travel bubble นโบายการสำหรับการฟื้นฟูกิจการท่องเที่ยวหลังการระบาดของโควิด-19
ทราเวลบับเบิล (Travel Bubble) คืออะไร
ผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์เนื่องจากการระบาดโควิด-19 เกิดขึ้นแทบทุกพื้นที่ทั่วโลก หลายประเทศที่เคยมีรายได้จากการท่องเที่ยวจำเป็นต้องหยุดรับนักท่องเที่ยวตามมาตรการของรัฐ ทำให้ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสูญเสียรายได้เป็นจำนวนมาก รวมทั้งส่งผลให้ภาพรวมการเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัว
ธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวดูเหมือนว่าจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการล็อกดาวน์ประเทศ เมื่อไม่มีนักท่องเที่ยวที่เข้ามาใช้บริการ สถานประกอบการหลายแห่งได้ประกาศปิดตัวไปเมื่อช่วงสามเดือนที่ผ่านมา หลายประเทศจึงใช้ออกนโยบายทราเวลบับเบิล เพื่อหวังฟื้นฟูธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว
ทราเวลบับเบิล คือข้อตกลงระหว่างกลุ่มประเทศนั้นๆ ที่จะเปิดพรมแดนให้ประชาชนเดินทางเข้าออกพรมแดนได้โดยไม่ต้องกักตัวใน State quarantine เป็นเวลา 14 วัน ซึ่งหมายความว่า ประเทศคู่พันธมิตรที่อยู่ในข้อตกลงต้องเชื่อใจกันมาก ทั้งเรื่องมาตรการควบคุมโรคที่รัฐบาลของประเทศนั้นๆ ปฏิบัติในช่วงที่ผ่านมา การตรวจสอบนักท่องเที่ยวในประเทศต้นทาง และจำนวนผู้ป่วยที่อยู่ในประเทศต้นทาง ดังนั้น “วิธีทราเวลบับเบิลนี้จะใช้ได้ผลก็ต่อเมื่อมีการร่วมมือกับประเทศใกล้เคียงที่มีจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ใกล้เคียงกัน และมีวิธีรับมือสถานการณ์โรคระบาดที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน วิธีนี้จะช่วยให้ประชาชนรู้สึก ‘มีอิสระในการเดินทาง’ ในระดับหนึ่ง และเป็นการป้องกันไม่ให้จำนวนผู้ป่วยสูงขึ้นจากการที่นักท่องเที่ยวจากประเทศนอกกลุ่มเข้ามาแพร่เชื้อต่อ” เพอร์ บล็อกก์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด กล่าว
ประเทศในแถบยุโรป ได้แก่ เอสโตเนีย ลัตเวีย และลิทัวเนีย เป็นกลุ่มประเทศแรกที่ทดลองเปิดพรมแดนด้วยนโยบายทราเวลบับเบิลตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ซึ่งจากการรายงานของสำนักข่าวต่างประเทศ พบว่า ฟินแลนด์และโปแลนด์อาจเข้าร่วมกลุ่มนี้ด้วยเป็นลำดับถัดไป หากควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศตัวเองได้เป็นที่น่าพอใจ
ประเทศอื่นๆ ในยุโรป อย่างฝรั่งเศส ก็เริ่มอนุญาตให้นักท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวได้โดยไม่ต้องกักตัว 14 วัน ส่วนเยอรมนี ออสเตรีย และสวิตเซอร์แลนด์กำลังพิจารณาให้นักท่องเที่ยวเดินทางระหว่างกันได้ตั้งแต่ 15 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป หากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศอยู่ในระดับที่ไม่รุนแรง สำหรับทวีปเอเชีย จีนกำลังพิจารณาใช้มาตรการนี้ให้ครอบคลุมไต้หวัน ฮ่องกง มาเก๊า เพื่อให้นักท่องเที่ยวเกาหลีและชาวจีนเดินทางท่องเที่ยวได้
ทางฝั่งประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์กำลังพิจารณามาตรการทราเวลบับเบิลซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะให้ประชาชนทั้งสองประเทศเดินทางท่องเที่ยวระหว่างกันได้ภายในเดือนกันยายนนี้
สำหรับประเทศไทยยังคงประกาศปิดพรมแดนตาม พรก. ฉุกเฉิน จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน นี้ ในขณะเดียวกัน รัฐบาลกำลังคลายมาตรการล็อกดาวน์ที่ประกาศใช้ก่อนหน้านี้หลังพบว่า จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศไม่เพิ่มขึ้น และกำลังครุ่นคิดหาวิธีการฟื้นฟูกิจการภาคการท่องเที่ยวที่กำลังถดถอย “เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น เราจะอนุญาตให้นักท่องเที่ยวที่อยู่ในข้อตกลงร่วมกับเรา เดินทางเข้ามาได้” พลเอกประยุทธ์ จันทน์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ที่ผ่านมา และเสริมว่า แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องข้อตกลงนี้ยังไม่ได้นำเสนอคณะรัฐมนตรี “จะยังไม่มีการเคลื่อนย้ายเข้าออกประเทศอย่างอิสระ เนื่องจากเราไม่ต้องการให้เกิดการระบาดระลอกใหม่ ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อทั้งประเทศต้นทางและปลายทาง”
ปฎิเสธไม่ได้ว่าไทยนั้นถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวอย่างมาก และได้รับผลกระทบมากเช่นกัน ในการเข้าช่วยเหลืออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ประเทศไทยก็กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาจับคู่การเดินทางเช่นกัน ซึ่งนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เผยว่า สถานการณ์การระบาดในประเทศไทยนั้นดีขึ้นแล้ว จากการควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้ติดเชื้อส่วนมากนั้นเป็นผู้ติดเชื้อที่เข้ามาจากต่างประเทศเท่านั้น ซึ่งการทำทราเวลบับเบิลของไทยนั้นถึงแม้จะอยู่ในขึ้นตอนการหารือ แต่ก็คาดว่าจะสามารถเริ่มได้ในปลายปีนี้
ข้อมูลอ้างอิง
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : กระแสการท่องเที่ยงอย่างยั่งยืนท่ามกลางพายุวิกฤติโคโรน่า