ลับแล … ปิดตำนานเมืองเร้นลับ
เปิดประตูเมืองท่องเที่ยวเลิศล้ำ
สายหมอกบางเบา…ขาวขุ่น ค่อยๆโปรยตัวเองลงจากแผ่นนภา คลี่ห่มคลุมครอบไปทั่วทั้งหุบเขาตั้งแต่เมื่อดื่นดึก…เมืองทั้งเมือง อยู่ในความสลัวลาง แลเหน็บหนาว ราวกับภาพวาดอันวิจิตรจากปลายพู่กันของจิตรกร มากฝีมือ ถึงเวลาตีนฟ้าเปิด ดวงตะวันสาดแสงทอง สายหมอกก็ยังมิเจือจาง เสมือนอยากจะโอบกอดเมืองนี้ไว้อย่างทะนุถนอม ด้วยความรักอันเลอค่าดุจนิรันดร์
สายหมอกยัง โลมไล้อยู่บนยอดรวงข้าวสีทองอย่างอ้อยอิ่ง ชีวิตเรียบง่ายในอ้อมกอดของหุบเขาอันพิสุทธิ์ เริ่มต้นวันใหม่ ตามครรลองของสารบาญแห่งชีวิตและจิตวิญญาณ จนละอองหมอกค่อยๆ เลือนสลาย เมื่อสายแดดใสสกาว ซุ้มประตูเมืองค่อยๆปรากฏ ตัวอักษรเริ่มกระจ่างชัด ในสายตา ทำให้ทุกคนได้รู้ว่าที่นี่คือ “เมืองลับแล”
…………………….
ดินแดนแห่งนี้คือแผ่นดินอันสงบเงียบ ที่ถูกโอบกอดด้วยธรรมชาติบริสุทธิ์ หมดจดงดงาม วิถีชีวิตชาวบ้านเรียบง่าย ชุมชนที่มีประเพณี วัฒนธรรมมั่นคงยืนยงยาวนาน วัดวาอารามเก่ากาลตระการตามากมี พรั่งพร้อมด้วยตำรับอาหารโอชารส ผลหมากรากไม้อุดมสมบูรณ์ตลอดทั้งปี
ผู้เฒ่าผู้แก่ใจอารี ยิ้มแย้มแจ่มใส ลูกหลานรักถิ่นฐานบ้านเกิด ในหัวใจเปี่ยมล้นพุทธศรัทธา ตระหนักในคุณค่าแห่งภูมิปัญญาที่บรรพชนถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ลับแล เป็นที่รู้จักมาเนิ่นนานหลายร้อยปี แต่น้อยคน จะได้มาสัมผัสถึงแก่นแท้แห่งจิตวิญญาณของแผ่นดิน ตำนานเล่าขานเกี่ยวกับเมืองลับแล ปรากฏมากมายหลากหลายเรื่องราว…ทั้งลี้ลับ ลึกเร้น อัศจรรย์ ถ่ายทอดกันมาแบบปากต่อปาก แต่วันนี้ “ลับแล”หาเป็นเช่นนั้นอีกต่อไปแล้ว หลังจากที่เคยเป็นเมืองปิด เป็นชุมชนที่นักเดินทางเกรงใจ เป็นทางผ่านเลยไปของนักท่องเที่ยวมานานนับศตวรรษวันนี้ ประตูเมืองลับแลเปิดแล้ว เพื่อต้อนรับนักเดินทาง ที่ถวิลหาเมืองในฝันอันสงบงาม เรียบง่าย ร้างไร้ความพลุกพล่าน เมืองที่จะไม่ลับหาย ไปจากใจเราอีกต่อไปไปกันเถอะ ไปเยือนลับแล…กันในวันนี้
……………………
ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเมืองลับแล มีหลักฐานบันทึกไว้มากมายหลายกระแส ปัจจุบันยังไม่สามารถชำระสะสางชี้ชัดลงไปได้ว่า หลักฐานใดคือความเป็นมาที่แท้จริงของเมืองนี้
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย เชื่อว่าบรรพบุรุษของชาวลับแล ตั้งแต่อดีตกาลน่าจะเป็นชาวเมืองแพร่ และชาวเมืองน่าน ที่หนีภัยสงคราม หรือหนีโรคระบาด จากหัวเมืองทางเหนือ มาตั้งชุมชนอยู่ในลับแล
เนื่องจากเมื่อหลายร้อยปีก่อน ที่นี่เคยเป็นป่าดงดิบที่อุดมสมบูรณ์ มีเทือกเขาล้อมรอบ มีที่เนินเขาสลับกับที่ราบ คนที่ไม่คุ้นเคยกับภูมิประเทศ หากเข้ามามักจะหลงทางเสมอ
อีกประเด็นหนึ่ง จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ บันทึกว่า เมืองทุ่งยั้งในอดีต เคยเป็นเมืองใหญ่ของชาวละว้าและชาวขะแมร์มาก่อน จากหลักฐานการขุดค้นพบกลองมโหระทึกและดาบสำริด
จนเมื่ออาณาจักรนี้เสื่อมสลายลง กลุ่มชนเผ่าไทยพากันเคลื่อนย้ายเข้ามาอยู่ จนสามารถตั้งเป็น”เมืองกัมโภช”ขึ้นในเวลาต่อมา
ด้านทิศเหนือของเมืองกัมโภช มีลักษณะเป็นป่าดงดิบ และเทือกเขาสลับซับซ้อน ตอนเย็นดวงอาทิตย์ยังไม่ทันตกดิน บรรยากาศก็มืดแล้ว เพราะมียอดเขามีดอยคอยบดบังดวงอาทิตย์ไว้ ชาวบ้านจึงเรียกที่นี่ว่า “ลับแลง” ซึ่งเป็นภาษาเหนือแปลว่า ลับไปในยามแลง หรือมืดไปในยามเย็น ต่อมาเพี้ยนเป็น “ลับแล” จนเป็นชื่อเรียกขานอำเภอนี้มาจนถึงทุกวันนี้
………………………..
วิถีชีวิต และอาชีพของชาวลับแลส่วนใหญ่คือการทำเกษตรกรรม โดยเฉพาะการทำสวนผลไม้ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวโดดเด่นไม่เหมือนใคร ชาวเมืองลับแลสามารถทำสวนผลไม้ ได้ทั้งในที่ราบและบนขุนเขาสูงชันอย่างเหลือเชื่อ ทำสืบทอดต่อกันมาหลายชั่วคน เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านอันเป็นเอกอุไม่เหมือนใคร เนื่องจากพื้นที่ในอำเภอลับแล ภูมิประเทศบางส่วน ทางทิศเหนือ และทิศตะวันตกเป็นภูเขาสูงชันล้อมรอบ นอกจากการปลูกทุเรียนกันบนที่ราบอันเป็นเรื่องสามัญแล้ว ชาวลับแลยังปลูกทุเรียนกันบนภูเขาได้อย่างน่าอัศจรรย์อีกด้วย
เริ่มต้นด้วยการใช้หนังสติ๊กยิงส่งเมล็ดทุเรียน ขึ้นไปตกบนภูเขา รอให้มันงอกเงยขึ้นมาเอง ฝากเทวดาเลี้ยงฝากพระพิรุณรดน้ำ เจ้าของสวนใส่ปุ๋ยดูแลบ้างตามวาระ จากนั้นอีกประมาณ6ปี…ทุเรียนเหล่านั้นก็จะผลิดอกออกผล แน่นอนย่อมมีความยากลำบากในการตัด เก็บ และการขนส่งผลทุเรียนจากภูเขาลงมาสู่พื้นราบ พวกเขาจึงคิดค้นวิธีการในการย่นระยะทางและระยะเวลาในการขนทุเรียน ด้วยการโยงลวดสลิงข้ามเขาและใช้วิธีชักรอกเข่งบรรทุกทุเรียนจากเขาลูกหนึ่ง มายังเขาอีกลูกหนึ่งด้วยภูมิปัญญาอย่างแยบยลชาญฉลาด และเมื่อเก็บผลทุเรียนได้จำนวนหลายสิบกิโลแล้ว
ต้องใช้มอเตอร์ไซค์ที่มีแรงสูงๆเป็นพาหนะ เพียงอย่างเดียวเท่านั้นในการขนทุเรียนลงจากเขาได้อย่างน่าหวาดเสียวน่าทึ่งมอเตอร์ไซค์คันหนึ่ง สามารถบรรทุกผลทุเรียนในตะกร้าทั้งด้านหลังและด้านข้างเที่ยวละหลายสิบลูก น้ำหนักรวมกว่าร้อยกิโลกรัม และไม่ได้ขนกันวันละเที่ยวสองเที่ยวเท่านั้น…ขนกันตั้งแต่ฟ้าสางจนพระอาทิตย์ตกดิน สร้างรายได้ให้ชาวลับแลปีหนึ่งๆ รวมกันแล้วมากมายมหาศาล
ทุเรียนหลงลับแล
กำเนิดและได้ชื่อพันธุ์มาจากเจ้าของต้นแรก คือ นายลม กับนางหลง อุประ ชาวสวนทุเรียนในตำบลแม่พูลอำเภอลับแล ที่มีชื่อเสียงแห่งความอร่อย ระบือไกลมานานหลายสิบปีหลงลับแล-เป็นทุเรียนที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมจากการประกวดทุเรียนของกรมส่งเสริมการเกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์เมื่อพ.ศ.2520จนได้รับการจดทะเบียนรับรองสายพันธุ์ จากนั้นได้มีการนำทุเรียนหลงลับแล จากต้นเดิมมาขยายพันธุ์ด้วยวิธีเสียบยอด ทาบกิ่ง ขยายพันธุ์ไปปลูกกันอย่างกว้างขวาง ทั่วทั้งอำเภอ จนมีชื่อเสียงไปทั่วประเทศไทยมาจนทุกวันนี้
ลักษณะของผลของทุเรียนหลงลับแลนั้น ขนาดผลจะไม่ใหญ่มาก มีลักษณะเป็นทรงค่อนข้างกลม ภายในร่องพูไม่ลึก หากทว่ารสชาติหวานมันยิ่งนัก อีกทั้งมีเนื้อเหนียวละเอียด กลิ่นไม่แรง และมีเมล็ดเล็ก
หลินลับแล- ต้นตอแห่งสายพันธุ์นี้ กำเนิดเกิดจากนายหลิน ปันลาด นำเมล็ดทุเรียนผามูบ1จากถิ่นอื่นมาปลูกที่ลับแล และเกิดการกลายพันธุ์ แต่ทุเรียนต้นนั้นกลับมีรสชาติดีกว่าเดิม อย่างไม่น่าเชื่อ ทุเรียนหลินลับแล จะมีลักษณะต่างจากหลงลับแล คือมีร่องพูลึก จะแบ่งเป็นพู ให้เห็นชัดเจน ส่วนขนาดผลนั้นจะเท่าๆ กับพันธุ์หลงลับแล และรสชาติอร่อยหวานมันไม่แพ้กัน
ลางสาดเมืองลับแล ลางสาด ได้แพร่พันธุ์ และถือกำเนิดเกิดขึ้นเมืองลับแล เมื่อประมาณ ร้อยกว่าปีเศษมาแล้ว เล่ากันมาว่าลางสาดคือผลไม้ที่เกิดขึ้นเองในป่า แถบแหลมมลายู ตอนใต้ของประเทศไทย ลางสาดที่ลับแลจะออกผลในช่วงเดือน สิงหาคม – ตุลาคม ลางสาดจะหวานจัด และมีกลิ่นหอม คือ ลางสาดที่แก่จัด สุกเต็มที่ ลางสาดจะหวานที่สุด จะอยู่ในช่วงเดือนกันยายน – ตุลาคมลางกอง-ลองสาดเมืองลับแล
เป็นอีกหนึ่งภูมิปัญญาของเกษตรกรชาวลับแลอันฉลาดลึกล้ำ คือนำพันธุ์ลองกองจากทางภาคใต้มาต่อยอด หรือทาบกิ่งเข้ากับตอของต้นลางสาดพันธุ์พื้นเมืองของลับแล ทำให้ได้พันธุ์ใหม่ที่มีรสชาติดีกว่าเดิมลูกใหญ่กว่า และมีรสชาติหวานอมเปรี้ยว อร่อยไม่เหมือนใคร และมีที่นี่ที่เดียวเท่านั้นในประเทศไทย อำเภอลับแลมีผลไม้ออกมาให้กินกันตลอดปี จนได้ชื่อว่าเป็นเมืองมหัศจรรย์แห่งผลไม้ และภูเขากินได้ นอกจากนั้นก็ยังมีพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ที่เกษตรกรชาวลับแล นิยมปลูกกันตามช่วงเวลาแห่งฤดูกกาลเช่น ข้าว กระเทียม หอมแดง มังคุด สัปปะรด มะขาม มะม่วงหิมพานต์ …ทุกอย่างดังกล่าวสร้างรายได้เข้าสู่อำเภอลับแล ปีละหลายร้อยล้านบาท ลูกหลานชาวลับแล จึงไม่เคยเดินทางออกไปทำงานต่างถิ่นเหมือนคนในพื้นที่อื่นๆ เพราะเพียงแค่ทำสวนผลไม้ หรือรับจ้างเก็บ และขนผลไม้ ก็สามารถมีงานทำทุกวันตลอดทั้งปีด้วยรายได้ที่งดงาม
………………………………
มาเยือนลับแลทั้งที สิ่งที่พลาดไม่ได้คือกการไหว้พระ และชมความงาม ความเก่าแก่ของวัดวาอาราม ซึ่งมีอยู่มากมายถึงกว่า 30วัด เฉพาะวัดเก่ามีประวัติคความเป็นมาที่น่าสนใจ ที่อยากแนะนำไว้ในวันนี้อาทิ
วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง ที่นี่เป็นวัดโบราณเก่าแก่เดิมชื่อ วัดมหาธาตุ ด้านหน้าเป็นที่ตั้งของพระวิหารหลวง สถาปัตยกรรมแบบ เชียงแสนล้านนา หลังคาซ้อนกันสามชั้น มีพระประธานนามหลวงพ่อประธานเฒ่า พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ปางมารวิชัย เป็นที่เคารพศรัทธา ชาวอุตรดิตถ์มาเป็นเวลาหลายร้อยปี ด้านในพระวิหาร มีจิตรกรรมฝานังเก่าแก่เรื่องพระสังข์ทอง ซึ่งเกี่ยวโยงไปถึงสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ คือ เวียงเจ้าเงาะ และบ่อน้ำทิพย์
ตำนานการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์องค์นี้ กล่าวกันว่า สมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไท เจ้าเมืองสุโขทัย ทรงอันเชิญพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาบรรจุไว้ในถ้ำใต้ดินโดยขุดลงไปเป็นถ้ำแล้วก่อพระธาตุรูปเจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์ครอบเอาไว้ ต่อมา ได้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขึ้นที่เมืองทุ่งยั้ง ทำให้ยอดพระบรมธาตุพังทลายลงมา หลวงพ่อแก้วสมภารวัดพระบรมธาตุในขณะนั้นได้ร่วมกับชาวบ้านบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นมาใหม่ งานห่มผ้าขึ้นพระธาตุ จะถูกจัดขึ้นทุกปีในช่วงวันมาฆบูชา ขึ้น15 ค่ำเดือน- มีขบวนแห่ผ้าอย่างยิ่งใหญ่
วัดพระยืนพุทธบาทยุคล ภายในมีมณฑปเป็นศิลปะแบบเชียงแสน ครอบรอยพระพุทธบาทคู่ที่ประดิษฐานบนฐานดอกบัว ตามพุทธตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า องค์สมเด็จพระสัมมาพระพุทธเจ้าได้เคยเสด็จมาประทับยืนบนยอดเขาแห่งนี้ จึงเกิดเป็นรอยพระพุทธบาททั้งพระบาทซ้าย และพระบาทขวาคู่กันบนแผ่นศิลาแลง ต่อมาทางวัดได้สร้างมณฑปครอบไว้ เป็นสถาปัตยกรรมแบบเชียงแสน ภายในมณฑปประดิษฐานพระพุทธรูปยืนโดยรอบผนังทั้งสี่ด้าน บนเพดานเป็นภาพจิตรกรรมภาพชุมนุมเทวดา…ส่วนจิตรกรรมฝาผนังเป็นภาพตำนานพุทธประวัติอันงดงาม ด้านนอก มณฑป มีเจดีย์ศิลาแลงลักษณะคล้ายทรงพุ่มข้าวบิณฑ์
วัดพระแท่นศิลาอาสน์ ตั้งอยู่บริเวณติดกับวัดพระยืน สันนิษฐานว่าวัดนี้สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย สิ่งที่เป็นที่เคารพศรัทธาคือพระแท่นศิลาอาสน์ ศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ฐานของพระแท่นโดยรอบประดับด้วยลายกลีบบัวอย่างงดงามวิจิตรบรรจง ถือเสมอเป็นพุทธเจดีย์ เช่นเดียวกับพระแท่นดงรัง ตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่าพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งเป็นพระโพธิสัตว์เคยเสด็จมาจำศีลบำเพ็ญเพียรพุทธบารมี ณ ที่วัดแห่งนี้ มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า นายช่างที่สร้างวิหาร วัดพระแท่นศิลาอาสน์ วัดพระฝาง และวัดสุทัศน์ เป็นนายช่างคนเดียวกัน บานประตูบานแรกของพระวิหารเป็นไม้สักแกะสลักงามสง่ามาก เป็นลายซ้อนกันสี่ชั้น ลายเป็นก้านขด และภาพต่าง ๆ เป็นลายเดียวกับลายบานประตูมุขที่วิหารพระพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก ต่อมาพระเจ้าบรมโกศ ทรงมีพระราชศรัทธา ให้ทำประตูมุขตามลายเดิมถวายแทน แล้วโปรดให้เอาบานเดิมนั้นไปใช้เป็นบานวิหารวัดพระแท่นศิลาอาสน์
สำหรับงานเทศกาลนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ จะถูกจัดขึ้นทุกวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 หรือตรงกับวันมาฆบูชา เป็นประจำทุกปี
วัดดอนสัก เป็นวัดเก่าแก่สำคัญอีกวัดหนึ่งของอำเภอลับแล สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีพระวิหารที่มีบานประตูแกะสลักงดงามมาก ด้านหน้า แกะสลักจากไม้สักลึกลงไปประมาณ 4 นิ้ว เป็นลวดลายกนกก้านขดไขว้ ประกอบด้วยรูปหงส์ เทพนมและยักษ์ มีลวดลายสวยงาม เป็นศิลปะเชียงแสนผสมสุโขทัย ตัวเสาประตูเป็นลายกนกใบเทศสลับลายกนกก้ามปู รูปลายกนกก้านขด มีรูปสัตว์หิมพานต์แทรกอยู่ในลวดลายต่าง ๆ มีความอ่อนช้อยยากหาบานประตูที่ใดมาเสมอเหมือนประตูบานซ้ายและขวานั้นแกะสลักลายไม่เหมือนกัน แต่เมื่อปิดประกบทั้งสองบานแล้วลวดลายมีความลงตัวเข้ากันได้สนิท
วัดท้องลับแล วัดแห่งนี้เป็นวัดเก่าแก่ ตั้งอยู่ที่ตำบลฝายหลวง ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าสร้างว่าขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่มีหลักฐานบันทึกไว้ว่าใน พ.ศ2420 ได้มีการบูรณะวัด โดยครูอินโสม สิ่งที่น่าสนใจที่สุด คือความพิศวงที่ปรากฏขึ้นในพระอุโบสถเรียกกันว่า “ภาพสะท้อนหัวกลับ”
โดยพระสมชายที่มาบวชที่วัดเมื่อพ.ศ. 2554 เป็นผู้พบภาพหัวกลับเป็นองค์แรกขณะที่เข้าไปนอนภายในโบสถ์ที่ปิดทั้งประตูและหน้าต่าง แต่บานหน้าต่างของโบสถ์บานหนึ่งที่ปิดไม่สนิทมีช่องเล็กๆ ให้แสงส่องผ่านเข้ามา จึงเกิดภาพสะท้อนหัวกลับของศาลาการเปรียญฝั่งตรงข้ามบานหน้าต่างมายังฝาผนังภายในโบสถ์ เกิดความเป็นอัศจรรย์ที่พบด้วยความบังเอิญ
ปรากฏการณ์อัศจรรย์ทางธรรมชาติแห่งแสงเงาเฉกเช่นนี้ เป็นแบบเดียวกันที่พบที่วัดพระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง ช่วงเวลาที่จะชมภาพกลับหัวนี้ได้อย่างชัดเจนที่สุดคือในวันที่มีแสงแดดจัดๆ ช่วงบ่ายแก่ๆ…นอกจากนั้น ด้านหน้าวัดท้องลับแล ยังมีหอไตรกลางน้ำ อันโบราณเก่ากาลอายุหลายร้อยปี สันนิษฐานว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ไว้ให้ชมอีกด้วย
มาถึงลับแลทั้งที ต้องลองลิ้มชมรสอาหารพื้นถิ่น ที่เกิดจากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษชาวลับแล มีชื่อเสียงเป็นที่ลือเลื่อง ในรสชาติ และเอกลักษณ์อันอร่อยลิ้นมาเนิ่นนาน หลายยุคหลายสมัยตราบมาจนกระทั่งทุกวันนี้ มีมากมายหลายตำหรับ ได้แก่
ข้าวแคบ คือข้าวเกรียบพื้นเมืองของคนลับแล ทำจากแป้งข้าวเหนียวใส่เกลือให้มีรสเค็มนิดๆ เมื่อผสมสูตรน้ำแป้งที่ปรุงรสเรียบร้อยตามตำหรับแล้ว นำมาละเลงบนปากหม้อดินที่มีผ้าขาวบางที่ขึงตึงมัดครอบปากหม้อ หม้อดินนี้ตั้งอยู่บนกระทะ ที่ตั้งอยู่บนเตาไฟร้อนจัด ละเลงแป้งจนเต็มปากหม้อแล้ว ก็นำฝา ที่สานจากไม้ไผ่ มาปิดปากหม้อ เมื่อแผ่นป้งสุกแล้วก็แซะแผ่นแป้งขึ้นวางเรียงกันบนตับหญ้าคา แผ่นแป้งจึงจะออกมาสวยและไม่ขาดเมื่อเรียงแผ่นแป้งเต็มตับหญ้าคาแล้ว จึงนำออกตากแดดจัด ๆ พอแห้งได้ที่ก็จะได้แผ่นข้าวแคบ เก็บไว้กินได้นานๆ วิธีการรับประทานข้าวแคบ มีสองแบบคือ ทั้งแบบแห้งและแบบสด แบบแห้งมีทั้งที่ตากแดดจนแห้งกรอบ บางคนอาจจะนำข้าวแคบไปย่างไฟให้กรอบและหอมก่อน แล้วบี้ให้แตกใช้ข้าวเหนียวจิ้มกิน และแบบแห้งแต่ยังนิ่มอยู่ โดยนำไปใช้ห่อกับอาหารอื่น เช่น ข้าวเหนียว หรือก๋วยเตี๋ยว
ข้าวพัน คือการนำแป้งที่ทำข้าวแคบมานึ่งบนผ้าขาวบาง ที่ขึงตึงบนปากหม้อ คล้ายการทำข้าวเกรียบปากหม้อ พอแป้งสุกนำมาม้วนพันกับไม้ไผ่รับประทานเป็นอาหารว่าง เหยาะซอสพริก หรือซอสปรุงรสเพิ่มความอร่อย
ข้าวพันผักตำหรับนี้ เป็นการนำแป้งมานึ่งเหมือนข้าวพัน แต่จะใส่ผักสดเช่นผักกาดขาว ผักคะน้า ผักบุ้ง ผักกวางตุ้ง ถั่วงอก และกะหล่ำปลีซอย และเครื่องเคียงอื่นๆ รวมทั้งเครื่องปรุงรสต่างๆตามใจชอบ เสร็จแล้วม้วนตลบพับเข้าหากัน คล้ายก๋วยเตี๋ยวลุยสวน มีทั้งแบบใส่ไข่และไม่ใส่ไข่ เสร็จแล้วจะกินเปล่าๆ หรือจะเหยาะซอสพริก โรยพริกป่น กระเทียมเจียว กากหมู หรือแคบหมู หรือจะกินกับน้ำจิ้มที่ประกอบด้วยซอสปรุงรส มีทั้งซอสถั่วเหลืองและซอสแม็กกี้ น้ำปลา น้ำตาล ได้ตามใจชอบ
หมี่พัน เป็นการนำแผ่นข้าวแคบมาทำให้นิ่ม ใช้เส้นหมี่ลวก คลุกเคล้าเครื่องปรุงรส ถั่วงอก แคบหมู น้ำปลา น้ำตาล มะนาว พริกป่น และเครื่องปรุงอื่นๆตามใจชอบ ตักใส่ลงบนแผ่นแป้งแล้วม้วนปิดหัวปิดท้าย หากไม่นำข้าวแคบมาห่อก็จะเรียกว่า “หมี่คลุก” สำหรับเส้นที่นิยมนำมาทำหมี่คุกนั้น ใช้ได้ทุกเส้นตามแต่ลูกค้าสั่ง ไม่ว่าจะเป็นเส้นหมี่ขาว เส้นเล็ก เส้นใหญ่ หรือบะหมี่ แต่ที่นิยมมากที่สุดคือเส้นหมี่ขาว
เรื่อง: เจนจบ ยิ่งสุมล
ภาพถ่าย: ศรยุทธ รุ่งเรือง