นั่งรถไฟไปหัวหิน

นั่งรถไฟไปหัวหิน

ถ้านับการนั่งรถไฟไปเที่ยวหัวหิน ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 3 ในชีวิต โดย 2 ครั้งแรก เป็นการเดินทางในวัยเรียน กับขบวนรถธรรมดา ๆ ราคาเด็ก ๆ การเดินทางเป็นไปอย่างเนิบช้า ขณะที่ความตื่นตาตื่นใจในวัยนั้น คือการตื่นเต้นไปกับวิวสองข้างทาง ซึ่งชวนให้ต้องหันเหลียวมองตลอดเวลา รถไฟไปหัวหิน

และสำหรับการเดินทางด้วยรถไฟเส้นทางนี้ แม้จะอีกครั้ง! แต่ผมก็ยังไม่หายตื่นเต้นกับวิวสองข้างทางที่เปลี่ยนไป เพิ่มเติมคือการได้รับความรู้จากวิทยากร ที่คอยบอกเล่าเรื่องราวระหว่างที่รถไฟเคลื่อนขบวนผ่านสถานที่สำคัญต่าง ๆ ให้ได้รับฟังเพิ่มสีสันเป็นระยะ ๆ

รถไฟไปหัวหิน

จากการเชื้อเชิญจากคุณนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ให้ร่วมเดินทางไปยังหัวหินด้วยการนั่งรถไฟอีกครั้ง แต่ขบวนรถคราวนี้ไม่ใช่ขบวนรถธรรมดาอย่างที่เคยนั่งในวัยเด็ก แต่เป็นขบวนรถพิเศษที่ทางการรถไฟฯ ขอนำเสนอ สำหรับให้เช่าบริการแบบเหมาตู้แก่บุคคลทั่วไปที่ประสงค์จะเดินทางเป็นหมู่คณะ ซึ่งตู้รถไฟดังกล่าวมีชื่อว่า “ตู้ SRT Prestige” เป็นรถโดยสารชุดใหม่ของการรถไฟฯ มีจำนวน 4 คัน ลักษณะจะต่างจากตู้รถไฟทั่วไปคือ มีห้องประชุม ครัวร้อน ครัวเย็น และห้องนอน ราคาค่าเช่าต่อเที่ยว เที่ยวละ 17,000 บาท ไม่เกิน 500 กิโลเมตร แต่ถ้าระยะทางเกิน 500 กิโลเมตร จะเป็นราคา 27,000 บาท ถ้าไปหลาย ๆ คน ผมว่าคุ้มครับ  รถไฟไปหัวหิน

ออกเดินทางจากสถานีกรุงเทพฯ(หัวลำโพง) เวลา 08.30 น. ขบวนรถค่อย ๆ เคลื่อนตัวออกจากชานชาลา ความเท่อย่างหนึ่งเวลานั่งรถไฟ โดยส่วนตัวผมรู้สึกถึงความพิเศษระหว่างที่รถไฟกำลังจะวิ่งผ่านทางร่วม หรือจุดตัด รถทุกคันจำเป็นต้องหยุดให้รถไฟไปก่อน ผมเชื่อว่าหลายท่านคงจะคิดแบบผมนะครับ! ไม่นานขบวนรถก็วิ่งมาถึงสถานีนครปฐม จอดแวะพัก 40 นาที เพื่อให้ผู้โดยสารลงไปไหว้พระ และซื้อของกิน ที่นี่มีของกินขึ้นชื่อในละแวกตลาดบน-ล่าง แถวสถานี คือ ข้าวหลาม และบ๊ะจ่าง จุดเด่นของเส้นทางนี้คืออาหารการกิน ถ้าไม่มีวิทยากรคอยบอก เราก็คงคิดว่าเป็นของกินทั่ว ๆ ไป ทำให้ได้รู้ว่าของกินถ้าจะให้อร่อย นอกจากรสชาติแล้ว ยังต้องมีเรื่องราวมาเป็นเครื่องชูรสประกอบกันด้วย

ถัดจากสถานีนครปฐมก็ต้องแวะกินข้าวแกงกระทง มีขายอยู่ที่สถานีหนองปลาดุก รสชาติจัดจ้านถึงขนาดที่ว่าถ้าวันไหนไม่ได้นั่งรถไฟไป ผมว่าจะขับรถไปกินเองเลย และถ้าใครมีโอกาสนั่งรถไฟมาท่องเที่ยวเส้นทางสายใต้นี้ ยังมีอีกหนึ่งสิ่งที่อยากแนะนำนั่นคือ ไชโป๊หวาน เจ็ดเสมียน ของฝากจากจังหวัดราชบุรี โดยให้แวะลงที่สถานีเจ็ดเสมียนด้านหลังติดกับแม่น้ำแม่กลอง จะพบกับตลาดโบราณและร้านขายไชโป๊หวานให้เลือกซื้อหลายเจ้า ลืมบอกไป ก่อนถึงสถานีเจ็ดเสมียน คือสถานีโพธาราม มีอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่หากินได้ที่นี่ที่เดียวนั่นคือ เต้าหู้ดำ เกิดจากการนำเต้าหู้ขาวไปต้มในน้ำพะโล้เป็นเวลา 3 วัน เพื่อให้น้ำพะโล้ซึมเข้าไปในเนื้อเต้าหู้ ทำให้เวลาเรากินเต้าหู้เข้าไปจะมีรสชาติที่เป็นเหมือนน้ำพะโล้ และที่พลาดไม่ได้เลยคือที่สถานีราชบุรี มีของกินขึ้นชื่ออย่าง ก๋วยเตี๋ยวแห้งห่อละสิบบาท วิธีการซื้อคุณจะต้องเตรียมเงินให้พอดี อยากได้กี่ห่อก็เตรียมไว้ตามนั้นเลย ส่วนตัวผมว่าห่อเดียวไม่อิ่ม รถไฟจะจอดรับส่งแค่ช่วงเวลา 2-3 นาที เท่านั้น ความสนุกจึงอยู่ตรงที่เราต้องซื้อของกันแบบเร็ว ๆ นี่แหละ

ขบวนรถไฟจะวิ่งขนานไปกับแม่น้ำแม่กลอง ตั้งแต่อำเภอบ้านโป่ง ผ่านโพธาราม เจ็ดเสมียน บ้านกล้วย และแม่น้ำแม่กลองจะลอดผ่านใต้ทางรถไฟที่อำเภอเมืองฯ ราชบุรี โดยมีสะพานรถไฟเก่าแก่ชื่อว่า สะพานจุฬาลงกรณ์ เป็นอีกสะพานที่สำคัญ สร้างขึ้นในยุคแรก ๆ ของการสร้างเส้นทางรถไฟสายใต้ จากสถานีรถไฟบางกอกน้อย ไปยังสถานีรถไฟปลายทางที่จังหวัดเพชรบุรี เส้นทางนี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2442 โดยตัวสะพานสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2444 มีความยาว 150 เมตร ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สะพานจุฬาลงกรณ์ นับเป็นอีกหนึ่งจุดยุทธศาสตร์ที่โดนทิ้งระเบิด เหลือร่องรอยจากระเบิดเก่าที่อยู่ใต้น้ำ ซึ่งมีการผูกทุ่นไว้ให้รู้ตำแหน่งของลูกระเบิด และนี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่งของการสร้างสะพานนี้ให้เป็นสะพานขึง

ระยะเวลาเดินทางร่วม ๆ 5 ชั่วโมง ในการนั่งรถไฟไปหัวหินกับกิจกรรมที่ได้ทำบนรถไฟ ไม่ว่าจะเป็นการกินอาหารจากร้านดังตามที่กล่าวไปข้างต้น ชมวิว และถ่ายรูป ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขที่กำลังพอดี พอถึงสถานีหัวหิน ก็ยังไม่วายต้องขอเดินถ่ายรูปสถานีรถไฟที่สวยงามแห่งนี้กันอีกสักพักหนึ่ง ก่อนจะนั่งรถเข้าที่พัก

ถ้าใครสนใจอยากลองเปลี่ยนวิธีท่องเที่ยวด้วยการนั่งรถไฟดูบ้าง ผมว่าการเดินทางท่องเที่ยวรูปแบบนี้ก็สนุกดีนะครับ แถมราคาค่าเดินทางก็ถูกด้วย สำหรับครอบครัวไหนที่มีเด็ก ๆ ผมเชื่อว่าพวกเขาจะได้ประสบการณ์ชีวิตที่ดีอย่างหนึ่งทีเดียว

เรื่อง ไตรรัตน์ ทรงเผ่า
ภาพ ฤทธิรงค์ จันทองสุข

Recommend