อุทยานกลางเมือง สวนสาธารณะในโลกสมัยใหม่
ผมเดินออกนอกเส้นทาง ลัดเลาะไปตามลำน้ำไร้ชื่อสายหนึ่งทางตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐโอไฮโอ ปีนป่ายขอนล้มสู่หุบเหวหินดินดานแตกร่วน สายน้ำที่ไหลรินลงมาตามชั้นน้ำตกน้อยๆ ขุ่นขาวไปด้วยทรายแป้ง ดวงอาทิตย์ทอแสงร่ายรำกับสายธารและหมู่ไม้ เมื่อถอดรองเท้าบู๊ตลงไปย่ำในแอ่งน้ำเล็กๆ ผมก็สัมผัสได้ถึงโคลนเย็นๆ ที่ซอกนิ้ว ไกลออกไปลิบๆ เหนือยอดไม้นั้น เสียงของเมืองแว่วมาเป็นระยะๆ ความเจริญอยู่แสนใกล้ แต่กลับดูแสนไกล และตรงกลางระหว่างนั้นก็คือความมหัศจรรย์ของอุทยานกลางเมือง
ที่นี่คือส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติไคอะโฮกาแวลลีย์ซึ่งแทรกตัวอยู่ระหว่างสองเมืองใหญ่อย่างคลีฟแลนด์และแอครอน หัวใจของอุทยานแห่งนี้คือแม่น้ำไคอะโฮกาที่ฟื้นคืนชีพอีกครั้ง หลังตกอยู่ในสภาพเสื่อมโทรมเมื่อขยะและท่อนไม้ชุ่มน้ำมันในแม่น้ำเกิดลุกไหม้ขึ้น อุทยานก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1974 หรือห้าปีหลังเหตุการณ์ครั้งนั้น
ความยิ่งใหญ่งดงามของอุทยานแห่งนี้ช่างหลากหลาย ชวนให้เราพินิจทีละน้อย ผาหินทรายเร้นกายอยู่กลางผืนป่า อู่ซ่อมรถเก่ากลายเป็นบึงที่ฝูงบีเวอร์สร้างขึ้นเพื่อกั้นน้ำจากคลองสายเก่า และสนามกีฬาที่เคยเป็นสนามเหย้าของทีมบาสเกตบอลคลีฟแลนด์คาวาเลียร์ส บัดนี้กลายเป็นทุ่งที่เหมาะสำหรับการดูเหยี่ยว โลกวัตถุและโลกธรรมชาติดำรงอยู่ เคียงข้าง ทับซ้อนและแข่งขันกันเรียกร้องความสนใจจากนักปั่นจักรยาน นักปีนเขา และนักวิ่งที่สัญจรไปมาบนทางเลียบคลองสายเก่า
นี่คือสวนกลางเมืองยุคปัจจุบันซึ่งไม่เหมือนพื้นที่สาธารณะที่ขีดเส้นแบ่งชัดเจนในยุคก่อน สวนเหล่านี้เกิดจากการทวงคืนที่ดินผืนเล็กๆ ที่ถูกทิ้งร้างกลางเมือง ไม่ว่าจะเป็นป่าเสื่อมโทรม ฐานทัพและสนามบินเก่า พื้นที่รับน้ำจากพายุ หรือริมทางรถไฟและใต้สะพาน ทั้งหมดนี้คือที่ดินผืนเล็กผืนน้อยที่เชื่อมต่อกันเหมือนผ้าห่มควิลต์หรือร้อยเรียงกันเป็นสายคล้ายสร้อยลูกปัด
นี่คือปรากฏการณ์ทดลองที่เกิดขึ้นทั่วโลก สวนรถไฟซึ่งหลายแห่งได้แรงบันดาลใจจากความสำเร็จของสวนบนทางรถไฟยกระดับในนิวยอร์กซิตี กำลังเกิดขึ้นในซิดนีย์ เฮลซิงกิ และเมืองอื่นๆ สิงคโปร์สร้างป่าดิบชื้นจำลองที่สนามบินชางงีส่วนเม็กซิโกมีแผนสร้างสวนขนาดใหญ่ในจุดที่เคยเป็นทะเลสาบเทซโกโกชานกรุงเม็กซิโกซิตี
ผมทึ่งกับนวัตกรรมอันหลากหลายและได้รับพลังจากความรักที่ผู้คนมีต่อพื้นที่เหล่านี้ ขณะออกสำรวจสวนกลางเมืองต่างๆ ผมก็ตระหนักว่า สถานที่เหล่านี้ไม่ได้เข้ามาแทนที่อุทยานขนาดใหญ่ซึ่งมักอยู่ห่างไกลและช่วยรักษาภูเขา หุบผาชัน และผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ที่สุดของเราไว้ สวนกลางเมืองมีวัตถุประสงค์คนละอย่าง และความจริงก็คือเราต้องมีพื้นที่ทั้งสองรูปแบบ
บ่ายวันหนึ่งที่อากาศร้อนและชื้น ผมออกเดินตามเส้นทางหกกิโลเมตรเลียบชองกเยชอน สายน้ำแสนงามที่ไหลเอื่อยผ่านใจกลางกรุงโซล
ก่อนยุคอุตสาหกรรม ริมน้ำสายนี้คือที่ที่คู่รักมาพบปะและผู้หญิงมาซักผ้า แต่ความเจริญของโซลหลังยุคสงครามเกาหลีทำให้เกิดชุมชนแออัดและมลพิษจนธารน้ำสายนี้หมดสิ้นความงาม ครั้นมีการสร้างถนนทับคลองเมื่อปี 1958 และทางยกระดับที่สร้างเสร็จเมื่อปี 1976 ก็ทำให้ชองกเยชอนถูกฝังทั้งเป็น
เมืองอาจอยู่ในสภาพนั้นต่อไปถ้าไม่ใช่เพราะโชคช่วยและการเมือง ตลอดทศวรรษ 1990 คนกลุ่มเล็กๆ ที่มีทั้งนักวิชาการและวิศวกรพยายามคิดหาวิธีกอบกู้คลองสายนี้ ทั้งการจัดการระบบอุทกวิทยาของลำน้ำและการแก้ปัญหาการจราจรที่จะตามมาหากมีการทุบทางต่างระดับและถนน ซึ่งมีรถสัญจรวันละกว่า 170,000 คัน
สิ่งที่หายไปคือผู้นำที่ทรงอิทธิพล เขาคนนั้นมาในร่างลีมยองบัก อดีตผู้บริหารบริษัทก่อสร้างที่ได้สัมปทานหลักในการสร้างทางหลวงดังกล่าว เขายกการฟื้นฟูชองกเยชอนเป็นนโยบายสำคัญในการหาเสียงเลือกตั้งนายกเทศมนตรีกรุงโซลที่ประสบความสำเร็จเมื่อปี 2002 (ห้าปีต่อมา เขาได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเกาหลีใต้)
อภิมหาโครงการทวงคืนคลองชองกเยชอนมูลค่า 372 ล้านดอลลาร์สหรัฐเริ่มขึ้นเมื่อปี 2003 ขั้นแรกคือการรื้อทางหลวงยกระดับ ตามมาด้วยการรื้อถนนบนดินจนคลองสายนี้กลับคืนมาอีกครั้ง ทว่าโครงการนี้ก็เหมือนโครงการฟื้นฟูบูรณะอื่นๆ ที่ไม่อาจทำให้คลองคืนสภาพธรรมชาติดังเดิม น้ำในคลองขาดช่วง แทบไม่มีน้ำในฤดูแล้ง และมีน้ำหลากช่วงมรสุมฤดูร้อน ทุกวันนี้ สถานีสูบน้ำที่ช่วยส่งน้ำจากแม่น้ำฮั่นเข้ามาวันละ 120,000 ตันทำให้คลองสายนี้มีน้ำไหลสม่ำเสมอในท้ายที่สุด
ชองกเยชอนมีจุดเริ่มต้นในย่านการเงินท่ามกลางกลุ่มอาคารสำนักงานที่ตั้งตระหง่านราวหุบผาชัน ลำน้ำสายนี้ไหลไปทางตะวันออกและค่อยๆขยายกว้างขึ้น ขณะที่ตลิ่งคอนกรีตแปรเปลี่ยนกอกกและดงไม้ สายน้ำไหลผ่านย่านช็อปปิ้งหรูหราย่านขายส่ง และย่านที่พักขนาดใหญ่ที่ตั้งเด่นเป็นสง่าประดุจป้อมปราการ ณ จุดหนึ่งของลำน้ำมีแท่งคอนกรีตสองแท่งโผล่ขึ้นมา นี่คือเศษซากของทางยกระดับที่ย้ำเตือนให้ระลึกถึงอดีตและความไม่จีรังของวิศวกรรม ชาวเมืองหลายคนแทบจำภาพคลองตอนถูกถนนทับ ตอนที่นกกระยางไม่อาจเหยาะย่างหาปลา ตอนที่คลองมีสภาพไม่น่าดูไม่ได้แล้ว
ผมเกือบจะถึงปลายน้ำตอนได้ยินเสียงนักร้องคนหนึ่ง จึงเดินตามเสียงของเธอไปยังเวทีเล็กๆ ใต้สะพาน วงดนตรีกำลังบรรเลงเพลง “ทร็อต” ของเกาหลีอยู่ เป็นดนตรีคันทรีจังหวะหนักๆ กับเนื้อเพลงเศร้าสร้อย
ผมนั่งฟังเพลงบนม้านั่งหลังกลุ่มผู้สูงอายุ และไม่ช้า หญิงคนหนึ่งก็ยิ้มหวานเข้ามาคะยั้นคะยอให้ผมเต้นรำ เราเต้นไปตามเสียงดนตรีขณะจับมือกันไว้ เชื่อมโยงถึงกันและกันเหมือนเมืองและสวนที่อยู่ข้างใน
เรื่อง เคน ออตเตอร์บูร์ก
ภาพถ่าย ไซมอน โรเบิร์ตส์
อ่านเพิ่มเติม