อาบป่า (Forest Bathing) : ฟื้นใจ ฟื้นกาย ด้วยสัมผัสจากธรรมชาติ

อาบป่า (Forest Bathing) : ฟื้นใจ ฟื้นกาย ด้วยสัมผัสจากธรรมชาติ

ผมได้ยินคำว่าการ อาบป่า (Forest Bathing)  มาสักพัก และเกิดคำถามในใจมาตลอดว่า เราอาบป่าไปเพื่ออะไร เราเดินทางท่องเที่ยวป่าเขาอยู่เนืองๆ แล้วแตกต่างกับอาบป่าอย่างไร จนในที่สุดผมก็ได้คำตอบและได้มาสัมผัสด้วยตัวเอง

ผมรู้สึกโชคดีที่มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมอาบป่าที่จังหวัดกาญจนบุรี โดยได้รับการเชิญชวนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สำนักงานกาญจนบุรี) ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ กาาญจนบุรีเป็นหนึ่งในจังหวัดที่ยังคงความเป็นธรรมชาติ และระยะทางไม่ไกลจากรุงเทพฯ ด้วยเหตุนี้จึงกลายมาเป็นสถานที่ให้เราได้มารวมตัวทำกิจกรรม การอาบป่า โดยปรับรูปแบบการอาบป่าแบบญี่ปุ่นให้เหมาะกับบริบทของเมืองไทย

บ้านกลางทุ่งโฮมสเตย์ คือจุดนัดหมายของเรา น้าแอ๊ด-ทิพวัน ถือคำ เจ้าของที่พักและผู้นำกิจกรรม เดินออกมาทักทายด้วยไมตรีเมื่อเราเดินทางไปถึง เธอคือผู้ประกอบการโฮมสเตย์ที่จัดกิจกรรมอาบป่าให้แก่ลูกค้าที่มาใช้บริการ หลังจากนั้นจึงเกิดการรวมตัวกันของผู้ประกอบการโฮมสเตย์ในละแวกใกล้เคียง และนำเสนอโครงการไปยังการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สำนักงานกาญจนบุรี) ซึ่งมีความยินดีที่จะสนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง

การอาบป่า, อาบป่า, ชินรินโยคุ, กาญจนบุรี, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

“ในช่วงเริ่มต้น เราเริ่มจากกิจกรรมปลูกต้นไม้รอบๆ ที่พัก” น้าแอ๊ดเล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นและเสริมว่า “แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากสภาพเนื้อดินไม่เอื้อต่อการเจริญของต้นไม้” เธอจึงเปลี่ยนกิจกรรมให้เหมาะสมกับพื้นที่ ด้วยการเชิญชวนนักเรียนในท้องถิ่นเข้ามาเรียนรู้ต้นไม้และลักษณะป่าที่มีอยู่เดิม เพื่อให้เยาวชนเกิดความเข้าใจและหวงแหนทรัพยากรในพื้นที่ของตนเอง ผ่านโครงการ “ปลูกต้นไม้ในใจเธอ” ซึ่งได้รับเงินทุนสนุนจากบริษัท เซนทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)

น้าแอ๊ดเล่าถึงแนวคิดเรื่องการอาบป่าว่า ระหว่างที่ทำกิจกรรมกับเด็กๆ เพื่อนฝูงจากแดนไกลได้ส่งหนังสือเกี่ยวกับหลักการอาบป่ามาให้ หลังจากเธอได้อ่านและลองทำความเข้าใจกับวิธีการ เธอเกิดความรู้สึกประทับใจและอยากลองทำกิจกรรมนี้ เพราะอยากให้ผู้อื่นได้สัมผัสความงามของธรรมชาติที่แท้จริง และได้รับประโยชน์จากการใช้เวลาในธรรมชาติอย่างเป็นมิตร

การอาบป่า, อาบป่า, ท่องเที่ยว, ท่องเที่ยวไทย, กาญจนบุรี
น้าแอ๊ด-ทิพวัน ถือคำ เจ้าของที่พักและผู้นำกิจกรรมการอาบป่า

หลังจากนั้น เธอจึงสืบค้นข้อมูลเรื่องการอาบป่าอย่างจริงจังมากขึ้น และพบหนังสือเล่มหนึ่งที่เขียนโดย ดร.ชิง ลี ผู้นำกิจกรรมอาบป่าชื่อดังในประเทศญี่ปุ่น หลากหลายคำถามเกิดขึ้นในใจเธอ ณ ขณะนั้น การอาบป่าช่วยให้ร่างกายสดชื่นจริงหรือ การอาบป่าช่วยให้เรานอนหลับง่ายขึ้นอย่างไร เธอจึงทดลองหาคำตอบด้วยตนเองจนพบว่า การอาบป่าส่งผลดีต่อสุขภาพกายและใจหลายอย่าง ทั้งลดความเครียด นอนหลับสบาย และช่วยให้ระบบไหลเวียนทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ จากข้อมูลที่เธอสืบค้นยังพบว่า ต้นไม่ในธรรมชาติจะปล่อยสารไฟทอนไซด์ (Phytoncide) ซึ่งเป็นสารที่มีกลิ่นเฉพาะ ช่วยให้มนุษย์รู้สึกผ่อนคลาย ช่วยลดความกังวล และเสริมระบบภูมิคุ้มกัน “วิธีการอาบป่า คือการเดินเข้าไปในป่าด้วยความสงบ เปิดประสาทสัมผัสทั้งหมดของคุณ และรับรู้ถึงสิ่งเร้าทั้งหมดที่เกิดขึ้นรอบคัวคุณ” น๊าแอ๊ดอธิบายขึ้นตอนการอาบป่าในขณะที่เรากิจกรรมในช่วงเช้า “การอาบป่า เราไม่จำเป็นต้องตั้งเป้าหมายว่าต้องเดินเท้าไปถึงจุดไหน สารสำคัญคือเราเปิดรับสิ่งเร้าทั้งหมดหรือยัง เราใช้เวลาเพียง 20 นาที ก็เพียงพอที่จะรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้”

ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของมนุษย์เป็นเครื่องมือพื้นฐานที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกืด การอาบป่าเราก็ใช้เครื่องมือเหล่านี้เช่นกัน สายตามองเห็นรูปร่างลักษณะเส้นสายต่างๆ ที่ธรรมชาติขีดเขียนไว้ ทำให้เกิดทัศนียภาพ ลิ้นของเราสามารถรับรสชาติต่างๆ ได้ ในขณะเดินอาบป่า หากคุณพบผลไม้ป่า ลองหยิบมาชิมสักผล ลิ้มรสธรรมชาติแท้จริงโดยไม่ผ่านการปรุงแต่ง จมูกรับรู้กลิ่น ลองหายใจเข้าลึก-ออกยาว สูดดมกลิ่นต้นไม้ กลิ่นดิน กลิ่นใบไม้แห้ง ที่อบอวลอยู่ในป่า ก็ทำให้ผมเผลอยิ้มออกมาได้ เสียงในป่าที่เราได้ยินทุกเสียงผ่านทางหู ช่วยเพิ่มความจดจ่ออยู่กับตัวเองได้ และหากคุณลองสัมผัส โอบกอด และลูบไล้เบาไปบนใบไม้ คุณจะรู้สึกว่าธรรมชาติก็กำลังสัมผัสคุณเช่นกัน

การโอบกอดต้นไม้ เป็นหนึ่งในกระบวนการอาบป่า

หลังจบกิจกรรมในวันนั้น ผมรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทันที ความเมื่อยล้าจากการตรากตรำทำงานในเมืองหายไป ความหดหู่จากช่วงล็อกดาวน์ก็ถูกคลายล็อก “ในประเทศญี่ปุ่น การอาบป่าเป็นวิธีการหนึ่งที่แพทย์นำมาใช้รักษาผู้ป่วยที่มีความเครียดจากการทำงาน” น้าแอ๊ดบอกและเสริมว่า “เพราะเมื่อเราใช้เวลาในป่าอย่างเป็นมิตร เราจะรับรู้ได้ถึงพลังการรักษาจากธรรมชาติ” ดังนั้น ผมจึงคิดว่าการอาบป่าไม่จำเป็นต้องเดินทางไปเข้าป่าลึกเพียงอย่างเดียว แค่ได้เดินไปในสวนสาธารณะใกล้บ้าน แล้วเปิดทั้งกายและใจสู่อ้อมกอดของธรรมชาติ ให้พลวัตของสิ่งต่างๆ รอบตัวได้ไหลผ่านเราไป เท่านี้ เราก็ได้รับการฟื้นฟูแล้ว

ขอขอบคุณ

ปิยพัชร์ วงศ์โดยหวัง ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานกาญจนบุรี
ทิพวัน ถือคำ (น้าแอ๊ด) ผู้ให้ข้อมูล ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องการเข้าร่วมกิจกรรมอาบป่าได้ที่ บ้านกลางทุ่งออร์แกนิคโฮมสเตย์
ดร. จีระ ประทีป เจ้าของพื้นที่จัดกิจกรรมอาบป่า

เรื่อง ไตรรัตน์ ทรงเผ่า
ภาพถ่าย  ฤทธิรงค์ จันทองสุก


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ: ชินรินโยคุ การอาบป่าบำบัดแบบญี่ปุ่น

ชินรินโยคุ

 

Recommend