิอากาศหนาวเย็น เธอเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานกับองค์กรหมีขั้วโลกสากล ประจำอยู่ที่เยลโลว์ไนฟ์ แคนาดา (ที่อุณหภูมิในฤดูหนาวอาจลดต่ำลงถึงลบ 40 องศา) และเป็นหนึ่งในผู้โดยสารบนรถบั๊กกีหนาวสะท้านที่กล่าวถึงตอนต้น แต่เธอก็สารภาพว่า “ฉันเคยรอรถบัสข้างนอกกลางฤดูหนาว และหวังว่าอากาศจะไม่หนาวจนบาดผิว”
เพื่อนอีกคนพูดหนักกว่านั้น เอริก ลาร์เซน เคยสกีไปถึงขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ ปีนขึ้นเอเวอเรสต์ และข้ามพืดน้ำแข็งในไอซ์แลนด์ ประโยคลงท้ายอีเมลของเขาก็คือ “หนาวสิเท่!” แต่ถึงอย่างนั้น เขาก็พูดไปขำไปว่า “เอาจริงๆ ผมไม่ชอบหนาวหรอก ผมเกลียดตอนตัวเองหนาว ผมชอบความอุ่นในที่ที่หนาวเหน็บต่างหาก”
ความสุขที่สุดของการอยู่ท่ามกลางความหนาว ก็คืออยู่อย่างอบอุ่น ทนฝ่าฟันผ่านฤดูหนาว เพื่อจะโผล่ที่ปลายทาง แล้วดื่มด่ำกับความรู้สึกที่ได้ฉลองชัยร่วมกัน
ผมไม่เคยคิดอย่างนั้นมาก่อน จนเอริกเอ่ยขึ้นมา แต่เขาพูดถูก ความสุขที่สุดของการอยู่ท่ามกลางความหนาวก็คืออยู่อย่างอบอุ่นนั่นแหละ การประสบความยากลำบากด้วยกันเช่นนี้ ย่อมก่อให้เกิดมิตรภาพที่พิเศษสุด นั่นคือการไว้เนื้อเชื่อใจกันและความเป็นหุ้นส่วนกัน การที่คนแปลกหน้ามองตาแล้วรู้ใจกัน การประโคมใส่เสื้อผ้าจนเหลือแต่ลูกตา หรือการเดินสวนกันบนถนนน้ำแข็ง ทนฝ่าฟันผ่านฤดูหนาวเพื่อจะโผล่ที่ปลายทาง แล้วดื่มด่ำกับความรู้สึกที่ได้ฉลองชัยร่วมกัน
ในโลกที่คล้ายจะหมุนเร็วขึ้นทุกที อย่างที่สมาร์ตโฟนกับโซเชียลมีเดียต้องการการตอบสนองทันทีนั้น ความหนาวเย็นบังคับให้เราทำอะไรช้าลง มันทำให้เราหรือกระทั่งบีบให้เรารู้เนื้อรู้ตัว และรู้สึกถึงสภาพแวดล้อมรอบตัวในแบบที่สิ่งแวดล้อมอื่นๆ อีกไม่กี่แห่งจะทำได้
เอริกบอกว่า การใช้ชีวิตในที่ที่อุณหภูมิต่ำจำเป็นต้องมีความรอบคอบมากกว่าเดิม เพราะ “การปราศจากความปลอดภัยในสภาพแวดล้อมเช่นนั้น” เขามองว่า “ความลำบากยากเข็ญนั่นแหละที่ดึงดูดเรา เพราะยิ่งเป็นสิ่งท้าทาย”
“เอาจริงๆ ผมไม่ชอบหนาวหรอก ผมเกลียดตอนตัวเองหนาว ผมชอบความอุ่นในที่ที่หนาวเหน็บต่างหาก”
มันยังเป็นความท้าทายที่น้อยคนนักในหมู่พวกเราจะมีโอกาสรับมือ ขณะที่อันตรายจากการหายไปของถิ่นที่หนาวเย็นในโลกยังไม่ปรากฏในอนาคตอันใกล้ แต่ขนาด ระยะเวลา และความลึกล้ำของช่วงเวลาที่หนาวเหน็บที่สุดอาจกำลังหดสั้นลง โลกกำลังร้อนขึ้น
ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ยี่สิบเป็นต้นมา อุณหภูมิเฉลี่ยในฤดูหนาวของสหรัฐอเมริกาสูงขึ้นเกือบสองเท่าของอัตราการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิในฤดูร้อน ตลอดห้าหรือหกทศวรรษที่ผ่านมา อาร์กติกอุ่นขึ้นเกินสองถึงสามองศา มากกว่าที่อื่นใดในโลกอย่างมีนัยสำคัญ ขอบเขตน้ำแข็งทะเลของอาร์กติกที่น้อยที่สุดในแต่ละปีกำลังลดลงราวร้อยละ 13 ต่อทศวรรษ ขณะที่ผมเขียนอยู่นี้ ฤดูร้อนปี 2019 ในซีกโลกเหนือ พืดน้ำแข็งในกรีนแลนด์กำลังประสบกับอัตราการละลายที่แบบจำลองพยากรณ์ไว้ในปี 2070
พอถึงตรงนี้ ผมควรจะแก้ไขสิ่งที่ผมเขียนไว้ตอนต้นเกี่ยวกับการยืนอยู่ตรงขั้วโลกเหนือให้ถูกต้องว่า โดยประมาณแล้ว ผมยืนอยู่ใกล้ขั้วโลก ตอนที่ผมอยู่ตรงนั้นเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2017 พื้นที่บริเวณขั้วโลกเป็นทะเลเปิดเกือบหมด
ผมคิดถึงคำพูดของเอริกถึงการเดินทางไปขั้วโลกเหนือครั้งสุดท้ายที่แตกต่างจากหนอื่นๆ คิดถึงตอนที่เขาหล่นทะลุน้ำแข็งที่บางลงและแตกมากกว่าที่เคยพบมา ผมคิดถึงเพื่อนอีกคนที่ใช้เวลานานเป็นทศวรรษๆ ในการศึกษาแมวน้ำบนน้ำแข็งทะเลอาร์กติก ซึ่งโอดครวญว่า ลูกชายจะไม่มีโอกาสได้ทำอย่างเดียวกัน
ผมคิดใหม่อีกทีถึงประสบการณ์ของการอยู่ท่ามกลางความหนาวเหน็บของตัวเอง คิดถึงความแห้งแล้งของชีวิต หากไม่มีประสบการณ์เหล่านั้น ผมคิดถึงทะเลรอสส์ในแอนตาร์กติกาเมื่อเดือนมกราคม ปี 1993 ถึงตอนปีนหน้าผาริมทะเลกับเพื่อนสมาชิกลูกเรือ กรีนพีซ และนั่งอยู่บนยอด มองลงมายังอ่าวเบื้องล่าง การเดินทางทั่วมหาสมุทรอันยาวนานและยากลำบากของพวกเราที่เสาะหาเรือล่าวาฬซึ่งไม่อยากให้เราเจอ ก่อนหน้านั้นหลายปี แอนตาร์กติกาก็หันด้านที่ร้ายที่สุดให้เรา ด้วยการถล่มเรือของเราด้วยพายุและคลื่นที่เย็นจัดแทบเป็นน้ำแข็ง เมื่อพายุสงบลงและน้ำแข็งถูกกวาดออกไป เพื่อนลูกเรือกับผมถึงมีโอกาสได้เหยียบแผ่นดิน
ลมกระโชกพัดอย่างเกรี้ยวกราดต้องผิวหน้าบริเวณที่ไม่มีอะไรปกคลุม เราขยับผ้าพันคอกับฮู้ดขึ้นมาคลุมศีรษะไว้ แล้วจู่ๆ ลมก็สงบลง เพียงขณะหนึ่งที่มีแต่ความเงียบ เรามองหน้ากันแล้วยิ้มออกมา
เราไม่ได้พูดอะไรสักคำ และก็ไม่จำเป็นด้วย เราแค่นั่งอยู่ตรงนั้น ตรงยอดผาในแอนตาร์กติกา ยิ้มอยู่ในความเงียบ
อยู่ในความหนาวเย็น
เรื่อง เคียราน มัลเวนี
——————————————————————–
เคียราน มัลเวนี เป็นนักเขียนสายสัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อม มีผลงานหนังสือเช่น At the Ends of the Earth: A History of the Polar Regions ยามที่ไม่ได้เดินทางในอาร์กติกหรือแอนตาร์กติกา ซึ่งปีนี้เป็นครั้งที่เก้าแล้ว เขาอยู่ที่เวอร์มอนต์ที่หนาวน้อยกว่าขั้วโลกนิดหน่อย
สดุดีนักสำรวจผู้บริภาษความหนาว
ภูมิภาคที่หนาวเย็นของโลกทำให้คนเราทรมานได้พอๆ กับที่ต้องตกตะลึง ดังที่นักสำรวจหลายคนเคยกล่าวเอาไว้
“ที่นั่นดูเหมือนดินแดนในเทพนิยาย” โรอัลด์ อามุนด์เซน กล่าวระหว่างที่เขากำลังเดินทางไปขั้วโลกใต้เพื่อเอาชนะ โรเบิร์ต ฟอลคอน สกอต ในปี 1911 ส่วนสกอตเห็นต่างออกไป เขาระบายความโกรธไว้ในสมุดบันทึกว่า “พระเจ้า! ที่นี่ช่างเลวร้ายมาก” หลังจากที่รู้ว่าอามุนด์เซนเอาชนะเขาได้
ชอง-บัปติสต์ ชาร์โกต์ มีความสัมพันธ์หวานอมขมกลืนกับแอนตาร์กติกา ซึ่งเขาสำรวจช่วงต้นศตวรรษที่ยี่สิบ “ทำไมตอนนั้นเราถึงรู้สึกว่าแรงดึงดูดอันน่าประหลาดต่อขั้วโลกทั้งสองเป็นความรู้สึกอันทรงพลัง ซึ่งพอเมื่อเรากลับบ้านก็ลืมความลำบากทางกายและใจเสียสิ้น และไม่อยากทำอะไรอีก นอกจากหวนกลับไปที่นั่น นักสมุทรศาสตร์ชาวฝรั่งเศส กล่าว “ทำไมเราถึงหวั่นไหวต่อเสน่ห์ของภูมิทัศน์เหล่านั้น ทั้งๆที่มันช่างเวิ้งวางและน่ากลัว”
***อ่านสารคดีฉบับเต็มได้ในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนธันวาคม 2562
สารคดีแนะนำ