ท่าช้าง … กับเรื่องราวความสำคัญในอดีต

ท่าช้าง … กับเรื่องราวความสำคัญในอดีต

เหตุเกิดที่… ท่าช้าง
พระราชศรัทธาหน้าพระลาน

อาคารศิลปะนีโอคลาสสิก หลังคาทรงปั้นหยา งามสง่า ณ ท่าน้ำริมฝั่งเจ้าพระยา ไม่ไกลจากพระบรมมหาราชวัง ที่ชาวบ้านเรียกขานว่า “ท่าช้าง – วังหลวง” ด้วยเคยเป็นท่าที่บรรดาคชบาล หรือคนเลี้ยงช้างทรงในวังหลวง นำช้างมาอาบน้ำ

ทว่า ท่าช้างยังเป็นจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์สำคัญที่กล่าวได้ว่าเกิดขึ้นครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ใน พ.ศ. 2351 หรือเมื่อ 131 ปีล่วงมาแล้ว คือพระราชพิธีอัญเชิญ “พระศรีศากยมุนี” พระพุทธรูปจากสุโขทัยล่องแพมาขึ้นฝั่งที่ท่าช้าง แล้วจัดขบวนอัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดสุทัศนเทพวราราม โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ล้นเกล้ารัชกาลที่ 1 แห่งบรมราชจักรีวงศ์ ทรงพระดำเนินตามขบวนแห่โดยไม่ทรงฉลองพระบาท แม้ในเวลานั้นจะทรงมีพระชนมายุ 72 ชันษาแล้วก็ตาม

ท่าช้าง, ท่าเรือท่าช้าง, ประวัตฺท่าช้าง, ประวัติศาสตร์ไทย,
พระศรีศากยมุนี พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัยที่มีพุทธลักษณะงดงามยิ่ง
ภาพถ่าย เอกรินทร์ เอกอัจฉริยะวงศ์
ท่าช้าง, ท่าเรือท่าช้าง, ประวัตฺท่าช้าง, ประวัติศาสตร์ไทย,
พระศรีศากยมุนี พระพุทธรูปหล่อที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

พระศรีศากยมุนี เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย หล่อด้วยโลหะลงรักปิดทอง หน้าตักกว้าง 3 วา 1 คืบ สูง 4 วา ถือเป็นพระพุทธรูปใหญ่กว่าพระพุทธรูปหล่อองค์ใด ๆ ในสยามประเทศ เดิมเป็นพระประธานอยู่ในพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุ เมืองสุโขทัย สันนิฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และเป็นพระพุทธรูปองค์เดียวกับที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 1 ซึ่งกล่าวถึงพระองค์ใหญ่ซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ พระวิหารหลวง วัดมหาธาตุ ต่อมา พระวิหารหลวงชำรุดหักพัง พระพุทธปฏิมาต้องตากแดดกรําฝนจนชํารุด พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงโปรดเกล้าให้ชะลอองค์พระล่องมาทางน้ำในปี 2351

003 เดิม พระศรีศากยกมุนี เป็นพระประธานในพระวิหารหลวง วัดมหาธาตุ สุโขทัย
ท่าช้าง, ท่าเรือท่าช้าง, ประวัตฺท่าช้าง, ประวัติศาสตร์ไทย,
วิหารหลวง วัดสุทัศนเทพวราราม

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ บันทึกเรื่องนี้ไว้หนังสือพระนิพนธ์ “ ความทรงจำ” ว่า ล้นเกล้ารัชกาลที่ 1 มีพระราชโองการรับสั่งให้สร้างวัดขึ้นกลางพระนคร ให้สูงเท่าวัดพนัญเชิง แล้วให้พระพิเรนทรเทพขึ้นไปรับพระใหญ่ ณ เมืองสุโขทัย ชะลอเลื่อนลงมาพระนคร ประทับท่าสมโภช 7 วัน เลื่อนชักตามทางสถลมารค พระโองการตรัสให้แต่งเครื่องนมัสการพระทุกหน้าวัง หน้าบ้าน ร้านตลาดจนถึงที่ โดยปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นั้น…

ท่าช้าง, ท่าเรือท่าช้าง, ประวัตฺท่าช้าง, ประวัติศาสตร์ไทย,
ท่าช้างในวันนี้

“ประชวรอยู่แล้ว แต่ทรงพระอุตสาหะเพิ่มพระบารมี หวังที่หน่วงโพธิญาณจะโปรดสัตว์ ทํานุบํารุงพระพุทธศาสนา เสด็จพระราชดําเนินตามขบวนแห่พระ หาทรงฉลองพระบาทไม่ จนถึงพลับพลาเสด็จขึ้นเซพลาด เจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรารับพระองค์ไว้ ยกพระขึ้นที่แล้วเสด็จกลับ ออกพระโอษฐ์เป็นที่สุด เพียงได้ยกพระขึ้นถึงที่สิ้นธุระเท่านั้น”

สะท้อนพระราชศรัทธาสูงส่งในบวรพระพุทธศาสนาของพระองค์ ดังพระราชปณิธานที่ว่า

“ตั้งใจจะอุปถัมภก    ยอยกพระศาสนา
ป้องกันขอบขัณฑสีมา รักษาประชาชนและมนตรี”

อย่างไรก็ตาม การเสด็จสวรรคตของล้นเกล้ารัชกาลที่ 1 ในปีถัดมาคือปี 2352 ทำให้ พระวิหารวัดสุทัศน์เทพวราราม มาเริ่มสร้างในรัชกาลที่ 2  และเสร็จสมบูรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 3

ท่าช้าง, ท่าเรือท่าช้าง, ประวัตฺท่าช้าง, ประวัติศาสตร์ไทย,
อาคารพาณิชย์ศิลปะนีโอคลาสสิกที่ท่าช้างวันนี้

อนึ่ง ถนนสายสำคัญในการพระราชพิธีอัญเชิญพระศรีศากยมุนี ที่มิอาจละเลยไม่กล่าวถึงคือ “ถนนหน้าพระลาน” ถนนสายประวัติศาสตร์ของกรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยเป็นถนนในแขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ตั้งต้นจากปลายถนนราชดำเนินในต่อถนนสนามไชยที่มุมป้อมเผด็จดัสกร ไปตามกำแพงพระบรมมหาราชวัง ตัดกับถนนมหาราช ผ่านประตูมหาวิทยาลัยศิลปากร หรือ “วังท่าพระ” ในอดีต ไปสุดที่ท่าช้าง วังหลวง นับเนื่องจากการก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ 239 ปีก่อน ตราบจนปัจจุบัน ขบวนแห่ในการพระราชพิธีสำคัญแทบทุกรัชกาลของบรมราชจักรีวงศ์ ขบวนแล้วขบวนเล่า ที่สร้างความปลื้มปีติให้พสกนิกรไทย บนถนนสายนี้

ท่าช้าง, ท่าเรือท่าช้าง, ประวัตฺท่าช้าง, ประวัติศาสตร์ไทย,
แสงสุดท้ายสาดส่องท่าช้างงามตา

ชื่อถนนหน้าพระลาน  ตั้งตามชัยภูมิที่ตั้ง ที่พาดผ่านพระลานพระบรมมหาราชวัง เป็นถนนที่มีมาแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ทว่า เป็นเพียงถนนนูนดินสูง เลียบกำแพงพระบรมมหาราชวังด้านทิศเหนือ เมื่อแรกสถาปนากรุงเทพพระมหานคร ชาวบ้านเรียกขานกันเองว่าถนนท่าช้าง เพราะเป็นเส้นทางสำหรับช้างหลวงไปลงท่าอาบน้ำ ในแม่น้ำเจ้าพระยา

ชื่อถนนหน้าพระลาน ปรากฏเป็นครั้งแรกในพระบรมราชโองการ ในล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 ก่อนการปรับขยายทางดินเป็นถนนสายกว้าง เชื่อมกับถนนราชดำเนินใน ในรัชสมัยพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 กระทั่งกลายมาเป็นถนนสายสำคัญหน้าพระบรมมหาราชวังในปัจจุบัน  การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10  เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2562 กล่าวได้ว่าเป็นขบวนแห่สำคัญครั้งล่าสุด ที่เกิดขึ้นบนถนนประวัติศาสตร์สายนี้

ช่วงปลายของถนนสายนี้ ยังเป็นที่ตั้งวังซึ่งรัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเพื่อพระราชทานเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ กรมขุนกษัตรานุชิต หรือ “เจ้าฟ้าเหม็น” ซึ่งพระราชนัดดาของพระองค์ และเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฉิมใหญ่ พระราชชายาของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ในการพระราชพิธีอัญเชิญพระศรีศากยมุนี  พ.ศ. 2351 เมื่อพระพุทธรูปมาถึงประตูท่าช้าง ปรากฏว่าอัญเชิญเข้ามาไม่ได้ เนื่องจากองค์พระมีขนาดใหญ่เกินกว่าประตู จึงจำเป็นต้องรื้อถอนทั้งประตูและกำแพงออก แล้วเรียกท่าเรือนี้ใหม่ว่า “ท่าพระ วังที่อยู่ใกล้กันนั้นจึงเรียกตามว่า “วังท่าพระ” ทว่าชื่อ “ท่าพระ”ไม่เป็นที่เรียกติดปากของราษฎร จึงยังเรียก “ท่าช้าง” มาถึงทุกวันนี้

ส่วนวังท่าพระ ต่อมาเป็นที่ประทับในล้นเกล้ารัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4 จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จึงพระราชทานต่อให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ประทับที่วังนี้ ก่อนจะทรงซื้อที่ดินริมถนนพระราม 4 ย่านคลองเตย สร้างตำหนักเป็นที่ประทับตากอากาศ เรียกว่า “ตำหนักปลายเนิน” แล้วโปรดประทับที่นั่นตลอดพระชนมายุ ทายาทของพระองค์จึงขายวังท่าพระให้รัฐบาล ในปี พ.ศ. 2476 และศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี ได้สร้างสถานศึกษาสำหรับวิชาศิลปะสมัยใหม่ตามแบบยุโรปขึ้น  เป็นรากฐานการก่อกำเนิดมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ จวบจนปัจจุบัน

ถนนหน้าพระลาน – มรรคาประวัติศาสตร์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ยิ่ง
ภาพถ่าย เอกรินทร์ เอกอัจฉริยะวงศ์

พระศรีศากยมุนี

พระพุทธรูปปางมารวิชัย หรือปางชนะมาร สร้างขึ้นตามพุทธประวัติ คราวเมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีชัยชนะเหนือหมู่มาร จึงเป็นพระพุทธรูปที่นิยมไปกราบไหว้เพื่อเสริมสร้างดวงชะตา และขอพรให้ชีวิตร่มเย็นเป็นสุข กระทำกิจการงานสำเร็จโดยปราศจากอุปสรรคอันตรายใดๆ ทั้งปวง ทั้งนี้ พระนาม พระศรีศากยมุนี เป็นพระนามที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นผู้ถวายให้ในภายหลัง มิได้เป็นพระนามแต่ครั้งรัชกาลที่ ๑ อัญเชิญมาจากสุโขทัย พ.ศ. 2351

เรื่องและภาพถ่าย : ธีรภาพ โลหิตกุล


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : เสาชิงช้า 

Recommend