ในบริเวณพื้นที่ในแถบเชิงเขาพังเหย จังหวัดชัยภูมิ ไปจนถึงเชิงเขาเพชรบูรณ์ และลงมาถึงเชิงเขาพนมดงรัก เขตรอยต่อนครราชสีมากับปราจีนบุรี เดิมเป็นที่อยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์มอญโบราณกลุ่มหนึ่ง ที่สืบเชื้อสายมาตั้งแต่สมัยทวารวดี ซึ่งคนกลุ่มนี้เรียกตัวเองว่า ชาวญัฮกุร (ญัฮ แปลว่า คน ส่วน กุร แปลว่า ภูเขา) หมายถึง คนที่อาศัยอยู่ในป่าบนภูเขา คนกลุ่มนี้อยู่ร่วมกับป่าและธรรมชาติมายาวนาน เคารพกัน พึ่งพากัน แม้ยุคสมัยใหม่จะเปลี่ยนไปเกิดวิกฤตทางภาษาวัฒนธรรมอย่างไร แต่จิตวิญญาณที่เชื่อมโยงกับป่าของเขายังคงอยู่ และพร้อมเปิดโอกาสให้คนภายนอกมาเติมเต็มจิตวิญญาณธรรมชาติ ให้กายกับใจกลับมาสมดุลอีกครั้ง ผ่านการอาบป่าวัฒนธรรม ญัฮกุร
จิตวิญญาณ วัฒนธรรม ญัฮกุร
จารึกในยุคแรกๆกว่าพันปี จารึกวัดโพธิ์ร้าง หนึ่งในจารึกภาษามอญโบราณที่เก่าแก่ที่สุดที่พบในประเทศไทย ได้มีคำจารึกที่ตรงกับภาษาพูดของคนญัฮกุร ในเขตอำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ ทำให้นักภาษาศาสตร์เชื่อมโยงถึงความเก่าแก่ของกลุ่มชาติพันธุ์ญัฮกุร ในฐานะชนเผ่าพื้นเมืองที่อยู่ในดินแดนแถบนี้มาแต่โบราณ
จากอดีตจนถึงปัจจุบันชุมชนชาวญัฮกุรบ้านไร่ อำเภอเทพสถิต ผ่านการแลกเปลี่ยนกับชาติพันธุ์ต่างๆที่เข้ามาในพื้นที่บ้านไร่ จนเป็นชุมชนสังคมพหุวัฒนธรรม ที่มีการอยู่รวมกันระหว่างคนญัฮกุรกับคนต่างถิ่น ไม่มีข้อจำกัดในเรื่องการสืบทอดเผ่าพันธุ์ คนญัฮกุรสามารถมีเขย หรือสะใภ้เป็นคนต่างถิ่นได้ จึงทำให้ทุกวันนี้ เด็กๆ และคนในชุมชนใช้ภาษาไทยและภาษาถิ่นอีสานเป็นหลัก ภาษาญัฮกุรและวัฒธรรมจึงเริ่มเลือนลางไปตามกาลเวลา เหลือแต่ผู้เฒ่าผู้แก่ใช้สื่อสารกัน ในปัจจุบันภาษาญัฮกุรจัดว่าอยู่ในภาวะวิกฤต เนื่องจากมีคนพูดได้เป็นจำนวนน้อย แต่จากการที่นักภาษาศาสตร์ได้เข้าพื้นที่ศึกษาวิจัยภาษาญัฮกุรที่บ้านไร่ นับเป็นจุดเริ่มต้นในการกระตุ้นให้คนญัฮกุรหันกลับมาสืบค้นภาษาและวัฒนธรรมของตนเอง เกิดกระบวนการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบร่วมกับสถาบันภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนาระบบตัวเขียนภาษาญัฮกุร โดยใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลางของการบันทึกภาษาท้องถิ่น สร้างเครื่องมือคือหนังสือ นิทาน เรื่องเล่า ตำนานชุมชน และมีการจดบันทึกองค์ความรู้เรื่องพืชในป่าชุมชน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา ต่อลมหายใจให้ภาษา สืบค้นอัตลักษณ์ของเผ่าพันธุ์ และทำความเข้าใจอดีตเชื่อมสู่ปัจจุบัน โดยชาวญัฮกุรเชื่อว่า หากภาษาคงอยู่ วัฒนธรรมก็ยังคงอยู่เฉกเช่นเดียวกัน
ความเชื่อดั้งเดิม สู่ทุนวัฒนธรรม ต่อลมหายใจวัฒนธรรม
ชาวญัฮกุรใช้ชีวิตเคียงคู่ธรรมชาติตั้งแต่บรรพบุรุษ อาศัยตามไหล่เขาที่มีป่าอุดมสมบูรณ์ และมีเอกลักษณ์วัฒนธรรมที่โดดเด่น เหล่านี้ทำให้มีการรวมตัวกันเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนและเชื่อมโยงเครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่อเชิดชูอัตลักษณ์ญัฮกุร การสร้างเครือข่ายชุมชนท่องเที่ยว เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่จะช่วยสืบสานวัฒนธรรมของชาวญัฮกุรให้คงอยู่ต่อไป ให้ผู้คนที่มาเที่ยวได้สัมผัสและเรียนรู้ความเป็นคนญัฮกุรผ่านกระบวนการท่องเที่ยวโดยชุมชนญัฮกุร ที่เน้นให้ความสำคัญกับคุณค่าของวิถีชีวิตของชาวญัฮกุรอันเชื่อมโยงกับจิตวิญญาณ ใน ผืนป่า สายน้ำ และธรรมชาติ
การส่งต่อวัฒนธรรมประเพณีที่ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่บรรพบุรุษสู่คนรุ่นต่อไป เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ให้มารับการถ่ายทอดเพื่อให้คงอยู่สืบไป สร้างเป็นวัฒนธรรมที่กินได้ เพิ่มคุณค่าและมูลค่า เพื่อการพัฒนาวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน
การฟื้นฟูจิตวิญญาณ ด้วย ชินรินโยกุ การอาบป่า
ความเชื่อเรื่องจิตวิญญาณในธรรมชาติ มีอยู่ในทุกชนชาติ ต่างความเชื่อ ต่างศาสนา โดยศาสนาดั้งเดิมของชาวญัฮกุรเชื่อเรื่องผีและพลังเหนือธรรมชาติ หลังจากนับถือพุทธก็ยังมีความเชื่อพุทธผสมผีอยู่ ในหลายพิธีกรรมเช่น การแห่หอดอกผึ้งที่ทำเพื่อไหว้พระ ถวายขี้ผึ้งทำเทียนและขอขมาผึ้งในป่า ไม่ต่างจากในญี่ปุ่นเอง ที่มีแนวคิดร่วมสมัยเกิดขึ้นตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 คือ ศาสตร์แห่งการอาบป่า ซึ่งคนญี่ปุ่นเรียกว่า ‘ชินริน-โยกุ’ (Shinrin-Yoku) มาจากคำว่า ‘ชินริน’ (Shinrin) ที่แปลว่า ‘ป่าไม้’ บวกกับคำว่า ‘โยกุ’ (Yoku) แปลว่า ‘การอาบน้ำ’ โดยอาศัยประสาทสัมผัสทั้งห้าในการซึมซับพลังจากผืนป่าหรือพื้นที่ธรรมชาติให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายอย่างมีสติและปราณีตบรรจง เพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดทางการรักษาสุขภาพกายและการเยียวยาจิตวิญญาณ เช่น การสูดลมหายใจเข้า-ออกช้าๆ เพื่อรับกลิ่นของไอดินและพรรณพืชนานาชนิดที่เปรียบดั่งยาขนานเอก ช่วยบำบัดความอ่อนล้าที่เกิดขึ้น การเดินทอดน่องด้วยใจที่สงบเพื่อรับรู้กระแสความมีชีวิตชีวาของสรรพสิ่งรอบกาย แล้วหยิบมาเพิ่มพลังชีวิตให้กับตัวเอง หรือการเฝ้าฟังเสียงในธรรมชาติที่สอดประสานพลิ้วไหวราวกับดนตรีบรรเลงแสนผ่อนคลาย หรือบางครั้งอาจเป็นเพียงเสียงกระซิบจากความเงียบที่ช่วยเยียวยาหัวใจ
อาบป่า จึงเป็นกิจกรรมใหม่ที่ได้รับความสนใจที่จะพาตัวเองไปสัมผัสกับธรรมชาติและเข้าถึงธรรมชาติผ่านทางประสาทสัมผัสทั้ง 5 รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และใจ เพื่อเชื่อมระหว่างตัวเรากับธรรมชาติ ซึมซับพลังจากผืนป่าหรือพื้นที่ธรรมชาติให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายอย่างมีสติ
ซึ่งเป็นที่น่าสนใจที่คนเมืองทั่วโลกโหยหาสิ่งเหล่านี้ และต้องออกเดินทางไปไกล แต่คนที่อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติกลับถือเป็นวิถีที่คุ้นชินในชีวิตประจำวัน ซึ่งชาวญัฮกุรใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ในการสัมผัสกับธรรมชาติตามวิถีอาบป่าเป็นกิจวัตร หรือนี่อาจเป็นความลับที่ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ มีรอยยิ้ม ความสุข สุขภาพกายใจดี และอายุยืนกันทั้งนั้น แม้แต่กลุ่มผู้สูงวัยในหมู่บ้านทุกวันนี้ก็ยังเดินเข้าป่าได้คล่องแคล่วไม่แพ้คนหนุ่มเลยทีเดียว
รูปสัมผัส มองความงามและเคารพธรรมชาติ สะท้อนอัตลักษณ์ผ่านการแต่งกาย
ชาวญัฮกุรแต่เดิมอาศัยอยู่ในป่า สิ่งที่มองเห็นเป็นรูปสัมผัสต่างๆได้จึงถูกดึงมาเล่าเรื่องผ่าน ลายปัก เพื่อเป็นการสร้างภาพเชิงสัญลักษณ์สื่อความหมายทางความเชื่อ เช่น ลายงวงคุ ภาชนะสานที่ใช้ตักน้ำ ลายดอกยาง ลายตีนนก ลายโซ่ ลายตะแกรง ลวดลายบนเสื้อผ้ากลายเป็นตัวสื่อสารว่า คนญัฮกุรมีตัวตนอยู่ และเรียกเสื้อของตนว่า เสื้อพ็อก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่สามารถขยายความเล่าเรื่องตนเองส่งต่อลูกหลาน และสะท้อนถึงจิตวิญญาณของการเคารพธรรมชาติ ดิน น้ำ ไฟ ความอุดมสมบูรณ์ที่อยู่ในป่าที่ให้กำเนิดอาหารและชีวิต
รสสัมผัส ขนมพื้นบ้าน อาหารพื้นถิ่น ญัฮกุร
อีกหนึ่งร่องรอยโบราณของชาวญัฮกุรที่หลงเหลือในวิถีชีวิตคืออาหารจากพืชพื้นถิ่น จัดเป็นกระบวนการฟื้นฟูและสืบค้นอัตลักษณ์ของชาวญัฮกุร ซึ่งอาหารและขนมสามารถสะท้อนถึงพืชพันธุ์ การเพาะปลูก และวิถีชีวิต เหล่านี้เป็นสื่อทางวัฒนธรรมที่บอกเล่าเรื่องราวแก่ผู้มาเยือนได้เป็นอย่างดี อย่างเช่น ขนมข้าวฟ่าง ที่มีรูปร่างหน้าตาละม้ายคล้ายข้าวต้มมัด มีวัตถุดิบหลักคือข้าวฟ่างหางกระรอกหรือข้าวฟ่างหางหมา ซึ่งเป็นธัญพืชอาหารยุคแรกเริ่มของมนุษยชาติ นอกจากนี้ ยังมีอาหารเป็นยา ที่ใช้วัตถุดิบจากพืชผักสมุนไพรที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น อย่างเมี่ยมหรือเมี่ยงของชาวญัฮกุร ใช้พืชผักสมุนไพรพื้นบ้าน ตะไคร้ พริก มะอึก ก้านและใบทูน กล้วยดิบ กุยช่าย มีเครื่องปรุงรสเพียงหนึ่งเดียวคือเกลือ ใส่ห่อรวมกันกินเป็นคำ และขนมลิ้นหมา ที่ทำจากแป้งข้าวเหนียว เกลือ กล้วยน้ำว้าสุกงอม และน้ำตาลปี๊บ นวดให้เข้ากันแล้วกดให้เป็นแผ่นแบนๆ คล้ายลิ้นหมา คลุกเคล้าด้วยงาขาว นำไปทอดให้สุกพอดีกิน
กลิ่นสัมผัส กลิ่นอายป่าพืชพรรณ และดอกไม้ป่าที่สะท้อนวัฒนธรรมญัฮกุร
กลิ่นจากวัฒนธรรมญัฮกุรนั้นมีหลากหลาย ทั้งพืชพันธุ์ ดอกจำปีป่า ดอกไม้ป่า ที่มีเฉพาะในป่าที่นี่ ส่วนใหญ่เป็นอาหาร โดยเฉพาะข้าวหอมดง ข้าวไร่พื้นเมืองของคนเชื้อสายญัฮกุรที่นิยมปลูกในพื้นที่ไร่ ลักษณะลำต้นเตี้ย สูงเฉลี่ย 70 เซนติเมตร รวงสั้น เมล็ดอ้วนสั้น เปลือกสีเหลืองนวล หางสั้น เมล็ดสีขาวใส จุดเด่นที่หุงแล้วมีกลิ่นหอมอันเป็นลักษณะเฉพาะตัวจนเป็นที่มาของชื่อ หอมดง
เสียงสัมผัส เครื่องดนตรีจากธรรมชาติ
ดนตรีญัฮกุรเป็นดนตรีที่ควบคู่ไปกับการดำเนินชีวิตของคนญัฮกุร ซึ่งล้วนเรียบง่ายเชื่อมโยงกับธรรมชาติและวิถีชีวิตในป่า ได้แก่ การเป่าใบไม้ เป็นเครื่องเป่าชนิดหนึ่ง สามารถเป่าเป็นเพลงทำนองต่าง ๆ ได้ ใบไม้ที่ใช้ต้องเป็นใบที่ยืดหยุ่น ไม่เปราะหรือแตกง่าย นิยมใช้ใบลำดวนในการเป่า โดยมากพวกผู้ชายบางคนนิยมเป่าใบไม้เวลาเดินทางไปหรือกลับจากไร่หรือนาคนเดียวแทนการผิวปาก เป่าเพื่อส่งสัญญาณให้กัน และเป่าเลียนเสียงสัตว์ เช่น เป่าเป็นเสียงชะนี หรือกวาง เพื่อเรียกสัตว์ในยามออกล่าสัตว์
การเคาะจุ๊บเปิ้ง กระบอกไม้ไผ่ขนาดต่างกัน 3 ท่อน นำมาวางขัดกันเป็นรูปสามเหลี่ยม ใช้ไม้ตี เกิดเสียงต่างๆ เป็นจังหวะคล้ายเสียงไม้ไผ่กระทบยามต้องลมในป่า
การเป่าผวจที่ใช้การดีดแท่งไม้ไผ่ ให้ลิ้นไม้เกิดแรงสั่นในแก้ม ทำให้เกิดการสั่นสะเทือนในช่องปาก ออกมาเป็นเสียงทุ้มเสียงแหลมตามการขยายหดตัวของช่องปาก การเป่าผวจยังไม่ได้เป็นโน้ตเพลงแต่เป็นจังหวะเสียงสัญญาณสื่อสารระหว่างหนุ่มสาวหรือการส่งภาษาแทนการพูด
นอกจากนี้การร้องรำทำเพลงของชาวญัฮกุรก็มีแต่เรียบง่าย ด้วยการตีโทนดินให้จังหวะ มีการร้องเพลงพื้นบ้าน ที่เรียกว่า เพลงกระแจ๊ะ หรือปะเรเร ที่ผู้ชายและผู้หญิงจะร้องเกี้ยวพาราสีกัน
กายสัมผัส ผ่านการดำเนินชีวิตในป่า
ชาวญัฮกุรมีประสาทสัมผัสที่ไวต่อการรับรู้ โดยเฉพาะในอดีต พรานหาของป่าจะใช้การสัมผัสทางกายเป็นตัวช่วยในการเดินป่าหรือเดินทางเลียบน้ำตก ซึ่งในตอนกลางคืนจะมองไม่ค่อยเห็น การสัมผัสทางกาย จากลม พื้นดิน หรือพื้นน้ำ จะช่วยในการตัดสินใจเลือกเส้นทางที่ปลอดภัยในป่าทุกฤดูกาล
อาบป่าบำบัด ต่อลมหายใจวัฒนธรรมญัฮกุร
ในอดีตมนุษย์เราเคยเชื่อมต่อกับธรรมชาติ จนเมื่อวัฒนธรรมทางเทคโนโลยีได้แทรกซึมเข้ามาสู่ชีวิตของพวกเรา ทำให้มนุษย์ขาดการเชื่อมต่อกับธรรมชาติ จนลืมและลดผัสสะที่ตนเองมี จึงเป็นที่มาของการเจ็บป่วยทางกายและทางจิตใจ
จากการลงพื้นที่ชุมชนญัฮกุร โดยทีมท่องเที่ยวโดยชุมชนญัฮกุรบ้านไร่ ร่วมกับครูกระบวนกรอาบป่าบำบัดพบว่ามีความน่าสนใจเนื่องจากมีความเชื่อมโยงระหว่าง 3 ตัวแปรเด่นๆ คือ ป่า ชุมชน และวัฒนธรรม ที่มีความสมดุลพร้อมในการจัดกิจกรรมอาบป่าเชิงวัฒนธรรม ซึ่งพื้นที่เช่นนี้พบเจอได้ยาก กระบวนการในการอาบป่าญัฮกุรคือการเปิดสัมผัสทั้ง 5 ของตนเองเพื่อเชื่อมโยงกับธรรมชาติและวัฒนธรรมญัฮกุร อันได้แก่
รูปสัมผัส ทางการมองเห็น เช่น การปล่อยสายตาไปยังทิวทัศน์ทั่วทิศทางอย่างไม่มีขอบเขต การมองใบไม้ สิ่งมีชีวิตที่สัมพันธ์กันในป่า การเฝ้าดูการเป็นไปตามธรรมชาติ การสังเกตและการเคลื่อนไหวอย่างมีสติ ตามวิถีชาวญัฮกุร
เสียงสัมผัส ทางการได้ยิน เช่น การฟังเสียงนกร้อง เสียงน้ำตก เสียงลม เสียงใบไม้ไหว รวมทั้งเสียงแห่งความเงียบ เพื่อฟังเสียงหัวใจของตนเอง เครื่องดนตรีจากธรรมชาติที่ใช้สื่อสารสร้างเสียงที่ให้อารมณ์ความรู้สึกต่างๆ
กลิ่นสัมผัส ทางการได้ดม เช่น กลิ่นดอกไม้ กลิ่นดิน กลิ่นน้ำ กลิ่นหญ้า กลิ่นหอมระเหยจากต้นไม้ การขยี้ใบไม้เพื่อสูดดมกลิ่นน้ำมันหอมระเหยในป่าที่ช่วยบอกทาง การจดจำพื้นที่ในป่าตามวิถีชาวญัฮกุรที่มีอยู่ในสายเลือด
รสสัมผัส ทางการลิ้มรส เช่น เคี้ยวใบไม้ ดอกไม้ ผลไม้พื้นถิ่น ที่สามารถรับประทานได้ หนึ่งในกิจกรรมอาบป่าในรสสัมผัสที่มีอยู่ในวิถีการชิม สำรวจรสชาติตลอดเส้นทาง รู้ประโยชน์จากรสชาติต่างๆ ที่ช่วยลดกระหายน้ำ ลดความเครียด คุณค่าทางสมุนไพรพื้นถิ่นตลอดเส้นทาง
ทางกายสัมผัส เช่น การสัมผัสลม เท้าแช่ในน้ำ การรับแสงแดด การเดินเท้าเปล่า การกำหนดรู้ลมหายใจ การรับรู้ว่ามีสิ่งใดอยู่รอบตัวแม้ว่าสิ่งนั้นไม่ได้สัมผัสกับร่างกายของเรา แต่เราสามารถรับรู้ได้โดยใช้ใจสัมผัสสิ่งนั้น
ด้วยเหตุและผลเหล่านี้ ชาวญัฮกุรที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับป่าในวิถีตนเอง จึงเรียกได้ว่ามีความสามารถนำพากิจกรรมอาบป่าผสมผสานวัฒนธรรมญัฮกุร เพื่อสร้างการเชื่อมต่อ (Connection) ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ในวิถีวัฒนธรรมของเขาให้มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง
และกิจกรรมอาบป่าวัฒนธรรมญัฮกุรนี้ คงจะเป็นก้าวแรกที่นำภูมิปัญญาจิตวิญญาณของพวกเขา ออกมาสู่โลกสมัยใหม่ที่เจริญทางวัตถุ แต่จิตวิญญาณเสื่อมถอย และชาวญัฮกุรเองจะช่วยสร้างสมดุลให้แขกผู้มาเยี่ยมผ่านกิจกรรมอาบป่า ปรับสมดุลสัมผัสต่างๆ ที่คนเมืองหลงลืมไปให้ฟื้นฟูกลับมาอีกครั้ง และคนเมืองเองก็มีบทบาทที่จะกระตุ้นรื้อฟื้นวัฒนธรรมที่ขาดหายไปจากรุ่นสู่รุ่นให้เชื่อมต่อกันอีกครั้ง ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อระหว่างคนเมืองและคนในป่าเพื่อสร้างสมดุลให้กันและกัน
เรื่องและภาพ Farm Hoo DIY (ณฤต เลิศอุตสาหกูล)
สนใจข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ กลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนญัฮกุร บ้านไร่
โทร. 0866026366